เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา เวลา 16.00 – 18.00 น. สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย(LACMUD) ได้จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “รับน้อง” กิจกรรมนักศึกษา อิสรเสรีภาพที่เราเลือกได้? ณ ห้องประชุมสีฟ้า คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีผู้ร่วมเสวนาหลักๆได้แก่ จีน พุธิตา ชัยอนันต์ นักกิจกรรมทางสังคม, ประธานฝ่ายวิชาการ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่(ตามกำหนดการต้องเป็นประธานฝ่ายจิตอาสา ส.มช. แต่ประธานฝ่ายจิตอาสาติดภารกิจเลยมีประธานฝ่ายวิชาการมาแทน), ตัวแทนจากสาขาสื่อศิลปะและออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือที่เรียกกันว่า MediaArts and Design โดยกิจกรรมเสวนาครั้งนี้มี ปณิธาน พุ่มบ้านยาง เป็นผู้ดำเนินรายการ
เริ่มต้นงานเสวนาเป็นการกล่าวถึงมุมมองกิจกรรมชมรมกลาง โดยประธานฝ่ายวิชาการ ส.มช. เล่าถึงประสบการณ์กิจกรรมนักศึกษาในรั้วมหาลัย เริ่มด้วยการกล่าวถึงประเด็นการเปรียบเทียบการรับน้องระหว่างคณะกับชมรมกลาง การรับน้องในคณะผูกติดกับวิชา GE หรือ General Education ที่นักศึกษาจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของคณะตนเองเพื่อให้ผ่านวิชานี้ นอกจากนี้กิจกรรมการรับน้องในคณะถูกกำหนดไว้โดยรุ่นพี่แล้ว ไม่มีอิสระ และยังเหมือนการผลิตซ้ำ โดยรุ่นพี่ทำยังไงรุ่นน้องก็จะทำตามกันไปเรื่อยๆ ถ้าหากรุ่นน้องไม่ทำตามรุ่นพี่ก็จะถูกกีดกันออกจากสังคมในคณะ ไม่มีพื้นที่ของตนเองในคณะ แต่ทั้งนี้ประธานฝ่ายวิชาการ ส.มช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้จะถูกกีดกันจากการรับน้อง แต่ก็ยังเชื่อว่าผู้ที่ไม่เข้ารับน้องก็สามารถพัฒนาประสบการณ์ตนเองได้ ยกตัวอย่างจากนักศึกษาในชมรมกลางที่รู้จัก
แต่อย่างไรก็ตามประธานฝ่ายวิชาการ ส.มช.กล่าวว่า ไม่ได้สานต่อกิจกรรมคณะใดๆ ทว่าเสนอนโยบายทุ่มเทให้กับชมรมกลางมากเสียกว่า มากไปกว่านั้นพอมาอยู่ชมรมกลาง เริ่มแรกที่ชมรมประชาธิปไตย ตนเองรู้สึกว่ามีความอิสระเสรีมากกว่า ไม่มีใครมาควบคุมความคิดตน และสมาชิกชมรมสามารถร่วมกันสร้างสรรค์ ออกแบบกิจกรรมร่วมกันได้ ยิ่งไปกว่านั้นรู้สึกมีความสุขที่ได้ทำกิจกรรมกับชมรมกลาง ได้เจอเพื่อนใหม่ ไม่ต้องคอยรับคำสั่งใครเพียงอย่างเดียว เลยเลือกที่จะทำกิจกรรมกับชมรมกลางมากกว่า
ประเด็นต่อมาประธานฝ่ายวิชาการ ส.มช. กล่าวถึงเรื่องงบประมาณที่มหาวิทยาลัยมอบให้ ส่วนใหญ่ไปลงตามคณะต่างๆ เสียมากกว่า ทว่าชมรมกลางก็มีการหางบเสริมเพิ่มเติม พร้อมกันนี้กล่าวถึงประเด็นการสอดส่องกิจกรรมจากทหารบ้าง และทางมหาลัยก็ยังมีข้อท้วงติงเกี่ยวกับบางกิจกรรมบ้าง
ต่อมา ตัวแทนจากมีเดียอาร์ตให้มุมมองว่า พื้นที่ของมีเดียอาร์ตอยู่ข้างนอกรั้วมหาลัยและอยู่นอกโครงสร้างบางอย่างของมหาลัย จึงทำให้มีพื้นที่รวมถึงโครงสร้างต่างๆ ที่อิสรเสรีมากกว่า ไม่มีโครงสร้างการรับน้องแบบคณะหรือสาขาอื่นๆ ทุกคนพร้อมใจกันไม่รับน้องรวมทั้งอาจารย์ด้วย ส่วนในมหาวิทยาลัย ด้วยความที่บริบทพื้นที่อยู่กันแบบปิดล้อม อยู่กันเป็นสังคมใหญ่ๆ จึงมีเรื่องพิธีกรรมและโครงสร้างที่สนับสนุนระบบรับน้องแบบ top to down กันเป็นปกติ และพิธีกรรมการรับน้องดังกล่าวเป็นพิธีกรรมแบบ surreal คือ ทำให้ความเป็นพี่เป็นน้องดูยิ่งใหญ่เกินจริง แต่สำหรับที่มีเดียอาร์ตดูเป็นปกติมากกว่า พร้อมกันนี้ ยกตัวอย่างเสริมด้วยว่า ถ้าหากรุ่นน้องอยากรู้จักพี่ก็เข้าไปทัก หรือใครที่อายุมากกว่าก็เรียกพี่
