Skip to main content

หอนาฬิกา ม้าลาย บันได ลิฟต์ ตัวเงินตัวทอง ครุย ฯลฯ หลายความเชื่อ หลากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่มหาวิทยาลัย หลายครั้งก็มีดราม่า "ความเหมาะสม" "กาลเทศะ" จึงชวนคุยเรื่องนี้อีกหนทั้งในมุมสังคมวิทยามานุษยวิทยา วิทยาศาสตร์ ยุกติ-อภิญญา-เจษฎา-วัชรพล-สรยุทธ

การเรียนมหาวิทยาลัยถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของชีวิต จากชีวิตในรั้วโรงเรียนสู่สังคมใหม่ที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อพัฒนาความรู้ทักษะที่จะต้องนำไปใช้ในอนาคต สำหรับการศึกษาไทย นอกจากแทบทุกคนจะต้องเจอกับการรับน้องและระบบโซตัสแล้ว เรายังเจอกับเรื่องเล่าลี้ลับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องอาถรรพ์ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกด้วย

เคยได้ยินหรือเคยเชื่ออะไรแบบนี้ไหม ใครใส่ชุดครุยหรือสวมหมวกบัณฑิตก่อนเรียนจบจะทำให้เรียนไม่จบ บางแห่งก็เชื่อว่าเจอปลาบึกในบ่อน้ำมหาวิทยาลัยจะติด F บางแห่งเชื่อว่าเจอ ‘เหี้ย’ ลงน้ำจะได้ F แต่ถ้าขึ้นจากน้ำจะได้ A ฯลฯ ยังไม่รวมสถานที่ต่างๆ ที่ถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา ไม่ว่าอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัย บันไดขึ้นตึก ลิฟต์ หอนาฬิกา ครั้นเมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกท้าทายก็มักมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องการให้เกียรติและกาลเทศะ เช่น การใส่ชุดครุยถ่ายแบบแฟชั่น การตัดต่อภาพบัณฑิตนั่งบนหอนาฬิกาที่เพิ่งมีดราม่ากันเมื่อเร็วๆ นี้

จากกระแสโต้เถียงกันเรื่องดังกล่าว เราขอนำเสนอแง่มุมความคิดเห็นต่อเรื่องเล่า ความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ในรั้วมหาวิทยาลัย ผ่านนักวิชาการในศาสตร์ต่างๆ จากหลายมหาวิทยาลัย เพื่อมองเรื่องราวเหล่านี้

“ถ้าเราไปเชื่อความเหนือกว่าตรงนั้น(ของศาสนา)
ก็จะทำให้เราไม่สามารถคิดพัฒนาศักยภาพอะไรใหม่ๆ ได้อีกต่อไป
เพราะศาสนาพุทธมักจะบอกว่าทุกอย่างอยู่ในไตรปิฎกแล้วหรือพระพุทธเจ้ารู้แจ้งรู้สิ้นหมดแล้ว
ฉะนั้นใครที่ศรัทธาศาสนามากๆแล้วมาเรียนกับผม ผมก็จะบอกว่าเลิกเรียนเสียเถอะ แล้วก็ไปบวชซะ”


 

ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงพื้นที่ ความศักดิ์สิทธิ์ ศาสนา การศึกษาและความเป็นมนุษย์ในสถานศึกษา

ถ้ามองผ่านวิธีคิด ความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ที่ดำรงอยู่ในมหาวิทยาลัย อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มันดำรงอยู่

