องค์กรนักศึกษาถือว่าเป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่เป็นสถาบันในการฝึกความเป็นพลเมืองของสังคม มีการฝึกเรื่องสิทธิและหน้าที่ของการอยู่ร่วมกันในมหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ตลอดจนทำให้นิสิตนักศึกษาได้มีการแสดงออกในลักษณะต่างๆ และเรียกร้องสิทธิต่างๆผ่านหน้าที่และความรับผิดชอบเพื่อผลประโยชนต่อนักศึกษา
ในอดีต องค์กรนักศึกษา อย่างองค์การนักศึกษา สภานักศึกษา หรือสโมสรนักศึกษา มีความโดดเด่นและทรงพลังทางการเมือง ทั้งภายในและนอกมหาวิทยาลัยมากมาย นักศึกษากลายเป็นที่พึ่งอันสำคัญต่อขบวนการการเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ เมื่อเวลาเดินทางมาถึงในปัจจุบันกลับมีคำถามอย่างกว้างที่เราอาจได้ยินอยู่บ่อยครั้งว่าเมื่อสังคมเกิดวิกฤติปัญหาแล้วนักศึกษาไปอยู่ที่ไหน อาจกล่าวได้ว่ามีนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวประเด็นต่างของสังคมการเมืองอยู่บ้าง หากแต่กลุ่มเหล่านั้นก็เป็นกลุ่มอิสระของแต่ละมหาวิทยาลัยมิใช่องค์กรอันเป็นทางการโดยตรงของนักศึกษา อะไรคือสาเหตุที่ทำให้พลังของนักศึกษาหายไป และองค์กรนักศึกษายังคงเป็นตัวแทนของนักศึกษาหรือเป็นเพียงแค่แรงงานของมหาวิทยาลัยเท่านั้น เราจึงชวนคุยเรื่องนี้กับนักกิจกรรมผู้นำนักศึกษาในมหาวิทยาลัย
ทำไมนักศึกษาถึงไม่สนใจองค์กรนักศึกษา
นักศึกษาไม่ค่อยสนใจการเมืองและคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับนักศึกษา ส่วนหนึ่งจะมองว่าไม่ว่าระบบการเมืองจะเป็นอย่างไรเขาก็ใช้ชีวิตอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
หากมองไปในกิจกรรมที่โดดเด่นขององค์กรนักศึกษาหลายกิจกรรมที่ผู้คนคงจะนึกถึงอย่างขาดไม่ได้คือการเลือกตั้งขององค์กรนักศึกษาต่างๆ หากดูดังตัวเลขปรากฏในสถานที่ต่างๆ ในมหาวิทยาลัยก็จะพบว่าการมาใช้สิทธิเลือกตั้งมีจำนวนน้อยและเป็นการให้ความสนใจในเฉพาะกลุ่มๆ หนึ่ง ซ้ำร้ายกว่านั้น บางองค์กรในมหาวิทยาลัยไม่มีคนลงสมัครผู้แทนนักศึกษาเลยก็ยังมี
นายกิตติพงศ์ พูนทิพย์ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ปัญหาที่เป็นปัจจัยภายในของแม่โจ้ เช่น การรับน้อง การบังคับให้ปี1 เข้าร่วมกิจกรรมทุกกิจกรรม จะทำให้พอพวกเขาขึ้นปี 2 ก็ไม่ค่อยมาร่วมเพราะเคยโดนแล้วอิ่มตัวแล้วคิดว่ากิจกรรมน่าเบื่อ ซึ่งกิจกรรมจะมีตั้งแต่สาขาคณะ องค์กรนักศึกษาส่วนกลางไปจนถึงงานใหญ่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะเยอะเกินไปทำให้อิ่มตัว ที่นักศึกษาไม่ให้ความสำคัญเพราะว่าขาดแรงดึงดูดไม่รู้ว่าทำไปแล้วจะได้อะไร สิ่งที่มหาวิทยาลัยควรทำก็คือต้องให้เกียรติและศักดิ์ศรี เป็นแรงกระตุ้นเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งปัจจุบันไม่มี
