Skip to main content

เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานว่า วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) เปิดเผยกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ใช้ ม.44 กับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสนองนโยบายปฏิรูปการศึกษา ว่า ปัญหาของอุดมศึกษาก็ยังค้างคาหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย ผลประโยชน์ทับซ้อน ที่เกิดจากระบบสภาเกาหลัง

ศูนย์ประสานงานฯ ได้รับข้อมูลเยอะมากจากสมาชิกในเครือข่ายศูนย์ฯ แจ้งการกระทำผิดจริยธรรมของผู้บริหาร ปัญหาธรรมาภิบาล และผลประโยชน์ทับซ้อน ของผู้บริหาร ที่มาพร้อมกับระบบสภาเกาหลัง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักในการฉุดรั้งการพัฒนาระบบอุดมศึกษาไทย การผูกขาดอำนาจของผู้บริหาร เป็นอธิการ 4-5 สมัยซ้อน

การเล่นเก้าอี้ดนตรีของฝ่ายบริหารผลัดการครองอำนาจ อาจารย์รุ่นใหม่มีหน้าที่ทำงาน พนักงานมหาวิทยาลัยที่เป็นกลุ่มคนที่ใหญ่สุดในระบบอุดมศึกษาตรวจสอบผู้บริหารลำบาก เพราะอยู่ในระบบสัญญาจ้างและไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายแรงงาน จะโดนไล่ออกเมื่อไหร่ก็ได้ และมีกรณีตัวอย่างที่พนักงานมหาวิทยาลัยที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ถูกเลิกสัญญาจ้างทันทีเมื่อเข้าไปทำหน้าที่กรรมการสภาฯได้เพียง 2 ครั้งมาแล้ว ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคใต้ เพราะไม่ใช่พวกหรือกลุ่มสภาเกาหลัง

“ระบบนี้ กรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้เลือกอธิการบดี หลังจากนั้น อธิการบดีและทีมบริหาร ก็กลับมาเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เป็นพรรคพวกตนเองอีกครั้ง เป็นปลาว่ายวนในอ่าง ซ้ำร้าย มีการวนเวียนตำแหน่งไปที่มหาวิทยาลัยอื่นๆที่ร่วมวงเป็นพันธมิตรเกาหลังด้วย บางมหาวิทยาลัย ยังไม่สามารถแต่งตั้งอธิการบดีได้ มีปัญหาเรื้อรัง การบริหารงานหยุดชะงัก ซึ่งเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่ คสช. จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเด็ดขาด โดยใช้ ม. 44 ซึ่งหาก้องการข้อมูลเชิงลึกใดๆ ทางศูนย์ประสานงานฯ ยินดีเข้าพบและให้ความร่วมมือทุกด้าน”