ความศักดิ์สิทธิ์หรือความไม่ศักดิ์สิทธิ์มันถูกสร้างขึ้นมาได้ เช่น มีคนเอาศาลพระภูมิไปตั้งไว้ที่ใดที่หนึ่งนานเข้าก็จะมีคนเอาของบูชามาวางเพิ่มจนเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ได้เหมือนกัน หรืออนุสาวรีย์ หรือรูปปั้นของใครบางคนก็ถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา อย่างเช่น อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อยู่ดีดีก็มีรูปปั้นขึ้นมา ซึ่งอาจารย์ป๋วยเป็นคนปกติที่คนเคารพนับถือมากมาย พื้นที่ที่ตั้งตรงนั้นก็จะกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาทันที อีกอย่างคือ พื้นที่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์หรือมีตำนานอยู่ก่อน อย่างเช่น ลิฟท์แดง ก็เป็นพื้นที่ที่มีเรื่องเล่าที่ทำให้พิเศษขึ้นมาว่าเคยมีคนตายอยู่ในนั้นจากเหตุการณ์ของมหาวิทยาลัยและถูกเล่าต่อกันมาจนกลายเป็นตำนาน

มันเป็นความเชื่อที่สร้างขึ้นมา สมมติว่าอยู่ๆ มีคนสร้างความเชื่อขึ้นมาว่า หมอน ถ้าไม่อยากนอนจริงอย่าไปนอนเพราะนอนแล้วอาจจะไม่ฟื้นขึ้นมาเลย แบบนี้ก็อาจมีคนเชื่อจริงๆ ก็ได้ ผมก็ไม่เคยได้ยินนะว่าการถ่ายรูปคู่กับโดมจะทำให้เรียนไม่จบ ผมคิดว่ามันอาจเพิ่งถูกสร้างในยุคหลัง ซึ่งสะท้อนว่าคนในรุ่นหลังมีความไม่มั่นใจมากขึ้น มีความกังวลใจเกี่ยวกับการเรียนจบหรือไม่จบด้วยอย่างนั้นหรือเปล่าก็เลยทำให้มีความเชื่อแบบนี้ผูกติดกับสถานที่ขึ้นมา

เราสามารถอธิบายได้ว่าคนไม่ได้หลุดออกจากความเชื่อความงมงายอย่างแท้จริง เรายังเชื่อว่ามีอำนาจพิเศษบางอย่างที่อยู่เหนือความควบคุมของมนุษย์ แม้ว่าความสำเร็จของการศึกษาจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้นเอง นี่สะท้อนให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วระบบสังคมของเรายังหลีกไม่พ้นระบบวิธีคิดของยุคก่อนสมัยใหม่ที่เชื่อว่ามนุษย์ไม่สามารถกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างได้บางเรื่องที่เรากำหนดไม่ได้นั้นถูกกำหนดโดยอำนาจลึกลับ ที่ไม่ใช่อำนาจตามธรรมชาติ หรือกายภาพที่วิทยาศาสตร์จะอธิบายได้ อันนี้คือวิธีคิดของโลกก่อนสมัยใหม่ที่เรายังเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่

เรื่องราวแบบนี้ส่งผลอย่างไรต่อระบบการศึกษา และสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย

มันอาจจะมีผลเสีย ในแง่ที่เราอาจจะเคารพนับถืออะไรโดยที่ไม่จำเป็น อย่างเช่นการที่เราจะเคารพคนสักคนอย่างปรีดี พนมยงค์ พอเขามีสถานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาก็จะกลายเป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ ไม่ต้องถึงขนาดล้อเล่นไม่ได้อย่างกรณี อั้ม เนโกะ (ถ่ายรูปนั่งตักปรีดี) แต่การแตะต้องไม่ได้นี้อาจเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำในอดีตของเขาหรือผลของการกระทำของเขาอันนั้นก็พูดลำบาก และเป็นผลเสียกับการศึกษาแน่นอน ตราบใดที่เราไม่สามารถแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นศักดิ์สิทธิ์ จะทำให้ความรู้หรือการศึกษาไม่ก้าวหน้าแน่นอน

อาจารย์เคยพูดว่า ความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์และศาสนาควรแยกออกจากมหาวิทยาลัย ทำไมจึงคิดเช่นนั้น

