Skip to main content

สำรวจกรอบการศึกษาปัญหา และรูปแบบการเรียกร้องสิทธิให้ยุวชนเกย์ในอเมริกาซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ใหญ่มีส่วนอย่างยิ่งในการผลิตซ้ำภาพลักษณ์ที่ด้อยกว่าของยุวชนเกย์

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 โครงการปริญญาโทสาขาสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในหัวข้อ “วัฒนธรรมและขบวนการแห่งเยาวชนเลสเบี้ยนและเกย์” โดยผู้บรรยายคือ ศาสตราจารย์ซูซาน ซัลเบิร์ต จาก Georgia state University โดยมี ดร.สุกฤตยา จักรปิง เป็นผู้ดำเนินรายการ

ซูซานกล่าวว่า ความหมายของคำว่า Affect เป็นอะไรที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน เราไม่สามารถจะศึกษาการเมือง วัฒนธรรม ในลักษณะของวาทกรรม (discourse) หรือ อุดมการณ์เพียงอย่างเดียวได้ จึงเกิดแนวคิดเรื่อง Affect เข้ามา ตัวของ Affect ไม่ได้มีองค์ประธาน หรือ ขอบเขตที่ชัดเจน แต่มีมิติที่หลากหลายอยู่ในนั้น มีช่องโหว่ ไม่มีเสถียรภาพ ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ซึ่งตรงจุดนี้ก่อให้เกิดพลังบางอย่างในการควบคุมและหมุนเวียน ซึ่ง Affect ดำรงอยู่ก่อนที่เราจะเกิดมามีตัวตน และส่งผลต่อการสร้างตัวตนของเรา Affect จึงเป็นเสมือนสายลมที่จับต้องไม่ได้ แต่ไหลเวียนอยู่เหมือนกับอารมณ์ (Mood) ที่แผ่กระจายอยู่ในห้องเรียนหนึ่งๆ และส่งผลให้นักเรียนมีพฤติกรรมตามอารมณ์ที่อยู่ในห้องเรียนนั้น

นอกจากนี้ Affect ยังทำหน้าที่ในการส่งผลกระทบต่อบุคคล กล่าวได้ว่ามันเป็นทั้งตัวองค์ประธาน และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆ Affect นั้นมีความหมายมากไปกว่าคำว่าสติสัมปชัญญะ มันอยู่ทั้งในร่างกายของคนเราและภายนอกร่างกายด้วย ผู้คนมักจะสับสนกับคำว่า Affect / Feeling / Emotion ซึ่งความแตกต่างของ 3 สิ่งนี้คือ ตัว Affect มีลักษณะการไหลวนเวียน ก่อให้เกิดลักษณะเหนียวเหนอะหนะหรือ “Sticky” ซี่งส่งผลให้เกิดการสร้างพฤติกรรมบางอย่างขึ้นมา เช่น เมื่อพูดถึงยุวชนเกย์ (Gay Youth) ก็จะมีคำว่า ถูกรังแก เกิดขึ้นมาทันที เป็นเหมือนลักษณะของ Sticky ที่ติดอยู่กับคำว่า ยุวชนเกย์

สุกฤตยา กล่าวเสริมว่า ในกรณีข่าวน้องแก้มที่ถูกข่มขืน อารมณ์ที่เกิดขึ้นคือ ความโกรธแค้น ซึ่งจุดนี้เรียกว่า “Adult Affect” หรือกระแสที่เกิดขึ้นจากผู้ใหญ่ ซึ่งกระแสที่ผู้ใหญ่ใช้ในการจัดการปัญหายุวชนเกย์ อยู่บนฐานความทรงจำที่เจ็บปวดในวัยเด็ก ที่อาจเคยถูกรังแก จึงต้องนำไปสู่สิ่งที่ต้องแก้ไข และให้คำมั่นสัญญาที่ขัดแย้งในตัวเอง เพราะแม้เราจะพยายามแก้ไขปัญหาให้กับเด็ก แต่เราก็พยายามแช่แข็งภาพลักษณ์ของเด็กที่จะต้องถูกกลั่นแกล้ง ถูกกระทำตลอดเวลาไว้ด้วยเช่นกัน ภายใต้ตรรกะเดียวกันนี้ จึงส่งผลให้เกิดบรรทัดฐานในการจัดการปัญหายุวชนเกย์ขึ้นมา

