เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ และ สภาหน้าโดม ร่วมกันจัดกิจกรรม "6 ตุลา พิราบคืนรัง" ณ อาคารกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เวลา 18.00น. มีกิจกรรมร่วมจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์ การแสดงละครสั้นเล่าประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านบทกลอนเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และมีการจัดเสวนา "6 ตุลาคม ชาตินิยม อุดมการณ์" โดยอธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง อ.พิชิต ลิขิจกิจสมบูรณ์ และสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด พร้อม Exclusive Clip จาก ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล
รูปภาพจาก @KAO_VoiceTV21
พิชิต ชี้ 6 ตุลา ไม่ใช่อุบัติเหตุทางการเมือง หากยังมี 4 องค์ประกอบ 6 ตุลายังเกิดขึ้นได้อีกเสมอ
โดยพิชิต มองว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นความรู้ที่แพร่กระจายไปมาก แต่ถ้าถอยหลังไปก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 เหตุการณ์ถูกทำให้ลืม แต่ในปัจจุบันไม่มีอะไรลึกลับอีกแล้ว สามารถค้นคว้าผู้วางแผน ชักใยเหตุการณ์ได้ สัญลักษณ์ 6 ตุลา คือ วิชิตชัย อมรกุล นิสิตจุฬาฯรุ่นเดียวกับตน และเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดครั้งเดียว ยังมีเหตุการณ์พฤษภา 2535 เมษา-พฤษภา 2553 ถือว่าในช่วงชีวิตได้เจอเหตุการณ์เช่นนี้มากกว่า 4 ครั้ง รวมทั้งการรัฐประหารที่เกิดขึ้นนับไม่ถ้วน เหตุการณ์ฆ่าหมู่อาจพบในหลายประเทศ และเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นเหตุการณ์รุนแรงอันดับต้นๆของโลก ซึ่งมีลักษณะร่วมกันและประกอบด้วยองค์ประกอบต่อไปนี้
1. การเมืองและอำนาจรัฐที่รวมศูนย์ไม่เป็นประชาธิปไตย
แม้จะมีรัฐบาลที่ดูเหมือนมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นรัฐบาลที่ไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง
2. สื่อมวลชน ที่นิยมเผด็จการ
ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ผูกพันในแง่ผลประโยชน์กับอำนาจรัฐ ที่มีการโหมโฆษณา เช่น หนังสือพิมพ์ดาวสยาม วิทยุยานเกราะ รวมทั้งนักคิดนักเขียนเช่น ทมยันตี ซึ่งมีใส่ร้ายป้ายสีเป็นปี ใกล้เคียงมากกับเหตุการณ์ เมษา พฤษภา 2553
3. มวลชนฝ่ายขวา ที่ถูกจัดตั้งและเชื่อมั่นในราชาชาตินิยม
4. อำนาจเผด็จการจะอยู่ได้หากประชาชนมีความคิดแตกแยก เช่น จอมพลถนอมบวชเข้ามาในประเทศ ซึ่งเป็นชนวนสำคัญ และมีการปลุกปั่นลัทธิคลั่งชาติ และราชาธิปไตย
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าในเหตุการณ์ 6 ตุลา มีทั้งเชือกแขวนคอ น้ำมัน เก้าอี้ มีการเตรียมกันมาอย่างดีที่ไม่ใช่อุบัติเหตุทางการเมือง ตราบใดที่องค์ประกอบทั้ง 4 ข้อนี้ยังอยู่ เหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดขึ้นได้อีกเสมอ
ใบตองแห้ง : บาปที่ไม่ชำระของ 6 ตุลา และความจริงของโลกสมัยใหม่ คือทุนนิยมควบคู่กับประชาธิปไตย
ใบตองแห้ง มองว่า บาปที่ไม่ชำระของ 6 ตุลา 2519 ข้อแรกคือ การลบเลือนเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้คนไทยไม่เก็บรับบทเรียนที่ว่าความเกลียดชังทำร้ายคนและสังคมไทยมากแค่ไหน สามารถปลุกความเกลียดชังใหม่ที่แรงกว่าและปลูกฝังได้ง่ายมาก เช่น ม็อบต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ด้วยอุดมการณ์ชาตินิยม ทั้งที่ควรปลูกฝังอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เน้นการอยู่ร่วมกันให้ได้ การใจกว้างที่จะยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง
ข้อสอง การก้าวข้ามความจริงและความอยุติธรรมไปสู่การประนีประนอมอย่างซ้ำซากเป็นรากฐานที่ทำให้สังคมไทยไม่มีหลัก จะเห็นได้จากการเกี้ยเซียะ การนิรโทษกรรมทอดทิ้งคนเจ็บปวด สิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้เบื้องหลัง มาจนกระทั่งเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ที่ทักษิณก็จะนิรโทษกรรม
