Skip to main content

หลังเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เสนอคืนเวลาเรียนให้เด็ก เล็งลดกิจกรรมนักเรียน ชี้อาจเป็นเหตุผลการเรียนไม่สูงดังหวัง กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทสวนสิ่งที่ขาดหายอาจไม่ใช่ “เวลาเรียน” แต่อาจเป็น “คุณภาพการเรียน”

โดย เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท’ ในหัวข้อ อะไรคือสิ่งที่ขาดหายไปจากการศึกษาไทย? ระบุว่า

เมื่อไม่นานที่ผ่านมา นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้เปิดเผยแก่สาธารณชนว่า ในปัจจุบันนักเรียนไทยต้องนำเวลาเรียนในห้องเรียน ไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนหรือวิชาเรียน (เช่น กีฬาสี ค่ายวิทยาศาสตร์ ฯลฯ) กิจกรรมที่จัดโดยหน่วยงานภายนอก (เช่น รณรงค์การเลือกตั้ง งานประจำจังหวัด) และกิจกรรมเกี่ยวกับการประเมินโรงเรียน สพฐ. จึงมีนโยบายจะลดทอนเวลาการทำกิจกรรมระหว่างภาคเรียนเหล่านั้น โดยให้เลื่อนกิจกรรมเหล่านั้นไปจัดในช่วงระหว่างปิดภาคการศึกษาแทน เพื่อคืนเวลาเรียนให้แก่นักเรียนทั่วประเทศได้เรียนในห้องเรียนอย่างเต็มที่

ถึงแม้จะมีประเด็นที่น่าขบคิดเกี่ยวกับแนวคิดที่ท่านเลขาธิการ กพฐ. ได้แถลงต่อสื่อมวลชนมากมายที่ผู้เขียนจะพยายามหาโอกาสได้ตั้งคำถามในโอกาสต่อไป แต่ประเด็นหนึ่งที่ท่านเลขาฯ ได้กล่าวถึงซึ่งสำคัญเกินกว่าจะไม่กล่าวถึงได้คือเรื่อง “เวลา” ในการเรียน

เมื่ออ้างอิงจากข้อมูลที่ท่านเลขาธิการได้เปิดเผยต่อสาธารณชน นักเรียนไทยมีเวลาเรียนทั้งหมดปีละ 200 วัน ซึ่งก็คือประมาณไม่ต่ำกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปี ในเวลานั้นใช้เป็นเวลาสำหรับกิจกรรมไป 82 วัน หรือก็คือ 492 ชั่วโมง จะมีเวลาสำหรับการเรียนในห้องเรียน 118 วันหรือประมาณ 708 ชั่วโมง ซึ่งท่านเลขาธิการ กพฐ. ก็ยังได้กล่าวอีกว่าตามหลักวิชาการ (ที่ท่านอ้างถึง) ควรจะให้เวลาสำหรับกิจกรรมเพียง 10% ซึ่งก็คือ 20 วันหรือประมาณ 120 ชั่วโมงเท่านั้น

สิ่งที่น่าขบคิดคือ กิจกรรมระหว่างภาคเรียนกินเวลาการเรียนน้อยจนถึงขนาดขลาดแคลนเวลาเรียนจริงหรือไม่

หลักสูตรการศึกษาไทยนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นหลักสูตรการศึกษาที่กินเวลามากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งหลักสูตรเต็มนั้นใช้เวลาถึง 1,200 ชั่วโมงดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึง แม้จะตัดเวลากิจกรรมออกตามที่ท่านเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวก็ยังเหลือเวลาเรียนอีกถึงกว่า 700 ชั่วโมง ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นเวลาจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวเมื่อเทียบกับหลักสูตรการศึกษาของประเทศอื่นๆ กรณีของประเทศจีนและฟินแลนด์ถือเป็นตัวอย่างสำหรับเปรียบเทียบที่ดีต่อกรณีนี้

จีน เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาของเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง แต่หลักสูตรการศึกษาของประเทศจีนแบบเต็ม (ยังไม่ได้ตัดเวลาของกิจกรรมออก) นั้นกลับกินเวลาเพียงประมาณ 771 ชั่วโมง น้อยกว่าเวลาในหลักสูตรของประเทศไทยหลายร้อยชั่วโมง หากใช้หลักคิดว่าเวลาสำหรับกิจกรรมควรคิดเป็น 10% ของระยะเวลาทั้งหมดดังที่ท่านเลขาธิการ กพฐ. ได้แถลง หลักสูตรการศึกษาจีนก็จะมีเวลาเรียนในห้องเรียนประมาณ 694 ชั่วโมง (ย้ำอีกครั้งว่า เมื่อคิดโดยใช้หลักคิดเดียวกัน นักเรียนไทยจะใช้เวลาในห้องเรียน 708 ชั่วโมง) นอกจากนี้ ตารางเวลาเรียนของจีนยังค่อนข้างผ่อนคลาย เพราะมีเวลาพักระหว่างคาบค่อนข้างมาก