ความคิดทางศาสนาเป็นความคิดที่ขัดขวางการคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์และการสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ๆ มันมีลักษณะในการหยุดความคิดไว้ทำให้ผมคิดว่าสองสิ่งนี้ไปกันไม่ได้ ศาสนามักอ้างความคิดสูงสุดและไร้ขอบเขตของความรู้ทั้งๆ ที่ตัวมันเองมีข้อจำกัดมากมาย ความคิดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์อาจไม่ได้แย่เท่าศาสนาด้วยซ้ำ เพราะศาสนาใหญ่ๆ ในโลกมักอ้างความเป็นสากลที่เหนือกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์พวกนั้น ผียังต้องมาไหว้พระพุทธเจ้า ถ้าคุณเป็นพระผีต้องกลัว ถ้าเราไปเชื่อความเหนือกว่าตรงนั้นก็จะทำให้เราไม่สามารถคิดพัฒนาศักยภาพอะไรใหม่ๆ ได้อีกต่อไป เพราะศาสนาพุทธมักจะบอกว่าทุกอย่างอยู่ในพระไตรปิฎกแล้วหรือพระพุทธเจ้ารู้แจ้งรู้สิ้นหมดแล้ว ฉะนั้นใครที่ศรัทธาศาสนามากๆ แล้วมาเรียนกับผม ผมก็จะบอกว่าเลิกเรียนเสียเถอะ แล้วก็ไปบวชซะ เพราะคุณรู้หมดแล้วหรือคุณไปหาความรู้ที่มันตอบได้ทุกอย่างดีกว่า

แต่มหาวิทยาลัยหลายๆ ที่ก็มีจุดเริ่มต้นจากศาสนา

มันก็มีแบบนั้นเหมือนกัน แต่ถึงที่สุดแล้วพัฒนาการของความรู้สมัยใหม่ที่เกิดขึ้นมา เป็นศาสตร์ขึ้นมา มันแตกตัวออกมาจากศาสนาและมันก็ปฏิเสธความรู้แบบศาสนา ดูง่ายๆ ว่าบรรดานักวิทยาศาสตร์ก็ยังเชื่อในการมีอยู่เรื่องพระเจ้า แล้วคุณอธิบายว่าสิ่งที่เขาค้นหาคือพระเจ้า มันก็ไม่ได้ มันคือการค้นหาความจริงอีกอย่างโดยไม่ได้สนใจการมีอยู่ของพระเจ้า หรือจะสนใจการมีอยู่ของพระเจ้าก็ได้แต่ว่าพระเจ้าก็จะอยู่ในส่วนของพระเจ้าไป แม้ว่ามหาวิทยาลัยเกิดจากจุดเริ่มต้นของศาสนาก็จริงแต่ที่สุดแล้วความรู้เหล่านั้นมันไม่ได้วางอยู่บนศาสนา

มหาวิทยาลัยควรจะเป็นอย่างไร

มหาวิทยาลัยควรจะมีอิสระของตัวเองในการแสวงหาความรู้ ถึงจุดหนึ่งจะต้องชี้แนะสังคมได้ว่าอะไรควรหรืออะไรไม่ควรหรือมีข้อเสนอหรือบริการสังคมในยามสังคมเกิดปัญหา ฉะนั้นการทำให้มหาวิทยาลัยทำบทบาทนั้นได้อย่างเต็มที่ต้องปล่อยให้มหาวิทยาลัยเป็นอิสระ เป็นเอกเทศ แน่นอน คุณอาจจะบอกว่า วิธีคิดแบบใหม่ที่เชื่อในการวิพากษ์วิจารณ์อาจเป็นศาสนาอีกแบบหนึ่ง ก็ใช่ แต่ว่าในอีกแง่หนึ่งคือ อย่างน้อยมันกลายเป็นศาสนาในโลกของการหาความรู้ มันเป็นศาสนาที่มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันตลอดเวลา แลกเปลี่ยนกันหรือไม่ยอมกันได้ตลอดเวลา นั่นคือกฎของมัน ซึ่งไม่เหมือนกับในโลกของศาสนา

