Skip to main content

1. เรื่องของชาร์ลี เอบโด ที่ฝรั่งเศส กระจายไปทั่วทุกมุมโลกด้วยลมโลกาภิวัตน์ จากเทคโนโลยีในศตวรรษที่ยี่สิบ หลายประเทศออกมาประณามการกระทำอันอุกอาจของกลุ่มก่อการร้ายที่อ้างตัวเองว่าทำเพื่อศาสดาของศาสนาตน จนถึงขั้นสร้างอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินผู้อื่น หลังมีความไม่พอในในหมู่ชาวมุสลิมเกี่ยวกับการตีพิมพ์ภาพล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด จนเป็นเหตุให้มีการบุกเข้าไปยิงกราดในสำนักงาน แม้ว่าจะมีประเด็นถกเถียงในสังคมฝรั่งเศสเองว่าการ์ตูนของชาร์ลี เอบโด นำเสนอเนื้อหาที่ล้ำเส้นเกินไปหรือไม่ แต่ก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่านัก ว่าการตอบโต้คำพูดที่ไม่เข้าหูด้วยการใช้กำลังเป็นเรื่องเหมาะสม เหตุการณ์ในครั้งนี้จึงไม่เพียงแต่ฉีกปีกของเสรีภาพสื่อ แต่ยังเป็นการแนะนำตัวของตัวแสดงระหว่างประเทศ ที่ไม่ใช่รัฐและได้อำนาจมาจากการใช้ความรุนแรง

ตัวอย่างภาพนิตยสารชาร์ลี เอบโด   ภาพจากแฟนเพจเฟซบุ๊ค   Charlie Hebdo Offciel

2. ท่ามกลางสมรภูมิของจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างในปี 57 เสื้อสีขาวของนักศึกษาเด่นออกมาจากกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา เรียกได้ว่าเป็นปีที่ขบวนการนักศึกษาจากทั้งสองฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวตลอด หลังการคัดค้านพ.ร.บนิรโทษกรรม ยิ่งเข้มข้นขึ้นสำหรับกลุ่มที่มองว่ารัฐประหารไม่ใช่ทางออกของการเมืองไทย และรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งคือการลิดรอนเสรีภาพ

“ก่อนหน้านี้นักศึกษาก็มีบทบาทมาตลอด แต่เป็นส่วนเสริมของแต่ละขบวนการ เพื่อให้ตัวขบวนการดูมีความชอบธรรมมากขึ้น เพราะมีนักศึกษาออกมาร่วมด้วย แต่หลังจากรัฐประหาร นักศึกษากลายเป็นมีบทบาทหลักในการแสดงออก ไม่มีกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มอื่นๆออกมาเหมือนเดิม” รัฐพล ศุภโสภณ หนึ่งในนักศึกษาผู้เคลื่อนไหว ปีที่แล้วเขาไปสถานีตำรวจบ่อยประหนึ่งสถานศึกษา จากการจัดกิจกรรมอย่างกินแซนด์วิชและอ่านหนังสือ 1984 ชูสามนิ้ว ซึ่งล่าสุดก็จัดงานชม ภาพยนตร์ hunger games: Mockingjay Part1 กลุ่มของเขาจัดกิจกรรมแทบทุกเดือน เพื่อเรียกร้องเสรีภาพที่หายไป

