รายงานวิจัยของธนาคารโลก (2558) ชี้ให้เห็นว่า การลดความขาดแคลนครูเป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญสำหรับการยกระดับคุณภาพและการลด ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย
รายงานวิจัยของธนาคารโลก (2558)1 ชี้ให้เห็นว่า การลดความขาดแคลนครูเป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญสำหรับการยกระดับคุณภาพและการลดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทยโดยหากโรงเรียนในกลุ่มที่มีผลการเรียนต่ำที่สุดและมีครูไม่ครบชั้นเรียน ได้รับจัดสรรครูเพิ่ม 1 คนต่อ 1 ห้องผลการเรียนของนักเรียนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ซึ่งจะลดช่องว่างผลการเรียนระหว่างนักเรียนและโรงเรียนลงด้วย
ปัญหาความขาดแคลนครูกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ในปี 2557 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. มีโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 1.5 หมื่นแห่งหรือประมาณร้อยละ 50 ของ โรงเรียนทั้งหมด โดย 1.4 หมื่นแห่งเป็นโรงเรียนที่สอนเฉพาะระดับอนุบาลหรือระดับประถมศึกษาหรือสอนทั้งสองระดับ (โรงเรียนอนุบาล-ประถม) โรงเรียนขนาดเล็กกลุ่มนี้สอนนักเรียน 9 แสนกว่าคนหรือร้อยละ 22 ของนักเรียนอนุบาลและประถมศึกษาทั้งหมดในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ดังนั้น การลดความขาดแคลนครูน่าจะช่วยยกระดับผลการเรียนให้กับนักเรียนจำนวนถึง 1 ใน 5 ในระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาซึ่งเป็นฐานสำคัญของการเรียนรู้ในอนาคต
เพื่อลดความขาดแคลนครูดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการควรต้องดำเนินโยบาย 4 ประการ ดังนี้
ประการแรก ปรับเกณฑ์จำนวนครูที่เหมาะสมในโรงเรียนให้เพียงพอกับภาระงานและเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง
สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความขาดแคลนครู คือ หลักเกณฑ์จำนวนครูที่เหมาะสมในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ไม่สอดคล้องกับภาระงานและสภาพความเป็นจริงในโรงเรียน ปัจจุบัน สพฐ. ใช้เกณฑ์ที่ว่าโรงเรียนอนุบาล-ประถมทั่วไปควรมีครูเฉลี่ยประมาณ 1 คนต่อนักเรียน 25 คน2 ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กควรมีครู 1 คนต่อนักเรียน 20 คน เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์นี้ พบว่าในปีการศึกษา 2557 โรงเรียนอนุบาล-ประถมขนาดเล็กประมาณ 1 พันแห่งมีจำนวนครูไม่ถึงเกณฑ์ โดยขาดแคลนครูรวมกัน 1.2 พันคน แต่ โรงเรียน อีก 8.5 พันแห่งมีจำนวนครูเกินรวมกัน 1.5 หมื่นคน ภาพปัญหาความขาดแคลนครูกลับไปกระจุกตัวอยู่ที่โรงเรียนขนาดกลาง โดยมีโรงเรียน ขนาดกลางถึง 2.5 พันแห่งขาดแคลนครูรวมกัน 4 พันคน (ดูภาพที่ 1)
ภาพที่ 1 (ดูภาพขนาดใหญ่)
ในสภาพความเป็นจริง แม้โรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนนักเรียนน้อย แต่มีจำนวนห้องเรียนเฉลี่ย 8 ห้องต่อโรงเรียน 1 แห่ง ขณะที่ มีครูเฉลี่ยประมาณ 5 คน จึงทำให้เกิดภาวะครูไม่ครบชั้นเรียนหรือครู 1 คนต้องดูแลมากกว่า 1 ห้องเรียน เมื่อลองปรับใช้เกณฑ์ตามสภาพความเป็นจริงที่ว่าโรงเรียนควรมีครูอย่างน้อย 1 คนต่อ 1 ห้องเรียนแล้ว กลับพบว่าโรงเรียนอนุบาล-ประถมขนาดเล็ก 1.2 หมื่นแห่งขาดแคลนครูรวมกันถึง 4.3 หมื่นคน (ดูภาพที่ 1)
