หลังจากเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. เห็นชอบตามข้อเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล สถาบันกวดวิชา เพราะเห็นว่าเป็นโรงเรียนหรือสถาบันลงทุนไม่สูงมากนักแต่กลับมีกำไรค่อนข้างสูงมาก และปัจจุบันไม่มีกฎหมายบังคับให้จดทะเบียนนิติบุคคล รัฐบาลจึงไม่ได้เข้าไปควบคุมเพราะเป็นเรื่องการศึกษา ที่ประชุม ครม.จึงมีคำสั่งให้ทั้งกระทรวงการคลังและกระทรวงศึกษาธิการดำเนิน(อ่านรายละเอียด) ต่อมา สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ได้มอบให้ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในฐานะที่ดูแลโรงเรียนกวดวิชาเป็นตัวแทนหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และได้ให้สช.ไปศึกษารายละเอียดในพ.ร.บ.การศึกษาเอกชนที่ได้ยกเว้นการเก็บภาษีแก่กลุ่มโรงเรียนเอกชนนอกระบบตามมาตรา 15(2) ( อ่านรายละเอียด)
ล่าสุดวานนี้(15 ม.ค.2558) ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า สุทธศรี เปิดเผยถึงผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ. เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาตามมติ ครม.ซึ่ง สช.ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และยืนยันให้มีการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาทุกแห่ง โดยปัจจุบันทั่วประเทศมีโรงเรียนกวดวิชาประมาณ 2,000 กว่าแห่ง แบ่งประเภทการจัดเก็บภาษีเงินได้เป็น ประเภทบุคคลธรรมดาและประเภทนิติบุคคล ทั้งนี้ เมื่อมีการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาแล้วจะมีการพิจารณาลดหย่อนภาษีให้โรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้ แทนการยกเว้นภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มาตรา 48(4) ที่ได้กำหนดให้มีการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีเงินได้ของผู้รับใบอนุญาตฯ ซึ่งมาตรการลดหย่อนภาษีนี้จะทำให้ไม่ให้ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ
ทั้งนี้ ในส่วนของอัตราการจัดเก็บและการลดหย่อนภาษี ทางกรมสรรพากรจะเป็นผู้พิจารณา โดยเฉพาะมาตรการลดหย่อนจะลดหย่อนได้กี่เท่าอาจจะสองเท่าหรือสามเท่าให้กับโรงเรียนกวดวิชาที่มีการทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์สังคม กิจกรรมเพื่อการกุศล หรือสาธารณประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยในสัปดาห์หน้า สช. จะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบในเรื่องนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้เสนอแนะว่าการแก้ปัญหากวดวิชาต้องแก้ที่ต้นตอ ควรมีการพัฒนาการเรียนการสอนและจะมอบให้ สช. ไปพิจารณาในภาพรวมของโรงเรียนกวดวิชาด้วยเพื่อแก้ปัญหาการกวดวิชา
ด้าน นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะโฆษก ศธ. กล่าวว่า โจทย์ที่ใหญ่กว่าการจัดเก็บภาษีคือ ทำอย่างไรที่จะลดปริมาณการกวดวิชาลง ซึ่งเป็นปัญหาพัวพันมานานหลายทศวรรษ โดยจะต้องแก้เป็นระบบ ทั้งการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพศึกษา การวัดและประเมินผลในโรงเรียน รวมถึงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าสถาบันอุดมศึกษา ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งนักศึกษากว่า 80% มาจากระบบโควตาที่พิจารณาเพียงแค่เกรดเฉลี่ยและการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่ต่างจากเด็กที่มาจากระบบแอดมิชชัน ฉะนั้น จึงพิสูจน์ได้ว่าการดูคนอย่าดูเพียงแค่คะแนนสอบแต่ให้ดูที่ศักยภาพ