ตัวแทนจากมีเดียอาร์ตอีกท่านแชร์ประสบการณ์ว่า ที่มีเดียอาร์ตก็มีรับน้องเช่นเดียวกับคณะและสาขาอื่นๆ แต่แตกต่างออกไป มีอิสรเสรีมากกว่า รวมถึงมีการประสานงานกัน แบ่งงานกันทำ จัดการกันเองได้ ส่วนทางอาจารย์ก็ให้การสนับสนุนกิจกรรมวิชาการ ศิลปะเสมอ และนอกจากนี้ยังสามารถใช้พื้นที่ของมีเดียอาร์ตในการทำกิจกรรมต่างๆได้มากมายไม่ว่าจะเป็น เสวนา สังสรรค์ workshop และสามารถใช้พื้นที่ได้เต็มที่ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง
ต่อมา พิธีกรเสริมใน 2 ประเด็นว่า space หรือพื้นที่ เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะสร้างกิจกรรมที่แตกต่างออกไปและทำให้เห็นภาพกิจกรรมที่แตกต่างออกไป ไม่ว่าจะชมรมหรือกลุ่มไหน ประเด็นต่อมาถ้าหากนักศึกษาที่เข้ามหาวิทยาลัยมารุ่นก่อนสร้างทางเลือกเยอะๆ ทำให้คนรุ่นหลังได้มองเห็นทิศทางรวมถึงมุมมองอื่นๆได้มากขึ้น
ทางด้าน จีน พุธิตา ชัยอนันต์ นักกิจกรรมทางสังคม ผู้เคลื่อนไหวนอกมหาลัย ได้ให้แชร์ประสบการณ์และให้มุมมองว่า เริ่มต้นตนเองไม่ได้สนใจปัญหาทางสังคม แต่พอมีจุดเปลี่ยนคือเริ่มเข้าค่ายของ iLaw และอบรมห้องเรียนประชาธิปไตยของ Book:Republic จึงเริ่มมองเห็นปัญหาทางสังคม และริเริ่มเคลื่อนไหวทางสังคม จนกระทั่งเคลื่อนไหวทางการเมือง
ในประเด็นต่อมา พุธิตา มองว่านักกิจกรรมในสถานภาพที่เป็นนักศึกษา เสมือนมีเกราะป้องกันตัว สามารถทำกิจกรรมเคลื่อนไหวได้สะดวกกว่าไม่มีสถานภาพดังกล่าว และอยากฝากถึงนักศึกษาได้ออกไปมองเห็นปัญหาสังคมบ้าง ถ้าหากอยู่แต่ในกิจกรรมรับน้องที่ไม่สร้างสรรค์ นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์อะไรแล้ว ยังทำให้ส่งเสริมการยอมรับต่ออำนาจได้ง่าย เชื่อฟังรุ่นพี่อย่างง่ายดาย ไม่ตั้งคำถาม
“การจะบอกว่ารักกัน สามัคคีกัน มันก็เหมือนกับปัญหาสังคมตอนนี้ที่เขาบอกให้เราต้องปรองดองกัน สามัคคีกัน โดยที่มันเป็นไปไม่ได้ เราไม่ต้องปรองดองกันก็ได้ เราไม่ต้องรักกันก็ได้ แต่เราต้องเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันในฐานะที่เราเป็นคนเท่ากัน” พุธิตา กล่าวเสริม
อย่างไรก็ดี ตัวแทนกลุ่ม LACMUD ให้มุมมองเกี่ยวกับชีวิตกิจกรรมนักศึกษาของตนเองว่า เริ่มต้นที่ไม่เข้ารับน้องคณะ ด้วยรู้สึกว่าไม่มีอิสรเสรีภาพ จึงไปเข้าร่วมชมรมกลาง ท้ายที่สุดจนได้เคยเป็นสโมสรนักศึกษาในปี 55 กล่าวเสริมถึงวิชา GE เชื่อมโยงกับกิจกรรมรับน้องเลยรู้สึกว่าโครงสร้างอำนาจบางอย่างกำลังควบคุมกิจกรรมรับน้อง
ในตอนท้ายมีผู้ร่วมเสวนากล่าวเสริมถึงปัญหาของผู้ที่ไม่เข้ารับน้อง แต่อยากร่วมทำกิจกรรมต่างๆกับคณะ มักจะโดนสังคมคณะกีดกันไม่ให้เข้าร่วม รวมถึงมีการกล่าวถึงโครงสร้างอำนาจที่กำหนดมาตั้งแต่มหาวิทยาลัยส่งเสริมให้มีการรับน้อง
- 4 views