การเอาเรื่องศักดิ์สิทธิ์มาใช้อาจเป็นประโยชน์ในแง่เป็นจัดระเบียบทางสังคมได้หรือเปล่า

ใครเชื่ออย่างนั้นก็ทำไป แต่คุณก็ต้องยอมรับว่ามีคนไม่เห็นด้วยเหมือนกัน คือผมไม่คิดว่าการเอาเรื่องผีมาจัดระเบียบทางสังคมจะเป็นเรื่องถูกต้อง ถ้าคุณทำด้วยความหลอกลวงมันแย่เพราะคุณรู้อยู่ว่ามันไม่จริง แต่คุณไปหลอกคนเขา แต่ถ้าคุณทำเพราะเชื่อจริงๆ ก็ยิ่งแย่ขึ้นไปอีก เพราะคุณไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของคุณในความเป็นมนุษย์ในการสร้างความคิดความอ่านความสามารถที่จะสร้างสรรค์ชีวิตของตัวเองได้

“ในสังคมโลกาภิวัตน์ ยิ่งหมุนไปเท่าไหร่ ไสยก็จะยิ่งงอกงาม
และจะถูกทำให้เป็นสินค้าได้ง่ายมากกับบริโภคนิยม
ลูกศิษย์ที่มหาวิทยาลัยก็เลี้ยงกุมารทองไว้ทั้งหมด 7 ตน เพราะเด็กเหงา
เวลาเลี้ยงกุมารจะมีลักษณะของความใกล้ชิด…เขาจึงรู้สึกว่ามีเพื่อน
ฉะนั้นยิ่งโลกาภิวัฒน์ ไสยก็จะยิ่งเฟื่อง ผ่านวัตถุของเล่น หนัง หรือการ์ตูน
ไสยจะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น”

 

“เราอย่าไปยึดติดว่าถ้าเป็นความคิดแบบไสยแล้วจะงมงาย
ปัญหาอยู่ที่ตัววิธีการ เช่นคนที่ยึดวิทยาศาสตร์แบบงมงายก็มี
ฉะนั้นความงมงายไม่อยู่ที่ตัวความเชื่อ แต่อยู่ที่คุณยึดสิ่งนั้นจนไม่มองมุมอื่น ตัดความคิดแบบอื่นออกไป”


 

ผศ.ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า อย่ามองว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งตรงข้ามทางวิทยาศาสตร์

อภิญญากล่าวว่า เบื้องต้นไม่อยากให้มองเรื่องความเชื่อเป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์ และอย่ามองว่าวิทยาศาสตร์กับไสยเป็นคู่ตรงข้าม ถ้ารามองเป็นคู่ตรงข้ามก็จะเหมือนว่าอันหนึ่งมีเหตุผลอันหนึ่งไร้เหตุผล ในเรื่องนี้ถ้ามองในมุมมองวิทยาศาสตร์เราจะตั้งคำถามได้ว่าทำไมความเชื่อแบบนี้จึงแพร่หลายในสถานศึกษาชั้นสูง แต่ไสยก็ยังมีคำอธิบายได้ในตัวของมันอยู่ วิธีคิดแบบไสยที่ยังคงอยู่เพราะมีหน้าที่อยู่ ตั้งแต่สมัยโบราณถึงปัจจุบัน ซึ่งบางสิ่งความเป็นสมัยใหม่ตอบสนองโจทย์เหล่านั้นไม่ได้ แต่ไสยตอบสนองได้มันถึงยังคงอยู่

