Skip to main content

ย้ายชื่อนักศึกษาปี 1 เข้าทะเบียนบ้านมหาวิทยาลัย เดือดร้อนหรือได้ประโยชน์

สัมภาษณ์นักวิชาการด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น ธเนศวร์ เจริญเมือง - ยอดพล เทพสิทธา ต่อข้อถกเถียงยอดฮิตหลังนักศึกษาปี 1 ต้องย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านมหาวิทยาลัย โดยสถาบันการศึกษามักยกเรื่องรักษาพยาบาล การจัดงบประมาณของสถาบันการศึกษา รวมทั้งการอำนวยความสะดวกเรื่องเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม มีคำถามตามมาว่าย้ายทำไม ใครได้ประโยชน์ ได้ประโยชน์จริงหรือ และสร้างความเดือดร้อนให้นักศึกษาหรือไม่

เหมือนจะเป็นข้อสงสัยยอดฮิต ที่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มักจะตั้งคำถามกันทุกปี หลังจากยื่นคะแนนแอดมิชชัน แล้วมารายงานตัวที่มหาวิทยาลัย ก็จะพบว่ามหาวิทยาลัยมักมีข้อกำหนดให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ย้ายรายชื่อเข้ามาที่ทะเบียนบ้านของมหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลเรื่องการรักษาพยาบาลหรืองบประมาณบ้าง

สิ่งที่เรามักจะได้ยินในคำถามก็คือ ย้ายทำไม ย้ายแล้วได้อะไร ใครได้ประโยชน์ และส่งผลต่อความเดือนร้อนให้นักศึกษาหรือไม่

ทั้งนี้ การย้ายถิ่นฐานของนักศึกษาซึ่งเป็นประชากรในรัฐจำนวนมาก  จากท้องถิ่นสู่ท้องถิ่นจะส่งผล ต่องบประมาณ จากรัฐส่วนกลาง และ ในภาคการเมืองท้องถิ่น ก็จะส่งผลต่อวัฒนธรรมสภาพแวดล้อม และความเป็นชุมชนในพื้นที่และอาจส่งผลต่อวิถีชีวิตและกระบวนการทางการเมือง การหาเสียงการกำหนดนโยบาย  หรือไม่อย่างไร

ผู้สื่อข่าวประชาไท สัมภาษณ์นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และการเมืองการปกครองท้องถิ่น คือ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยอดพล เทพสิทธา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นักวิชาการทางด้านกฎหมายปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีแนวคิดให้ความเห็นถึงการย้ายทะเบียนบ้าน ของนักศึกษาที่แตกต่างกัน  ถึงการย้ายทะเบียนบ้าน การปกครองท้องถิ่น และ ประเด็นของการละเมิดสิทธิ

มหาวิทยาลัยควรบังคับให้นักศึกษาย้ายทะเบียนบ้าน ?

ธเนศวร์ กล่าวว่า เคยรณรงค์บังคับให้นักศึกษาย้ายทะเบียนบ้าน เมื่อปี 2538 ผมไปเช็คในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ผมพบว่า ไม่มีนักศึกษาจากต่างจังหวัดย้ายทะเบียนเข้ามาอยู่ใน มช.เลย ทั้งที่เป็นนักศึกษาที่นี่แต่ไม่ได้ย้าย ทั้งนี้การปกครองท้องถิ่นต้องการข้อมูลจำนวนประชากรในท้องถิ่นที่ถูกต้อง หากข้อมูลไม่ถูกต้องการจัดการงบประมาณส่วนท้องถิ่นก็จะมีปัญหา คุณก็ได้แต่บ่นว่าท้องถิ่นไม่ดี แต่คุณก็ไม่สามารถเลือกผู้บริหารได้ คุณก็กลายเป็นคนที่ไม่มีสิทธิทางการเมือง

