6 ส.ค.2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้จัดประชุมผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการวิทยาลัยเอกชนที่เปิดสอนด้านช่างอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเพื่อหารือเรื่องพฤติกรรมนักเรียนนักศึกษาที่ส่งผลต่อการเกิดเหตุทะเลาะวิวาทนำไปสู่การสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตโดยมีมติร่วมกันและลงสัตยาบันในการดูแลพฤติกรรมนักศึกษาอย่างใกล้ชิดหากพบว่านักศึกษาพกอาวุธหรือสิ่งเสพติดทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา จะให้พ้นสภาพโดยทันที และจัดทำบัญชีดำเพื่อให้ทุกสถานศึกษารับทราบและไม่รับเข้าเรียน นอกจากนั้นสถานศึกษาทุกแห่งจะเข้มงวดเรื่องทรงผมและเครื่องแบบ โดยจะไม่รับนักเรียนที่มีรอยสักและระเบิดหูเข้าเรียนในปีการศึกษา 2559 เนื่องจากหลายกรณีมีกลุ่มบุคคลที่ไม่ประสงค์ดีแอบแฝงเป็นนักศึกษา
"ได้หารือผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อขอความร่วมมือในการลงโทษเยาวชนผู้พกอาวุธหรือกระทำความผิดโดยลงโทษขั้นสูงสุดตามกฎหมายและให้ผู้ปกครองมีส่วนรับผิดชอบด้วยเพื่อป้องปรามพฤติกรรมไม่ดีสำหรับด้านวิชาการ จะมุ่งพัฒนาระบบทวิภาคีตลอดจนการเรียนและทดสอบโดยใช้สมรรถนะเป็นฐานเทียบเคียงกับคุณวุฒิวิชาชีพในแต่ละสาขาของประเทศและประชาคมอาเซียน" จอมพงศ์ กล่าว
ด้านปลัดศธ. จี้ขอทบทวน
ขณะที่ คมชัดลึกออนไลน์ รายงาน ถึงความเห็นของ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต่อกรณีดังกล่าวด้วย โดย รศ.นพ.กำจร กล่าวว่า ได้สั่งการให้ อดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เชิญนายกสมาคมฯ มาพูดคุย ขอให้ทบทวนมติดังกล่าว โดยในความเห็นของตน มองว่า การเจาะหู หรือมีรอยสัก เป็นลักษณะบางอย่างในช่วงของวัยรุ่น ไม่ได้สะท้อนถึงพฤติกรรมของเด็กเหล่านั้นเสมอไป การไปตัดสินไม่รับคนที่มีรอยสัก หรือระเบิดหูเข้าเรียนอาจเป็นเรื่องไม่เหมาะสม
ส่วนกรณีที่เกรงว่าจะมีบุคคลไม่พึงประสงค์แอบแฝงมาเป็นนักศึกษานั้น เข้าใจว่าเป็นความพยามจะลดปัญหาการก่อเหตุทะเลาะวิวาทตั้งแต่ต้นลม แต่เด็กที่มีรอยสัก หรือระเบิดหูบางคน ก็อาจเป็นเด็กที่มีความคิดดี ต้องการจะเรียนรู้เพื่อสร้างอาชีพให้กับตนเอง สถาบันการศึกษาควรจะเป็นผู้อบรมบ่มนิสัย และควรให้โอกาสเขาเหล่านั้นได้เข้าเรียน และหากกังวลว่าจะผู้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมจะแอบแฝง ก็สามารถตรวจสอบประวัติก่อนเข้าเรียนได้
"การรับนักศึกษาทั่วไป ต้องดูว่าเด็กมีความรู้ทักษะที่สามารถจะเรียนได้หรือไม่ แต่ถ้ากังวลว่าเด็กเหล่านี้จะก่อเรื่อง ก็ต้องไปตรวจสอบประวัติ หากเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐไม่สามารถกำหนดเช่นนั้นได้แน่นอน เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่ของเอกชน สามารถกำหนดหลักเกณฑ์การรับนักศึกษาได้เอง ซึ่งคงต้องมีการพูดคุยรายละเอียดของมติดังกล่าวว่ามีขอบเขตมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าออกมาแล้วมีผลให้สถาบันอาชีวศึกษาเอกชนอื่นๆ ต้องปฏิบัติตาม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ก็สามารถออกมาตรการป้องปรามได้ เพราะบางแห่งก็ยังรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐอยู่ หากสถาบันใดยังยืนยันว่าจะดำเนินการตามมติดังกล่าว ก็อาจอยู่ในบัญชีรายชื่อการพิจารณาสนับสนุนงบประมาณในอนาคตได้"
- 1 view