อีกประการคือความเป็นห่วงจากเรื่องเรียน เพราะว่าการเข้ามาทำองค์กรนักศึกษาจะมีกิจกรรมมากจนกระทบการเรียนแน่นอนอย่างน้อยเรื่องเวลาเรียน บางคนเข้ามาทำกิจกรรมแล้วเกรดต่ำลงก็จะเอาไปพูดว่าทำกิจกรรมแล้วเกรดตก ซึ่งข้อเท็จจริงอาจไม่ใช่อย่างนั้น เป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคลซึ่งหายาก ทำให้คนใหม่ๆ ที่อยากเข้ามาทำอาจลังเลและตัดสินใจไม่มาทำ ทำให้สภาและองค์การอาจจะไม่ได้คนที่มีประสิทธิภาพมาทำงานจริงๆ สองสามปีหลัง ที่แม่โจ้ เกิดเหตุการณ์ที่หลายคณะไม่มีคนลงสมัครนายกสโมสร ทำให้หลายคณะต้องไปขอร้องหรือบังคับมาก็จะได้คนที่ไม่มีใจมาทำงานทำให้งานออกมาไม่ดี รุ่นพี่บางส่วนที่มีทัศคติไม่ดีต่อองค์กรและสภาก็จะปลูกฝังน้อง ว่าอย่าไปทำงานส่วนกลาง ให้ทำงานอยู่ในสโมสร เอาความเป็น Unity มาดึงคนที่มีความสามารถไว้ที่คณะ ความสามารถขององค์กรก็ลดลง
นายพัทนินทร์ วิเศษรัมย์ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่านักศึกษาไม่ค่อยสนใจการเมืองและคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับนักศึกษา ส่วนหนึ่งจะมองว่าไม่ว่าระบบการเมืองจะเป็นอย่างไรเขาก็ใช้ชีวิตอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เขาก็จะใช้ชีวิตอย่างนั้น ยิ่งการเมืองในมหาวิทยาลัยที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของนักศึกษาน้อยมากก็จะยิ่งสนใจกันน้อย
นายยศธร สถาพร อุปนายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี กล่าวว่า ก็มีคนที่ไม่สนใจก็ไม่สนใจเลย และคนที่ทำกิจกรรมก็มีจำนวนหนึ่ง ถ้าดูความสนใจจากการเลือกตั้งในปีนี้แล้วก็น่าจะประมาณ 50-60% คือ จากนักศึกษาราว 4,000-5,000 คนมาเลือกตั้ง 2,000 กว่า
นายกฤตเมธ เปรมนิยา นายกองค์การบริหาร องค์การนิสิตจุฬาฯ กล่าวว่า ปัญหาที่นิสิตไม่ให้ความสนใจอาจอยู่ที่การประชาสัมพันธ์ของตัวองค์กร นิสิตหลายคนอาจไม่รู้ว่าองค์การนิสิตมีผลต่อเขาขนาดไหน บางคนอาจะไม่รู้จักองค์กร เราก็ต้องประชาสัมพันธ์ การเลือกตั้งปกติก็จะจัดภายใน 1วัน ซึ่งวันนั้นไม่ใช่ทุกคนที่จะมาเรียน หรือ ไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัย การใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งของจุฬาจะอยู่ที่ประมาณ 40 % จริงๆ คนมีหลายประเภท บางคนเข้ามาเรียนอย่างเดียวไม่สนใจกิจกรรมเลยก็มี