ยอดพล เห็นว่าเป็นการสร้างความยุ่งยากให้นิสิตนักศึกษาในระดับหนึ่ง เขามักอ้างว่าการให้นิสิตย้ายทะเบียนบ้านเป็นการทำให้อยู่ในเขตพื้นที่การรักษาพยาบาลของมหาวิทยาลัย ผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับข้ออ้างนี้เท่าไหร่ คือ อย่าลืมว่าโรงพยาบาลพวกนี้เป็นโรงพยาบาลรัฐอยู่แล้ว มันควรจะเป็นโรงพยาบาลที่เป็นสวัสดิการเท่าไปไม่ได้อยู่กับภูมิลำเนาของเด็ก ถ้าเราเจ็บป่วยเราก็ควรจะไปได้ทุกที่ จะบอกว่าเราไม่มีสิทธิบัตรทองแล้วเราจะเข้าไม่ได้หรือ มันก็ไม่ใช่ และถ้ากำหนดว่า ถ้าไม่ย้ายทะเบียนบ้านแล้วไม่มีสิทธิเรียน ผมไม่เห็นด้วยเลย เพราะสิทธิการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ควรอยู่กับภูมิลำเนา ถ้าพูดในการบริหารราชการแผ่นดินมันง่ายสำหรับเจ้าหน้าที่ แต่มันไม่ง่ายสำหรับตัวผู้เรียน นักศึกษามีวุฒิภาวะพอสมควร ที่เราจะไม่ต้องกำหนดว่าใครจะต้องย้ายหรือไม่ต้องย้าย การย้ายทะเบียนบ้านด้วยเหตุผลดีๆ ทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นแค่ข้ออ้าง แต่จริงๆ ก็คือจำนวนประชากรของนิสิตที่มีอยู่ไปต่อรองกับท้องถิ่นมากกว่า ในแง่ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย

 

ถ้าพูดตามกฎหมายและความเป็นพลเมือง คนอยู่ที่ไหน ควรต้องละทะเบียนที่นั่น ?

ธเนศวร์ กล่าวว่า ที่ผมรณรงค์บังคับให้นักศึกษาย้ายทะเบียนบ้านมามหาวิทยาลัยมีเหตุผล คือ เพื่อให้นักศึกษามีความรู้สึกเป็นพลเมืองว่ามาอยู่ที่นี่ฉันต้องเสียภาษีที่นี่ฉันก็ต้องดูแลบ้านเมืองนี้ไม่ใช่ บ้านเมืองอื่น ทั้งที่ฉันมาอยู่ที่ตั้ง4ปี มหาวิทยาลัยก็เห็นด้วยและบังคับนักศึกษา แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ได้คิดแบบพวกผมไง ปรากฏว่าไม่มีการรณรงค์เรื่องพลเมืองเลย สมมติถ้าเราจะบอกว่า เราเป็นคนที่ จ.น่าน แล้วรัฐบาลให้เงินมาดูแลท้องถิ่น การที่เราไม่ย้ายมาจาก จ.น่านก็ดีแล้ว เพราะเงินที่ได้รับการสนับสนุนก็ตกที่เมืองน่าน ส่วนเชียงใหม่เจริญแล้วมีทุกอย่าง ฉะนั้นเงินจำนวนนี้ก็จะตกที่ จ.น่าน

ตกลงแล้วว่า เขาเสียสละให้บ้านเกิดตัวเอง แต่ตัวเองก็สูญเสียพลเมือง ไม่มีสิทธิเสียงใดใดในการจัดการ ยอมเสียสิทธิทุกอย่างผู้บริหารเชียงใหม่จะห่วยแตกอย่างไรก็ไม่สนใจ เพราะฉันมาอยู่แค่ 4ปี ปัญหาก็คือเราก็จะไม่มีการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีคุณภาพ ในทางรัฐศาสตร์เราไม่มีความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งย้ายไปย้ายมาโดยไม่สนใจ ว่าภาษีตัวเองอยู่ไหนเสียประโยชน์ยังไง ในทางหลักการในทางกฎหมาย คุณอยู่ที่ไหนคุณก็ควรลงทะเบียน

