Skip to main content

หากกล่าวถึงประเด็นเรื่อง “โสเภณี” หรือ ในภาษาที่เสรีชนทั้งหลายมักจะติดปากด้วยภาษาหยาบคายว่า “กะหรี่” อาจจะกระตุ้นต่อมการรับรู้แก่ผู้รับฟัง ในลักษณะที่เป็นอาชีพที่จำเป็นต้องถูกจองจำอยู่ในวังวนของกิจกรรมบนเตียง และการเป็นทาสทางอารมณ์ (Sex Slave) ให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาทำการซื้อบริการและบรรเลงเพลงแห่งกามารมณ์ลงบนเรือนกายอันเย้ายวนชวนสัมผัสของผู้ค้าบริการเหล่านั้น อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนกระทั่งพบจุดจบที่การเป็นโรคทางเพศสัมพันธ์ เช่น กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS) เร่ร่อนอยู่ตามบริเวณริมถนนและกองขยะ ไม่สามารถอยู่ร่วมกับคนสังคมได้ เป็นที่รังเกียจของคนในสังคม ดังภาพที่ปรากฏออกมาตามสื่อต่างๆ ที่ได้ฉายภาพของความเลวร้ายของอาชีพโสเภณี ตัวอย่างเช่น รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งที่มักจะจำลองสถานการณ์ชีวิต และเหตุการณ์ เกี่ยวกับอาชีพโสเภณี และผู้ค้าบริการทางเพศมาให้ได้รับชมอยู่บ่อยครั้ง พร้อมกับพยายามผลิตซ้ำ และตอกย้ำ ความน่ากลัวของอาชีพดังกล่าว จะเห็นได้จากคำพูดท้ายรายการของพิธีกรประจำรายการ ท่านหนึ่งที่จะพูดว่า:

หากท่านใดเคยผ่านสายตาหรือโสตประสาทมาบ้างก็จะเดาไม่ยากถึงภาพที่รายการดังกล่าวได้พยายามตอกย้ำขึ้นมา เกี่ยวกับ ชีวิตของโสเภณี จนชาชินไปสำหรับผู้ที่พบเห็นหรือรับชม บทความนี้จึงมุ่งที่จะเสนอภาพของโสเภณีในอีกมิติหนึ่งที่ได้ต่างไปจากสื่อ และมุมมองของคนส่วนใหญ่ในกระแสหลัก อาทิ ละครจำลองชีวิต ได้เคยนำเสนอและตอกย้ำเอาไว้[i] [ii] จากการลงพื้นที่ศึกษาลักษณะความเป็นไปของอาชีพโสเภณีในบริบทสมัยใหม่ โดยผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมาจากการศึกษาครั้งนี้ กลับได้ภาพที่ต่างออกไปจากที่สื่อกระแสหลักในสังคมได้เคยนำเสนอเอาไว้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากภาพที่ถูกแพร่และกระจายสู่สายตาผ่านสื่อปัจจุบันนี้ มักเป็นความจริงในลักษณะเดียวกับที่ พนิดา หันสวาสดิ์ (2544) พยายามอธิบายไว้คือ เป็นภาพที่สื่อประดิษฐ์ขึ้นจากภาพเก่าที่เคยมีมาก่อน เพื่อดำรงไว้ซึ่งความจริงประดิษฐ์ (Social Construction of Reality) ชุดนั้น[iii] [iv] ให้ผู้รับสารเห็นถึงบั้นปลายของอาชีพดังกล่าว ที่มักจบลงที่การติดโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้หากสำรวจต่อแนวการศึกษาเรื่องดังกล่าว ภายในวงวิชาการ อดีตที่ผ่านมาจะพบว่าทิศทางและแบบแผนการศึกษาต่อเรื่องดังกล่าวนั้น มักมีลักษณะที่ผลิตขึ้นเพื่อหาทางกำจัด และบ่อนทำลายกลุ่มอาชีพดังกล่าว เช่น เสนอการกระทำดังกล่าวผ่านการแก้ไข หรือขัดเกลาสภาพสังคมให้ยากต่อการบ่มเพาะอาชีพโสเภณี ฯลฯ เช่นงานของ มูซาโกจิ และ วอชิงตัน (2542) หรืองานของ สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ (2537) ที่เสนอถึงแนวการบริหารจัดการต่อปัญหาของการมีอยู่ของโสเภณีให้หมดไป หรือมีอัตราที่น้อยลง[v] ภายในบทความ ผู้เขียนจะอธิบายถึงมิติที่สังคมได้มองคลาดเคลื่อนไปเกี่ยวกับอาชีพโสเภณีจากภาพเก่าภายในอดีตที่ถูกประกอบสร้างขึ้นจากสื่อหลายๆชุดไปมาก