น.ส. ปิยสิริ ภิราษร นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงราย มองว่า เวลาเราเลือกประธานนักศึกษาเราก็เชื่อว่าเขาจะเป็นตัวแทนของเราในการออกความเห็น แต่สุดท้ายนโยบายที่เขาใช้หาเสียง ที่ทำให้เราเลือกเขาไปมันก็ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ หากเขาไม่เห็นด้วยมันก็ทำอะไรไม่ได้ มันก็เลยพัฒนาขึ้นนิดหน่อยแต่มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากจนไม่รู้สึกว่ามันเปลี่ยนแปลง
น.ส.อนามิกา ยาวิชัย นักศึกษาจาก วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อมีการเลือกตั้ง เขาก็จะจัดสรรเวลาให้ไปเลือกตั้งบังคับทุกคนและเช็คชื่อ ที่ผ่านมาก็เลือกทุกปี ส่วนใหญ่รู้สึกเฉยๆ แต่ก็มีบ้างที่ส่งผลกับชีวิตเราเช่น สโมสรมีนโยบายบังคับให้คนนับถือพุทธไหว้พระทุกวันจันทร์ สโมสรก็บอกเองให้เพิ่มวันสวด เราก็บอกเลยว่าเราไม่มีศาสนา เราก็อยากได้สโมสรที่มีนโยบายให้เลิก เพราะเวลาเราบอกว่าเราไม่นับถือศาสนา เขาจะมาถามว่า มาจากไหนพ่อแม่เป็นใคร ทำไมไม่นับถือศาสนา
ภาพจากเพจสภาเจ๊าะแจ๊ะ
แรงงานมหาวิทยาลัย
แต่ถ้าไม่ไปเลือกตั้งก็ไม่เห็นเสียหายเพราะก็ไม่เห็นจะมีอะไรเพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ได้สร้างประโยชน์ให้มหาลัยเท่าไหร่ ไม่รู้สึกว่าเสียสิทธิ์ เฉยๆ มันไม่ได้รู้สึกว่ามีผลกระทบอะไรกับเรา เลือกเสร็จ ตัวแทนก็ไปเที่ยวไปกินเลี้ยงนั่นนี้ ทำกิจกรรมอะไร ส่วนใหญ่ที่เห็นก็สโมสรทำงาน อาจารย์ก็จะมาบอกว่าทำนั่นสิทำนี่สิ
ภายหลังจากที่กระแสของพลังนักศึกษาอ่อนแรงลง บทบาทของนักศึกษากลับเข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยเหมือนเดิมภายใต้โครงสร้างระบบระเบียบ ที่ทำให้นักศึกษามีสิทธิจะสามารถตัดสินใจในการทำงานได้เพียงในระดับหนึ่ง หลายงานก็เป็นงานที่มหาวิทยาลัยคิดขึ้นแล้วโยนมาให้ “ขอความร่วมมือ” ชนิดที่ปฏิเสธไม่ได้ จึงเกิดคำถามกันขึ้นมาว่าจริงแล้ว ตัวแทนนักศึกษาเป็นพนักงานประจำหนึ่งในกลไกของมหาวิทยาลัย
อุปนายกศิลปากรเพชรบุรี และ นายกองค์การนิสิตจุฬา กล่าวตรงกันว่า เรายังมีอิสรภาพในการทำกิจกรรมในบทบาทของนิสิตนักศึกษาอยู่ แต่ถ้าพูดว่าเป็นแรงงานก็กึ่งๆ มีบ้างในบางทีที่มีงานอาจารย์ก็จะไหว้วานขอความร่วมมือให้ไปช่วยงานของมหาวิทยาลัยที่เขาต้องการคนเข้าร่วม อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งบางทีเวลามีปัญหาเราก็สามารถเป็นเสียงของนักศึกษาได้ในนามขององค์กร
ประธานสภานักศึกษาธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตัวขององค์กรนักศึกษา ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจัดการกับปัญหาของนักศึกษาแต่ในปัจจุบันนี้ปัญหาของนักศึกษาค่อนข้างมีน้อย มีปัญหาครั้งหนึ่งก็จะสนใจเฉพาะครั้งนั้นๆ พอทุกคนมองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวก็ทำให้การทำงานค่อนข้างยากด้วย หลังจากปีพ.ศ.2522 องค์กรนักศึกษาถูกควบคุมกิจกรรมมาโดยตลอด แม้จะมีการเลือกตั้งแต่ตัวของนักศึกษาก็ไม่มีความกล้าที่จะต่อสู้กับมหาวิทยาลัยว่าคุณไม่มีสิทธิที่จะมาสั่งหรือระงับกิจกรรมของเรา ฉะนั้นหลังจากปีพ.ศ.2522 จนถึงปัจจุบันก็ซบเซามาตลอด เราเคยคุยกันว่าทำไมเราทำงานกันเหมือนทำงานประจำเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเลย ซึ่งในมุมหนึ่งเรายอมรับว่าเราต้องทำงานแบบนี้ด้วย เกิดจากปัญหาสำคัญว่าเราไม่เป็นอิสระ เพราะระบบงบประมาณองค์กรยังผูกพันกับมหาวิทยาลัย แม้จะบริหารกันเองแต่ระบบเบิกจ่ายและการอนุมัติต้องอยู่ภายใต้มหาวิทยาลัย
นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า มันเป็นแรงงานแน่ๆ องค์การนักศึกษาสภานักศึกษา ก็เป็นฉากหน้าไว้ให้กับผู้บริหารบางคน ตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยมาก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาจะมาปกป้องสิทธิอะไร เวลาเราแสดงออกทางความเห็นแล้วมันมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ตัวแทนนักศึกษาก็รับรู้แต่ก็ไม่ได้มาช่วยปกป้องอะไร ตั้งแต่ขึ้นมหาวิทยาลัยเคยเลือกแต่ตัวแทนของสโมสรคณะ ไม่เคยเลือกองค์การหรือสภานักศึกษา ไม่เคยเลย เพราะสองปีที่ผ่านมาไม่มีเรียนแล้วอยู่บ้าน ถ้ามีปีนี้มีก็ขอดูก่อนว่าใครสมัคร น่าเชื่อถือขนาดไหนว่าจะทำอะไรได้บ้าง แต่ถ้าไม่ไปเลือกตั้งก็ไม่เห็นเสียหายเพราะก็ไม่เห็นจะมีอะไรเพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ได้สร้างประโยชน์ให้มหาลัยเท่าไหร่ ไม่รู้สึกว่าเสียสิทธิ์ เฉยๆ มันไม่ได้รู้สึกว่ามีผลกระทบอะไรกับเรา เลือกเสร็จ ตัวแทนก็ไปเที่ยวไปกินเลี้ยงนั่นนี้ ทำกิจกรรมอะไร ส่วนใหญ่ที่เห็นก็สโมสรทำงาน อาจารย์ก็จะมาบอกว่าทำนั่นสิทำนี่สิ
น.ส.ธมลวรรณ ยศทวี อุปนายกฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดแพร่ บอกว่า มันไม่เชิงที่จะตัดสินใจเองไม่ได้มันก็ตัดสินใจเองได้ เวลาจะทำโครงการ เราก็แค่ไปบอกเขาก็จัดหามาให้ อันไหนที่ไม่ได้ตรงตามความต้องการก็ไม่เป็นอะไรเราก็สามารถเอามาปรับเปลี่ยนให้ได้ มันก็ไม่ได้แย่อะไร
ระบบราชการ/ระบบอาวุโสในองค์กร
เวลาเบิกเงินเบิกของมันก็จะยาก เวลาเราจะเอางบประมาณเราก็ต้องเขียนโครงการไปขอ เขาไม่ให้เงินอยู่ในมือนักศึกษากลัวการทุจริต เงินที่เรามีกันเองก็อยู่ในฝ่ายจัดหารายได้ เช่น การขายเสื้อ
