Skip to main content

สวัสดีค่ะเพื่อนๆผู้น่ารักทุกท่าน วันนี้เหมียวจะมาแลกเปลี่ยนเรื่องการศึกษาในโรงเรียนเหมียว แต่ไม่ใช่เรื่องปัญหาการเรียนการสอน การสอบ กฎระเบียบ ค่านิยม เหล่านี้หรอกนะคะ แต่เป็นเรื่องพฤติกรรมของนักเรียนโรงเรียนเหมียวต่างหาก เรื่องราวนี้กล่าวถึงเด็กกลุ่มหนึ่งที่เป็น“เด็กไม่ดี” เขาจะ “มั่ยดี๊…มั่ยดี” อย่างไร ลองเลื่อนลงอ่านบรรทัดต่อไปได้เลยค่ะ
 
นิยามของคำว่า“เด็กไม่ดี” 
จากหลายๆคนที่เหมียวเคยสัมภาษณ์นั้นคือ เด็กที่ไม่ทำตัวเป็นนักเรียน อาจจะทั้งการเรียนไม่ดี ทำตัวผิดระเบียบ ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ ก้าวร้าว ชอบใช้กำลัง หรืออื่นๆ
เด็กที่ไม่ดีในโรงเรียนของเหมียว แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1.นักเลง เป็นเด็กผู้ชาย ที่ชอบไปต่อยตีกัน ทั้งกับทั้งในโรงเรียน นอกโรงเรียน บางคนพกอาวุธ เสพยา ชู้สาว เพื่อนๆที่เป็นนักเลงโรงเรียนของเหมียวจะชอบใส่กางเกงนักเรียนขาสั้น เสื้อตัวใหญ่ๆ เสื้อข้างในสีดำ(เหมือนเด็กช่าง) และที่สำคัญ ชอบทำผมทรงแสกกลางด้วย (เหมือนทรงท่านคิม 555) และ 2 สก๊อย เป็นเด็กผู้หญิงที่ค่อนข้างมีความเป็น ‘วัยรุ่น’ ซึ่งจะชอบใส่กระโปงสั้นๆ ใส่เสื้อตัวเล็กๆ แต่งหน้าทาปากแจ๊ดๆ ทำผมทรงผิดระเบียบ เด็กผู้หญิงบางคนอาจจะมีคดี ชู้หนุ่มบ้าง ติดยาบ้าง ตบกันบ้าง(ยอมรับว่ากลัวมาก 555) จนถึงขั้นท้องในวัยเรียนก็มี
 
หากเหมียวจะถามว่า “ทำไมเด็กนักเรียนคนหนึ่งถึงกลายเป็นเด็กไม่ดี” ผู้ใหญ่หลายๆท่านคงคิดว่า ก็เด็กพวกนี้มันทำตัวเอง ไม่สนใจเรียน ไม่รักพ่อรักแม่ สันดานไม่ดีบ้างไรบ้าง แต่เท่าที่เหมียวลองสังเกตเพื่อนๆนักเรียนในโรงเรียนเหมียว และลองสอบถามเหล่าเพื่อนๆที่เป็นนักเลง ก็ได้คำตอบว่า
1.พัฒนาการของวัยรุ่น นิสัยของวัยรุ่นที่มีมากกว่าคนอื่น
2.สภาพสังคม สภาพครอบครัว ที่มีความไม่สมบูรณ์ ทำให้มีความลำบาก มากกว่า และมีโอกาสน้อยกว่าผู้อื่น
3.เพราะมีฮีโร่เป็นรุ่นพี่ หรือทำตามเพื่อนๆ (เป็นแฟชั่นประมาณนั้น)
4.เพราะระบบการศึกษาทำให้เขาเป็น
 
เอ๋??? ทำไมเหมียวพูดแบบนี้หล่ะ!!! โทษระบบการศึกษาทำไม เขาทำตัวเองแท้ๆ มันก็หลายๆส่วนประกอบกันนะค่ะ มาฟังคำอธิบายของเหมียวดีกว่า…
 
