Skip to main content

ประมวลภาพกิจกรรมดนตรีรำลึก 6 ตุลา ณ มธ.ท่าพระจันทร์ ตัวแทนกลุ่ม ศนปท. เรียกร้องให้สังคมไทยยุติความรุนแรงต่อผู้คิดต่างทางการเมือง

เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา เวลา 16.30 น. ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย (ศนปท.) จัดงาน “6 ตุลา ร้อยเรียง เสียงดนตรี” ณ ลานปรี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อรำลึกและไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ซึ่งปีนี้ครบรอบ 38 ปี โดยมีอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอิสระเป็นองค์ปาฐก ภายในงานมีกิจกรรมหลักๆคือ การขับร้องและการแสดงดนตรีจากศิลปินหลากหลายวงซึ่งเป็นนักศึกษาและประชาชนทั่วไป เช่น วงตะราง วงสามัญชน วงทับทิมสยาม และวงกำปั้น โดยบทเพลงที่นำมาขับร้องและแสดงดนตรีมีดังต่อไปนี้ เช่น “ดาวแห่งภูพาน” “แสงดาวแห่งศรัทธา” “เพื่อมวลชน” “จากลานโพธิ์ถึงภูพาน” “6 ต.ค.19” “เพลงปติวัฒน์” ซึ่งประพันธ์โดยนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้ถูกคุมขัง จากกรณีร่วมแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า และอีกหลากหลายบทเพลง

โดยภายในงานมีผู้สนใจเข้าร่วมค่อนข้างมาก ซึ่งมีทั้งนักศึกษา และประชาชน โดยเฉพาะนักศึกษาให้ความสนใจกับงานนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากมีนักศึกษาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นไปอย่างสงบ และไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายใดๆ

หนึ่งในสมาชิกศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ซึ่งเป็นผู้จัดงานในครั้งนี้ กล่าวกับทางทีมงานเด็กหลังห้องถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า “ทางทีมงาน ศนปท.  ได้ให้ความสำคัญกับบทเรียน ความสูญเสียที่เกิดขึ้น จากการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่คิดต่างทางเมือง จนเกิดเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลา พวกเราต้องการที่จะย้ำเตือนต่อสังคม ให้เล็งเห็นถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ความรุนแรง แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ที่ไม่มีเสรีภาพมากพอ แม้เพียงแค่จัดการรำลึก 6 ตุลา พวกเราจึงเลือกที่จะถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกผ่านบทเพลงและบทกวีแทน โดยในการทำกิจกรรมครั้งนี้ เราก็พยายามที่จะประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ผู้ควบคุมพื้นที่ เพื่อให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการจัดงานในครั้งนี้ ซึ่งหากให้พูดถึงความคาดหวังจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เราก็คงอยากให้ผู้ที่มาร่วมงาน ได้ตระหนักถึงผลกระทบอย่างมหาศาลจากการใช้ความรุนแรง ต่อผู้ที่มีความคิดต่างทางการเมือง”

นายสรวิศ ทองชื่นจิตร์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชมงคลพระนคร ผู้เข้าร่วมงาน ให้สัมภาษณ์กับทางทีมงานว่า จุดประสงค์ของการมาร่วมงานในครั้งนี้เนื่องจากสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และประวัติศาสตร์ การเมือง โดยจุดเริ่มต้นมาจากการเห็นถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในปี 2553 และเห็นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ 6 ตุลาคม 2519 ควรมีการถกเถียง และพูดถึงกันเป็นวงกว้าง เพื่อให้สังคมส่วนรวมได้รับรับรู้ รับทราบ เพื่อนำมาเป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน และอนาคต