Skip to main content
แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ บุกสภาวอน "หยุดพิจารณาร่าง ฟังพวกเราก่อน" สภา-องค์การนักศึกษา มธ. แย้งกระบวนพิจารณา ชี้ขาดการมีส่วนร่วม ด้านสนช.รับหลักการฉลุย ‘เกษตร-มธ.-มข.-สวนดุสิต"ออกนอกระบบ อธิการหนุน
 
 

27 มี.ค.2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธาน โดยที่ประชุมได้พิจาณาเรื่องด่วน ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ.โดยมีสาระสำคัญคือ ในมาตรา 36 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ให้สถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาระดับปริญญาเป็นนิติบุคคลเพื่อให้ดำเนินกิจการโดยอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหารและจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการ และอยู่ภายใต้การดูแลของสภาสถานศึกษา เพื่อให้สามารถระดมทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพิ่มศักยภาพทางวิชาการ สมควรรวมมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ มาจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เพื่อร่วมผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและท้องถิ่นของจังหวัดกาฬสินธุ์และพื้นที่ใกล้เคียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกสนช.ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ตั้งข้อสังเกตว่าการเปิดสาขาวิชาจะต้องตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น และพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ใช่เพื่อแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่นที่เกิดขึ้นมานานแล้วและได้รับความนิยมมากกว่า นอจากนี้มหาวิทยาลัยจะต้องมีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อตอบสนองให้นักศึกษาได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพภายหลังที่ประชุมได้มีมติรับหลักการวาระแรกด้วยคะแนน 156 ต่อ 1 งดออกเสียง 2  ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาจำนวน 15 คน

ต่อมา ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ที่มีเนื้อหานำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่  ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ..ศ..... ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ... ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.... และ ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น  พ.ศ.... 

โดย นายกฤษณพงศ์ กีรติกร  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ ปรับปรุงการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของรัฐพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและมีความคล่องตัว สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น มีความเป็นอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหารและมีความเป็นเลิศทางวิชาการ สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุน โดยเฉพาะสมาชิกที่มาจากสายอธิการบดีมหาวิทยาลัย อาทิ นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว. ) ประดิษฐ์ วรรณรัตน์  สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (นิด้า ) นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)นางสุมณฑา พรหมบุญ อดีตอธิการบดี มศว. โดยระบุว่า ขอบคุณรัฐบาลที่กล้าหาญในการเสนอร่างพ.ร.บ.ทั้ง 4 แห่งเข้าสู่การพิจารณาของสนช.หากเป็นภาวะปกติ นักการเมืองก็จะห่วงฐานเสียงตนเอง จึงไม่ได้ลำดับความสำคัญในเรื่องนี้เป็นลำดับต้นๆ สิ่งทีเป็นกังวลว่า มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือที่เรียกกันติดปากว่า ม.นอกระบบนั้นจะทำให้ค่าเล่าเรียนสูงขึ้นนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะดูจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่ออกนอกระบบไปแล้วค่าเล่าเรียนก็เท่ากับมหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นที่ประจักษ์แล้วจึงไม่น่ากังวลอะไร

ส่วนงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรก็เท่ากันเช่นกันไม่มากกว่าหรือน้อยกว่า จึงสามารถดูแลนักศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน  เพียงแต่แตกต่างกันที่การบริหารงานที่มีความคล่องตัวสูง มีประสิทธิภาพ  มีความเป็นอิสระมากขึ้นอีก  รวมทั้งจะได้คนดีคนเก่งเข้ามาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามร่างพ.ร.บ.นี้ไม่ได้หมายความว่า เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแต่ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยของที่ต้องได้รับการตรวจสอบเช่นเดียวกัน 

ด้านนายกฤษณพงศ์  กล่าวว่า  พร้อมรับข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของสมาชิกไปพิจารณา ทั้งนี้คำถามที่เป็นข้อข้องใจของนักศึกษาก็มาในลักษณะนี้ 20 ปีแล้ว ซึ่งก็ให้สกอ.ได้ศึกษาเชิงระบบ  แต่เรื่องค่าใช้จ่ายไม่แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยสังกัดราชการศึกษา ส่วนเสรีภาพทางวิชาการยืนยันว่าไม่น้อยกว่าเดิมทั้งในด้านการศึกษาและงานวิจัย สำหรับความรับผิดชอบแม้จะมีอิสระในการดูแลตัวเอง ความรับผิดชอบก็จะเพิ่มขึ้น

จากนั้น ที่ประชุมได้มีมติรับหลักการในวาระแรกทั้ง 4 ฉบับ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 15 คน 4 คณะขึ้นมาเพื่อพิจารณาต่อไป

ภาพจากกลุ่มเสรีนนทรี ม.เกษตรศาสตร์

นศ. บุกสภาวอน "หยุดพิจารณาร่าง ฟังพวกเราก่อน"