การศึกษาของเราเป็นการศึกษาแบบสายพาน คือทุกคนผ่านการเรียนแบบเดียวกัน การประเมิณแบบเดียวกัน ใช้การเรียนเป็นศูนย์กลาง เด็กๆต้องเดินเข้าหาการเรียน เด็กที่ดีที่สุดถูกคัดเลือก เด็กที่แย่ก็คัดทิ้ง จึงทำให้เด็กจำนวนหนึ่ง ที่อาจจะเรียนไม่ทันเพื่อน ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการศึกษาแบบนี้ มีความถนัดด้านอื่นเด่นกว่า หรือ ไม่ได้มาจากโรงเรียนที่ดี สังคมที่ดี ไม่มีเงินไปเรียนพิเศษ ไม่มีเวลา เหมือนเด็กนักเรียนคนอื่นๆ ทำให้ได้คะแนนน้อย จึงต้องไปอยู่ห้องท้ายๆ ซึ่งห้องเหล่านี้ก็ไม่ได้รับความใส่ใจทั้งด้านการเรียนจากอาจารย์ (ก็เหมือนถูกคัดทิ้งไปโดยปริยาย) เด็กกลุ่มนี้จึงไปสนใจสิ่งอื่นมากกว่าด้านการเรียนเช่น อบายมุข การทะเลาะวิวาท
รวมไปถึงการเรียนในห้องเรียนยังเป็นการเรียนที่ค่อนข้างหนัก เน้นเนื้อหา บางอย่างก็เข้าใจยาก มีการบ้านมาก บรรยากาศการเรียนการสอนก็ไม่ทำให้ในเด็กสนใจเรียน ฟังแล้วจดตาม ให้ทำแบบฝึกหัด ทำให้เด็กเหนื่อย เบื่อ ท้อ จนทำให้มีเด็กบางคนโดดเรียน หรือไปสนใจด้านอื่นที่น่าสนใจมากกว่าการเรียน
สังเกตได้ชัดว่า การศึกษาไทย จะเน้นให้เด็กนักเรียนปรับตัวเข้ากับการศึกษา ไม่ใช่การศึกษาปรับตัวเข้าหานักเรียน ทำให้เด็กที่สามารถปรับตัวเข้าหาการศึกษาได้ ก็ถูกยอมรับในสังคม ส่วนเด็กที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับมันได้ ก็ถูกถีบออกไป ซึ่งเหมียวคิดว่า การทำแบบนี้เป็นการทำลายอนาคตของเด็กทางอ้อมๆ แต่ทำลายได้มาก
 
นอกจากนี้ พวกเรายังติดค่านิยม “เรารักโรงเรียนกันอยู่” เป็นค่านิยมที่ทำให้เด็กยึดติดกับสถาบันของตนเอง และดูถูกสถาบันคนอื่น และการส่งเสริมวินัยจากภายนอก หรือการลงโทษ มากกว่าการปลุกวินัยจากภายในของนักเรียน
เมื่อเราได้ฟังสาเหตุแล้วเรามาดูวิธีการแก้ไขปัญหากันบ้าง ถ้าจะกล่าวถึงการแก้ปัญหาในเรื่องพฤติกรรมนักเรียน ‘เด็กไม่ดี’ บอกเลยว่าทำได้ค่อนข้างยาก แต่เหมียวขอเสนอไอเดีย ซัก 3 ข้อละกัน
 
1.เหมียวรู้สึกว่าการเรียนในห้องมันค่อนข้างน่าเบื่อ เหนื่อย และงานเยอะ บางทีเราหน้าจะเพิ่มบรรยากาศที่น่าเรียนเข้าไป เพื่อให้เด็กสนใจการเรียน มีความสุขกับการเรียน ซึ่งลดอัตราการโดดเรียนได้ (เพราะถ้าเรียนแล้วมีความสุข ใครเขาจะอยากโดดหล่ะ) เป็นผลดีกับทั้งนักเรียนที่ดี และนักเรียนที่ไม่ดีด้วย
 