ฟินแลนด์ เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษามากที่สุดในโลก ในขณะที่หลักสูตรการศึกษาของประเทศฟินแลนด์นั้นกินเวลาน้อยมากราว 600 ชั่วโมงเท่านั้น หลักสูตรการศึกษาของประเทศไทยถึงแม้จะตัดเวลากิจกรรม (ตามข้อมูลของท่านเลขาธิการ กพฐ.) ก็ยังมากกว่าระยะเวลาทั้งหมด (รวมระยะเวลากิจกรรมด้วย) ในหลักสูตรของประเทศฟินแลนด์อยู่มากนัก

เป็นที่แน่ชัดว่าผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาของทั้งสองประเทศนี้มีสูงกว่าผลสัมฤทธิ์ของประเทศไทยทั้งที่ระบบการศึกษาของประเทศไทยทุ่มเทเวลามากกว่าถึงหลายร้อยชั่วโมง จึงเป็นที่น่าขบคิดว่าในความทุ่มเทเวลานั้นจะต้องมีบางอย่างที่ขาดหายไป

ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการการศึกษามักให้ความสำคัญกับการกำหนดระยะเวลาในการเรียน โดยละเลยการตั้งคำถามต่อวิธีการเรียนที่นักเรียนไทยต้องเผชิญอยู่ สพฐ. เองก็มีการปรับปรุงหลักสูตรชั่วโมงเรียนอยู่หลายครั้ง ในหลักสูตรการศึกษาฉบับล่าสุดก็เพิ่มชั่วโมงเรียนต่อปีให้ไม่ต่ำกว่า 1,200 ชั่วโมง เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็มีการประกาศว่าจะลดเวลาเรียนลงอีก มาถึงช่วงไม่กี่วันนี้ทาง สพฐ. ก็เสนอจะเพิ่มเวลาเรียนโดยลดเวลากิจกรรมลงดังกล่าว

จริงอยู่ว่าในกิจกรรมทั้งหลายที่ท่านเลขาธิการ กพฐ. อ้างถึงว่ากินเวลาเรียนไปถึง 82 วันนั้น ย่อมจะต้องมีกิจกรรมนักเรียนไม่มีส่วนร่วมและไม่ก่อเกิดประโยชน์ต่อนักเรียนอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีกิจกรรมที่สร้างทักษะการทำงาน ทักษะการชีวิต หรือแม้กระทั่งทักษะการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน ดังนั้นการลดทอนกิจกรรมตามที่ท่านเลขาธิการ กพฐ. ได้เสนอสมควรจะให้ลดแบบเหมารวมทั้งกิจกรรมที่ดีและไม่ดีหรือไม่? เหตุใดกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อนักเรียน อาทิเช่น กีฬาสี จึงถูกท่านเลขาธิการ กพฐ. เสนอให้ปรับไปจัดตอนปิดภาคเรียน ซึ่งควรเป็นเวลาของเด็กที่จะได้เลือกทำกิจกรรมอื่นๆ นอกโรงเรียนตามอัธยาศัยอย่างแท้จริง? กิจกรรมต่างๆ ย่อมเป็นทั้งการผ่อนคลายและเสริมทักษะให้กับนักเรียนควบคู่ไปกับความรู้เชิงวิชาการ หากให้กิจกรรมดำเนินไปควบคู่กับการเรียนในระหว่างภาคเรียนจะดีกว่าการให้จัดในช่วงปิดเทอมหรือไม่? และกิจกรรมที่มีประโยชน์อื่นๆ เช่น กิจกรรมค่ายพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมชมรม จะถูกจัดในหมวดกิจกรรมที่จะถูกลดทอนหรือไม่?

และที่สำคัญที่สุด ข้าพเจ้าขอตั้งคำถามให้ทุกท่านคิดหาคำตอบว่า จากที่ท่านเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวว่านักเรียนไทยกำลังขาดแคลนเวลาเรียน ท่านคิดว่า อะไรคือสิ่งที่ขาดหายไปจากการศึกษาไทยกันแน่

แท้จริงแล้ว สิ่งที่ขาดหายอาจไม่ใช่ “เวลาเรียน” แต่อาจเป็น “คุณภาพการเรียน” ก็เป็นได้