เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ก่อการอภิวัฒน์การศึกษาไทย (Rise Up Thai Students Network) โพสต์ค่านิยม 13 ประการผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ กลุ่ม ดังนี้
วันเดียวัน นักเรียนกลุ่มนี้ จัดทำข้อเสนอแนะปฏิรูปการศึกษาถึงพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนสัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายแพทย์กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ในข้อเสนอดังกล่าว ระบุถึงความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อแนวคิดทางการศึกษาของ รมว.กระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน ซึ่งดำรงตำแหน่งมาแล้วหนึ่งปี และมีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาแล้ว แต่ยังไม่เห็นทิศทางการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นรูปธรรมชัดเจน
สำหรับข้อเสนอปฏิรูปการศึกษาที่เครือข่ายผู้ก่อการอภิวัฒน์การศึกษาไทยเสนอไว้มี 6 ข้อ ได้แก่
1. ทบทวนความเหมาะสมของการให้ท่องจำค่านิยม 12 ประการ โดยเห็นว่ามีค่านิยมหลายอย่างที่นำไปใช้ได้ แต่วิธีการให้ท่องจำหรือรับค่านิยมดังกล่าวยังมีความเหมาะกับบริบทปัจจุบันหรือไม่
2. เสนอให้ปรับปรุงระบบแนะแนวในโรงเรียน ให้ครูแนะแนวสามารถแนะนำนักเรียนให้เข้าเรียนต่อในสายที่ต้องการได้ และชี้ว่ายังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างสายอาชีวะกับสายสามัญ สายวิทยาศาสตร์กับสายศิลปศาสตร์ โดยในหลายโรงเรียนนักเรียนได้รับการเอาใจใส่ไม่เท่าเทียมกัน หรือไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร
3. เสนอให้ปรับปรุงอาชีวะศึกษา และยกระดับโรงเรียนอาชีวะศึกษาให้มีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับโรงเรียนสายสามัญ โดยกล่าวว่าประเทศไทยมีผู้เรียนสายสามัญมากกว่าสายอาชีวะถึงสองเท่า ขณะที่ยังขาดแคลนแรงงานที่เป็นกำลังการผลิตเป็นอย่างมาก และคนที่เรียนจบไม่สามารถหางานทำได้
4. เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวนการบังคับเรียนวิชาลูกเสือ โดยเห็นว่า ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่มีการบังคับให้เรียนวิชาลูกเสือ ซึ่งเป็นวิชาที่นักเรียนหลายคนไม่มีความสุขและเสียเวลา โดยเสนอให้วิชาลูกเสือเป็นวิชาเลือก หรือวิชาในชุมนุม เพื่อลดค่าใช้จ่ายการทางการเงินของผู้ปกครองในการซื้อเครื่องแบบ อุปกรณ์ต่างๆ เช่น ไม้ง่าม หรือที่ติดบ่าต่างๆ
5. เสนอให้มีหน่วยงานร้องทุกข์และรับฟังข้อเสนอของนักเรียน โดยยกกรณีครูละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียน เช่น การตัดผมนักเรียน หรือกรณีที่นักเรียนมีปัญหากับครู ควรมีหน่วยงานใกล้ชิดเพื่อรับฟังปัญหา และชำระคดีความต่างๆ อย่างยุติธรรม มีเหตุผล และโปร่งใสตรวจสอบได้ รวมถึงรับฟังข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ของนักเรียนหรือครู โดยเสนอว่าหน่วยงานดังกล่าวไม่ควรจะเป็นระบบข้าราชการที่เชื่องช้า แต่เสนอให้เป็นระบบอาสาสมัครเข้ามาทำงาน
6. เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการเข้าไปดูปัญหาจากการออกนโยบายหรือคำสั่งต่างๆ ที่ส่งผลลัพธ์ออกมาในทางลบ เช่น ระบบประเมินบุคคลากรที่เป็นการเพิ่มภาระให้กับครู หรือการให้ทำบันทึกรักการอ่านโดยที่ไม่คำนึงถึงภาระงานของครูและนักเรียนที่มีอยู่ ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตามที่ต้องการอีกด้วย
มติชนออนไลน์ รายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ มีกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นำโดยนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล แสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการใส่หน้ากากนายกรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมเดินขบวนรอบที่ทำการกระทรวงศึกษา ก่อนเข้ายื่นหนังสือต่อนายแพทย์กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษา โดยนายกำจรลงมารับฟังข้อเรียกร้องด้วยตนเอง
- 21 views