กระทรวงศึกษาธิการควรมองเห็นภาพปัญหาความขาดแคลนครูตามสภาพจริงข้างต้นก่อน จึงจะแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องมากขึ้น ดังนั้น ควรปรับปรุงเกณฑ์จำนวนครูที่เหมาะสมให้เพียงพอกับภาระงานของโรงเรียนเช่น อาจกำหนดให้ทุกห้องเรียนควรมีครูดูแลอย่างน้อย 1 คน และพิจารณาเพิ่มจำนวนครูตามภาระงานอื่นซึ่งเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักเรียนสำหรับโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่
ประการที่สอง ดำเนินนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก
การจัดสรรเพิ่มครูให้เพียงพอจะต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ในปี 2557 จำเป็นต้องมีครูเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2.6 หมื่นคนจึงจะมีจำนวนครูครบทุกห้องเรียนในโรงเรียน อนุบาล-ประถมขณะที่งบประมาณด้านการศึกษาปัจจุบันนั้นสูงมากกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณทั้งหมดแล้ว และคงไม่สามารถเพิ่มขึ้นไปกว่านี้ได้อีก
ดังนั้น มาตรการจัดสรรเพิ่มครูให้เพียงพอจึงควรดำเนินควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรด้วย เช่น สนับสนุนให้โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้กันร่วมกันจัดการเรียนรู้ เพื่อขยายให้ห้องเรียนใหญ่ขึ้นจากปัจจุบันเฉลี่ยห้องละ 8-9 คน เป็น 20 คนและลดจำนวนห้องเรียนและความต้องการครูลง ทั้งนี้ นโยบายการเรียนรวมและนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพใดๆ ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการศึกษา
ประการที่สาม ปรับวิธีการจัดสรรบุคลากรครูให้โรงเรียนได้รับจำนวนครูตามเกณฑ์จำนวนครูที่เหมาะสมและได้ครูตามความต้องการ
การปรับเกณฑ์จำนวนครูอย่างเดียวไม่อาจทำให้โรงเรียนแต่ละแห่งมีจำนวนครูอย่างเพียงพอได้หากลองสมมติไปก่อนว่าเกณฑ์จำนวนครูที่ใช้ในปัจจุบันมีความเหมาะสม ในปี 2557 ระบบการศึกษาไทยขาดแคลนครูทั้งระบบเพียง 6 พันกว่าคนเท่านั้น แต่หากมองเฉพาะกลุ่มโรงเรียนที่ขาดแคลนครู กลับมีความขาดแคลนถึง 3 หมื่นกว่าคน การจัดสรรที่ไม่ประสิทธิภาพทำให้โรงเรียนขาดแคลนครูเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 5 เท่า (ดูภาพที่ 2)
ภาพที่ 2 (ดูภาพขนาดใหญ่)
อีกทั้ง โรงเรียนอนุบาล-ประถมขนาดเล็กต้องการครูที่สามารถสอนได้หลากหลายวิชาหรือจบวิชาเอกประถม แต่ปัจจุบันกลับมีครู 1 หมื่นคนที่จบศึกษาศาสตร์วิชาเอกอื่น สอนวิชาประถม (สอนทุกวิชา) ในกลุ่มโรงเรียนอนุบาล-ประถมขนาดเล็ก ขณะที่ โรงเรียนอีกกลุ่มกลับมีครูจบวิชาเอกประถม 1.4 หมื่นคน ทำการสอนเพียงวิชาเดียวหรือบางวิชา (ดูภาพที่ 2)
ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถบริหารการจัดสรรจำนวนครูให้เป็นไปตามเกณฑ์จำนวนครูที่เหมาะสมและเป็นไปตามความต้องการของโรงเรียนได้
ปัจจุบัน การจัดสรรคำนึงถึงความสมัครใจของครูมากกว่าความต้องการของนักเรียน “คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา” ดูแลบริหารจัดการด้านบุคลากรในเขตพื้นที่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดจากกส่วนกลาง เช่น หากโรงเรียนมีจำนวนครูเกินหลักเกณฑ์ ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ โอนย้ายครูไปโรงเรียนที่ขาดแคลนครู อย่างไรก็ตาม อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่บางแห่งจะย้ายครูก็ต่อเมื่อครูยินยอม โดยอ้างว่ายังไม่มีกฎเกณฑ์กำหนดในการเลือกครูที่จะถูกโอนย้าย เมื่อไม่มีครูยินยอมย้าย โรงเรียนที่ขาดแคลนครูก็ไม่สามารถบรรจุข้าราชการครูเพิ่มได้ เนื่องจากข้อจำกัดที่ว่าโรงเรียนได้รับงบตามจำนวนบุคลากรที่เป็นข้าราชการครู ไม่ใช่จำนวนนักเรียนหรือจำนวนห้องเรียน
