Skip to main content

13 ม.ค.2558 ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาลในการพัฒนาการศึกษาของประเทศเพื่อให้มีคุณภาพ โดยพบว่าในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีการใช้งบประมาณด้านการศึกษาไปถึง 4.2 แสนล้านบาท แต่กลับไม่ได้คุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น โดยเห็นได้จากผลสะท้อนของการทดสอบระดับนานาชาติอย่าง Program for International Student Assessment (PISA) และผลการสอบ Trends in International Mathematics and Science Study (TIMSS) ที่ระบุว่า ผลการเรียนของเด็กไทยในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ไม่พัฒนาและตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
 
นักวิชาการทีดีอาร์ไออนุมานว่า ปัญหาของระบบการศึกษาไทย ไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนงบประมาณ แต่อยู่ที่ความด้อยประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร และเมื่อพิจารณาในภาพรวมพบว่า เด็กไทยยังอ่อนใน 3 วิชาหลัก ได้แก่ วิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ถึงแม้ว่านักเรียนไทยจะใช้เวลาในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนถึง 6 ชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่านักเรียนในประเทศเกาหลี แต่ผลการสอบระดับนานาชาติกลับได้คะแนนต่ำกว่า ปัญหานี้ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดแคลนครูที่มีทักษะในสาขาวิชาดังกล่าวด้วยเช่นกัน
 
นอกจากนี้ ปัญหาที่สำคัญสำหรับการพัฒนาคุณภาพเด็กไทย คือ ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา โดยพบว่า เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษามากกว่า จะมีคะแนนสอบที่ดีกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในปี 2553 ซึ่งมีนักเรียนในสังกัด จำนวน 7.7 ล้านคน โดยนักเรียนจำนวนครึ่งหนึ่งมีฐานยากจน และได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมเพียงปีการศึกษาละ 1,000 บาทต่อหัวเท่านั้น ซึ่งเงินจำนวนนี้ยังไม่เพียงพอต่อการยกระดับการศึกษาของเด็กยากจนมากนัก
 
ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวนักวิชาการทีดีอาร์ไอ ให้ข้อเสนอแนะว่า การพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศจำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแต่ละวิชาใหม่ โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึง 3 เรื่อง หลัก ประกอบด้วย 1) การจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียนยากจนเพิ่มเติม ภายใต้บริบทของสังคมและโรงเรียนนั้นๆ ตามความเหมาะสม  2) การเพิ่มความรับผิดชอบของผู้อำนวยการโรงเรียนและครู ต่อผลการเรียนของเด็กให้มีความสัมฤทธิ์ผลมากขึ้นและ 3) การปรับเปลี่ยนการผลิตครูและการคัดเลือกครูที่มีคุณภาพด้วยการคัดครองบุคลากรที่เก่งเข้าสู่ระบบและเป็นไปตามความต้องการของโรงเรียน ขณะเดียวกันต้นสังกัดที่ทำหน้าที่ผลิตครูรุ่นใหม่ต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรการฝึกครูให้สามารถสอนได้หลากหลายวิชาโดยเฉพาะวิชาหลัก อาทิ ครู 1 คน มีทักษะการสอนวิชาคณิตศาสตร์เป็นหลัก แต่สามารถสอนวิชาวิทยาศาสตร์ได้ด้วย เป็นต้น สิ่งนี้จะสามารถตอบโจทย์เรื่องการขาดแคลนครูในวิชาหลักลงได้
 
นักวิชาการทีดีอาร์ไอเสนอแนะด้วยว่า ในส่วนบุคลากรครู ควรปรับเปลี่ยนวิธีการสอนโดยลดการสอนนักเรียนแบบท่องจำ และปรับเปลี่ยนเป็นการสอนแบบให้นักเรียนคิดวิเคราะห์และค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเองมากขึ้น โดยครูควรเป็นแรงผลักดันให้นักเรียนมีวินัยและมีความสนใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง หากการศึกษาของไทยมีคุณภาพที่ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ จะทำให้เด็กไทยในอนาคตเสียโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี
 
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ระบุว่า การขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของไทยควรเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็กให้ได้มาตรฐานและคุณภาพที่ดีก่อน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพัฒนาครู สถานศึกษา และนักเรียนไปพร้อมๆ กัน เพื่อสร้างความสัมฤทธิ์ผลให้แก่เด็กและเยาวชน อันจะนำไปสู่บุคลากรที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต