เมื่อวันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 13:00-17:30 น. กลุ่มสภาหน้าโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดบรรยายสาธารณะหัวข้อ "ศาสนากับการเมือง ชาตินี้เราคงแยกกันไม่ได้" โดยมีวิทยากรเป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และการเมืองชื่อดัง ประกอบด้วยศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ศาสตราจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ์ และนายสุจิตต์ วงษ์เทศ โดยมีนักศึกษา ประชาชน และภิกษุสงฆ์ ให้ความสนใจเข้ารับฟังเสวนา ณ 107 อาคารริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
กรอบของงานบรรยายได้กล่าวถึงแนวคิดรัฐประชาชาติเริ่มก่อตัวขึ้นในโลกตะวันตก ความพยายามที่ตามมาก็คือต้องการแยกรัฐ(การเมือง)ออกจากศาสนา ปรัชญาและทฤษฎีการเมืองจึงถูกสร้างขึ้นเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ทางการเมืองด้วยวิธีคิดแบบฆราวาส(secular) แต่หลังจากปลายทศวรรษที่1970 แนวคิด post-secularism ก็เกิดขึ้น สร้างคำถามขึ้นมาว่า หรือว่าศาสนาจะไม่สามารถแยกออกจากรัฐ(การเมือง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ต่างจากตะวันตก และความเชื่อที่ฝังรากลึกในสังคมตั้งแต่บูชาผีจนถึงการเข้ามาของวัฒนธรรมอินเดีย ทำให้การเมืองของภูมิภาคนี้มีความสลับซับซ้อนและซ้อนทับอยู่กับการเมืองและเรื่องทางโลกอยู่ตลอดเวลา
สุจิตต์ วงษ์เทศ "ศาสนาผีกับการเมือง" ชี้ศาสนาไทย คือ ศาสนาผีที่ครอบด้วยพุทธ
ระหว่างบรรยาย มีการบรรเลงปี่พาทย์ประกอบจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สุจิตต์ เริ่มด้วยการกล่าวถึง คำลาวไทย ว่า ผี มีความหมายเดียวกับคำบาลี-สันสกฤตว่าเทวดา และมองว่าศาสนาและการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน
ความเชื่อดั้งเดิมในสุวรรณภูมิกล่าวว่า ศาสนา การเมือง เป็นพลังผลักดันสังคม แต่ยุคปัจจุบันพลังผลักดันสังคมคือเศรษฐกิจ การเมือง กล่าวคือ 3 พันปีก่อน หัวหน้าเผ่ามักเป็นหมอผีที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติสามารถติดต่อสื่อสารกับผีบรรพชน โดยที่สามัญชนทั่วไปทำไม่ได้ หมอผีจึงเป็นผู้คุมอำนาจในขณะเดียวกันก็กีดกันอำนาจจากผู้อื่น และผู้หญิงมักเป็นหัวหน้าเผ่า ดังในหลักฐานโครงกระดูกที่บ้านเชียง จ. อุดรธานี พบแก้วแหวนเงินทองมากมายในหลุมศพที่ไม่น่าใช่สามัญชนทั่วไป ยุคแรกผู้หญิงได้รับยกย่องเป็นใหญ่ มีผู้ชายเป็นบ่าวไพร่บริวาร เห็นได้จากผี เข้าสิงร่างทรงที่เป็นหญิงเท่านั้น ดังพิธีเข้าทรง ผีมด (เขมร), ผีเม็ง (มอญ), ผีฟ้า (ลาว) ผีไม่ลงทรงร่างผู้ชาย หลักฐานเหล่านี้มีก่อนที่ศาสนาจะเข้าถึง รวมทั้งหมอผียังเป็นนักดนตรีกลุ่มแรก ดนตรีถือว่าเป็นภาษาผี เพราะพิธีต่างๆใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่ศาสนาพุทธตัดอารมณ์และความรู้สึกออกไป
หลักฐานทางโบราณคดีพบว่าการค้าและการเมืองชักนำศาสนาจากอินเดียเผยแผ่ถึงสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ แล้วเกิดการปะทะกับคนพื้นเมืองที่นับถือศาสนาผีอย่างเหนียวแน่นมาก่อน ทำให้เกิดปัญหาระหว่างศาสนาผีกับศาสนาพราหมณ์และพุทธ ดังในตำนานที่ว่าพระพุทธเจ้าปราบนาคให้นับถือพระพุทธศาสนา นาค เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงคนพื้นเมืองที่มีความเชื่อในศาสนาผี คือลัทธิบูชานาค ก่อนหน้านั้นผู้หญิงเป็นเจ้าของศาสนาผี ส่วนชายเป็นเจ้าของศาสนาพุทธ เพราะภายหลังมีการบวชนาค ทำขวัญนาค นอกจากนี้เจ้าแม่ยังทำพิธีเรียกร้องธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด เช่น ประเพณี 12 เดือน เมื่อได้ก่อตัวเป็นรัฐได้เอาพิธีการศาสนาผีมาใช้ เช่นพระราชพิธี 12 เดือน ซึ่งหลายคนทำเป็นลืม
ยังกล่าวถึงการปราบคนพื้นเมืองให้อยู่ในอำนาจ จะเห็นได้จากรูปปั้นพระพิฆเนศนั่งทับกะโหลกที่ไทยสร้างขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ไม่มีความเชื่อนี้ในอินเดียและชวา เพราะประวัติศาสตร์กระแสหลักยกย่องให้พระพิฆเนศเหนือผี เป็นเทพเจ้าปราบอุปสรรค และเป็นเทวรูปประจำการเดินเรือต่างๆของพ่อค้าจากอินเดียไปเกาะชวา จากนั้นมีการปราบปรามคนพื้นเมืองจำนวนไม่น้อย เพื่อให้อยู่ในอำนาจจนสำเร็จ
หลังรับศาสนาจากอินเดีย บรรดาหัวหน้าเผ่าพื้นเมือง นักดนตรี เปลี่ยนจากหญิงเป็นชาย ทั้งยังให้เป็นผู้นำทางศาสนาตามแบบแผนการเมืองการปกครองจากอินเดีย ศาสนาจึงเป็นอำนาจต่อรองทางการเมือง สุจิตต์ยังได้กล่าวอีกว่า
“ศาสนาพุทธ คือ ศาสนาไทย ศาสนาไทย คือ ศาสนาผีที่ครอบด้วยพุทธ ผีและพุทธไม่ขัดกัน แต่ผลัดกันควบคุมสังคม"
ขยายความว่า ต่อมาศาสนาเปลี่ยนหมอผี เป็นนักบวช นักวิชาการ ศาสตราจารย์ ไปจนถึงผู้ร่างรัฐธรรมนูญ
ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ "พุทธศาสนากับการเมืองไทย" คนมีบุญไม่ใช่คนดี
คำถามคือ ทำไมศาสนาถึงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือการเกิดสัมพันธภาพระหว่างศาสนากับรัฐ?
เนื่องจากระบบการปกครองที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นกว่าเดิม ศาสนาเป็นระบบความคิดที่ครอบคลุมทั้งมีความเป็นเหตุเป็นผล มีวิธีวิทยาที่ก้าวหน้ากว่าลัทธิผี หรือบรรพบุรุษสิ่งลี้ลับทั้งหมด
การก่อรูปของจักรวาลทรรศน์พุทธในรัฐไทสมัยต้นเริ่มจากสมัยสุโขทัย พุทธศาสนาได้ถูกสถาปนาเป็นศาสนาแห่งรัฐ พ่อขุนรามคำแหงได้ดำรงความเป็นธรรมราชา คติความคิดนี้ยังถูกนำมาใช้ในสมัยจอมพลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อตอบโต้ทัศนะประชาธิปไตยเเบบสังคมตะวันตกว่ายังใช้ไม่ได้กับสังคมไทย
จะเห็นได้ว่าเเนวคิดเรื่องศาสนากับการเมืองที่มีมายาวนาน ตั้งเเต่ในยุคสมัยที่สถาบันการปกครองยังต่อสู้กับศาสนาผีนั้น ยังคงสามารถนำมาใช้อธิบายการเมืองไทยเเละชนชั้นปกครองของไทยในปัจจุบันได้ ตามลักษณะ“จักรวาลทรรศน์พุทธ"(BuddhistCosmology) โดยในพระไตรปิฏกได้กล่าวถึงบท"อัคคัญญสูตร"ว่าด้วยการกำเนิดของวรรณะต่างๆ โดยที่ชนชั้นปกครองต้องนำศาสนาเข้ามาอยู่ในระบบการปกครอง เพราะต้องการควบคุมความคิดและสร้างความเป็นเหตุเป็นผล ทั้งยังต้องการให้ประชาชนนับถือและทำลายความเชื่อเรื่องผีซึ่งมีอยู่เดิมด้วย
หลักการคัดเลือกผู้ปกครองในยุคนั้น คือ ต้องเป็นผู้ที่มีลักษณะที่ดี งดงาม น่าเกรงขาม อีกทั้งมีความมั่งคั่ง เป็นเจ้าของที่ดิน เเละต้องเป็นผู้อุปถัมภ์ทำนุบำรุงศาสนาด้วย มีรูปแบบการปกครองที่เป็นระบบแต่อำนาจการตัดสินใจยังอยู่แค่ในวงของชนชั้นสูงเท่านั้น ไม่มีการเลือกตั้ง
บุญยังมีความสอดคล้องกับอำนาจการเมือง เนื่องจากบุญอำนาจแบ่งหน้าที่การเมืองเด็ดขาด ทำให้ชนชั้นนำมีความชอบในหน้าที่การเมือง อยู่ในฐานะที่สูงกว่า มีอำนาจเหนือกว่าอย่างชอบธรรม ในขณะที่ชาวบ้านต้องเป็นฝ่ายได้รับการให้ทาน ความช่วยเหลือเเละการสงเคราะห์จากชนชั้นปกครองเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง
รัฐสมัยใหม่ต้องมีความหลากหลายเกิดเป็นศีลธรรมแบบใหม่พลเมืองมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครอง
"ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่คนเริ่มไม่เชื่อในศาสนา และรัฐชาติสมัยใหม่ ทุกคนสามารถจินตนาการชาติที่ตนอยู่ได้ ไม่ต้องอ้างอิงศาสนาเสมอไป"
แต่ในปัจจุบันก็ยังพบการใช้เรื่องศาสนาในการเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ สถาบันสงฆ์เข้ามารับใช้นโยบายการเมืองรวมถึงมีการเสนอให้ใช้หลักศาสนาเข้ามาอยู่ในหลักการปกครองอีกด้วย
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ "ศาสนากับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย"
มองว่าการเมืองมีความสัมพันธ์ทางอำนาจ แล้วศาสนามาเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างไร?
ศาสนาเป็นเครื่องมือในการเพิ่มและลดทอนอำนาจแก่คนบางกลุ่มในสังคมไทย กล่าวคือในไทยมีนักบวชจำนวนมาก และคนไทยให้ความเคารพนับถือ จึงเกิดความคาดหวังในตัวคนนุ่งเหลืองห่มเหลือง โดยไม่มีใครรู้ว่าคำสอนที่แท้จริงเป็นอย่างไร เช่น ศาสนาพุทธมีความคิดเรื่องความเสมอภาคว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพเท่ากันในการบรรลุนิพพาน แต่ไม่ได้รับความสำคัญในสังคมไทย ยิ่งด้านการศึกษาที่มีศาสนาเป็นตัวควบคุมกล่อมเกลาว่าอะไรคืออำนาจทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายทางการเมือง ศาสนายังเป็นตัวให้อัตลักษณ์บอกให้รู้ว่าคุณเป็นใคร เช่น ศิษย์เก่าจุฬาฯ รวมถึงศาสนามีความเป็นสากลทำให้คนเราเชื่อมโยงโลกกว้างได้
ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมใดก็แล้วแต่ไม่ได้กำหนดด้วยกฎหมายลายลักษณ์อักษร แต่กำหนดด้วยวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมามากกว่าและไม่เคยหยุดนิ่งกับที่ ดังนั้นใครที่ยังเรียกร้องความเป็นไทยนั่นแหละเป็นบ้า
"เรายอมรับเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่ความเสมอภาคทางศาสนาไม่มี ศาสนาอื่นล้วนเป็นรองศาสนาพุทธ วันหยุดราชการมีแต่ของพุทธ ไม่มีตรุษจีน ฮารีราญอ ทั้งที่เรามีคนจีน มุสลิมจำนวนมาก”
พุทธศาสนาไม่มีวิวัฒนาการ แต่มีจุดพลิกผันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่4 รัชกาลที่ 5 เกิดการปฏิรูปการศึกษา มีการจัดตั้งกระทรวงศึกษาธิการและตั้งครูที่เป็นฆราวาสมาสอนหนังสือแทนพระสงฆ์ เป็นการลดทอนอำนาจของพระสงฆ์แทนที่ด้วยอำนาจรัฐที่เข้ามาควบคุมแทน ซึ่งการจะปฏิรูปพุทธศาสนาได้ต้องเอารัฐออกไป
คำสอนทางศาสนายังเป็นเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยตลอด เช่นการรวมศูนย์อำนาจรัฐไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นเครื่องมือต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยที่ทางองค์กรคณะสงฆ์ก็ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐเผด็จการเป็นอย่างดี
ส่วนสถานการณ์ปัจจุบัน พระสงฆ์ที่ไม่ได้รับการรับรองจากมหาเถรสมาคมแต่ได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน และการรื้อฟื้นบทบาทของพระสงฆ์กลายเป็นเรื่องส่วนบุคคลของสำนักต่างๆ เช่น ธรรมกาย สันติอโศก เเละพระมหาวุฒิชัย วชิระเมธี เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า มหาเถรสมาคมแทบจะไม่มีบทบาทใดๆแล้วในสังคมไทย มหาเถรสมาคมผูกขาดได้อย่างเดียวคือ สบง จีวร ผ้าเหลือง
ในขณะที่หลักคำสอนในศาสนาไม่ได้กำกับความคิดของใครเท่าไหร่นัก สิ่งที่มีค่ามากกว่าหลักคำสอนคือ อัตลักษณ์ เช่น การเป็นชาวพุทธ มีพิธีกรรมต่างๆที่เน้นแสดงความเป็นอัตลักษณ์ เช่น หลายคนโกรธที่เห็นผู้อื่นไปลบหลู่พระพุทธรูป เพราะกระทบอัตลักษณ์ตัวเขา
อ.นิธิ ยังได้กล่าวถึง พรบ. ปกป้องพระพุทธศาสนา ที่ถือว่ากำลังเอาอำนาจรัฐมาดูถูกศาสนา ทั้งที่ความหมายของผ้าเหลือง คือไม่เป็นภัยกับใครทั้งสิ้น
จากนั้นเด็กหลังห้องได้ไปพูดคุยกับสมาชิกกลุ่มสภาหน้าโดมผู้จัดงาน และผู้เข้าร่วมเสวนา
เด็กหลังห้อง : อยากถามถึงที่มาของการจัดงานหน่อย?
สมาชิกกลุ่มสภาหน้าโดม : สมาชิกในกลุ่มเสนอชื่องาน แล้วเปิดประชุมใหญ่ ระดมกำลังสมาชิกทั้งรุ่นพี่และสมาชิกใหม่ในกลุ่มเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา มีการลงมติไปจนถึงรูปแบบของงาน ติดต่อวิทยากรและลุ้นทุกครั้งว่าวิทยากรจะตอบรับหรือไม่
เตรียมจัดงานครั้งนี้นานไหม และผลออกมาเป็นอย่างไร?