ความคิดแบบไสยในบางพื้นที่นักมานุษยวิทยาจะเรียกว่า เทคโนโลยีในการจัดการทรัพยากร ซึ่งเป็นหน้าที่ของผีที่มีมาอย่างยาวนานในสังคมก่อนสมัยใหม่ เช่น ชาวกะเหรี่ยงมีประเพณีเอารกเด็กแรกเกิดไปฝังไว้ที่ต้นไม้ เป็นการนำจิตวิญญาณผูกไว้กับต้นไม้ต้นนั้น พวกเขาจึงสามารถรักษาป่าได้ เป็นต้น เมื่อสังคมมาสู่ยุคสมัยใหม่หน้าที่เหล่านี้ก็ยังคงอยู่ อย่าง ชาวนาไทยเชื่อพระแม่โพสพ นักวิชาการข้าวบอกว่าควรใช้ปุ๋ย สูตร ก. สูตร ข. ใช้ยาฆ่าแมลงจะเจริญงอกงาม แต่ก็ยังไม่ได้เลิกไหว้แม่โพสพ เพราะเป็นอะไรที่ทำให้รู้สึกมั่นคงทางจิตใจ

ในสังคมเมืองสมัยใหม่ที่ประชากรมีชีวิตอย่างไม่มั่นคง มันตัดขาดโดดเดี่ยว ตัวใครตัวมัน เปลี่ยวเหงา ฉะนั้นปรากฏการณ์อย่างตุ๊กตาลูกเทพจึงเกิดได้อย่างไม่น่าแปลกใจ ในสังคมโลกาภิวัตน์ยิ่งหมุนไปเท่าไหร่ ไสยก็จะยิ่งงอกงามและจะถูกทำให้เป็นสินค้าได้ง่ายมากกับบริโภคนิยม ลูกศิษย์ที่มหาวิทยาลัยก็เลี้ยงกุมารทองไว้ทั้งหมด 7 ตน เพราะเด็กเหงา เวลาเลี้ยงกุมารจะมีลักษณะของความใกล้ชิด เมื่อผีอยู่ในเขตเมือง ผีจะมีลักษณะวัฒนธรรมเมือง คือ มีลักษณะเป็นของส่วนตัว กุมารจึงจะมีชื่อตั้ง มีนิสัยใจคอ เขาจึงรู้สึกว่ามีเพื่อน ฉะนั้นยิ่งโลกาภิวัฒน์ ไสยก็จะยิ่งเฟื่อง ผ่านวัตถุของเล่น หนัง หรือการ์ตูน ไสยเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น

ไสยจึงเป็นวิธีคิดโดยใช้ตรรกะอีกชุดหนึ่งซึ่งมนุษย์ชอบภาพฝัน อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องของเด็ก บางทีคนเราไม่ต้องการความชัดเจนแบบวิทยาศาสตร์ไปทุกเรื่อง ในทางหนึ่งวิทยาศาสตร์ไม่สามารถขับไล่วิธีคิดแบบความรักใน magic อะไรที่กึ่งฝันกึ่งจริงมันขายได้กับผู้ใหญ่ และจะไม่หายไป

เราอย่าไปยึดติดว่าถ้าเป็นความคิดแบบไสยแล้วจะงมงาย ปัญหาอยู่ที่ตัววิธีการ เช่นคนที่ยึดวิทยาศาสตร์แบบงมงายก็มี ฉะนั้นความงมงายไม่อยู่ที่ตัวความเชื่อแต่อยู่ที่คุณยึดสิ่งนั้นจนไม่มองมุมอื่น แล้วตัดความคิดแบบนั้นออกไป ถ้าคุณคิดวิพากษ์เป็นก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ถ้าคิดวิพากษ์เป็นแล้วบอกว่าคุณเชื่อไสยคุณงมงายก็จะเป็นการแปะป้าย ซึ่งดูไม่ยุติธรรม ขอให้แยกแยะระหว่างตัวความคิดกับวิธีการยึด

“ความเร้นลับเบื้องหลังการบูชาม้าลายและอื่นๆ จำนวนมากในมหาวิทยาลัยไทย
สะท้อนให้เห็นถึงการศึกษาไทยที่มุ่งเน้นการสร้างนักศึกษาให้เป็นเพียงแรงงานในการผลิต
การศึกษาในลักษณะที่เป็นกลไกตามระบบอุตสาหกรรม
จนนักศึกษาเองก็รู้สึกแปลกแยกจากระบบการศึกษา 
ระบบการศึกษาที่ไม่สามารถเชื่อมปรัชญาการศึกษากับความเคลื่อนไหวของโลกภายนอกได้”