2.ห้องคิงและห้องท้ายของเหมียวมีความแตกต่างกันมาก ทั้งคะแนน ความสามารถ พฤติกรรม และการได้รับการยอมรับ ครูโรงเรียนเหมียวส่วนใหญ่จะตั้งใจสอนเด็กห้องเก่งกว่าเด็กห้องไม่เก่ง ทำให้เกิดสองมาตรฐาน เด็กเก่งก็จะมีโอกาสมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนเด็กที่ไม่เก่งก็จะไม่เก่งอยู่วันยังค่ำ และเด็กห้องเก่งจะถูกสังคมยอมรับ อาจารย์ชื่นชม แต่เด็กห้องไม่เก่งก็จะถูกดูถูก ไม่มีใครสนใจ เพราะฉะนั้นโรงเรียนหรืออาจารย์ควรให้มาตรฐานห้องเก่งและห้องไม่เก่งแบบเดียวกัน ให้ห้องเก่งและไม่เก่งมีโอกาสเท่ากัน เช่น ให้อาจารย์ที่สอนดีๆไปสอนในห้องไม่เก่งบ้าง เพื่อให้เด็กที่ไม่เก่งมีความเข้าใจ หรือได้ความรู้มากขึ้น
 
3.ในโรงเรียนเก่า(เป็นโรงเรียนเอกชน)ของเหมียวมีนักครูท่านหนึ่งซึ่งเป็นนักจิตวิทยา ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่นักเรียน ครู และร่วมในการสอบสวนเด็กนักเรียน บางทีโรงเรียนอื่นๆ น่าจะให้อาจารย์แนะแนว หรือนักจิตวิทยา(เผื่ออาจารย์แนะแนวงานเยอะ) มาร่วมในการสอบสวนนักเรียน แต่ไม่ใช่แค่การให้เด็กพูดความจริง เผยความลับ หรือ สืบสวนคดีเหมือนนักสืบโคนันนะ แต่อาจารย์แนะแนวหรือนักจิตวิทยาควรจะต้องให้เด็กเข้าใจว่าสิ่งที่เด็กทำมันทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนอย่างไร คอยตักเตือนเด็กด้วยความมีจิตวิทยา เฝ้าดูพฤติกรรมของเด็กคนนั้น เพื่อไม่ให้เด็กคนนั้นเป็นนักเลงอีก (การลงโทษไม่อาจหยุดคนที่กระทำผิดได้หรอก)
 
4.เหมียวคิดว่าเด็กกลุ่มนี้มีความคิดที่ดีๆ หรือบางคนมีปัญหา แต่ขาดไม่มีคนรับฟัง เราควรจะจัดกิจกรรมให้เด็กกลุ่มนี้มา แลกเปลี่ยนเรื่องราวของตนเองให้เพื่อนๆฟัง เล่าความในใจให้แก่เพื่อนๆ โดยการจัดกิจกรรมแสดงละคร ทำหนัง แต่งเพลง ให้เด็กเหล่านี้มีพื้นที่ในการแสดงออกมากขึ้น ซึ่งหน่วยงานภายนอกควรสนับสนุนให้ผลงานของเด็กๆกลุ่มนี้
 
5.ไหนๆเด็กกลุ่มนี้ก็มีพลังและ ก็น่าจะเอาพลังของเขาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ กับโรงเรียนคู่อริ ไปปลูกป่า ทำสวน ทำไร่ ต่างๆนาๆ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้แก่เด็กสองโรงเรียน และลดความรุนแรงของเด็กกลุ่มนี้ด้วย
 