ยอดพล กล่าวว่า การที่นักศึกษามาเรียนมหาวิทยาลัยไม่ใช่เป็นการอยู่อย่างถาวร ต่อให้อยู่ 4ปีมันก็คือการอยู่ชั่วคราวอยู่ดี เพราะฉะนั้นการที่นักศึกษามาอยู่ 4ปี มันก็มีการค้ามีการจับจ่ายใช้สอยอยู่แล้ว มันไม่ใช่การเอาเปรียบ และนิสิตก็ยังมีความเป็นพลเมืองอยู่ โอเค นิสิตอาจจะไม่มีสิทธิในการออกเสียงเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น เพราะภูมิลำเนาไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่นิสิตที่มีสิทธิเลือกตั้งแล้วมีวิจารณญาณเพียงพอที่จะตัดสินใจเองได้โดยที่มหาวิทยาลัยไม่ต้องมาบังคับ ถ้าพูดกันตามกฎหมาย บุคคลมีภูมิลำเนาที่สามารถติดต่อได้คือมหาวิทยาลัย ปัญหาก็คือมหาวิทยาลัยมีกลไกหรือสิ่งอำนวยความสะดวกพอที่จะรองรับนิสิตหรือเปล่า เราย้ายทะเบียนบ้านเขามาอยู่ที่นี่ หอพักก็มีไม่พอ เมื่อเขาต้องออกจากหอพัก ทะเบียนบ้านก็อยู่ที่นี่ การส่งของหรือจดหมายทางราชการจะอยู่ที่นี่หมด ถามว่ามีคนรับให้คุณไหมมันไม่มี แล้วอย่างนี้ถ้าผมจะส่งจดหมาย หรือในความเป็นจริงผมอยู่หอนอก ที่ไม่ได้รองรับการย้ายทะเบียนบ้าน จดหมายทุกฉบับของผมก็จะต้องเขาไปในมหาวิทยาลัยที่เป็นเอกสารราชการ ถ้าพูดถึงตรรกะของเรื่องนี้ มันไม่มีใครจะบอกให้จดหมายมาส่งที่มหาวิทยาลัยมันต้องส่งไปที่บ้าน พอเอกสารสารมาส่งที่มหาวิทยาลัยทั้งหมดผมก็มองว่าเป็นภาระ โดนเฉพาะนิสิตชาย เราจะเอาทะเบียนภูมิลำเนาอะไรเป็นหลักในการเกณฑ์ทหาร มันก็จะต้องทำเรื่องถึงสัสดีอีกมากมาย

 

การย้ายทะเบียนบ้านทำให้การเมืองท้องถิ่น ไม่เข้มแข็ง ?

ยอดพล กล่าวว่า  ถ้าพูดในทางพลเมือง พอนิสิตเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว มหาวิทยาลัยกลายเป็นหน่วยงานหรือเขตที่มีผู้พักอาศัยหรือบ้าน มหาวิทยาลัยก็จะมีคะแนนเสียงอยู่ในมืออย่างน้อย 5,000 เสียง ในการเลือกตั้งท้องถิ่น อบต. หรือเทศบาล มันทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นเองต้องเกรงใจ มหาวิทยาลัยพอสมควร ถ้าพูดกันตรงๆ ถึงที่สุดมันเป็นการเพิ่มอำนาจของมหาวิทยาลัยที่มีต่อ นักการเมืองทั้งในท้องที่และท้องถิ่น ผลดีก็คือสิ่งอำนวยความสะดวกรอบมหาวิทยาลัย ถนนหาทาง น่าจะดีขึ้น แต่ผลเสียก็คือ จะทำให้มหาวิทยาลัยที่จากเดิมเป็นงานบริการสาธารณะด้านการศึกษาหรือเป็นหน่วยงานของรัฐกลายเป็นผู้เล่นทางการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้เกิดการต่อรอง ทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยใช้ข้อได้เปรียบตรงนี้ไปใช้ในอนาคตก็ได้ ผมคิดว่ามันไม่เกี่ยวเลยที่จะทำให้การเมืองท้องถิ่นไม่เข้มแข็ง การเมืองท้องถิ่นจะเข้มแข็งจะขึ้นอยู่กับพลเมืองที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นจริงๆ ที่มีความผูกพันทางประวัติศาสตร์ นิสิตเขามาแล้วก็ไป  ถ้านิสิตคิดว่าการเข้ามาอยู่4 ปี เขาจะต้องใช้สิทธิทางการเมืองในท้องถิ่นนี้ เราก็ต้องให้สิทธิย้ายเข้ามามหาวิทยาลัย แต่ถ้าคิดว่าไม่จำเป็นก็จบไม่ควรไปบังคับ