การแก้ไขปัญหาวิธีการจัดสรรทำได้หลากหลายวิธี เช่น ให้ตัวแทนพ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้นำชุมชนเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการ อ.ก.ค.ศ. มากขึ้น พร้อมทั้งทำข้อมูลจำนวนครูเผยแพร่แก่สาธารณะสำหรับการติดตามและตรวจสอบ หรือปรับวิธีการจัดสรรทรัพยากร โดยจัดสรรเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรตามหลักเกณฑ์จำนวนครูที่เหมาะสมใหม่ โรงเรียนใดที่ยังมีจำนวนครูไม่ครบห้องเรียน ก็จะมีเงินทรัพยากรเหลือสำหรับจัดจ้างครูใหม่ ขณะที่ โรงเรียนที่มีจำนวนครูเกิน ควรยอมให้ครูบางคนย้ายไปสู่โรงเรียนขาดแคลน หรือหากจะรักษาจำนวนครูไว้เท่าเดิม ก็จำเป็นต้องปรึกษาผู้ปกครองและชุมชนเพื่อระดมทรัพยากรเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ควรให้โรงเรียนมีอำนาจตัดสินใจในการคัดเลือกและรับโอนย้ายครูด้วย เพื่อให้ได้ครูตรงกับความต้องการของโรงเรียนเอง
ประการสุดท้าย วางแผนการเตรียมความพร้อมครูประถมศึกษารุ่นใหม่ให้เพียงพอกับความต้องการในอนาคต
เมื่อโรงเรียนอนุบาลและประถมขนาดเล็กจำนวนมากควรต้องมีครู 1 คนต่อห้อง นั้นก็แสดงว่าครูจะต้องสอนได้หลากหลายวิชาและเข้าใจการเรียนรู้โดยรวมของนักเรียนมากกว่าจบวิชาเอกด้านใดด้านหนึ่ง จึงควรต้องเตรียมให้ครูรุ่นใหม่มีความพร้อมและทักษะการสอนเหล่านี้
ที่ผ่านมาดูเหมือนว่า ระบบการศึกษาไทยยังไม่มีการวางแผนการเตรียมความพร้อมครูรุ่นใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนอนุบาลและประถมขนาดเล็ก
ใน 10 กว่าปีที่ผ่านมาแม้จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้น 1 หมื่น เป็น 1.5 หมื่นแห่ง จำนวนสถาบันที่เปิดสอนคณะศึกษาศาสตร์เอกวิชาประถมกลับลดลงเหลือ 22 จาก 44 แห่ง3
ในปี 2557 มีผู้สมัครเข้ารับข้าราชการครูสังกัด สพฐ. ในสาขาวิชาประถมเพียง 3 พันคนจากผู้สมัครทั้งหมด 1 แสนคน ขณะที่ สพฐ. ยังขาดครูที่จบวิชาประถมอีกอย่างน้อย 4 พันกว่าคน
ในปี 2556-2560 คาดว่าจะมีผู้จบเอกวิชาประถมศึกษา 8 พันคนจากผู้จบทั้งหมด 2.5 แสนคนขณะที่ ในปี 2557-2561 ครูที่สอนวิชาประถมศึกษาจะเกษียณถึง 2 หมื่นคนจากผู้เกษียณทั้งหมด 1 แสนคน (ดูภาพที่ 3)
ภาพที่ 3 (ดูภาพขนาดใหญ่)
การศึกษาข้างต้นชี้ว่ากระทรวงศึกษาและผู้เกี่ยวข้องควรพิจารณาปรับปรุงกระบวนการวางแผนรับและเตรียมความพร้อมบุคลากรครูรุ่นใหม่เพราะมิเช่นนั้น แม้มีครูครบชั้น แต่สอนได้เฉพาะวิชาเดียว ก็อาจไม่เกิดผลดีต่อผลการเรียนของนักเรียนดังที่คาดหวัง
.............................
1 Lathapipat, Dilaka; Sondergaard, Lars M.. 2015. Thailand - Wanted : a quality education for all. Washington, D.C. : World Bank Group. http://documents.worldbank.org/curated/en/2015/06/24435332/thailand-wanted-quality-education-all
2 สูตรการคำนวณจำนวนครูที่เหมาะสมโดยละเอียดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก คำนวณจากจำนวนนักเรียนหารด้วย 25 ส่วนที่สอง ใช้เกณฑ์ว่า ห้องเรียนควรมีนักเรียน 40 คน ดังนั้น 1 ห้องเรียนควรมีครู 1.6 คน (40 หารด้วย 25) โดยคำนวณจำนวนห้องเรียนจากจำนวนนักเรียนในแต่ละชั้นหารด้วย 40 ค่าเฉลี่ยของผลลัพธ์ทั้งสองส่วนนี้จะเป็นจำนวนครูที่เหมาะสม
3 ที่มา: พฤทธิ์ และคณะ (2544). ภาวะวิกฤตและยุทธศาสตร์การพัฒนาคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เพื่อปฏิรูปการศึกษาในแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ระยะที่ 9-10 [พ.ศ.2545-2554]. กรุงเทพฯ: สำนักงานปฏิรูปวิชาชีพครู สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.และข้อมูลปี 2557 จากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
- 16 views