การเตรียมงานไม่นานมาก เพราะพวกเราเจอกันก็ชอบคุยกันเรื่องการบ้านการเมืองอยู่แล้ว เจอกันทีไรก็อยากจะจัดเสวนา พอตกลงกันได้ ก็รีบเชิญวิทยากร นัดประชุมเตรียมงานเลยค่ะ
ในขณะสมาชิกอีกคนได้กล่าวว่า จริงๆรู้สึกผิดหวังในมหาวิทยาลัย ด้านค่าใช้จ่ายที่สูงมากทั้งที่อ้างว่าเป็นมหาลัยแห่งเสรีภาพและเพื่อมวลชน จนนักศึกษาต้องลงแรงออกค่าใช้จ่ายไปบางส่วน และทุกครั้งนักศึกษาต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดเองและคาดหวังกับเงินบริจาค แต่ก็ยินดีเพราะทำตามอุดมการณ์ในการเปิดพื้นที่พูดคุยตามแนวทางของกลุ่ม
ถือว่าผลออกมาดีเกินคาด ทุกคนดีใจมากๆที่เราได้เผยแพร่ความรู้และแนวคิดต่างๆสู่สาธารณชน ได้ถกคิด ยิ่งไปกว่านั้น ในงานยังมีกลุ่มนักบวช พระภิกษุมาฟังและออกความคิดเห็น
ทุกคนลุยงานและช่วยกันแบบทุ่มแรงกายแรงใจ ถือเป็นงานเสวนาที่ประสบความสำเร็จในด้านกระแสตอบรับอย่างมากที่สุด
ต้องขอบคุณทุกคน ทั้งประชาชนผู้ร่วมงาน และยินดีที่จะส่งเสริม ให้รู้ว่าพวกเขาเห็นด้วยและตอกย้ำว่า ประเทศนี้ยังเปิดรับและตื่นรู้เกี่ยวกับการมีเสรีภาพทางความคิด
วางแผนกิจกรรมต่อไปไว้อย่างไร?
ก็ทำเหมือนๆทุกๆครั้งเลย เสนองาน และลงมติกัน เป็นแบบนี้ตลอดอยู่แล้ว และก็จะเป็นต่อไป
กลัวเรื่องความเสี่ยงอะไรในการจัดกิจกรรมในอนาคตหรือไม่ ?
ไม่กลัว เพราะเราตกลงกับทีมงานและวิทยากรแล้วว่าจะไม่พูดการเมือง ใครพูดอะไรให้รับผิดชอบตัวเอง และยินดีต้อนรับทหารเป็นอย่างดี ถือเป็นงานแรกที่ทำใบลงทะเบียนให้กับๆพี่ทหารตำรวจโดยเฉพาะ “พุทธศาสนาในประเทศไทยตายแล้ว! เนื่องจากเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ง่ายและไร้ประสิทธิภาพ” เพราะถ้าพรบ.นี้ผ่าน ก็เท่ากับเป็น กฎหมายมาตรา 112 ทางศาสนา อาจทำให้พุทธศาสนาหมดความศักดิ์สิทธิ์และหมดความสำคัญลง และยิ่งจะทำให้พุทธศาสนากลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ง่ายขึ้น
จากนั้นเด็กหลังห้องได้ไปสัมภาษณ์ผู้ร่วมงานหลังจากฟังบรรยายสาธารณะว่า
ศาสนาในมุมมองของวัยรุ่น และสังคมปัจจุบันเป็นอย่างไร?