นายกองค์การนิสิตจุฬากล่าวว่า สำหรับจุฬาฯ การเงินไม่ค่อยมีปัญหาแต่บางครั้งระบบราชการทำให้ช้าไปบ้าง การประกอบกิจกรรมจะทำให้ต้องใช้เวลาวางแผนนานมาก การทำงานภายใต้การเบิกเงินของระบบราชการมันใช้เวลามากกว่า ด้านจุฬาฯ ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องระบบอาวุโส เพราะนักกิจกรรมเราหลากหลาย ปี1 ปี2 เก่งๆ เป็นนักกิจกรรมระดับชาติระดับนานาติก็มี เราก็ไม่ได้ปิดกั้นอะไร
อุปนายกฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กล่าวว่า ด้วยระบบของทางวิทยาลัยเราทำอะไรมากไม่ได้ เพราะเราขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข เราจ่ายค่าเทอมไปก็จะไปเข้าส่วนกลางแล้วเขาก็จะผันกลับมาให้เป็นรายหัวของนักศึกษา เวลาเบิกเงินเบิกของมันก็จะยาก เวลาเราจะเอางบประมาณเราก็ต้องเขียนโครงการไปขอ เขาไม่ให้เงินอยู่ในมือนักศึกษากลัวการทุจริต เงินที่เรามีกันเองก็อยู่ในฝ่ายจัดหารายได้ เช่น การขายเสื้อ ในด้านการทำงานอาจจะเอาปี1 มาดูงานก่อน ปี2ก็เริ่มทำงานแล้ว ปี3เป็นที่ปรึกษา ปี4ก็เป็นที่ปรึกษาใหญ่ จะลอยๆ เพราะต้องฝึกงาน
ประธานสภาแม่โจ้บอกว่า คนที่จะอยู่ในตำแหน่งสำคัญขององค์กรจะเป็นปี 3 ปี 4 โดยเฉพาะปี 4 อยู่ได้หนึ่งเทอมก็ต้องฝึกงาน พอรับวาระตำแหน่งทำโครงการเคลียร์เงินต่างๆ ก็เกือบ 2 เดือนแทบจะไม่ได้ทำอะไร ส่วนปี 3 ที่พอจะฝ่าฟันอุปสรรคและยังคงมีใจกับสภาก็เหลือน้อยแทบไม่มี ส่วนอื่นก็ส่วนของการเรียน ทำวิจัย เตรียมหาที่ฝึกงาน สอนงาน ประชุม ทำให้ไม่ค่อยมีเวลา จะเหลือปี1 ปี2 ส่วนใหญ่ก็ใหม่ ไม่กล้าโต้เถียงไม่รู้รายละเอียดเพราะเป็นน้องใหม่ ทำให้อาจทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิ์ไม่ได้มาก พอคนหลักต้องมาเขียนโครงการทำโครงการก็จะเหลือคนไม่มากที่จะมีเวลาทำข้อมูลต่างๆ เพื่อพิทักษ์สิทธิ์
ประธานสภานักศึกษาธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บางมหาวิทยาลัยคนที่เป็นประธานสภาก็มาด้วยระบบอาวุโส ได้เป็นเพราะอยู่นาน หลายๆ มหาวิทยาลัยที่เราเห็นก็จะเป็นปี4 เพราะอาจจะอยู่นานอาจจะเชี่ยวชาญ โอกาสที่ปีใหม่ๆ จะได้เป็นแกนนำในองค์กรก็น้อย แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาสำหรับธรรมศาสตร์ อาจจะมีได้เช่นปีที่แล้วประธานสภาธรรมศาสตร์เป็นหมอ ปี 6ต้องไปทำงาน ก็เป็นปัญหา เวลาเราเลือกเราก็ต้องประเมินปัจจัยต่างๆ ด้วย
ภาพจากเพจสภาเจ๊าะแจ๊ะ
วาระการดำรงตำแหน่ง
