Skip to main content

กลุ่มสภาหน้าโดมจัดงานเสวนาวิชาการท่ามกลางการสอดส่องของตำรวจนอกเครื่องแบบ นักวิชาการชี้ประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่ถูกเขียนโดยชนชั้นปกครอง ไม่ได้รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม เวลาประมาณ 13.00 น. ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 3 ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ : ว่าด้วยการชำระและการสร้าง” โดยมีวิทยากรทั้งหมด 3 ท่าน คือ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ อาจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ จากคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอิสระ ซึ่งงานเสวนาวิชาการดังกล่าวจัดขึ้นโดยนักศึกษากลุ่มสภาหน้าโดม โดยบรรยากาศภายในงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มิได้มีเหตุการณ์วุ่นวายใดๆ ซึ่งภายในงานได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยตรวจตราอยู่ภายในงาน

เนื้อหาของงานเสวนาดังกล่าวพูดถึงการชำระและการสร้างประวัติศาสตร์โดยเน้นบริบทภายในประเทศไทยเป็นหลักศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ได้อธิบายถึง ประวัติศาสตร์ไว้ว่าประวัติศาสตร์ คือ การเล่าเรื่อง โดยจุดประสงค์ของการบันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงแรกนั้นคือ การใช้ประวัติศาสตร์เพื่อเป็นบทเรียนหรือเครื่องมือในการบริหารบ้านเมืองของผู้ปกครองหรือชนชั้นนำ แต่เมื่อเช้าสู่ยุคสมัยใหม่ ประวัติศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือของประชาชนทั่วไปในการค้นหาและถ่ายทอดความจริง แต่อย่างไรก็ตามความจริงไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว หรือด้านเดียว เนื่องจากความจริงต่างๆเกิดจากมุมมองที่ต่างกันของแต่ละคน

อาจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ กล่าวว่า เป้าหมายของประวัติศาสตร์ คือ การค้นหาความจริงในอดีต และนำความจริงในอดีตนั้นมาเป็นตัวช่วยในการกำหนดทิศทางทั้งปัจจุบันและอนาคต จากนั้นอาจารย์พิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ประวัติศาสตร์ที่ถูกชำระหรือถูกทำให้สะอาดแล้ว อาจไม่สะอาดอย่างที่คิด เนื่องจากมีการตัด ต่อ เติม หรือ คัดเลือกเนื้อหา เพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของผู้ที่ทำการชำระ เช่น หนังสือแบบเรียน ที่ถูกปรับเปลี่ยน ชำระมาหลายครั้งซึ่งแน่นอนว่าเนื้อหามักถูกกำหนดโดยรัฐหรือผู้มีอำนาจ

ส่วนอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวว่า การแสวงหาความจริงทางประวัติศาสตร์สามารถเป็นเครื่องมือที่ดีอย่างหนึ่ง แต่การนำเสนอประวัติศาสตร์มีการคัดสรร เช่น การนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่บอกว่าคนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไตของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดและไม่ถูกต้อง อีกทั้งอาจารย์สุลักษณ์ยังเสริมอีกว่า ประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนโดยประชาชนยังไม่ปรากฏ ส่วนใหญ่ที่ปรากฏล้วนแต่เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนและชำระโดยชนชั้นปกครอง

ในช่วงท้ายของการเสวนา วิทยากรทั้ง 3 ท่านกล่าวทิ้งท้ายว่า ในอนาคต การศึกษาประวัติศาสตร์ควรเปิดกว้างมากกว่าในตำราเรียน ไม่มีอีกแล้วอำนาจหรือสิ่งใดที่จะสามารถผูกขาดการอธิบายประวัติศาสตร์ได้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการสอนประวัติศาสตร์ที่สอนให้คิด วิเคราะห์ แยกแยะให้เป็น มิใช่ท่องจำอย่างเดียว และเปิดให้มีการใช้เหตุผลโต้เถียงกันอย่างเสรี

นายเกษมชาติ ฉัตรนิรัติศัย นิสิตจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ร่วมฟังเสวนาในวันนี้กล่าวว่า มางานนี้เพราะเห็นว่าเป็นงานเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ จึงตั้งใจมาหาความรู้และมุมมองเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เพิ่มเติมจากที่เรียน และเห็นด้วยกับวิทยากรทั้ง 3 ท่านว่า การศึกษาประวัติศาสตร์มิควรเป็นการเรียนแบบท่องจำเอาไปสอบ แต่ควรที่จะเรียนเพื่อให้รู้และเข้าใจ โดยเน้นการคิด วิเคราะห์ และการศึกษาไทยควรเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนเป็นผู้กำหนดประวัติศาสตร์ของตนเองด้วย กล่าวคือเน้นความหลากหลาย เพื่อลดการผูกขาดการอธิบายจากอำนาจในส่วนกลางลง

นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มสภาหน้าโดม ผู้จัดงานเสวนาในครั้งนี้กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะจัดงานเสวนานี้ขึ้น ทางผู้จัดได้ขออนุญาตผ่านไปทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และทางเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการดูแลพื้นที่บริเวณนี้ นายสิรวิชญ์ กล่าวต่อไปว่า ทางผู้จัดมีความคาดหวังว่าหัวข้อเสวนาในครั้งนี้จะช่วยเปิดมุมมองทางประวัติศาสตร์ให้ประชาชนได้เห็นถึงการชำระและการสร้างประวัติศาสตร์ที่ผ่านๆมาว่าเป็นอย่างไร อีกทั้งเพื่อให้รู้เท่าทันการชำระ และการสร้างประวัติศาสตร์ในแบบเรียนที่กำลังจะเกิดขึ้น ภายใต้ยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้การรับรู้อดีตเป็นไปในทางเดียวและเป็นการผูกขาด เช่น การสร้างประวัติศาสตร์ชาติที่ผูกติดกับวีรบุรุษหรือบุคคลต่างๆ ซึ่งละเลยการอธิบายประวัติศาสตร์ของประชาชน และคิดว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ในอนาคตอาจมีลักษณะที่มีการผูกขาดการอธิบายโดยรัฐมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันนักวิชาการประวัติศาสตร์กระแสรองหรือสายวิพากษ์ก็จะทำงานหนักมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อเปิดโปง และตีแผ่ให้เห็นถึงความผิดพลาดของประวัติศาสตร์ทางการหรือกระแสหลัก