ผู้ร่วมงานคนแรกได้กล่าวว่า ถือว่าเป็นงานเสวนาที่ใหญ่สุดในรอบปี มองว่าสังคมมีความเชื่อที่หลากหลาย ไม่แปลกที่หลายคนจะนิยามตัวเองว่าไม่มีศาสนาและให้เหตุผลว่านับถือตัวเอง ซึ่งตัวเราก็ไม่ได้มองว่าพวกเขาแปลกแยก เพราะก็ไม่ชอบพิธีกรรมอะไรมากมาย แถมคนที่ไม่มีศาสนาก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนคนที่ยังนับถือศาสนา หรือมีแนวเชื่อมั่นแบบสุดจิตสุดใจ และทำให้เขามีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตต่อไปได้ เราก็ค่อนข้างสนับสนุน เพราะทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับความเป็นปัจเจกของแต่ละคน
ผู้ร่วมงานคนต่อมา มองว่าปัจจุบันวัยรุ่นเริ่มออกห่างจากศาสนากันมากขึ้นแล้ว เพราะเด็กเริ่มตั้งคำถาม เริ่มสงสัย ศาสนาเองก็มีตวามย้อนแย้งในตัวเองสูง อย่างเช่น ศาสนาพุทธ ตามหลักกาลามสูตร ใจความมันก็คือ อย่าเชื่อ อะไรง่ายๆ ต้องพิสูจน์ ต้องคิดวิเคราะห์ก่อนจะเชื่อ แต่กลับมีคำสอนในพุทธประวัติที่เป็นอภินิหารทั้งๆที่ตรงนี้ก็ไม่มีข้อพิสูจน์แต่ชาวพุทธหลายต่อหลายคนก็เชื่ออย่างสนิทใจ
อีกอย่างคือการทำบุญในเมื่อตามหลักคำสอน การสร้างทานบารมีก็คือทำเพื่อสั่งสมบุญ อีกคำสอนหนึ่งคือการละซึ่งกิเลส สองคำสอนนี้ก็ดูขัดแย้งกันในเมื่อสอนให้เราละกิเลส แต่สุดท้ายแล้วเราทำบุญก็เพื่อหวังว่าจะทำให้ชาติหน้าเกิดมาดี ปรารถนาว่าชีวิตจะดีขึ้น มีเงินทองมีอะไร สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้ก็เป็นกิเลส เหมือนสอนให้เราละกิเลส แต่ก็นำกิเลสมาล่อเราให้ทำบุญ
และผู้ร่วมงานอีกคนได้กล่าวว่า อันที่จริงแล้วกำเนิดศาสนามันมีจุดก่อกำเนิดที่อิงมาจากการเมืองด้วยซ้่ำ โดยผู้ที่ให้กำเนิดศาสนาอาศัยจังหวะที่ยุคนั้นมนุษย์ยังมีความรู้จำกัด ยังมีคำถามอีกมากมายที่ตอบไม่ได้ เมื่อให้กำเนิดศาสนา ก็ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการปกครอง แต่ในสังคมปัจจุบันที่การเมืองมันซับซ้อนมากขึ้น ศาสนามิอาจใช้ปกครองได้เต็มประสิทธิภาพอีกต่อไป อีกทั้งองค์ความรู้ของมนุษย์ได้เพิ่มขึ่้นเรื่อยๆ
คำถามที่เคยไม่มีคำตอบ ก็กลับมีคำตอบ แถมหลายคำตอบก็พิสูจน์ยืนยันแล้วว่าที่ศาสนาเคยตอบนั้นผิด ยิ่งทำให้ศาสนาถูกลดทอนอิทธิพลลงไปอีก เรื่ององค์ความรู้(โดยเฉพาะทางวิทยาศาสตร์)นี่สำคัญเลย สังเกตุง่ายๆ ประเทศต่างๆในโลกนี้ยิ่งเป็นประเทศที่วิทยากรก้าวหน้ามากเท่าไหร่ ศาสนาก็ยิ่งมีอิทธิพลต่อสังคมของประเทศนั้นน้อยลงเท่านั้น หลายๆประเทศในยุโรปเหนือมีอศาสนิกเกินครึ่ง
- 133 views