 

สรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  วิเคราะห์ปรากฏการณ์ภาพตัดต่อบนหอนาฬิกาผ่านลัทธิบูชาวัตถุหรือสินค้า มานุษยวิทยา ความเป็นอำนาจนิยม

คิดอย่างไรกับภาพตัดต่อชุดครุยบนหอนาฬิกา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เบื้องต้นคงต้องมองว่าการตัดต่อภาพนักศึกษาในชุดครุยรับปริญญานั่งบนหอนาฬิกานั้นเกิดในโลกดิจิทัล ไม่ได้เกิดในโลกทางกายภาพ แต่การเกิดในโลกเสมือนจริงกลับมีผลทิ่มแทงลักษณะบางประการของระบบการศึกษาสมัยใหม่ในมหาวิทยาลัยไทยที่อยู่ในโลกกายภาพอย่างอดเสียมิได้ ลักษณะที่ว่านั้นคือ fetishism หรือ ลัทธิบูชาวัตถุหรือสินค้า  และวัตถุดังกล่าวมันได้กลายเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของระบบการศึกษา หรือเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นสถาบันและตัวตนของคนในสถาบันนั้นๆ ไป ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ คำถามที่ว่าอะไรคือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ตอบอย่างเป็นทางการคือ บรรดาเข็มกลัดหรือสถานที่ต่างๆ นั่นแหละ ทว่าเอาเข้าจริง บรรดาฝูงม้าลายหน้าศาลพระภูมิ ของบนบานต่างๆ บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยต่างหากที่เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่สะท้อนระบบการศึกษาได้เป็นอย่างดี  (สมัยเป็นนักศึกษาผมเคยตามเพื่อนหลายคนไปบนบานและพบว่านักศึกษาจำนวนมากเรียนสายวิทย์) สิ่งสำคัญของการมองว่าอะไรเป็น fetishism นั้นคือการพิจารณาว่าเบื้องหลังวัตถุบูชาต่างๆ นั้นสะท้อนความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง มันสะท้อนให้เห็นถึงการศึกษาไทยที่มุ่งเน้นการสร้างนักศึกษาให้เป็นเพียงแรงงานในการผลิต การศึกษาในลักษณะที่เป็นกลไกตามระบบอุตสาหกรรม จนนักศึกษาเองก็รู้สึกแปลกแยกจากระบบการศึกษา  ระบบการศึกษาไม่สามารถเชื่อมปรัชญาการศึกษากับความเคลื่อนไหวของโลกภายนอกได้ มันมีผลอย่างยิ่งทำให้นักศึกษาไม่เชื่อมั่นในวิชาและการเรียนรู้ของตนเอง นำไปสู่การพึ่งพิงสิ่งเหนือธรรมชาติและทดเทิดให้วัตถุต่างๆ มีอำนาจนำเหนือชีวิตของตนเอง  fetishism ในมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งน่าสนใจเพราะไม่เพียงเป็นแค่การบูชาวัตถุเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการทำให้คนกลายเป็นวัตถุของการบูชาได้อีกด้วย  บุคคลากรจำนวนมากของมหาวิทยาลัยหรือระบบการศึกษาได้กลายเป็นวัตถุของการบูชาทั้งที่เสียชีวิตไปแล้วและยังมีชีวิตอยู่