ประเวณีแบบดั้งเดิม สถานประกอบการ การกดขี่ และการขูดรีด

จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากการสำรวจวรรณกรรมเตรียมไว้ก่อนการลงพื้นที่ทำให้พอทราบได้ว่า การทำงานประเวณีแบบดั้งเดิมนั้นมักอยู่ในมิติของการถูกควบคุม ขูดรีดจากสถานประกอบการ ที่แทบจะเรียกได้ว่า ไร้อิสรภาพในอาชีพตนเอง เพราะนอกจากจะต้องเข้างานและทำงานเป็นเวลา (Fixed Schedule) แล้ว การจะออกไปปฏิบัติภารกิจส่วนตัวนอกสถานประกอบการยังเป็นไปได้ยากอีกด้วย เนื่องจากเหตุผลทางด้านความกังวลใน “สวัสดิภาพ” ของ “สินค้า” ตนเองจะได้รับความเสียหาย หรือชำรุดในขณะที่ออกไปปฏิสัมพันธ์ในสังคมภายนอกได้ จึงมีการป้องกันและควบคุมชีวิตของเหล่าแรงงานทางเพศในกิจการค้าประเวณีอย่างรัดกุม (จะไปไหนมาไหนต้องขออนุญาตก่อน พร้อมกับการส่ง “ผู้คุม” ตามไปกำกับพฤติกรรมในทุกสถานที่ที่พวกเธอเหล่านั้นเดินทางไป ดู ชาย โพธิสิติและคณะ 2537) ด้วยลักษณะของการควบคุม กำกับทุกบริบทของชีวิตเช่นนี้ที่นอกจากจะทำให้พวกเธอนั้นขาดอิสระแล้ว ยังมีแนวโน้มสูงที่จะทำให้พวกเธอด้อยความสามารถลงจากการถูกลดทอนทักษะ-ความสามารถในการใช้แรงงานให้เหลือเพียงอย่างเดียวนั่นคือทักษะบนเตียง ที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวนี้แทบไม่ต่างอะไรไปจากชีวิตของแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องทำงานร่วมกับเครื่องจักร ที่ต้องพบเจอกับการลดทอนความสามารถและทักษะความเชี่ยวชาญในชีวิตลงเลย

งานศึกษาข้างต้นได้ชี้ถึงภาพเกี่ยวกับงานค้าประเวณีดั้งเดิมที่ผู้หญิงนั้นถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ลงแล้วแปลงเป็นสินค้าและวัตถุทางเพศเพื่อขายในตลาดแห่งตัณหาของเพศชาย (Male Dominance; ดู O’Neill 1997, 3-28) ผนวกกับการสัมภาษณ์ผู้ดูแลสถานประกอบการแห่งหนึ่งภายในตัวเมืองเชียงใหม่ ช่วยให้ผู้เขียนเข้าใจได้ว่า สภาพความเป็นจริงในสังคมของอาชีพและกิจการประเวณีนั้นแทบมิได้ต่างไปจากที่ปรากฏในงานเขียนทางวิชาการ งานวิจัยชุดเก่าๆที่เคยมีมาเลย ผู้หญิงที่ทำงานภายในสถานค้าบริการ หรือที่ในตำราฉบับหนึ่งของ Routledge นิยามว่าเป็น “กลุ่มอุตสาหกรรมทางเพศภายใต้ผลึกแห่งกามตัณหาของเพศชาย” (The Ideology of Male Sexual Needs; ดู McIntosh 1978) อันมีฐานะประหนึ่งโรงงานที่คอยป้อนสินค้าทางกามารมณ์ออกสู่ตลาด รวมถึงภายในงานวิจัยของอาจารย์ยศ สันตสมบัติ (2535) ที่อธิบายถึงสถานะทางวัตถุที่ถูกกระทำของผู้หญิงในการถูกแปรสภาพให้กลายเป็นสินค้า (Commodification) คล้ายๆกับแรงงานคอปกชมพูทั่วไป (Pink-collar workers)[vi] การทำงานภายใต้การสังกัดอยู่กับสถานประกอบการจึงมิใช่สิ่งที่ผู้หวังจะประกอบอาชีพค้าเรือนกายปรารถนา ซึ่งมักจะมีกรณีของการสร้างข้อตกลงซึ่งผู้ค้าเรือนกายนั้นเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบจากนายหน้าที่มักจะมีการเรียก ‘ค่าหัวคิว’ หรือ ค่านายหน้าจากรายได้บนเตียงของพวกเธอ เมื่อสภาพการณ์ทุกอย่างรอบๆตัวได้บีบบังคับและบีบคั้นต่อพวกเธอเช่นนี้ จึงได้ส่งผลที่สำคัญตามมาและก็ได้พัฒนามาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเวลาต่อมา

กระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนแปลง กับตำแหน่งแห่งที่แบบใหม่ ของพวกเธอในมิติของการค้าประเวณี

จากการลงพื้นที่สำรวจและสุ่มในการสัมภาษณ์ ผู้เขียนได้พบว่า ลักษณะของการค้าประเวณีในปัจจุบันนั้นได้พลิกโฉมไปจากข้อค้นพบในงานวิจัยดั้งเดิมหลายๆชิ้นเกี่ยวกับการค้าประเวณี เนื่องจากในปัจจุบันการค้าประเวณีไม่ได้กระทำการผ่านสถาบันหรือองค์กรกลางในฐานะตลาดหรือสื่อกลางในการซื้อขายสินค้าทางเพศอีกแล้ว เนื่องจากแรงงานทางเพศ[vii]นั้นได้ผลักตนเองให้หลุดออกมาจากวงจรการกดขี่ของระบบสถาบันหรือองค์กรกลาง (เช่น ซ่อง) ที่มีตารางเวลาการทำงานที่ตายตัว หลุดจากวิถีการทำงานแบบเดิมๆ ที่จำเป็นต้องเป็นเบี้ยให้แก่ลูกค้าและนายทุนเจ้าของสถานประกอบการ [ซ่อง อาบอบนวด] ไม่จำเป็นต้องยอมปล่อยร่างกายให้ตกเป็นทาสของลูกค้า ไม่ใช่แรงงานที่ขาดซึ่งความคิดสติปัญญาอีกต่อไป ถือเป็นการสลัดคราบเก่าออกและเคลื่อนตัวเข้าไปสู่การมีรูปแบบชีวิต และการทำงานแบบใหม่ ด้วยการปลดแอกตนเองออกมาสู่การเป็นสภาวะ โรงงานทางสังคม (Social Factory, ดู เก่งกิจ กิติเรียงลาภ 2557ก: 74-95) แทน กลายเป็นแรงงานที่ไม่มีสถานะเป็นวัตถุ (Immaterial Labour) ที่สามารถจะผลิต และพัฒนา ชีวิต ตัวตน ความสามารถของตนเองได้ตลอดเวลา (Bioproduction) ตราบเท่าที่ตนเองต้องการ (Autonomy) ด้วยสภาพการทำงานแบบ “ฟรีแลนซ์” (ไซด์ไลน์แบบใหม่) ที่ไม่ต้องการการมีสื่อกลางในการแจกจ่ายงาน [เช่น ซ่อง] อีกต่อไป พร้อมด้วยคุณสมบัติที่มากขึ้นแบบไม่ใช่แรงงานที่ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์อีกแล้ว[viii] มีพัฒนาการในรูปแบบ/ลักษณะของการผลิตงานที่ไม่ได้เป็นแค่เพียงงานบริการอีกต่อไป แต่ได้ก้าวไปสู่การผลิตงานเชิงศิลปะที่ไม่มีผลผลิตที่เป็นรูปธรรม (End Product) ที่บรรเลงร่วมกับลูกค้า และจะเลือกทำงานในเวลาใดก็ได้ของชีวิต (Indistinction between life time and work time) และท้ายสุดคือ ความโด่งดังของสินค้า (ตัวผู้เป็นไซด์ไลน์) ก็สามารถจะเป็นตัวกำหนดปริมาณของลูกค้าและราคาอีกด้วย[ix] จะเห็นได้ถึงการรวมตัวของ 3 สถานะประสบการณ์ของมนุษย์ (Work, Action, Intellect, ดูเพิ่มเติมใน เก่งกิจ กิติเรียงลาภ 2557ข: 129-158)[x] [xi] อันเป็นคุณสมบัติที่สมบูรณ์แบบตามแนวคิด Immaterial Labour แต่ถึงกระนั้นก็ตามแม้กลุ่มอาชีพดังกล่าวจะสามารถบรรลุถึงขั้นของการเป็น Immaterial ได้ แต่ก็ยังไม่สามารถหลุดออกจากข้อจำกัดและเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ไปได้ (อายุ ความชรา) เมื่อร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพ แม้ในทางทฤษฎี พวกเธอจะยังสามารถปฏิบัติงานได้อยู่ด้วยทักษะของ Immaterial กลับกัน ในทางปฏิบัติร่างกายของพวกเธออาจจะไม่สามารถสร้างแรงดึงดูดลูกค้าได้อีกต่อไปเมื่อบรรลุความชราตามเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์แล้ว ผู้เขียนเห็นว่า แม้แนวคิด Immaterial จะสามารถใช้อธิบายรูปแบบของอาชีพที่มีลักษณะของการผลิตที่ไม่มีวันจบสิ้น (Activity-without-a-finished-work) ได้ก็จริง แต่ในทางปฏิบัตินั้นก็ไม่ใช่ทุกคนและทุกอาชีพที่อยู่ในกลุ่มงานดังกล่าว [ศิลปิน: Artist] ที่จะสามารถคงสถานะของความเป็น Immaterial ไปได้ตลอดชีวิตโดยไม่บรรลุถึงเงื่อนไขข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ความเป็นมนุษย์ [ความชรา] ด้วยหลากหลายปัจจัยที่จะสั่นคลอนสถานะของความเป็น Immaterial [ทั้งโรคภัย และอายุขัย] การจะทำงานในฐานะ Immaterial ไปได้จนถึงบั้นปลายของชีวิต จึงไม่อาจจะเกิดขึ้นได้กับแรงงานประเภท Immaterial ทุกคน อย่างไรก็ตามสิ่งที่งานศึกษานี้กำลังพยายามจะบอก คือ ในปัจจุบันลักษณะการทำงานโสเภณีได้เปลี่ยนไป พร้อมด้วยศักยภาพและความสามารถที่มากขึ้น จนอาจเทียบได้กับผู้ที่ประกอบอาชีพด้านการใช้ความรู้ในการบริการอื่น เช่น นักแสดง นักร้อง ซึ่งมันก็เกิดคำถามขึ้นว่า ในปัจจุบันโสเภณีเป็นอาชีพของคนโง่และไร้ความสามารถในการทำงาน เหมือนที่ถูกตีตราไว้ในอดีตหรือไม่?...

