Skip to main content

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 เวลา 13.00-15.00 น. ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ "การทำกิจกรรมนักศึกษาใน มช. : ประสบการณ์จากคน 3 รุ่น" ที่ ห้องประชุมสีฟ้า (ห้องประชุมชั้น3) ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มช. เพื่อชี้แจงและแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น ไปจนถึงประสบการณ์ของกิจกรรมนักศึกษา โดยมีวิทยากรคือ ร.ศ.ดร.วัฒนา สุกัณศีลอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คุณศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ ศิษย์เก่าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตัวแทนนักศึกษาจากสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอาจารย์ท่านอื่นไปจนถึงผู้เข้าร่วมกิจกรรมอีกเล็กน้อย โดยการบรรยายจะเป็นการให้ข้อมูลทางด้านวิชาการ ข้อมูลข้อเท็จจริงไปจนถึงเป็นการบรรยายประสบการณ์ของกิจกรรมในรั้วมหาลัย

กิจกรรมเริ่มต้นโดย ร.ศ.ดร.วัฒนา สุกัณศีล โดยให้ความรู้ถึงเรื่องกิจกรรมรับน้องในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในหลายๆประเด็น ดังนี้ หนังสือหรือเอกสารของงานวิจัยการรับน้อง พฤติกรรมหรือการกระทำที่ถือเป็นรับน้องพิเรนทร์ ก่อให้เกิดอันตรายทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ได้แก่ ให้นักศึกษาปี 1 แก้ผ้า ดื่มกินอะไรแปลกๆ ใช้กำลังเฆี่ยนตี ไปจนถึงบังคับให้ทำสิ่งผิดกฎหมาย เป็นต้น ลักษณะการรับน้อง เป็นประเพณีซ้ำๆ ซากๆ เป็นการบวนการมีแผนงาน เป็นความพยายามที่เชื่อว่าสร้างความใกล้ชิดในกลุ่ม ระบบใครเป็นใครในการรับน้อง มีกลุ่มเป้าหมาย ผู้รับผิดชอบกิจกรรม ประธานเชียร์ ฯลฯ โดยกิจกรรมรับน้องดังกล่าวนี้ได้มีจุดประสงค์เพื่อสลายพฤติกรรมจากการรวมกันของนักศึกษาใหม่ที่มาจากต่างถิ่น          

คุณศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณสังคมศาสตร์ มหาวิทยลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงกิจกรรมรับน้องเล็กๆ น้อยๆ และเล่าถึงประสบการณ์ในชีวิตมหาลัยเมื่อตนเองกำลังศึกษาอยู่ว่ามีปัญหาถึงชุมชนแออัดใกล้ๆ มหาลัยและปัญหาของการเมืองภาคประชาชนว่ายังอยู่แต่ในกรอบเดิมมากเกินไป ในบริบทสมัยใหม่ๆ ที่มันเปลี่ยนไป ไม่ควรไปติดกับอุดมการณ์และกรอบความคิดเดิมๆ ยกตัวอย่างเช่นการเรียนรู้จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ว่าการเมืองภาคประชาชนหรือภาคนักศึกษาในบางครั้งอาจจะยึดติดกับกรอบเดิมๆ มากเกินไป

ขณะที่ ตัวแทนนักศึกษาจากสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงกิจกรรมของกลุ่มสมัชชาเสรีฯ เช่น การต่อต้านการว๊าก การทำหนังสือถึงผู้บริหารภายในมหาวิทยาลัย รวมถึงการของบประมาณของกลุ่มชมรมต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นในกลุ่มสมัชชาเสรีฯ เองเป็นกลุ่มอิสระที่ไม่สังกัดขึ้นกับองค์กรใดๆ จึงมีอิสระมากพอในการของบประมาณทำสิ่งต่างๆ นาๆ และยังกล่าวถึงกิจกรรมโดยสมัชชาเสรีฯ ที่เกี่ยวกับการเมืองซึ่งยังคงจัดขึ้นไม่ได้ในช่วงนี้เนื่องจากปัญหาบางประการ อีกทั้งสมัชชาเสรีฯ ยังเชิญชวนนักศึกษาและผู้ที่สนใจในกิจกรรมที่เกี่ยวกับสมัชชาเสรีฯ ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก

โดยตัวแทนสมัชชาเสรีฯ กล่าวด้วยว่า ในมหาวิทยาลัยมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับสันทนาการและความบันเทิงเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่มีกิจกรรมที่เป็นทางเลือกใหม่ๆ ของนักศึกษา จึงเชิญชวนผู้ที่สนใจมาเข้าร่วมกิจกรรมกับสมัชชาเสรีฯ

 นอกจากนี้ยังมีบุคคลภายนอกผู้ร่วมเสวนาได้กล่าวถึงปัญหาของกิจกรรมในมหาวิทยาลัยหลายประการ เช่น การรับน้องที่มีการทำร้ายจิตใจ การว๊าก กิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษาที่โดนห้าม