เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มพลเรียน ร่วมกับศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “เด็กชายขอบในกรอบการศึกษา” เพื่อมาร่วมหาคำตอบว่า "เราจะทำอย่างไรให้เด็กที่มีความหลากหลายทั้งทางด้านความคิด ด้านร่างกาย และด้านเชื้อชาติ สามารถมีพื้นที่ในการศึกษาได้มากขึ้น" การเสวนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ นายสุริยา แสงแก้วฟั่น นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นตัวแทนชมรมโกลบอลแคมปัสเชียงใหม่ นายวรวัส สบายใจ ตัวแทนจากกลุ่มละครมะขามป้อม อาจารย์เชษฐภูมิ วรรณไพศาล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. โดยมีอาจารย์นันทวรรณ วัฒนวราห์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยในการเสวนาครั้งนี้ อาจารย์เชษฐภูมิ วรรณไพศาล เริ่มต้นแสดงความเห็นว่า ชายขอบเป็นการใช้ภาษาเพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์ลงไป และในปัจจุบันความเป็นชายขอบความหลากหลายมากขึ้น ทั้งเพศภาวะที่เปิดเผยมากขึ้น กลุ่มผู้ติดเชื้อ ตลอดจนคนในสลัม และได้สรุปว่าความเป็นชายขอบหมายถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมทั้งในด้านการเข้าถึงโอกาสทรัพยากร และผลประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีความเห็นว่าคนชายขอบ(กลุ่มชาติพันธุ์) นั้นได้ขยับเข้ามาสู่การมีโอกาสทางการศึกษามาขึ้นโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา และเห็นว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงโอกาสทางการศึกษา
นอกจากนี้ได้ชี้ว่า การจัดการศึกษาของไทยเป็นการจัดศึกษาแบบเบ็ดเสร็จ แบบชุดความคิดเดียว และได้ยกตัวอย่างประกอบว่า หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือแม้กระทั้งในมหาวิทยาลัยก็ตาม ล้วนมีการกำหนดหลักสูตรพื้นฐานแบบเดียวกันหมด เป็นความพยายามที่จะรวมศูนย์ความรู้ไว้ที่เดียว ทำให้ไปลดความเป็นมนุษย์และปิดกั้นอัตลักษณ์ที่หลากหลาย พร้อมกันนี้ได้เสนอทางออกว่า การศึกษาควรมีการเปิดพื้นที่ให้หลากหลายมิติขึ้น เพื่อลดความแปลกแยกที่เกิดขึ้นกับความเป็นชายขอบ ท้ายสุดได้ทิ้งว่าการศึกษาควรหันมามองมนุษย์ในด้านวัฒนธรรมมากขึ้น มากกว่าการมองมนุษย์ในด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
สำหรับนายสุริยา แสงแก้วฟั่น ได้นิยามคนชายขอบว่าหมายถึงผู้ที่ด้อยโอกาส ทางการศึกษา ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางชาติพันธุ์ โดยมีปัจจัยที่เช้ามากำหนดคือ การกระจายรายได้ และเป็นกลุ่มที่ถูกมองข้ามจากอำนาจรัฐ ทำให้มีสถานะภาพที่แตกต่าง จึงทำให้ถูกกันออกจากพื้นที่สังคม และมีความเห็นว่าในทางกฎหมายเด็กชายขอบได้รับโอกาสมากขึ้นกว่าในอดีต ทั้งนี้เป็นผลมาจากพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ 2542
แต่อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติยังเกิดมีปัญหา เช่น โรงเรียนปฏิเสธไม่รับเข้าเรียนเนื่องด้วยความไม่พร้อม นอกจากนี้ยังได้สะท้อนผ่านมุมมองของตนในฐานะผู้พิการว่าการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้เข้ามาได้รับการศึกษานั้นยังไม่พียงพอ หากแต่ควรมีการรับประกันทางด้านวัฒนธรรมด้วย เพื่อให้บุคคลสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ และไม่ถูกแบ่งแยกจากสังคมที่อยู่ นอกจากนี้ยังกล่าวเสริมอีกว่า กลุ่มคนชายขอบ ถูกมองว่า เป็นกลุ่มคนไร้ศักยภาพ ไม่สามารถมาเป็นแรงงานใช้การผลิตได้ จึงถูกจำกัดและผลักออกจากพื้นที่ทางสังคม เกิดเป็นการผลิตซ้ำความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน เกิดความแปลกแยกจากสังคมอีกด้วย
ในส่วนของ นายวรวัส สบายใจ มีความเห็นว่า ทุกคนล้วนเป็นคนชายขอบ ความเป็นชายขอบขึ้นอยู่กับพื้นที่และเวลา คนทุกคนสามารถเป็นชายขอบได้ตลอดเวลา และในมิติการศึกษาได้มองว่าหลักการการออกแบบการศึกษาที่ผ่านมานั้นทำให้เกิดความเป็นชายขอบขึ้น โดยขาดการให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบหลักการต่างที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และชี้ว่าที่ผ่านมาในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาขาดความเข้าใจต่อการศึกษาในกระแสแบบอื่นที่นอกจากการศึกษาแบบทางการน้อย
ท้ายสุดได้นายวรวัส ได้เสนอทางออกเพื่อลดความเป็นชายขอบในการศึกษาลง โดยเน้นย้ำให้เกิดการที่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางอัตลักษณ์ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อประสานความเข้าใจใน อัตลักษณ์ที่ต่างออกไป
- 3 views