 




เชิงอรรถ

[i] อนึ่งงานเขียนชิ้นนี้เป็นดอกผลที่ตกผลึกมาจากการทำการลงพื้นที่ศึกษาอาชีพโสเภณีในเมืองเชียงใหม่ผ่านการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-Depth Interview) โดยตรงกับผู้ที่ทำอาชีพดังกล่าว (โสเภณี) เพื่อทำการทดสอบสมมติฐานของแนวคิด Immaterial Labor แล้วจัดทำเป็นผลงานในการนำเสนอต่อรายวิชา สังคมวิทยาอุตสาหกรรม (ประจำภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2557)

[ii] สัมภาษณ์เมื่อ วันที่ 17 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2557

[iii]  ดู พนิดา หันสวาสดิ์ (2544). ผู้หญิงในภาพยนตร์: กระบวนการผลิตซ้ำภาพลักษณ์ของผู้หญิงในสังคมไทย. เชียงใหม่: ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

[iv] หรือดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้สื่อในการตอกย้ำอุดมการณ์และการประดิษฐ์คุณค่า-ความจริงทางสังคมภายในงานของกาญจนา แก้วเทพ (2539). สื่อส่องวัฒนธรรม. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิภูมิปัญญา.

[v]  ในกรณีนี้ผู้เขียนมิได้มีเจตนาที่จะสนับสนุนหรือแสดงความต้องการในการ “มีอยู่” ต่ออาชีพโสเภณีหรือกิจการลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด หากแต่ผู้เขียนมีความประสงค์อยากให้วงวิชาการได้เปิดพื้นที่และปรับรูปแบบ แบบแผนทางการศึกษาที่มีต่ออาชีพโสเภณีจากเดิมที่เป็นการศึกษาเพื่อมุ่งกำจัด-ทำลายตามเจตจำนงของรัฐและกฎหมายตามกระแสของสิทธิมนุษยชน ไปสู่การจัดรูปแบบการศึกษาที่พยายามเข้าใจต่อประเด็นและตัวกลุ่มกิจการเกี่ยวกับการค้าประเวณีเอง ซึ่งงานเขียนในปัจจุบันที่มีแนวทางในแบบดังกล่าวนั้น มักมีปรากฏอยู่เพียงแค่งานเขียนเชิงวรรณกรรมที่เน้นบรรยายสภาพชีวิตของกลุ่มผู้ค้าประเวณีในมิติต่างๆเพียงเท่านั้น ดูเพิ่มเติมใน กังฟู ไฟติ้ง (นามแฝง, 2548) และ สิริทัศน์ สมเหงี่ยม (2537) ซึ่งแม้งานเขียนประเภทดังกล่าวอาจจะมีแต่มิติของคำบอกเล่า พรรณนาสภาพชีวิตของกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มข้อมูลที่ถูกศึกษา หากขาดการมีมิติของงานศึกษาที่มีนัยความเป็นศาสตร์ตามจริตของโลกวิชาการ แต่ผู้เขียนก็มีความเห็นว่าอย่างน้อยข้อมูลเชิงลึกภายในงานชิ้นดังกล่าวก็ยังมีประโยชน์ต่องานศึกษาต่อยอด หรือที่ในทางศาสตร์ด้านมานุษยวิทยา เรียกกันว่า “บันทึกภาคสนามทางชาติพันธุ์วรรณา”  (Ethnography field note) อันสามารถนำมาวิเคราะห์ ตีความต่อในทางชาติพันธุ์วิทยา (Ethnology) ได้

[vi]  ในทางสังคมวิทยาอุตสาหกรรมเราอาจรวมกลุ่มอาชีพในลักษณะค้าประเวณีว่าอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับ “แรงงานคอปกชมพู” (Pink-Collar Worker) อันเป็นคำที่ใช้ในการอธิบายถึงสภาพและลักษณะการทำงานของแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการบริการ (Service Industry) ที่ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังแรงงานหนักเหมือนกับงานก่อสร้าง งานอุตสาหกรรมเครื่องจักร ที่จำเป็นต้องใช้แรงงานชาย งานในกลุ่มคอปกชมพู มีตัวอย่างเช่น พนักงานต้อนรับ บริกรในร้านอาหาร แม่บ้าน บรรณารักษ์ พี่เลี้ยงเด็ก ช่างตัดผม ฯลฯ ที่จะเห็นได้ว่าเป็นแรงงานประเภทที่ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังแรงงานในการบรรลุเป้าหมายในอาชีพ และก็ไม่ได้ใช้ทักษะขั้นสูงในการทำงานเหมือนกับงานประเภทคอปกทองคำ (Gold-Collar Worker) อย่างอาชีพ ทนายความ ผู้พิพากษา (ดู Gourley 2008; Wickman 2012).

[vii]  อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงบางส่วนซึ่งไม่สามารถที่จะระบุจำนวนที่แน่ชัดหรือประมาณการเอาได้