ธเนศวร์ กล่าวว่า  ความเป็นพลเมืองของแต่ละท้องถิ่นมันมีความสำคัญ ในทางหลักการทางรัฐศาสตร์ ถ้ามหาวิทยาลัยโหมประโคม นโยบาย ให้นักศึกษาอย่างเดียว ชาวบ้านก็จะตื่นตัวรู้สึกว่าทำไมถึงดูแลแต่มหาวิทยาลัย ถึงบอกว่าระบบประชาธิปไตยมันมีแต่จะกระตุ้นแข่งขันกันทางประโยชน์และนโยบาย ก็ต้องสู้กัน    ถ้ามีคนคนหนึ่งตื่นตัวแล้วทำให้กระตุ้นให้คนอื่นตื่นตัวมากขึ้น ท้องถิ่นก็จะพัฒนาอยู่แล้ว  แต่ถ้าท้องถิ่นนั้นไม่มีคนไปมันก็เฉื่อย

ละเมิดสิทธิหรือไม่?

ธเนศวร์ กล่าวว่า ไม่เป็นการละเมิดสิทธิ ถ้าพูดในทางรัฐศาสตร์เราต้องถือว่าเป็นสิทธิที่เราควรจะได้ เมื่อเราอยู่ที่ไหนเราก็ควรจะย้าย และต้องบีบให้ทำ เพราะถ้าคุณไม่ย้ายคุณก็ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง คุณไม่มีสิทธิบังคับให้นักการเมืองลาออกหรือเปลี่ยนนโยบาย คุณไม่มีสิทธิ ถ้าคุณยิ่งตื่นตัวในเรื่องสิทธิ นี่คือสิทธิและคุณต้องรักษาสิทธิ คือต้องย้ายและต้องมีสิทธิ ถ้าไม่มีนี่คือเรื่องใหญ่

ยอดพล กล่าวว่า ผมยังไม่มองว่าเป็นการละเมิดสิทธิ แต่เป็นการสร้างความยุ่งยาก จะมองกับเรื่องสิทธิเสรีภาพจริง การบังคับให้เขาออกมันก็ละเมิดสิทธิอยู่แล้ว แต่ถ้าอ้างให้เรามองตามความเป็นจริง รัฐบอกว่าคุณไปอยู่ที่ไหนคุณมาอยู่ตรงก็ต้องมีกฎระเบียบต้องเคารพกฎ มันก็ไม่ละเมิดสิทธิ แต่ถ้าถามผมย้ำว่าไม่เห็นด้วยที่จะบังคับ ในกรณีที่นักศึกษาเป็นเจ้าบ้าน ก็ต้องหาคนมาเป็นเจ้าบ้านใหม่ ถ้าอยู่คนเดียวก็มีแต่เลขทะเบียน ปัญหาที่ตามมาก็ทุจริต สวมสิทธิกันอีก

 

ปัญหาในการจัดการงบประมาณขององค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น?