ก่อนหน้านั้น เวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา วันเดียวกัน(26 มี.ค.) นักข่าวพลเมือง ThaiPBS กลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งประกอบด้วย นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกันยื่นหนังสือคัดการพิจาณาร่าง พ.ร.บ. ม.นอกระบบ ที่หน้ารัฐสภา และอ่านคำประกาศคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า เจตน์สฤษดิ์ นามโคตร นักศึกษาม.ขอนแก่น กล่าวว่าร่างพ.ร.บ.เหล่านี้ เคยถูกนักศึกษาคัดค้านสำเร็จแล้ว ในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย แต่สมาชิกสนช.ที่เป็นอธิการบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัย ได้แก่ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีม.ธรรมศาสตร์ นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีม.ขอนแก่น นายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ อดีตอธิการบดีม.เกษตรศาสตร์ นายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีม.ศรีนครินทรวิโรฒ ก็อาศัยช่องทางผ่านอำนาจพิเศษเข้าไปนั่งในสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วทำการผลักดัน ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนอกระบบที่ร่างกันขึ้นมาเองอีกครั้งอย่างไม่สง่าผ่าเผย

หลังจากยื่นหนังสือ ทางกลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ได้เผาพวงหรีดที่เขียนคำว่า ม.นอกระบบ เพื่อไว้อาลัยให้แก่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ม.นอกระบบ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และได้ร่วมกันตะโกนคำว่า "หยุดพิจารณาร่าง ฟังพวกเราก่อน"

ภาพจาก ดอกก้านของ บนผืนดิน 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ คอยสังเกตการณ์และถ่ายรูป นักศึกษาที่เข้ายื่นหนังสือคัดค้านด้วย นอกจากนี้ แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยนอกระบบ ก็ได้มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการจุดไฟเผา ป้ายและพวงหรีดที่มีข้อความว่า ‘ม.นอกระบบ’ เพื่อแสดงออกว่าไม่เห็นด้วย และไว้อาลัยให้แก่ สมาชิกสนช.สายอธิการบดีหลายมหาวิทยาลัยที่ผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้

คำประกาศ  แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยนอกระบบ

จากการที่บ้านเมืองอยู่ในสภาวะไม่ปกติ  ไม่มีบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย  ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิ  เสรีภาพขั้นพื้นฐาน  แม้แต่การแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็ถูกจำกัด  การมีส่วนร่วมของประชาชนถูกจำกัด  การเคลื่อนไหวต่างๆ ของภาคประชาชนถูกจำกัด  ประเทศไทยกำลังถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการ  เช่นเดียวกับในมหาวิทยาลัย

พวกเราในนาม “แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยนอกระบบ” ได้ติดตามสถานการณ์การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมาโดยตลอด  ปรากฏว่า  ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ  กำลังจะถูกพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  ซึ่งมีอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ อยู่ในตำแหน่งสนช.ด้วย  คือ  นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น นายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  นายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  หมายความว่า สมาชิกสนช.เหล่านี้  กำลังจะอนุมัติร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนอกระบบที่ตนเองเคยร่างมาในตำแหน่งอธิการบดี  ซึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนอกระบบที่พวกเราเคยคัดค้านสำเร็จในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย  เนื่องจากในขณะนั้นประชาคมในมหาวิทยาลัยยังไม่มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงแท้จริง  และถูกถอนกลับมาพิจารณาใหม่  แต่อธิการบดีต่างๆ ก็อาศัยช่องทางอำนาจพิเศษเข้าไปนั่งในสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน  และเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนอกระบบอีกครั้งด้วยความไม่สง่าผ่าเผย  และขาดการมีส่วนร่วมของนิสิต นักศึกษา ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเหมือนเดิม  และแสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสตั้งแต่กระบวนการประชาคมภายในมหาวิทยาลัย  ทำให้พวกเรากังวลอย่างยิ่งว่าเมื่อออกนอกระบบไปแล้ว  จะไม่สามารถตรวจสอบการบริหารงานของสภามหาวิทยาลัยได้  หรือสามารถรับรองความชอบธรรมของสภามหาวิทยาลัยได้ 

ดังนั้น  พวกเราจึงขอเรียกร้องให้ประธานสภาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  ยกเลิกการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนอกระบบทั้งหมดในขณะนี้  และนำร่างดังกล่าวกลับมาพิจารณาใหม่โดยการมีส่วนร่วมของนิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้มีส่วนได้เสียให้ทั่วถึงอย่างแท้จริง

ด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการออกแถลงการณ์ร่วม สภานักศึกษา ศูนย์รังสิต องค์การนักศึกษา และภาคีเครือข่าย ออกแถลงการณ์ท่าทีต่อการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์