[viii]  จากการสัมภาษณ์พบว่า โสเภณีประเภท Immaterial นั้นจะสามารถทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านซ่อง หรือตลาดในการเข้าถึงลูกค้า (จึงไม่ถูกนายทุนหรือนายหน้าขูดรีดค่าแรงอีก และยังสามารถที่จะกำหนดต่อรองราคากับลูกค้าได้ด้วยตนเองอีกด้วย) ไม่มีเวลาทำงานที่ตายตัว สามารถทำงานได้ในทุกเวลา สถานที่ใดก็ได้แม้แต่เคหะสถานของตนเอง หากลูกค้าติดต่อมา และเนื่องจากการที่สามารถผลิต และ พัฒนาชีวิตตนเองได้ตลอดเวลา ทำให้พวกเธอมีความสามารถที่มากขึ้นเสมอๆ ด้วยการพัฒนาทักษะทางเพศ (Sex Performance) ด้วยลักษณะวิธีการต่างๆนานา เช่น การนำหนังสือประเภทกามาสุตรา (Kama Sutra) ที่เป็นเสมือนหนึ่งตำราพิชัยสงครามบนเตียงของอินเดีย การชมภาพยนตร์ผู้ใหญ่ (Adult Videos) เพื่อฝึกฝนท่วงท่าและลีลา นอกจากนี้รูปแบบงานของพวกเธอยังมีการพัฒนามากขึ้นอีกด้วย โดยไม่หยุดอยู่เพียงเรื่องบนเตียง เพราะจากการสัมภาษณ์นั้น มีการให้เหตุผลว่า หน้าที่ของงานนั้นไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องอยู่บนเตียงกับลูกค้าตลอดเวลา แต่จะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกค้ามีความสุขเมื่อมาเที่ยวกับพวกเธอและนึกถึงพวกเธอเวลามีความทุกข์ นั้นหมายความว่างานของพวกเธอนั้นไม่ได้มีแค่เพียงเรื่องบนเตียง และยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า งานของพวกเธอเป็นงานที่ไม่มีผลผลิตที่เป็นรูปธรรม (End Product, Activity-without-a-finished-work) เพราะงานของพวกเธอคือการขายศิลปะของการทำกิจกรรมแห่งเรือนร่าง (Virtuosity) ที่การชำระเงินของลูกค้าจะไม่ได้มีผลในการซื้อร่างกายของแรงงานแต่จะเป็นการชำระเงินเพื่อไปเชื่อมต่อหรือมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับแรงงาน เพราะงานประเภท Immaterial นั้นต้องการการมีอยู่ของผู้อื่น หรือ การปฏิสัมพันธ์ (The Presence of Others)

[ix]  สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะงานของพวกเธอจะมีการประเมินกันเองโดยลูกค้าที่ไปใช้บริการและจะมีการบอกต่อถึงสรรพคุณรวมถึงความสามารถ ทักษะของพวกเธอแบบปากต่อปาก เช่น การที่ลูกค้าไปเล่าประสบการณ์ของตนที่มีร่วมกับสินค้า [สินค้าในที่นี้หมายถึง กิจกรรมทางเพศ] ภายในกลุ่มสังคมต่างๆ (ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้)

[x] เพราะในตอนแรกแรงงานจะถูกจัดแบ่งประเภทและแยกประสบการณ์ของลักษณะงานออกเป็น 3 รูปแบบชัดเจน คือ ส่วนของการใช้แรงงาน (Work) เช่น อาชีพกรรมกร ช่าง, ส่วนของการใช้ความรู้ (Intellect) เช่น นักวิจัย อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ และส่วนของการกระทำที่มีปฏิสัมพันธ์ (Action) เช่น งานบริการ อย่างเจ้าหน้าที่ติดต่อประชาสัมพันธ์ (Operator) แต่สำหรับ Immaterial Labour นั้นจะเป็นการรวมทุกอย่างเข้าไปอยู่ในตัวของแรงงานเอง กล่าวคือในแรงงานหนึ่งคนจะสามารถที่จะมีทั้ง Work, Action และ Intellect (ดูเพิ่มเติมใน Lazzarato 1996: 133-147, และ Virno 1996: 188-209)

[xi]  อย่างไรก็ดีผู้เขียนไม่สามารถบอกได้ถึงการเกิดขึ้นของสาวไซด์ไลน์ [ที่เป็นฟรีแลนซ์] ว่าเป็นผลมาจากขบวนการ Autonomia ที่มียุทธศาสตร์การปฏิเสธงานในโรงงานหรือเปล่า (Refusal of Work) เนื่องจากยังไม่มีงานศึกษาชิ้นใดที่สามารถอธิบายสาเหตุการปรากฏตัวของสาวไซด์ไลน์ฟรีแลนซ์ดังกล่าวได้อย่างชัดเจน

 

หมายเหตุ : ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข ผู้เขียนเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ภาควิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรม 'ปล่อยของหลังห้อง' กับเว็บเด็กหลังห้อง ซึ่งนักศึกษาท่านใดสนใจร่วมกิจกรรมอ่านรายละเอียดได้ที่นี่