Skip to main content

หลังจากเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย ประมาณ 20 คน นำโดย นายสุมิตร สุวรรณ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) ในฐานะประธานเครือข่าย ยื่นหนังสือ ถึงพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เพื่อขอให้ช่วยผลักดันร่าง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา วานนี้(12 เม.ย.) นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยืนยันว่า ศธ.จะเดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.เพื่อดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพของพนักงานมหาวิทยาลัย แต่สาเหตุที่การประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ครั้งที่ผ่าน มานำร่าง พ.ร.บ.กลับมาดูรายละเอียดอีกครั้ง เพราะมีการเปลี่ยนผู้แทน ก.พ.อ. ดังนั้นผู้แทนชุดใหม่จึงอยากดูรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.เพื่อให้เกิดความรอบคอบ อย่างไรก็ตามเบื้องต้นกฎหมายนี้จะบังคับใช้เฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐเท่านั้น ส่วนมหาวิทยาลัยออกนอกระบบขอให้เป็นไปตามความสมัครใจ นายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า จะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุม ทปอ. วันที่ 26 เมษายน เพื่อรับฟังความคิดเห็นโดยรวม ทั้งนี้ในส่วนของมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.เพราะเห็นว่าเป็นความซ้ำซ้อน เพราะแต่ละแห่งก็มีระบบการบริหารงานบุคคลของตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่น่าจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายมาบังคับอีก เพราะจะทำให้มหาวิทยาลัยขาดอิสระในการบริหารงานบุคคล นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเห็นด้วยในหลักการที่จำเป็นต้องมีร่าง พ.ร.บ.เพื่อดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพของพนักงานมหาวิทยาลัย แต่ที่ไม่เห็นด้วยคือรายละเอียดร่าง พ.ร.บ. ซึ่งเท่าที่ดูเบื้องต้นให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในการกำกับดูแลพนักงานมากเกินไป ทั้งที่พนักงานอยู่ในการดูแลของมหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงอยากให้ สกอ.เป็นตัวกลางเชิญผู้เกี่ยวข้อง ทั้ง ทปอ. ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย (ทปอ.มรภ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) และเครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย มาพูดคุยทำความเข้าใจและปรับรายละเอียดเพื่อให้เป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย อธิการบดี มธ.กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.มธ. ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นการควบรวมระหว่าง มรภ.กาฬสินธุ์ และ มทร.อีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์นั้น ขณะนี้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญแต่ละชุดได้พิจารณารายละเอียดเกือบเสร็จแล้ว ส่วนใหญ่ปรับแก้ไม่กี่มาตรา เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ส่วนของ มธ.นั้น วันที่ 23 เมษายนนี้ กมธ.วิสามัญเชิญนักศึกษามารับฟังความคิดเห็น รวมถึงชี้แจงข้อกังวลเรื่องการขึ้นค่าเล่าเรียนและเรื่องอื่นๆ ที่ยังเป็นข้อสงสัย โดยคาดว่าไม่เกินต้นเดือนพฤษภาคม ร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในวาระ 2 และ 3 ได้ ที่มา มติชนออนไลน์