ผลการสอบรับตรงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพิ่งจะประกาศออกไปได้ไม่นาน และคณะที่มีคะแนนสูงสุดก็ยังคงเป็นคณะรัฐศาสตร์ ภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้วยคะแนนที่สูงถึง 29,195 คะแนนจากคะแนนเต็ม 30,000 คะแนน ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ที่ผ่านมาคณะรัฐศาสตร์จุฬาก็มีสถิติเป็นคณะที่คะแนนสูงสุดในการยื่นคะแนนรอบแอดมิชชั่นติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2554-2556 มีเพียงปี 2557 ที่เสียตำแหน่งแชมป์ไปให้กับคณะบัญชีจุฬาฯ แต่ก็ยังคงสามารถรั้งอันดับสองไว้ได้ จึงสามารถกล่าวได้คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ เป็นหนึ่งในคณะที่คะแนนสูงที่สุดของประเทศไทย แต่นั่นสะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง? นั่นหมายความว่าเยาวชนไทยมีความสนใจทางด้านรัฐศาสตร์เพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า? หรือสะท้อนว่าคนเก่งระดับหัวกะทิของประเทศให้ความสนใจกับคณะรัฐศาสตร์มากขึ้น? บทความชิ้นนี้ต้องการจะชี้ให้เห็นว่าปรากฏการณ์ที่คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ มีคะแนนแอดมิชชั่นสูงสุดนั้นมิได้เกิดจากความตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชนแต่อย่างใด แต่เกิดจากปัญหา 3 ประการที่เกิดขึ้นพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายอันได้แก่ 1. ระบบการรับนิสิตที่มีปัญหา 2. ค่านิยมที่ผิดเพี้ยนเรื่องสถาบันนิยม และ 3. ความเข้าใจผิดในคณะรัฐศาสตร์ (อย่างไรก็ตามผู้เขียนมิได้ต้องเหมารวมว่านิสิตคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ทุกคนจะเป็นผลพวงของปัญหา 3 ประการข้างต้น แต่เป็นเพียงการวิเคราะห์ปัญหาในระดับโครงสร้างเท่านั้น)
1. ระบบการรับนิสิตที่มีปัญหา
เหนือสิ่งอื่นใด ข้าพเจ้าขออธิบายวิธีการคำนวนคะแนนสอบแอดมิชชั่นสักเล็กน้อย (ผู้อ่านท่านใดที่มีความรู้ในเรื่องนี้แล้วสามารถข้ามย่อหน้านี้ไปได้) ในการสอบแอดมิชชั่นนั้นจะมีคะแนนเต็มทั้งหมด 30,000 คะแนน โดยแบ่งออกเป็นคะแนน GPAX 20% ซึ่งคำนวนจากเกรดเฉลี่ยนตั้งแต่ ม.4-6 และคะแนนการสอบวัดความรู้พื้นฐาน หรือ O-net อีก 30% ข้อสอบดังกล่าวเป็นข้อสอบที่นักเรียนทั่วประเทศต้องสอบเหมือนกัน ซึ่งนอกจากจะเอาไว้ใช้ในการคำนวนคะแนนแล้ว ยังมีผลต่อการจัดอันดับโรงเรียนอีกด้วย (ซี่งเป็นที่ทราบกันดีถึงความตลกขบขันของข้อสอบชุดนี้ที่มักจะออกมาให้เห็นทุกปีเช่นการเตะฟุตบอลเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการจัดการกับอารมณ์ทางเพศ) ในส่วนของ 50% แรกนี้เป็นส่วนคะแนนทุกคณะมีเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคณะวิศวะ รัฐศาสตร์ บัญชี ฯลฯ เปรียบได้กับเป็นคะแนนมาตรฐานของนักเรียนผู้ซึ่งผ่านระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย แต่ส่วนที่แตกต่างกันคืออีก 50% ที่เหลือ ซึ่งจะคำนวนจากผลการสอบที่เรียกว่าว่า GAT กับ PATโดยแกทคือข้อความวัดความรู้พื้นฐานทั่วไป (General attitude test) ซึ่งจะมีข้อสอบ 2 ส่วนประกอบด้วยข้อสอบการคิดเชื่อมโยง และภาษาอังกฤษ ส่วนละ 150 คะแนน รวมกันเป็น 300 คะแนน ส่วน PAT คือการสอบวัดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Professional attitude test) ซึ่งจะมีให้สอบทั้งหมด 7 ตัวอันได้แก่ เลข วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตย์กรรมศาสตร์ ครุศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ และภาษา โดยแต่ละตัวจะมีคะแนนเต็ม 300 คะแนน โดยการสอบ PAT นั้นเป็นการเลือกสอบโดยสมัครใจ เช่นหากเราต้องการจะเข้าคณะวิศวะ เราก็ไม่จำเป็นต้องสอบ PAT สถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งผลสอบ GAT และ PAT จะถูกคำนวนออกมาเป็นคะแนนในอีก 50% ที่เหลือ ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนคะแนนของแต่ละคณะ เช่นคณะบัญชี จุฬาฯ จะใช้อัตราส่วนคะแนน GAT 30% และคะแนน PAT เลข หรือ PAT1 อีก 20% รวมเป็น 50% ประกอบกับ GPAX+O-net อีก 50% ก็จะกลายเป็น 100 % พอดี เป็นต้น โดยคะแนน GAT เป็นคะแนนที่มีอยู่ในทุกคณะ ต่างกันแค่อัตราส่วนที่ใช้เท่านั้น
เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าระบบการคำนวนคะแนนแอดมิชชั่นมีหน้าตาเป็นอย่างไร คำถามต่อมาก็คือสัดส่วนคะแนนของคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ เป็นอย่างไร คำตอบคือ “O-net+GPAX 50% และ GAT อีก 50%” ในหมายความว่าหากไม่นับ 50% แรก คนที่เก่งภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียวก็สามารถเข้าคณะนี้ได้ แม้จะไม่มีความรู้ด้านสังคมศาสตร์ใดๆ เลย ในส่วนของข้อสอบเชื่องโยงนั้น ก็มิได้มีความสลับซับซ้อนใดๆ แค่เพียงเราทำความเข้าใจกฎเกณฑ์และวิธีการของมัน เราก็สามารถทำคะแนนเต็ม 150 คะแนนได้อย่างไม่ยากเย็น ซึ่งในปัจจุบันก็มีสถาบันกวดวิชา และหนังสือติวเข้มที่เผยเคล็ดลับในการทำข้อสอบส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนแทบจะเรียกได้ว่าข้อสอบส่วนนี้แทบจะไม่สามารถวัดทักษะการคิดเชื่อมโยงในความเป็นจริงได้เลย จึงเท่ากับว่าการเข้าคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ นั้นอาศัยแค่ความสามารถด้านภาษาอังกฤษล้วนๆ ซึ่งคณะรัฐศาสตร์เป็นคณะสายสังคมศาสตร์เพียงคณะเดียวที่ใช้สัดส่วนคะแนนเช่นนี้ อาจจะมีคณะจิตวิทยาที่ใช้สัดส่วนแบบนี้ด้วย แต่จำนวนนิสิตที่รับก็มีเพียง 15 คนเท่านั้น (นอกจากจำนวนนี้ คณะจิตวิทยายังมีการรับนิสิตโดยการใช้สัดส่วนคะแนน PAT เลข และ PAT วิทยาศาสตร์อีก 60 คน) ผิดกับคณะรัฐศาสตร์ที่มี 4 ภาควิชา โดยแต่ละภาควิชารับนิสิตถึง 60 คน จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ (หรือบริหารรัฐกิจ) ซึ่งเป็นภาควิชาเดียวของคณะที่ใช้คะแนน PAT 1 หรือ PAT คณิตศาสตร์ ในสัดส่วน 20% กับ GAT อีก 30% จึงเป็นภาคที่เคยมีคะแนนแอดมิชชั่นต่ำสุดถึง 12,831 ในปี 2556 ซึ่งต่ำกว่าคะแนนต่ำสุดของคณะสายวิทยาศาสตร์เสียอีก ฉะนั้นเราจึงสามารถกล่าวได้ว่าเหตุที่คณะรัฐศาสตร์จุฬาคะแนนสูงนั้นมิใช่เพราะคณะนี้สามารถดึงดูดเด็กหัวกะทิให้เข้ามาสนใจเรียนได้ แต่สัดส่วนคะแนนนั้นเอื้อให้ง่ายต่อการมีคะแนนสูงอยู่แล้ว เพราะหากดูค่าเฉลี่ยคะแนนสอบ ค่าเฉลี่ยผลการสอบ GAT ทั่วประเทศในการสอบรอบที่ 1 ปี 2558 สูงถึง 131.97 จาก 300 คะแนน ส่วนค่าเฉลี่ย PAT1 ในรอบเดียวกันคือ 51.56 จาก 300 คะแนน เท่านั้น การคิดสัดส่วนคะแนนที่จำเป็นต้องใช้ PAT เลขจึงเป็นการฉุดคะแนนรวมลงอย่างมาก
ความแปลกอีกประการหนึ่งของคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ก็คือ ทั้งการสอบรับตรง และการสอบแอดมิชชั่น ไม่มีการวัดทักษะความรู้ทางรัฐศาสตร์เลย ผิดกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่จะมีการใช้ข้อสอบวัดความรู้ทางรัฐศาสตร์ที่คณะเป็นผู้ออกเอง เพื่อการันตีว่าจะมีเด็กบางส่วนที่มีความสนใจทางด้านรัฐศาสตร์จริงๆ อยู่ในทุกชั้นปี แต่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กลับใช้ PAT7 หรือการสอบทักษะทางภาษาในการคัดเลือกนิสิตในรอบรับตรง ซึ่งรับประกันเพียงทักษะทางภาษาเท่านั้น มิได้รับประกับความสนใจทางด้านรัฐศาสตร์แต่อย่างใด
(ภาพประกอบจาก: http://www.admissions.chula.ac.th/images/stories/cu_58.pdf)
2. ค่านิยมเรื่องสถาบันนิยมที่ผิดเพี้ยน
นอกจากปัญหาเรื่องโครงสร้างคะแนนแล้ว ค่านิยมเรื่องสถาบันก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คณะรัฐศาสตร์ จุฬาคะแนนพุ่งสูงจนเกินกว่าความเป็นจริง แน่นอนว่าการเข้าจุฬาฯ เป็นความฝันของเยาวชน และความคาดหวังทางสังคมที่คนส่วนใหญ่มี จึงเกิดแนวคิดที่ว่าคณะอะไรก็ได้ขอแค่ได้เรียนจุฬาฯ ก็เพียงพอ บางคนอาจจะอยากเรียนวิศวะ แต่คะแนนไม่สูงพอที่จะยื่นเข้าคณะวิศวะ จุฬาฯ แต่ก็ไม่อยากเรียนที่มหาวิทยาลัยอื่น จึงเลือกที่จะทิ้งคณะที่ตนเองถนัด และเลือกมหาลัยที่ตัวเองใฝ่ฝันแทนเพราะเพียงคะแนนถึง ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่าสัดส่วนการคิดคะแนนนั้นเอื้อให้ง่ายต่อการทำคะแนนสูงอยู่แล้ว ปัญหาที่ตามมาของทัศนคติดังกล่าว การแอดมิชชั่นใหม่ หรือ “ซิ่ว” เนื่องจาก 1. ไม่มีความสนใจทางด้านรัฐศาสตร์อยู่เป็นทุนเดิม จึงเรียนไม่ไหว บางรายหนักถึงขนาดไม่รู้ว่าคณะรัฐศาสตร์เรียนอะไรด้วยซ้ำ แต่ยื่นเพียงเพราะคะแนนถึงและอยากจะติดพระเกี้ยวให้โก้เก๋เป็นเวลา 1 ปี และ 2. เรียนเพื่อรอซิ่ว กล่าวคือไม่อยากเสียเวลา 1 ปีไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงเลือกที่จะเรียนไปก่อน และเตรียมตัวสอบใหม่ให้ได้คะแนนดีกว่าเดิม เพื่อจะได้ยื่นคณะที่ตัวเองใฝ่ฝันในปีการศึกษาต่อไป คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จึงเป็นคณะทดลองเรียน หรือทางผ่านสำหรับบางคน ซึ่งคนเหล่านี้ได้กีดกันคนที่มีความสนใจทางด้านรัฐศาสตร์ แต่ขาดความสามารถด้านภาษาอังกฤษออกไปอย่างน่าเสียดาย