ข้อสาม เหตุการณ์ 6 ตุลาทำให้เกิดการปิดกั้นภูมิปัญญาในสังคมไทย ครอบงำให้คนไทยเหลือสมองไว้เพียงครึ่งเดียว 14 ตุลาเป็นผลสะท้อนจากยุคซิกซ์ตี้ บ็อบ ดีแลน ของอเมริกา ทำให้เกิดความรู้สึกเสรีนิยมอยากทำลายกฎเกณฑ์ดังเดิมของสังคมไทยที่ปิดกั้นประชาธิปไตยและเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกัญชา ศาสนา เซ็กส์ ความเสมอภาคทางเพศ สีผิว (จากมาร์ติน ลูเธอร์ คิง สู่โอบามา) สิทธิมนุษยชนของคนงาน คนชั้นล่าง คนต่างเชื้อชาติ เป็นต้น โดยของอเมริกาและยุโรปสามารถดำเนินการได้ไปสุดทาง แต่ในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ถูกทำลายลงหมดหลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 สังคมเปลี่ยนไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ก้าวไปสู่ยุคที่อยากประสบความสำเร็จในชีวิต สิ้นสุดยุคแสวงหา ไม่สนใจเรื่องเสรีภาพอย่างแท้จริง จะเห็นได้ชัดในเสรีภาพของชนชั้นกลาง ที่หลายเรื่องดูตลก เช่นยอมรับรัฐประหาร และหันไปรณรงค์เรื่องสิทธิสุนัข รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม รู้สึกว่าตัวเองมีเสรีภาพเต็มเปี่ยมทั้งที่อยู่ภายใต้มาตรา 44
ความจริงของโลกวันนี้ต้องขีดเส้นชัดเจนว่า คือ ทุนนิยม ซึ่งมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นแรงผลักดันแต่สังคมนิยมได้ล่มสลายไปแล้ว และเผด็จการคุณธรรมไม่เคยมีจริง ดังนั้นการปฏิวัติรัฐประหารที่จะมาสร้างความเป็นธรรมและสังคมสมัยใหม่ที่คู่กับทุนนิยมมีเพียงประชาธิปไตย ที่ประกอบด้วยเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนจากอำนาจเสียงข้างมาก แต่สามารถกระจายอำนาจ ตรวจสอบอำนาจได้ ถ้าอยู่ข้างประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ซ้ายอีกแล้ว เพราะซ้ายขวาคิดไม่ต่างกัน คือการใช้อำนาจกวาดล้างสังคม ขวามีเพลงหนักแผ่นดิน ซ้ายก็จะถั่งโถมโหมแรงไฟ
ประชาธิปไตยไม่มีการต่อสู้ครั้งสุดท้าย แต่ต้องการสังคมเปิดที่เห็นต่างกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยต่อสู้ความคิดกันไป แม้หลายคนจะมองว่าสถานการณ์ในวันนี้มองไม่เห็นทางออกอาจต้องไปสู่การนองเลือด แต่ประชาธิปไตยไม่ได้มาด้วยการนองเลือดหรือโค่นล้ม เพียงแต่การนองเลือดที่เกิดขึ้นทุกครั้งเพราะประชาชนถูกบีบคั้นจากความอยุติธรรมจากการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพจนทนไม่ไหว
ใบตองแห้งได้ตอบคำถามผู้เข้ารับฟังเสวนาว่า แม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะไม่มีอาวุธหรือต้านฝ่ายตรงข้ามได้ ก็สามารถต้านด้วยเหตุผล เช่น เรื่อง Single gateway หลายคนออกมาต่อต้านทั้งที่ไม่ต่อต้านคสช หรือการสร้างขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่มีอิสระแยกจากพรรคการเมือง ออกมาเฉพาะเรื่อง เป็นครั้งคราวก็เป็นอีกทางหนึ่ง
บก.ลายจุด ชี้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นด้วยการร่วมกันสร้าง พ.ศ.นี้ ใช้การต่อสู้ทาง Social Network แทนปืน
บก.ลายจุด กล่าวว่า ตอนเด็กถูกปลูกฝังความคิดให้เป็นสลิ่ม ส่วนตอนนี้เป็นควายแดง ปี 2558 ยังเห็นความเกลียดชังถึงขั้น ถ้าอีกฝั่งตายได้เอารองเท้ายัดปากเป็นการดี สิ่งที่แตกต่างในพ.ศ. นี้ คือ คนไม่เข้าป่า แต่เข้า Social Network เป็นสมรภูมิในการต่อสู้แทนปืน และมีการต่อสู้กันในโลกออนไลน์ต่อ แก่นคือ การปะทะระหว่างอำนาจเดิมและอำนาจใหม่ที่เข้ามาท้าทาย พวกที่นิยมอุดมการณ์ชาตินิยมเห็นว่า ชนชั้นล่างที่มีปากมีเสียงขึ้นมาเป็นสิ่งที่ไม่เป็นชาติและยอมรับไม่ได้ มองเห็นว่าปรากฎการณ์ใหม่เหล่านี้ทำให้สิ้นชาติ ทำให้ชาติไม่มีเอกภาพ ในขณะที่รัฐแบบประชาธิปไตยมีความคิดที่หลากหลาย แต่ในมุมมองของฝ่ายความมั่นคงคือ ภัยคุกคาม
ประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้โดยการสร้างไม่ใช่การโค่นล้มเผด็จการ เพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดต่อจากนั้นคืออะไร ฝ่ายตรงข้ามแบ่งเป็นพวกที่ไม่ต้องการประชาธิปไตยกับพวกที่ต้องการประชาธิปไตยแต่อยากให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้หลายคนไปแอบอิงกับเผด็จการ จะเห็นว่าสภาพการณ์ปัจจุบันเป็นคุณภาพของสิ่งที่ผ่านมา และการสร้างประชาธิปไตยทำได้ดีในยุคนี้
ท้ายรายการมีการฉายวิดีโอสัมภาษณ์พิเศษ ของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาว่า สังคมไทยมีเรื่องที่พูดไม่ได้ จึงขอพูดในสิ่งที่ไม่ได้พูด เช่น ใครโดนแขวนคอ ใครเปนผู้เอาเก้าอี้ฟาดอีกบ้าง สะท้อนความจำกัดของสังคมไทย ความไม่รับผิดชอบ ทั้งที่เป็นภาระของสังคมที่ต้องทำให้กระจ่างตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ 6 ตุลา 2519 จึงเป็นสิ่งที่ยังไม่จบ เนื่องจากมีผู้สนใจเรื่องนี้ไม่มากพอ ทำให้มีเรื่องอีกเยอะ
- 6 views