ธเนศวร์ กล่าวว่า ถ้าสมมติว่า ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีประชากร 2 แสน การได้ภาษีเท่าไหร่ก็จะเอามาดูแลคน2แสนนี้ แต่ปรากฏว่าในความเป็นจริง สมมติว่านักศึกษา5หมื่นคน เข้ามากินมาอยู่ มาใช้ทรัพยากรในเมืองนี้แต่ไม่ได้ลงทะเบียน จะเกิดปัญหา ประการแรกคือ โดยทั่วไปรัฐบาลกลางจะเอาเงินเข้ามาช่วยเหลือท้องถิ่น ตามรายหัว เมื่อมีคนเป็นหมื่นเข้ามาอยู่เพิ่ม ทำให้ส้วมก็ต้องใช้มากขึ้น ขยะก็มากขึ้น แต่รัฐบาลให้เงินนิดเดียว ปัญหาก็ตามมา

ยอดพล กล่าวว่า  ทุกวันนี้อย่าลืมมหาวิทยาลัยจัดสรรงบประมาณทุกอย่างอยู่แล้ว รวมไปถึงการกำจัดขยะเองมันก็มีงบประมาณของมหาวิทยาลัยและเทศบาลเองควรจะมาเรียกเก็บกับมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ

 

ส่งผลต่อการหาเสียง ฐานคะแนนเสียง และการเมืองท้องถิ่นหรือไม่ ?

ยอดพล กล่าวว่า การหาเสียงเนี่ยเราจะเห็นว่านักการเมืองจะมาลงทะเบียนเรียนกัน ค่อนข้างเยอะ อย่างนายก อบต. ที่มหาวิทยาลัย ผมได้ยินว่า ก็มาลงเรียนหลักสูตรหนึ่งเพราะเขารู้อยู่แล้วว่านิสิตเป็นผู้มีคะแนนเสียง บางทีมาก็ไม่ได้ทำสัญญา หาให้ประโยชน์เพื่อพัฒนาอะไรหรอกครับ แต่นักศึกษาจะเห็นว่าคนนี้ไง พี่ปริญญาโท ถามว่ามีประโยชน์ไหนมันมีอยู่แล้ว คือสร้างสำนึกความเป็น มหาวิทยาลัยนเรศวรเหมือนกัน มันมีคนคิดอย่างนี้จริงๆ ว่านักศึกษามีจำนวนมากไม่ต้องหาเสียงกับชาวบ้าน แล้วสถิติที่ผ่านมานักศึกษาก็เลือกไม่ได้หาเสียงด้วยนะครับ แค่มาเรียนแล้วนักศึกษารู้สึกคุ้นหน้า มันก็เป็นช่องทางให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยใช้ประโยชน์จากตรงนี้  ทำให้นโยบายท้องถิ่นออกมารองรับมหาวิทยาลัยมากกว่าท้องถิ่นจริงๆ

ธเนศวร์ กล่าวว่า ถ้าไม่มีการให้การศึกษาทางการเมืองในมหาวิทยาลัย ถ้าไม่มีการรณรงค์ทางการเมือง นักศึกษาก็จะไม่รู้อะไรเลยและก็จะไม่สนใจทางการเมืองด้วย เขาจะถูกบังคับให้ย้ายมาสู่มหาวิทยาลัยมีทะเบียนอยู่ที่นี่ ทั้งนี้การปกครองท้องถิ่นไทยไม่เหมือนที่ไหนในโลก คือใช้วิธีแบ่งเทศบาลเป็น4แขวง แขวงละ6คน ผลที่เกิดขึ้นก็คือ มันทำให้นักศึกษาไม่รู้จักใครเลยสักคนเดียว เมื่อไม่รู้จักปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือไม่สนใจใครเลย เมื่อไม่สนใจก็ไม่มีความหมายใดใดทั้งสิ้น ฉะนั้นแม้จะบอกให้ย้ายมาก็ไม่ได้มีความหมาย คือนอกจากจะบังคับให้ย้ายแล้วต้องมีการรงค์ว่าทำไมถึงต้องย้ายมา และต้องเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว คนจะได้รู้จักเหมือน ส.ส. และจะได้ไม่เกี่ยงงาน ถึงคุณจะบังคับให้เขาย้ายเขาก็ย้ายเพราะถูกบังคับเพราะอยากเป็นนักศึกษา