ภาพรัฐพล ขณะจัดกิจกรรม

แต่ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม ยิ่งทำกิจกรรมเรียกร้อง ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า เสรีภาพในการแสดงออกน้อยลงไปทุกที “การกระทำพวกนี้ (การต่อต้านรัฐประหาร) มันเสี่ยงกว่าตอนก่อนรัฐประหารหลายเท่า ขนาดก่อนรัฐประหารตอนไปคลุมผ้าดำที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คลุมเสร็จ เพื่อนกำลังให้สัมภาษณ์ ยังสัมภาษณ์ไม่เสร็จก็ต้องดึงเขาออกจากกล้องแล้ว เพราะคปท. วิ่งไล่เอาไม้มา 50-60 คน มันไม่มีใครคุ้มครองคุณ” ความไม่ปลอดภัยนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ ณ สถานที่จัดกิจกรรมแต่ยังลามมาถึงในชีวิตประจำวันอีกด้วย แม้ว่าเพื่อนนักเคลื่อนไหวบางคนที่รัฐพลรู้จัก จะถูกหน่วยงานความมั่นคงตามตั้งแต่ช่วงสลายการชุมนุมเมื่อปี 53 แต่หลังรัฐประหารการคุกคามด้านจิตใจก็หนักขึ้น “เรื่องขวัญกำลังใจก็มีอะไรบ้างเป็นจังหวะๆ ในช่วงที่เรามีการเคลื่อนไหวรุนแรงก็จะค่อนข้างมีเยอะ เพราะมันมีความไม่มั่นคงต่อชีวิตและทรัพย์สินคุณ มันก็ยังมีคนถูกคุกคามเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวันก็โดน อย่างเราโดนคนตามบ้าง บางทีมีมาถามถึงในมหาวิทยาลัยว่ารู้จักคนหน้านี้ไหม ซึ่งอันนี้เราเคยได้กล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประเทศไทยไปแล้วนะ”

ขอบเขตของการคุกคามสิทธิและเสรีภาพดูจะมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแค่หยุดการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา แต่รวมถึงการสร้างนิยามของเสรีภาพใหม่ ที่ทำให้สังคมเคยชินกับการถูกควบคุมตลอดเวลา “อย่างตอนที่เราโดนยกเลิกงานเสวนา เราแค่พูดออกไมค์เฉยๆว่าเราจะไปสน.นะ ก็มาหาว่าเราสร้างความแตกแยก ซึ่งเราก็แค่พูดความจริง ไม่ได้ปลุกระดมอะไรเลย แต่ก็โดนด่าแบบเดี๋ยวคราวหน้ามึงไม่ได้จัดอีกหรอก การคุกคามมันมีหลายระดับ ค่อยๆเอาสิทธิ เสรีภาพไปทีละอย่าง ตอนนั้นที่เข้าเฟซบุ๊คเข้าไม่ได้ทั้งประเทศ ก็เป็นการทดสอบอย่างหนึ่งว่าคนรับการละเมิดได้มากแค่ไหน พอรัฐบาลรู้ว่าไม่มีทางปิดเฟซบุ๊คได้ ก็เปลี่ยนมาใช้ social sanction แทน ซึ่งระดับการคุกคามก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ล่าสุดก็เป็นหนึ่งในนั้น”

รัฐพลเองก็เดาไม่ออกว่าปลายทางของมาตรการแบบนี้จะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆในตอนนี้เราคงต้องเริ่มหาคำตอบให้ตัวเองว่า จะอยู่อย่างไรกับสถานการณ์นี้

 

3. กรณีชาร์ลี เอบโดที่ถูกคุกคามจากการแสดงความคิดเห็นจนถึงขั้นเสียชีวิต จะต่างอะไรกับการที่ขบวนการนักศึกษาถูกใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพียงแค่แสดงทัศนะคติของพวกเขา การใช้กำลังในทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นเพื่อหยุดเสรีภาพในการแสดงออก ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนเสรีภาพที่ถูกอำนาจนอกระบบยึดไปด้วยกระบอกปืน จะได้กลับคืนมา แต่สำนักพิมพ์ชาร์ลี เอบโดก็ยังคงเขียนการ์ตูนล้อเลียนศาสนาต่อไป เช่นเดียวกับขบวนการนักศึกษาที่ยังคงทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อ

เรื่องที่น่าคิดต่อคือ ขบวนการนักศึกษาเคลื่อนไหวโดยมีการจ้องมองจากสื่อยังถูกใช้ความรุนแรงถึงในระดับนี้ แล้วกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองบางกลุ่มที่ไม่ได้ปรากฏในสื่อใดๆ จะถูกใช้ความรุนแรงถึงขั้นไหน โดยที่สังคมไม่แม้แต่จะรับรู้การมีอยู่ของพวกเขา อย่างน้อยบรรณาธิการและนักเขียนทั้งสิบสองคนก็ยังถูกโลกจดจำ