6.ยอมรับว่าเป็นไอเดียที่แปลกสุดๆ เท่าที่เหมียวลองคิดมา คือการให้เด็กนักเลงตีกัน หรือเด็กสก๊อยตบกันตามใจชอบเลยค่ะ เอ้ย!!! แต่เป็นการตบและต่อยกันในสายตาผู้ใหญ่นะ พูดง่ายเลยก็คือ จัดเป็นกีฬาของแต่ละจังหวัดเลยค่ะ ให้เด็กแต่ละโรงเรียนมาแข่งตบกัน ต่อยกัน แต่อยู่ในกติกา (เช่น ใส่ถุงมือ ไม่ใช้อาวุธ) หากเด็กไหนไปตีหรือตบกันนอกรอบ ก็จะโดนพักการเรียนไปเลย เหมียวว่าวิธีนี้สามารถลดปัญหาทะเลาะวิวาทไปได้เยอะเลยนะค่ะ (ตบ-ต่อยเอาความสนุก ไม่ใช่แก้แค้นกัน)
สำหรับโรงเรียนของเหมียวนั้น ก็กำลังแก้ไขปัญหาเด็กไม่ดีอยู่เหมือนกัน แต่วิธีการแก้ไขปัญหานี้ยังไม่ค่อยน่ายอมรับเท่าไหร่ วิธีการแก้ไขของเขาคือ ลงโทษ เด็กส่วนใหญ่ที่ลงโทษก็ทำความผิดใหม่ซ้ำๆ การไล่เด็กนักเรียนออก ก็เป็นการทำลายอนาคตโดยสิ้นเชิง และเป็นวิธีที่หนีปัญหา สุดท้ายคือการตัดผมทรงเกรียน (เพราะนักเลงส่วนใหญ่ชอบทำผมทรงแสกกลาง) ซึ่งทุกคนก็ต่างทราบถึงข้อเสียกันดีอยู่แล้ว ในทั้งหมดสามวิธีนี้ เหมียวไม่ค่อยยอมรับวิธีที่สองกับสามซักเท่าไหร่ ซึ่งกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทในโรงเรียนของเหมียวคงจะเล่นเรื่องนี้ในไม่ช้า…
 
ถ้าถามเหมียวว่าเหมียวรู้สึกอย่างไรกับเด็กพวกนี้ เหมียวมีเพื่อนหลายคนที่เป็นแบบนี้ ทั้งเพื่อนในห้องและนอกห้อง ซึ่งเพื่อนๆแต่ละคนก็ดีกับเหมียว และไม่ทำร้ายเหมียว เหมียวเลยรู้สึกว่าเขาก็เป็นเพื่อนกับเราคนหนึ่ง ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร (แค่บางครั้งก็กลัวโดนตบนะ)
เหมียวคิดว่า “เด็ก” ทั้งเด็กดี และ เด็กไม่ดี แม้จะตัวโตแค่ใหนเขาก็ยังเป็นเด็กอยู่ดี เขามีโอกาสที่จะไม่รู้ หลงผิด ทำตามผู้อื่น ก็เพราะเขาเป็นเด็ก ไม่ใช่ภูตผีปีศาจ ผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ(และไม่ใจแคบจนเกินไป) ก็ควรทำความเข้าใจถึงปัญหา และร่วมกันแก้ปัญหาด้วยเหตุผล ไม่ตีตราว่าเด็กคนนั้นเป็นเด็กไม่ดี โดยไม่ฟังเด็ก เพราะความจริงแล้ว เด็กคนหนึ่งที่ถูกผู้ใหญ่มองว่า ไม่สร้างก็จะแต่งแต้มโลกใบใหม่ ที่ผู้ใหญ่อาจจะไม่เคยเห็นก็เป็นได้
 
สำหรับบทความนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท' เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทย ระบุถึงประวัติ ของ โจโฉ-เตอะ-เหมียว ด้วยว่า เป็นสมาชิกกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เรียนอยู่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี กำลังขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่สาม (ห้องเรียนส่งเสริมวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์) อายุ 14 ปี มีความสนใจด้านปัญหาการศึกษาไทย และติดเฟสบุ๊คอย่างงอมแงม