ดูเหมือนจะเป็นปัญหาสำคัญที่สุดอีก 1 ประการขององค์กรนักศึกษา ที่อาจเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ลดทอนความเข้มแข็งขององค์กรด้วยความไม่ต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้องค์กรนักศึกษากลายเป็นองค์กรปาหี่
นายกองค์การนิสิตจุฬา กล่าวว่า การทำงานในระยะเวลา 1 ปี สั้นไป ส่งผลให้เป้าหมายระยะยาวไปไม่ถึงหรือไปถึงได้ยาก พอรับตำแหน่งมากว่าจะเรียนรู้งาน ก็สักพักใหญ่กว่าอะไรต่างๆ จะนิ่งกว่าจะวางแผนได้ ก็จะได้ในรูปแบบของโครงการระยะสั้น การส่งต่อนโยบายระยะยาวก็ทำให้เกิดขึ้นได้ลำบาก
ประธานสภานักศึกษาธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ด้วยโครงสร้างการทำงานของสภานักศึกษา ค่อนข้างซับซ้อนทำให้การทำความเข้าใจค่อนข้างยากและระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง 1 ปี กว่าเราจะทำความเข้าใจกับคนและระบบก็เหลือเวลาอีกครึ่งปี ซึ่งในครึ่งปีที่เหลือก็เป็นการปิดเทอมไปแล้วสามเดือน เหลือเวลาทำงานจริงๆ ประมาณสามเดือน อย่างธรรมศาสตร์ใช้ระบบพรรคการเมือง ก็จะมีการผลัดเปลี่ยนคนอยู่เรื่อยๆ มันเลยไม่แน่ว่าคนเก่าที่อยู่ในพรรคปีหน้าจะได้มาทำหรือไม่ ฉะนั้นจะมีบางปีที่อาจจะเปลี่ยนตัวบุคลากรภายในทั้งหมด ทำให้ต้องมาเรียนรู้กันใหม่ทั้งหมดอีก
ด้านประธานสภาแม่โจ้ กล่าวว่า การวางวาระในแต่ละปีที่ไม่ลงตัวเป็นปัญหาสำคัญมาก จากการปรับเปลี่ยนตารางเปิด/ปิดเทอมตามอาเซียน และนี่ก็จะเปลี่ยนเหมือนเดิมอีก ปีที่แล้วผมเป็นรองประธานทั้งหมดสิบห้าเดือน ปีนี้ผมเป็นประธานเก้าเดือน ระยะเวลาที่จะสอนงานถ่ายทอดงานต่อรุ่นจะทำให้น้อยลง ซึ่งทำให้เขาต้องมาสร้างงานใหม่เองทำให้เริ่มงานใหม่ยาก เมื่อรับตำแหน่งมากว่าจะปรับทีมงาน กว่าจะเขียนโครงการแก้ไขโครงการก็ใช้เวลาเป็นเดือน ไหนจะฝ่ายงบประมาณ พอเริ่มจะคล่องตัวก็เตรียมจัดการเลือกตั้งใหม่เพราะจะหมดวาระ ถ้าไม่ได้ชุดทำงานเดิมก็ต้องเริ่มกันใหม่
ยังคงเป็นเสียงของนักศึกษา?
ถ้าพูดถึงสภาพโดยรวมแล้วองค์กรนักศึกษา ก็อาจจะเป็นองค์กรปาหี่ องค์กรนี้จึงอาจเป็นแรงงานของมหาวิทยาลัยไม่ใช่ตัวแทนประชาธิปไตยของนักศึกษา ตอนนี้สภาพจริงๆ
ประธานสภานักศึกษา แม่โจ้ บอกว่า ผมสังเกตเห็นประธานหรือนายกหลายที่ไม่มีพื้นฐาน จะเห็นว่าผู้นำนักศึกษาของมหาวิทยาลัยไหนเรียนสายสังคมก็จะโต้ตอบได้อย่างดี แต่ถ้าไม่ได้เรียนเลยก็จะเงียบเพราะไม่รู้เรื่องกฎหมายไม่รู้จะโต้ตอบแบบไหน และไม่รู้ว่าจะแสดงออกได้ในรูปแบบไหนบ้าง แค่ทำงานในมหาวิทยาลัยก็แทบไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว บางทีเชิญเราไปประชุมเรื่อง ม.นอกระบบเพื่อตกแต่งถ้อยคำในพระราชบัญญัติ เราเรียนสายเกษตรเราก็ไม่มีความรู้ พอคนหลักต้องมาเขียนโครงการทำโครงการก็จะเหลือคนไม่มากที่จะมีเวลาทำข้อมูลต่างๆ เพื่อพิทักษ์สิทธิ์ วิจัยด้วยฝึกงานด้วย เหลือปี1ปี2ก็ทำไม่ได้เต็มที่ ไม่กล้าโต้เถียงไม่รู้รายละเอียดเพราะเป็นน้องใหม่ ทำให้อาจทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิ์ไม่ได้มาก แต่ก็พยายามทำอยู่ตลอด
ประธานสภานักศึกษาธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันที่ผู้แทนนักศึกษาไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ เพราะว่าไม่กล้า การที่จะทำให้เราเข้มแข็งต่อสู้ได้ นักศึกษาทั่วไปก็ต้องเป็นพลังให้เราด้วย บางมหาวิทยาลัยผู้แทนบางคนเข้ามายังไม่รู้เลยว่าสิทธิคืออะไร ส่วนใหญ่จะเป็นมหาวิทยาลัยทางเทคโนโลยี ตีความข้อบังคับกันไม่เป็นต้องให้ธรรมศาสตร์ช่วยตีความก็มี แต่เราก็เข้าใจว่าความเชี่ยวชาญของแต่ละมหาวิทยาลัยมันต่างกัน ถ้าพูดถึงสภาพโดยรวมแล้วองค์กรนักศึกษา ก็อาจจะเป็นองค์กรปาหี่ องค์กรนี้จึงอาจเป็นแรงงานของมหาวิทยาลัยไม่ใช่ตัวแทนประชาธิปไตยของนักศึกษา ตอนนี้สภาพจริงๆ มันเป็นอย่างนั้น แต่สำหรับธรรมศาสตร์ยืนยันว่าไม่ใช่ ทุกเรื่องอะไรก็ตามที่มีผลกระทบต่อนักศึกษาประชาคมธรรมศาสตร์โดยรวม สภานักศึกษาก็จะออกมาลำดับแรกว่า สิ่งที่มหาวิทยาลัยได้ทำมันกระทบอย่างไร เช่นการที่มหาวิทยาลัยบังคับให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมถ้าไม่เข้าร่วมจะต้องถูกตัดสิทธิ์หลายประการที่ควรได้รับ สภาก็ประสานเบื้องต้นว่ามันกระทบลิดรอนสิทธิเกินความจำเป็น มหาวิทยาลัยควรจะเพิกถอนประกาศฉบับนี้ มหาวิทยาลัยก็บอกว่าไม่เพิกถอนประกาศฉบับนี้ สภาก็ฟ้องศาลปกครอง เมื่อศาลรับฟ้อง มหาวิทยาลัยก็ถอนประกาศฉบับนี้ออกไป
อุปนายกสโมสรนักศึกษาศิลปากรเพชรบุรี กล่าวว่า เวลาเราร้องเรียนอะไรไปส่วนใหญ่ก็จะได้ผล ถ้าเราไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถบอกอธิการได้โดยตรง ผ่านช่องทางร้องเรียนที่เรียกว่า “สายตรงอธิการ” ทุกคนสามารถส่งไปไม่ใช่แค่สโมสร ถ้าพูดเรื่องความไม่เท่าเทียมบางทีวิทยาเขตของผมอาจไม่ใช่วิทยาเขตหลัก อาจจะอยู่ไกลจากเมืองบางครั้งบางทีการทำกิจกรรมจะมีปัญหาในเรื่องของการเดินทาง ความไม่พร้อมในหลายๆด้าน แต่บางทีก็ควรที่จะมาพัฒนาให้สามารถดึงคนมาเรียนได้
อุปนายกวิทยาลัยพยาบาล บอกว่า ถ้ามีนักศึกษาไม่พอใจกับกฎระเบียบก็เรียกร้องได้นะ ที่ผ่านมาก็เคยเห็นมีคนเรียกร้องแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่สามารถเปลี่ยนกฎอะไรได้ ส่วนตัวคิดว่ากฎระเบียบจะหล่อหลอมให้เราได้เป็นพยาบาลที่ดี
นักศึกษาควรสนใจการเมืองไหม?
ประธานสภานักศึกษาธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตอนนี้จริงๆ ผมก็ยังงงอยู่ว่าสภานักศึกษาขอนแก่นทำไมถึงเงียบมาก บางครั้งอย่างกรณีราชภักดิ์ เราก็ออกแถลงการณ์ สภานิสิตจุฬาแสดงออกเร็วกว่าเราด้วยซ้ำทำให้เราคิดว่ามันอาจจะดีขึ้น แต่กรณีขอนแก่น มันผ่านหลายครั้งด้วยซ้ำที่นักศึกษาถูกกระทำโดยรัฐ เราก็สงสัยว่าทำไมถึงเงียบ
อุปนายกศิลปากรเพชรบุรี กล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสนใจการเมืองเพราะมหาวิทยาลัยของเรายังเป็นของรัฐอยู่ เราควรแสดงออกอย่างเหมาะสม น่าจะเป็นตามกำลังของนักศึกษา ถ้ามหาวิทยาลัยออกกฎมาแล้วมีคนไปประท้วง 2-3 คนก็คงไม่เป็นผล เราต้องเตรียมการให้ดีก่อน หากเป็นการเมืองนอกมหาวิทยาลัยแล้วเราไม่เห็นด้วย เราก็จะหาวิธีแสดงออกอยู่ดี ยิ่งถ้าทั้งองค์กรเห็นตรงกันก็น่าจะแสดงออกอะไรให้เขาเห็น เช่น ออกแถลงการณ์ แต่ตั้งแต่ผมเข้ามาเรียน 3 ปีก็ยังไม่ไม่เคยเห็น
ประธานสภาแม่โจ้ กล่าวว่า นักศึกษาควรจะต้องสนใจสังคมการเมืองและการเปลี่ยนแปลงของโลกว่าอะไรเป็นอะไรอย่างน้อยเราควรรู้ไว้ แต่ในทางปฏิบัติเราก็ควรดูว่า เราสมควรแสดงออกมากน้อยแค่ไหน หรือ สิ่งที่เราจะไปร่วมด้วยเราเกี่ยวข้องในส่วนนั้นมากน้อยเพียงใด สำหรับผมคิดว่าควรจะรู้ว่าบ้านเมืองเราเกิดอะไรขึ้นและแสดงความคิดเห็น
องค์กรนักศึกษาระดับประเทศที่ยังมีอยู่?
ประธานสภานักศึกษาธรรมศาสตร์ บอกว่า แนวคิดในการริเริ่มที่ประชุมสภานักศึกษานิสิตสัมพันธ์แห่งประเทศไทย มาจาก จุฬาลงกรณ์ เราก็เข้ามาร่วมในปีแรกตั้งแต่ปี 57 มองเห็นว่าเราที่รวมกลุ่มกันก็ดี โดยตอนนี้เราก็รวมมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ได้ค่อนข้างจะครบถ้วนแล้ว เราจะพยายามผลักดันองค์กรนี้ให้เป็นองค์กรทางการ ปกติเวลามีปัญหาใดๆ เราก็จะออกแถลงการณ์แต่มหาวิทยาลัยอื่นอาจจะยังไม่กล้าต่อกรกับมหาวิทยาลัยหรือรัฐ หากองค์กรนี้มันทำหน้าที่ต่อไปได้มันจะโอเค กับหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หมายความว่าคุณไม่ได้ออกไปในนามตัวเอง แต่จะเป็นเกราะป้องกันสำคัญให้สภานักศึกษา ปัญหาก็คือในการประชุมหลายมหาวิทยาลัยชอบสงวนความเห็น สงวนท่าทีในการอภิปรายต่างๆ ที่รู้สึกว่าเป็นการเมือง เลยทำให้มันอาจไม่ดำเนินการเท่าที่ควร เราพยายามทำให้เป็นองค์กรกลางที่จะร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ และแสดงความเห็นในรูปแบบแถลงการณ์ไปสู่สังคม ตอนแรกผมค่อนข้างคาดหวังกับองค์กรนี้มากๆ แต่หลังจากที่ผมประชุมสองสามครั้ง แล้วรู้สึกเหมือนปาหี่ ที่จะทำให้ผู้แทนนักศึกษามาเจอกัน เวลาอภิปรายก็ไม่ค่อยพูดกัน มีแต่จะมอบรางวัลอะไรต่างๆ ซึ่งผมมองว่ามันไม่ได้เป็นประโยชน์
- 9 views