Skip to main content

 

29 เม.ย.2558 เวลาประมาณ 12.30 น. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการนักศึกษาทุกคณะ ร่วมกันจัดแถลงข่าว ขอให้มีการชะลอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ... หรือการนำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกนอกระบบ อีกทั้งยังมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อจากนักศึกษาและประชาคมในธรรมศาสตร์ ที่โถงอาคาร SC มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตั้งแต่เวลา 11.00 น.

โดยแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวได้ เรียกร้องขอให้เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อให้เวลาในการเผยแพร่และอภิปรายข้อมูลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวให้เป็นที่เข้าใจทั่วถึงกันในประชาคมธรรมศาสตร์และให้ตัวแทนประชาคมธรรมศาสตร์ทั้งอาจารย์นักศึกษา และพนักงานมหาวิทยาลัยได้เข้าไปมีส่วนร่วมพิจารณาและเสนอแนะความคิดเห็นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

รวมทั้งขอให้แก้ไขบทบัญญัติมาตรา 20 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ให้มีตัวแทนนักศึกษาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย จำนวน 2 คน คือ นายกองค์การนักศึกษา และประธานสภานักศึกษา เนื่องจากนักศึกษาเป็นสมาชิกประชาคมธรรมศาสตร์ที่มีจำนวนมากที่สุด เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายและโครงการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย จึงมีความจำเป็นที่นักศึกษาต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยเพราะนักศึกษาย่อมมีความรู้ความเข้าใจในความต้องการและเข้าใจในปัญหาของนักศึกษาได้เป็นอย่างดีการมีตัวแทนนักศึกษาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจะทำให้นักศึกษาสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายและโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อตัวนักศึกษาเองได้ตั้งแต่ต้นและสามารถแสดงเจตนารมณ์ของนักศึกษาต่อสภามหาวิทยาลัยได้โดยตรง

ขอให้แก้ไขบทบัญญัติมาตรา 21 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกิน 2 ปี ติดต่อได้ไม่เกิน 2 วาระ ด้วยกรรมาธิการผู้ทรงคุณวุฒิอันเป็นตำแหน่งสำคัญที่มีบทบาทภายในสภามหาวิทยาลัย และมีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางมหาวิทยาลัยและการพัฒนามหาวิทยาลัยทั้งสิ้น ฉะนั้นผู้ทรงคุณวุฒิจึงสมควรต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ให้เกิดการนำองค์ความรู้ ความสามารถใหม่ๆ มาพัฒนาและก่อประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยได้อย่างเต็มที่

องค์การนักศึกษา สภานักศึกษา และคณะกรรมการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกคณะมีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมของนักศึกษาซึ่งเป็นประชาคมธรรมศาสตร์ส่วนหนึ่งด้วยเช่นกันและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนามหาวิทยาลัยผ่านองค์ความรู้ความสามารถใหม่ๆ โดยกรรมาธิการผู้ทรงคุณวุฒิที่ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลง ในการที่จะให้มหาวิทยาลัยของเราอันเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอุดมการณ์เพื่อให้ความรู้ ให้การศึกษา สร้างเสริมความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการให้กับประชาชน ตามเจตนารมณ์ของท่านผู้ประศาสน์การ ศาสตราจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นโดยได้อุปมามหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษาอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล

ที่มาภาพแถลงการณ์ เพจ 'ธรรมศาสตร์ออกนอกระบบ ถามนักศึกษาหรือยัง?'