'จินดา แซ่จึง' ระบุในแง่ของภูมิศาสตร์ โรงเรียนที่อยู่ในเขตบริการซ้อนทับกันมีปัญหาการจัดการงบฯ เพราะประเมินยากว่าจะมีนักเรียนเท่าใด ‘สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา’ ชี้ ร.ร.ขนาดเล็กคืออัตลักษณ์ของชุมชน จึงไม่ใช่แค่สถานศึกษาแต่ยังเป็นศูนย์กลางการพัฒนาชุมชน 'พิพัฒน์' แนะสร้างหลักสูตรให้เหมาะกับคนและเงื่อนไขทางวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 โครงการศิลป์เสวนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในหัวข้อ“ยุบโรงเรียนของหนูทำไม? มุมมองจากภูมิศาสตร์” โดยมี อ.จินดา แซ่จึง ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คุณอินทิรา วิทยสมบูรณ์ จากสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาเป็นผู้บรรยาย ร่วมด้วย อ.ทรงชัย ทองปาน เป็นผู้ดำเนินรายการ
ภาพจาก www.isranews.org
จินดากล่าวว่า ตนเองได้เริ่มทำโครงการเกี่ยวกับโรงเรียนให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในชื่อโครงการ “โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก” หรือ School Mapping อันเนื่องมาจากความขาดแคลนสื่อการเรียนรู้ของโรงเรียนทำให้ สพฐ. อยากจะทำโครงการเพื่อพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก แนวคิดในการจัดทำนั้น ด้วย สพฐ. มีข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาอยู่แล้วนั้น เมื่อเกิดระบบสารสนเทศขึ้นจึงทำให้อยากจะนำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำไปใช้มากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)วิเคราะห์การศึกษาท้องถิ่น 2)วิเคราะห์ประสิทธิภาพภายในระบบการศึกษา 3)วิเคราะห์และประเมินคุณภาพการให้บริการและการให้ทรัพยากร 4)เพื่อสามารถประมาณความต้องการ คาดคะเนประชากรในวัยเรียน 5)เพื่อวิเคราะห์ว่าเด็กในพื้นที่มีโอกาสในการศึกษาทุกพื้นที่หรือไม่ 6)เพื่อประสิทธิภาพในการจัดการการศึกษา แล้วจึงนำข้อมูลที่ได้นั้นมาประเมินอุปสงค์ในปัจจุบันกับอุปทานในอนาคต เพื่อปรับสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน เพื่อตัดสินว่าจะยุบหรือขยายเครือข่ายโรงเรียน โดยเกณฑ์การตัดสินใจนั้นมีตัวชี้วัด 3 ด้านด้วยกัน ประกอบด้วย 1)ตัวชี้วัดทางด้านโอกาส 2)ตัวชี้วัดทางด้านคุณภาพ 3)ตัวชี้วัดทางด้านประสิทธิภาพ
ทั้งนี้จินดาระบุว่าในแง่ของภูมิศาสตร์นั้นโรงเรียนที่อยู่ในเขตบริการซ้อนทับกันจะมีปัญหาในการจัดการงบประมาณและสิ้นเปลือง เพราะการที่มีโรงเรียนทับซ้อน (ใกล้เคียงกัน) ทำให้โรงเรียนประเมินยากว่าจะมีนักเรียนเท่าใด ส่งผลให้จัดสรรงบประมาณลำบาก เมื่อนำเอาปัจจัยทุกอย่างมาวิเคราะห์รวมกันจะเห็นภาพรวมว่าโรงเรียนไหนควรถูกยุบหรือบริหารจัดการใหม่ ซึ่งก่อนจะยุบโรงเรียนนั้นจะมีการประชุมคณะกรรมการ และลงพื้นที่ แต่การลงพื้นที่นั้นจะเป็นการลงพื้นที่ร่วมกันของผู้ใหญ่ในพื้นที่เพื่อตัดสินว่าควรบริหารจัดการโรงเรียนใหม่หรือยุบโรงเรียน โดยสรุปนั้นการจัดทำ School Mapping ทำให้มีการวางแผนคุณภาพทางการศึกษาได้ล่วงหน้า เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ สพฐ. ประเมินได้ง่าย ทั้งนี้สิ่งที่ สพฐ. ทำก็เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการศึกษา และจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
ภาพจากเพจศิลป์เสวนา