ซูซานได้ยกตัวอย่างโครงการที่ชื่อว่า “It gets better” ที่พยายามจะเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหายุวชนเกย์ เช่น ปัญหาการฆ่าตัวตายของยุวชนเกย์ อันเกิดจากความทุกข์ทรมานเมื่อถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งโครงการดังกล่าวมีการใช้ Social Network ในการสร้างกระแสขึ้นมา แต่ทั้งนี้ It gets better คือสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการใส่ลงไปในเด็ก แต่เด็กที่ถูกทำร้ายกลับไม่ได้ออกมาพูดหรือสามารถก้าวข้ามผ่านความรุนแรงไปได้ อีกตัวอย่างหนึ่งคือคำกล่าวของ บารัค โอบามา ในเรื่องประเด็นเรื่องยุวชนเกย์ โอบามาได้เชื่อมโยงเรื่องยุวชนเกย์เข้ากับแบบแผนที่ดีงามของชาติ กล่าวคือ ถ้าสังคมเข้าใจยุวชนเกย์ ในฐานะกลุ่มคนที่ถูกล่วงละเมิด สังคมก็จะเป็นสังคมที่ดี เช่นเดียวกับฮิลลารี่ คลินตัน (Hillary Clinton) ที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของชาตินั้นคือการก้าวข้ามกำแพง เพราะฉะนั้นถ้าสังคมสามารถก้าวข้ามเรื่องประเด็นเรื่องเหยียดเกย์ไปได้ก็จะมีชาติที่งดงาม ดีงาม นอกจากเรียกร้องให้คนภายนอกปฏิบัติต่อยุวชนเกย์แล้ว ยังมีการเรียกร้องให้เกย์จะต้องเป็น กุลเกย์ (Good gay) ให้กับประเทศชาติแล้วยังต้องเป็นตัวแทนของกลุ่ม LGBT อีกด้วย เกย์ที่ดีต้องสามารถก้าวข้ามความเจ็บปวด อดทนต่อความเลวร้ายให้ได้ และก้าวออกจากอดีตเพื่อเข้าไปสู่ความสุขในพื้นที่ใหม่

ในช่วงสุดท้าย Susan ได้ทิ้งคำถามไว้ให้ผู้ร่วมงานได้ครุ่นคิดต่อไปคือ 1) การมี Affect ที่ไหลวนเวียน เช่น ยุวชนเกย์จะต้องก้าวข้าม อดทนอดกลั้นต่อการถูกกลั่นแกล้ง แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น (gets better) และชีวิตก็จะมีความสุข เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้นหรือเปล่า โดยไม่เคยเข้ามาทำความเข้าใจปัญหาของยุวชนเกย์ในยุคปัจจุบัน 2) การมี Affect ดังกล่าวจะก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ผูกติดกับอัตลักษณ์ของเกย์ที่ฐานะเพศที่ถุกกลั่นแกล้างอย่างเดียวหรือเปล่า 3) แนวโน้มที่จะเป็นไปในอนาคต กลุ่ม Gay Youth Movement จะเป็นการเคลื่อนไหวที่วนอยู่ในวาทกรรมเดิม ที่ว่า “การเป็นเกย์ที่จะได้รับการยอมรับ ต้องเริ่มจากการเป็นเกย์ที่ดีเสียก่อน” หรือไม่

ในช่วงซักถามแลกเปลี่ยน ผู้ร่วมงานได้แลกเปลี่ยนข้อมูลว่า คลื่นเงินทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากไหลเข้าสู่ขบวนการเคลื่อนไหวของเกย์ เงินทุนที่ไหลเข้ามานั้นมีจุดประสงค์ที่ต้องการสร้างภาพกุลเกย์ หรือสร้างภาพแทนว่าประเทศของตนเองสวยงาม มีความหลากหลายทางเพศ แต่นั่นเป็นเพียงแค่การมองปัญหาเกย์จากสายตาของตะวันตก ที่มองว่าปัญหาของเกย์คือการถูกรังแก แต่สำหรับประเทศไทยนั้นกลับเป็นเหมือนการไฮไลท์ว่าพวกเขาเป็นเกย์ ซึ่งในสังคมไทยกระแสการไม่ยอมรับ หรือการใช้ความรุนแรง ต่อเกย์ไม่ได้มีความรุนแรงเท่าไหร่ เนื่องจากมีการกำกับการกระทำโดยคำว่า “กรรม” ในลักษณะที่ว่าหากไปรังแกเกย์ ชาติหน้าอาจจะเกิดมาเป็นเกย์ หรือลูกหลานเราอาจจะเกิดมาเป็นเกย์ก็ได้