ทำไมถึงคิดว่าเป็น Fetishism

ระบบของ fetishism เกี่ยวพันกับอำนาจนิยมค่อนข้างมาก เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมที่เน้นความสูงต่ำของฐานันดรทางสังคมและชนชั้นทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางการกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบแรงงาน นักศึกษายังถูกสั่งสอนให้เป็นผู้น้อยที่ต้องเชื่องเชื่อ ดังนั้น fetishism ยังเป็นภาพสะท้อนของการผลิตซ้ำอุดมการณ์หลักของสังคมไทย เราไม่อาจตีความได้ว่าผู้บูชาต้องการหาที่พึ่งทางใจ การบูชาสินค้าและวัตถุเป็นเพียงการสร้างสภาวะชั่วคราวให้ปลอดภัยภายในระบอบที่อำนาจนิยมทำงานร่วมกับการศึกษาในระบบทุนนิยมเท่านั้นเอง

ในการทำความเข้าใจ “ปรากฏการณ์หอนาฬิกา” ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้านหนึ่งมันบอกว่าทั้งนักศึกษาและผู้หลักผู้ใหญ่ต่างก็ให้ความหมายและทดเทิดวัตถุให้มีความสำคัญต่อการระบุและอ้างอิง self ของตน คนทั้งสองกลุ่มนั้นต่างต้องมีแหล่งอ้างอิงในการบูชาวัตถุเหมือนกัน  ต่างกันที่ฝ่ายหลังเน้นลำดับความสูงต่ำและพยายามสถาปนาให้การบูชาวัตถุสิ่งของนั้นให้มีลักษณะของความเป็นสถาบัน หอนาฬิกาซึ่งมิเคยศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างไรในสายตาของนักศึกษาจึงถูกทำให้กลายเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ราวกับศาลพระภูมิจนเกินไป อันนี้คือความพยายามจนลืมนึกไปว่ามันคือแท่งคอนกรีตขนาดใหญ่ที่มีเข็มนาฬิกาตั้งอยู่ข้างบนและตั้งอยู่กลางวงเวียนให้รถวิ่งวนไปมา เหตุผลที่ดูเหมือนฟังไม่ขึ้นของฝ่ายออกมาทักท้วง อาทิ เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และเหมือนไปนั่งทับหัวผู้ใหญ่หรือคนสัญจรไปมานั้น แม้จะแทบฟังไม่ขึ้นแต่มันดันฟังขึ้นสำหรับผู้พยายามบูชามันและสถาปนามัน  ทว่าเหตุผลเช่นนี้เองสะท้อนความกลวงของระบบการศึกษา ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยที่ภาพตัดต่อของนักศึกษาจึงกลายเป็นสิ่งที่กระทบต่อบุคลากรอื่นที่ไม่ใช่นักศึกษา สำหรับนักศึกษามช.จำนวนไม่น้อย หอนาฬิกาไม่ได้บอกแค่เวลา (ซึ่งส่วนมากไม่ค่อยตรงและเสีย) แต่ยังเป็นเสมือนวัตถุของการท้าทายอำนาจ หอนาฬิกาแห่งนี้มีชีวิตผ่านเรื่องเล่าว่าด้วยการเห็นผีและสิ่งเหนือธรรมชาติ อาทิ ในเวลาเที่ยงคืนตรงใครที่ขับรถย้อนศรวนรอบหอนาฬิกาจนครบสามรอบจะเห็นผี หรือเรื่องเล่าอื่นๆ อีก เรื่องเล่าพวกนี้สะท้อนถึงการพยายามท้าทายระเบียบแบบแผนของอำนาจและกฎเกณฑ์ในมหาวิทยาลัยทั้งในเรื่องของการใช้เวลายามค่ำคืนและการขับขี่  (แน่นอน เราก็ต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัย) ผมแค่ต้องการบอกว่าการตัดต่อภาพของนักศึกษาก็เช่นกัน และหลังการเผยแพร่ภาพออกไปในโลกออนไลน์ “ผี” ก็ปรากฏออกมาจริงๆ แต่มันคือผีที่ตามหลอกหลอนระบบการศึกษา ผีที่ตามหลอกหลอนถึงโลกออนไลน์ และเป็นผีที่ทำให้โลกออนไลน์เป็นพื้นที่จริงเสียยิ่งกว่าโลกกายภาพ  “ผี” ในที่นี้มิใช่ตัวบุคคลหรือหน่วยงานแต่คืออุดมการณ์ที่ซ่อนอยู่หลังวัตถุที่ถูกบูชา 