3. ความเข้าใจผิดในคณะรัฐศาสตร์
ในบรรดาปัจจัยทั้ง 3 ข้อ ข้อนี้นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด โดยความเข้าใจผิดของคณะรัฐศาสตร์มีอยู่ด้วยกัน 2 ประการใหญ่ๆ ได้แก่ 1. คิดว่าคณะรัฐศาสตร์เรียนภาษาเป็นสำคัญ ซึ่งไม่เป็นที่แน่ชัดว่าความเชื่อนี้มีต้นกำเนิดมาจากไหน แต่คนส่วนใหญ่ที่เรียนคณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิสิตที่เข้ามาผ่านวิธีการรับตรงมักจะคิดว่าคณะนี้จะช่วยฝึกทักษะทางภาษาให้กับตัวเองทั้งภาษาอังกฤษและภาษาที่ 3 บางคนที่มีความสนใจด้านรัฐศาสตร์เล็กน้อย แต่มีความสามารถด้านภาษามากจึงเลือกเรียนคณะนี้แทนคณะอักษร (ยังไม่นับคนที่อกหักจากคณะอักษรซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อย) ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม เพราะการเรียนในคณะนี้ให้ความสำคัญกับมิติด้านสังคมเป็นสำคัญ ทักษะด้านภาษาเป็นเพียงตัวเสริมเท่านั้น สุดท้ายแล้วคนที่มีความคิดเช่นนี้จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการออกไปเรียนวิชาโท (Minor) ที่คณะอักษร ซึ่งในความเป็นจริงควรจะเป็นการเรียนเอกที่คณะอักษรและเรียนโทที่คณะรัฐศาสตร์เสียมากกว่า จริงอยู่ที่การเรียนในคณะรัฐศาสตร์มีการใช้เอกสารการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้นิสิตสามารถฝึกทักษะภาษาอังกฤษไปได้ในเวลาเดียวกัน แต่เป้าหมายของเอกสารเหล่านั้นคือการทำความเข้าใจทฤษฎีของนักคิดต่างประเทศเสียมากกว่า นั่นหมายความว่าสุดท้ายแล้วทักษะทางภาษาที่ได้จากคณะนี้อย่างชัดเจนคือทักษะด้านภาษาอังกฤษเท่านั้น ส่วนทักษะด้านภาษาที่สามนั้นขึ้นอยู่กับความข่วนขวายของแต่ละคน
ความเข้าใจผิดประการที่ 2 ซึ่งเป็นปัญหายิ่งกว่าคือความเชื่อที่ว่าการเรียนคณะรัฐศาสตร์จะทำให้สามารถทำงานที่มีฐานะทางสังคม และเปลี่ยนแปลงสังคมได้เช่นทูต ปลัดอำเภอ นักการเมือง ซึ่งเป็นความฝันของใครหลายๆ รวมถึงยังเป็นภาพลักษณะที่คนในสังคมคาดหวังด้วย เช่น เมื่อเราบอกว่าเราเรียนคณะรัฐศาสตร์ คนทั่วไปมักจะคิดว่าเราจะต้องเป็นทูต หรือนักการเมืองในอนาคต ซึ่งแนวคิดเช่นนี้เป็นแนวคิดที่ออกจะล้าสมัยไปเสียแล้ว เนื่องจากในอดีตคณะรัฐศาสตร์มีเป้าหมายเพื่อผลิตบุคลากรไปเพื่อรับใช้รัฐ หรือไปเป็นข้าราชการ แต่ในปัจจุบัน ตลาดแรงงานได้ขยายออกไปสู่ภาคเอกชนมากขึ้น อีกทั้งแนวทางการศึกษาด้านรัฐศาสตร์เริ่มมีรูปแบบของการวิพากษ์รัฐมากยิ่งขึ้น การเรียนในห้องรวมถึงคำบอกเล่าจากปากรุ่นพี่ทำให้นิสิตคณะรัฐศาสตร์ตระหนักถึงปัญหาของระบบราชการ และระบบการเมืองไทยที่หยั่งรากลึก ยากต่อการแก้ไข และเป็นอุปสรรคต่ออิสระในการทำงาน รวมไปถึงทำให้เราไม่สามารถใช้ทักษะความรู้ที่เรียนมาพัฒนาสังคมไปในทางที่เราต้องการได้ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น หากการคณะรัฐศาสตร์สอนว่าประเทศไทยไม่ควรไปจุดประเด็นเรื่องเขาพระวิหารกับกัมพูชาเพราะมันขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และกระทบความสัมพันธ์ต่อประเทศเพื่อนบ้าน แต่หากเราได้เป็นนักการทูต และผู้นำรัฐบาลยืนกรานว่าจะทวงคืนเขาพระวิหารไม่ว่าเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ หน้าที่ของเราก็คือต้องสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำนั้นแม้ว่ามันจะขัดต่อสิ่งที่เราร่ำเรียนมาก็ตาม ความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านระบบราชการจึงต้องเจอกับข้อเท็จจริงที่ว่าโครงสร้างภายในองค์กรทั้งในรูปแบบทางการและไม่เป็นทางการมันไม่เอื้อให้เราสามารถใช้องค์ความรู้ของเราได้เลย แนวโน้มของบัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่จะเข้าสู่ระบบราชการจึงมีน้อยลงทุกปี สวนทางกับการเข้าสู่ภาคเอกชนมีจำนวนสูงขึ้น เช่นงานด้านการข่าว องค์กรระหว่างประเทศ หรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) ซึ่งก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยเช่นกัน แม้จะไม่ได้มีฐานะทางสังคมเทียบเท่ากับการเป็นข้าราชการก็ตาม
โดยสรุปแล้ว บทความชิ้นนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าปราฏการณ์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มีแอดมิชชั่นคะแนนสูงหลายปีติดต่อกันนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ แต่มันกลับสะท้อนปัญหาในระดับโครงสร้าง และวัฒนธรรมทางความคิดที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ผู้ที่สนใจเรียนคณะรัฐศาสตร์จึงควรจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า ตนมีความสนใจทางด้านรัฐศาสตร์จริงๆ หรือไม่ หรือเพียงแค่สนใจทักษะทางด้านภาษาเท่านั้น อีกทั้งควรจะต้องแน่ใจว่าจริงๆ แล้วคณะรัฐศาสตร์เรียนเกี่ยวกับอะไร และเป้าหมายของการเรียนคณะนี้คืออะไร หากมองว่าการเรียนคณะนี้คือบันไดก้าวแรกของการไต่เต้าในเวทีการเมือง หรือการเปลี่ยนแปลงสังคมแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เราอาจจะต้องกลับมาทบทวนใหม่ว่าต้นทุนทางสังคมของเรามีเพียงพอหรือไม่ แต่หากเรามองว่าเป้าหมายของการเรียนคณะนี้คือการเรียนรู้วิธีการทำความเข้าใจ และอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างถึงรากเพื่อออกไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพให้กับรัฐและสังคมประชาธิปไตย คณะนี้ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีมิใช่น้อย
- 1005 views