23 ก.พ.2558 พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติยืนยันว่า ในปีการศึกษา2558 จะใช้คะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ มาเป็นองค์ประกอบการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ ในสัดส่วน 30% ตามเดิม เพื่อไม่ให้กระทบกับเด็กที่กำลังจะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยกว่า 300,000 คน และจะทำหนังสือชี้แจงมายังรัฐมนตรีว่าการศธ. เพื่อชี้แจงเหตุผล ว่า ตนยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว แต่พร้อมรับฟังเหตุผล ซึ่งก็คงรอดูรายละเอียดจากทางทปอ. ว่ามีเหตุผลอะไร ที่ทำให้ยังจำเป็นต้องสอบโอเน็ตทั้ง 8 กลุ่มสาระฯ ในการเข้าเรียนต่อ โดยในวันที่ 25 ก.พ. นี้ตนจะไปหารือเรื่องการลดสอบกับคณะกรรมการบริหาร สทศ. อีกครั้ง ว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วนข้อเสนอที่ว่า จะต้องประกาศล่วงหน้าให้เด็กได้เตรียมพร้อมเป็นเวลา 3 ปี นั้น โดยหลักการตนก็เห็นด้วย แต่จะประกาศล่วงหน้ากี่ปีนั้น ก็คงต้องมาพูดคุยและรับฟังเหตุผลร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง
โดยเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วย ศธ. ให้สัมภาษณ์กับมติชนออนไลน์ก่อนหน้านี้(20 ก.พ.) กรณีที่คะแนน 7 วิชาสามัญ ปีการศึกษา 2558 ของนักเรียนชั้น ม.6 ทั่วประเทศ ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดสอบเพื่อให้มหาวิทยาลัยต่างๆ นำไปใช้ประกอบการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับตรงร่วมกันผ่านเคลียริ่งเฮาส์ หรือสถาบันที่ต้องการใช้ผลคะแนนวิชาสามัญ 7 วิชา โดยผลคะแนนเฉลี่ยปรากฏว่าทุกวิชาตกหมด ยกเว้นวิชาภาษาไทยที่คะแนนเฉลี่ยเกิน 50% ว่าตนยังไม่ทราบรายละเอียด คงต้องหาสาเหตุก่อนว่าเกิดจากอะไรแล้วจึงบอกถึงแนวทางการแก้ไขได้ ซึ่ง สทศ.มีนักวิชาการที่สามารถวิเคราะห์ได้อยู่แล้ว ส่วนในที่ประชุม ทปอ. วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.นครราชสีมา) จะมีการหารือเรื่องนี้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ ทปอ.ว่าจะหยิบยกขึ้นมาหรือไม่
"ส่วนตนเองตั้งใจจะไปมอบนโยบายให้มหาวิทยาลัยปรับทิศทางของมหาวิทยาลัยให้สอดรับกับการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม สัปดาห์หน้า พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และตนจะไปหารือกับนายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. ถึงรายละเอียดการปรับลดวิชาทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) จาก 8 กลุ่มสาระฯ เหลือ 5 กลุ่มสาระฯ ตามที่ สทศ.เสนอ ส่วนว่าจะเริ่มปรับลดการสอบโอเน็ตเมื่อไร คงขึ้นอยู่กับ 3 หน่วยงานที่ต้องหาข้อสรุปร่วมกัน คือ สทศ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ ทปอ." กฤษณพงศ์ กล่าว
กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เท่าที่ดูผลคะแนนไม่ต่างกับปีที่ผ่านมามากนัก สพฐ.ยอมรับว่าคะแนนในภาพรวมหลายวิชา นักเรียนยังทำได้ไม่สูงนัก ดังนั้นคงต้องลงไปดูรายละเอียดว่าวิชาไหนที่ยังมีปัญหา ก็ต้องแก้ไข โดยจะต้องดูทั้งหมดรวมถึงคะแนนโอเน็ตด้วย เพื่อจะได้แก้ไขในภาพรวมได้อย่างตรงจุด ส่วนที่เด็กทำคะแนนนได้ไม่ดีเพราะข้อสอบยากเกินไปหรือไม่นั้น เรื่องนี้ตนไม่ขอวิจารณ์ เพราะยังไม่เห็นข้อสอบ ต้องขอดูรายละเอียดก่อน
- 2 views