ด้านอินทิรากล่าวว่า ตนเองนั้นเป็นตัวแทนของสมัชชา แต่สมัชชาเป็นเพียงพื้นที่ตรงกลางที่ทำให้ทุกคนมาเจอกัน มาแลกเปลี่ยนเรื่องการศึกษาและตกผลึกไปเป็นการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการนั้นมีความเชื่อมาตลอดเกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็ก เกี่ยวกับงบประมาณ การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพื่อนำไปเป็นเหตุผลในการยุบโรงเรียน ทั้งๆที่โรงเรียนขนาดเล็กนั้นมีนักเรียนรวมกันถึงหนึ่งล้านคน หลายโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หลายโรงเรียนเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาส ปัญหาการศึกษาต่ำกว่ามาตรฐานนั้นไม่ได้เกิดจากโรงเรียน แต่เพราะสพฐ. ใช้มาตรวัดอันเดียวกัน วัดทุกโรงเรียนทั้งๆที่พื้นที่ต่างกัน ความต้องการต่างกัน จึงทำให้ลดทอนความหลากหลายทางการศึกษา ผลที่เห็นคือโรงเรียนขนาดเล็กมักไม่ผ่านการประเมิน
อินทิราระบุว่าจากการทำงานที่เห็นการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมาถึง 5 ท่านแต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาไม่ได้เกี่ยวกับนักการเมืองแต่เกี่ยวกับระบบคิดของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะกระทรวงศึกษาคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของโรงเรียน ทั้งๆที่โรงเรียนขนาดเล็กนั้นโดยส่วนมากตั้งอยู่ในพื้นที่ของคนในชุมชน (ลักษณะการบริจาคพื้นที่เพื่อสร้างโรงเรียน) ปัญหาเหล่านี้คือมายาคติของกระทรวงศึกษาธิการ อีกทั้งโรงเรียนขนาดเล็กยังถูกยุบเงียบๆ เพราะกระทรวงศึกษามักแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น การยุบโรงเรียนเพื่อลดงบประมาณ แต่กลับนำงบประมาณเหล่านั้นไปซื้อรถตู้รับส่งนักเรียน การศึกษาจึงไม่ใช่แค่เรื่องของนักการศึกษาแต่เป็นเรื่องของทุกคน ทุกคนควรมีส่วนร่วม
ตัวอย่างของโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกยุบ โรงเรียนบ้านห้วยหินลาดนอก อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย อยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก มีลักษณะทางชาติพันธุ์เฉพาะตัว โรงเรียนดังกล่าวถูกสพฐ. ยุบเพราะไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน และนำไปรวมกับโรงเรียนอื่นๆ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ นักเรียนจากโรงเรียนบ้านห้วยหินลาดนอกไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโรงเรียนใหม่ได้ เนื่องด้วยชาติพันธุ์ที่แตกต่างอัตลักษณ์ที่แตกต่าง ส่งผลให้เด็กถูกล้อจากเพื่อนคนอื่นในโรงเรียน คนในชุมชนจึงเริ่มคิดว่าถ้าเด็กไม่มีความสุขจะส่งไปเรียนทำไม จากนั้นจึงเกิดการตั้งโรงเรียนชุมชนขึ้นมา บริหารจัดการกันเองจนเกิดเป็นการสร้างอาชีพในชุมชน สอนในเรื่องที่จำเป็นในชีวิตประจำวันและเด็กๆมีความสุข
โรงเรียนขนาดเล็กคืออัตลักษณ์ของชุมชนมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาชุมชน โรงเรียนจึงไม่ใช่แค่สถานศึกษาแต่ยังเป็นศูนย์กลางการพัฒนาชุมชน การยุบโรงเรียนจึงควรพิจารณาคุณภาพให้หลากมิติ มิใช่เพียงเฉพาะผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และคุ้มทุนต่อหัวเท่านั้น อินทิรากล่าวทิ้งท้ายถึงข้อเสนอจากสมัชชาเพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษา 1)ไม่ใช้แนวทางเดียว วิธีการเดียวในการแก้ไขปัญหาที่มีความแตกต่างหลากหลายของบริบทสภาพพื้นที่ วัฒนธรรม 2)กระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจแก้ปัญหา 3)สร้างเครือข่ายโรงเรียนใกล้กันเพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษา 4)จัดสรรงบประมาณ เพิ่มทรัพยากรให้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลหรือในพื้นที่ขาดโอกาส การจัดสรรงบประมาณต้องเป็นธรรม 5)ปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน พัฒนาทักษะการสอนคละชั้นของครู
สุดท้ายนั้น อ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ได้กล่าวาสรุปว่า สิ่งสำคัญคือคนในสังคมต้องตั้งปรัชญาการศึกษาเสียใหม่ สร้างหลักสูตรให้เหมาะกับคนและเงื่อนไขทางวัฒนธรรม ในการพูดคุยวันนี้ จินดาเปรียบเหมือนมาตรวัดไม้บรรทัด อินทิราเป็นการศึกษาแบบกรณี แต่สังคมกลับไม่คุยกันเพื่อหาความสมดุลของทั้งสองสิ่ง
- 1 view