หลังผู้จัดการ กยศ. เผยต้องฟ้องผู้ไม่ชำระหนี้และหากเมื่อไม่ชำระหนี้คืนตามคำพิพากษา ต้องขอศาลออกหมายบังคับคดี เพื่อไปบังคับยึดทรัพย์ผู้กู้ ซึ่งเป็นปีแรก เผยขณะนี้ยึดแล้ว 786 ราย รวมเป็นเงิน 22 ล้านบาท
จากเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานว่า ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2558 มีผู้กู้รายเก่าและรายใหม่ รวมประมาณ 750,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้กู้รายใหม่ ประมาณ 200,000 ราย ซึ่งในภาพรวมพบว่าจำนวนผู้กู้รายใหม่ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ กยศ.จำกัดจำนวนผู้กู้ไม่ให้เกิน 200,000 ราย อีกทั้งอัตราการเกิดของประชากรลดน้อยลง จึงทำให้นักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษาลดน้อยลงด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการชำระหนี้ กยศ.คืนนั้น ในปีนี้มีผู้ชำระหนี้เพิ่มมากขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 2.2 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ชำระหนี้ในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการจ้างบริษัทติดตามหนี้ โดยในปี 2557 ได้เงินคืนประมาณ 800 ล้านบาท ปี 2558 ประมาณ 5,000 ล้านบาท ผู้จัดการ กยศ. กล่าวต่อไปว่า แม้จะมีผู้ชำระหนี้คืนมากขึ้น แต่ก็ยังมีผู้กู้ที่ค้างชำระอีกจำนวนมากที่ กยศ. ต้องเร่งติดตาม ซึ่งที่ผ่านมา กยศ. พยายามหามาตรการรณรงค์มาโดยตลอด เพราะไม่อยากให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีเกิดขึ้น
ฑิตติมา ระบุด้วยว่า แต่ก็ยังมีผู้กู้จำนวนมากที่ไม่สนใจ และปล่อยปละละเลยไม่ชำระหนี้ จึงทำให้ กยศ.ต้องฟ้องร้อง ซึ่งเมื่อฟ้องร้องไปแล้ว ผู้กู้ก็ยังไม่ชำระหนี้คืนตามคำพิพากษา ดังนั้นหาก กยศ. ปล่อยปละละเลยคดีก็จะหมดอายุความ จึงทำให้ กยศ.ต้องดำเนินการขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปบังคับยึดทรัพย์ผู้กู้ ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ขณะนี้ได้มีการยึดทรัพย์ผู้กู้ที่ยังไม่ชำระหนี้ไปแล้ว จำนวน 786 ราย รวมเป็นเงิน 22 ล้านบาท และในปีนี้ มีผู้ที่เข้าข่ายจะถูกยึดทรัพย์อีก 4,175 ราย รวมเป็นเงิน 109 ล้านบาท อย่างไรก็ตามจำนวนผู้กู้ดังกล่าวเป็นผู้กู้ที่กู้ยืมในปีการศึกษา 2547
พท.หวั่น กยศ. ยึดทรัพย์กู้การศึกษาซ้ำเติมปัญหา ชี้ลงทุนการศึกษาคุ้มค่า
ด้าน อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ไปบังคับยึดทรัพย์ผู้กู้ว่า รู้สึกเห็นใจคนกลุ่มนี้ ที่เริ่มต้นมีความรู้สึกที่ดี และได้มีการศึกษาจบปริญญาตรี แต่เนื่องจากตัวผู้กู้เองที่มีฐานะยากจน อีกทั้งเมื่อจบการศึกษาแล้วอาจไม่มีงานทำหรืองานที่ทำมีรายได้น้อย จึงไม่สามารถชำระหนี้กู้ยืมได้ บางรายเป็นเสาหลักที่มีภาระดูแลครอบครัวที่มีสภาพความเจ็บป่วย ความยากจน ความด้อยโอกาส
ตามหลักกฎหมายฝ่ายชนะคดี (กยศ) ต้องขอบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เมื่อถูกบังคับคดี ไม่มีเงินชำระหนี้จะถูกยึดทรัพย์สินหรืออายัดเงินเดือนทั้งผู้กู้และผู้คำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว เกิดผลกระทบต่อผู้กู้และครอบครัวซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน จึงเป็นการซ้ำเติมปัญหาเดิมและบางส่วนต้องกู้ยืมเงินนอกระบบเพื่อใช้จ่ายในคดีที่ถูกฟ้อง ทรัพย์ที่ถูกยึดส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัย จึงเป็นปัญหาสังคมที่เป็นผลกระทบติดตามอื่น ๆ อีกมาก
อนุตตมา กล่าวอีกว่า โครงการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นการให้โอกาสคนได้มีการศึกษาจนจบปริญญาตรี ถือว่าเป็นการลงทุนของรัฐที่คุ้ม มิฉะนั้นคนกลุ่มนี้บางส่วนอาจไปประกอบอาชญากรรมอื่นๆ อันนำไปสู่ปัญหาสังคม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของชาติ. ประกอบกับรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำและปัญหาราคาสินค้าเกษตรได้. ยิ่งจะเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนประสบแต่ปัญหาความมากจนมากยิ่งขึ้น.
ขณะนี้ประชาชนที่มีรายได้น้อยก็ตกอยู่ในภาวะที่ตกระกำลำบากอยู่แล้ว การใช้วิธีการดักกล่าวจึงเป็นมาตรการซ้ำเติมความยากจนไปอีก เป็นการชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลมุ่งแต่ใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน
- 1 view