“ถ้าเรามองผ่านแนวคิดปัญญาชนของกรัมชี่ ปัญญาชนไม่จำเป็นต้องมีปริญญาก็ได้
แต่ปัญญาชนสำหรับกรัมชี่คือคนที่มีหน้าที่ในการผลักดันขับเคลื่อนสังคมที่เป็นอยู่ให้ดีกว่าเดิม
ฉะนั้นปัญญาชนในที่นี้เป็นใครก็ได้ เป็นได้ทุกคน
ถ้าเรามองปัญญาชนในแบบหลัง มหาวิทยาลัยก็อาจจะล้มเหลวในเรื่องนี้
เพราะไม่ได้ชี้ให้ผู้คนเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มันมีอยู่เพื่อทำอะไรกับเราบ้างแต่เรายอมรับมัน”


 

ผศ.วัชรพล พุทธรักษา อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มองการสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในมหาวิทยาลัยว่าสะท้อนภาพชนชั้นในมหาวิทยาลัยและการต่อสู่กับคติชนรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านความเชื่อไปสู่ความรู้  ผ่านมุมมองของ มาร์กซ์และกรัมชี่

ช่วยอธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้เรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ยังคงอยู่ในมหาวิทยาลัยผ่านมุมมองของมาร์กซ์

โดยหลักๆ ถ้าเรามองในมุมของมาร์กซ์จะมองผ่านของพื้นฐานการวิเคราะห์ในทางชนชั้น เมื่อมองแบบนี้เวลามีพิธีกรรมต่างๆ ของแต่ละคณะ ไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม ทั้งการตั้งเสาผูกผ้าสามสี การขึ้นป้ายศักดิ์สิทธิ์ห้ามละเมิดต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นอยู่ในหลายพื้นที่ ผมคิดว่ามันไม่สำคัญอะไร แต่เนื้อหาหลักของมาร์กซ์มองกันที่ชนชั้นและพยายามมองสิ่งต่างๆ ให้ทะลุจากฉากหน้าที่เราเห็น ดังนั้นฉากหน้าจะเป็นอะไรก็ได้ในหลายๆ แบบแต่ฉากหลักของเรื่องเหล่านี้คือการรักษาสถานะทางชนชั้นเอาไว้ ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

มันสะท้อนให้เห็นอะไรกับพื้นที่ทางปัญญาของมหาวิทยาลัย

มันเป็นภาพสะท้อนความไม่เข้มแข็งทางปัญญาของทั้งสังคมมากกว่า ไม่ได้เป็นแค่มหาวิทยาลัย แต่มหาวิทยาลัยอาจเป็นที่ที่ถูกคาดหวังการชี้นำทางความคิดทางปัญญาได้ ถ้าเรามองแบบมาร์กซ์เราจะมองแบบองค์รวมคือมหาวิทยาลัยก็แยกไม่ออกจากเศรษฐกิจสังคมการเมืองทั้งหลาย ดังนั้นมหาวิทยาลัยก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมแบบไทยๆ อย่างอาจารย์ที่สอนวิทยาศาสตร์ของคณะวิทย์ไปบนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ผลแล็บมันออกก็มี มันเป็นภาพสะท้อนของสังคมแบบไทยว่าเราเชื่อมั่นอะไรบางอย่างมากกว่าศักยภาพของมนุษย์ คือมันไม่ใช่ทุกคนในมหาวิทยาลัย แต่มหาวิทยาลัยก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคม วัฒนธรรม อุดมการณ์ ที่กลืนกันไป ไม่ได้แยกออกมาเป็นพื้นที่พิเศษที่มีอุดมการณ์อย่างต่างประเทศ ฉะนั้นจึงมีคนทั้งสองส่วน ทั้งคนที่ตระหนักรู้ อยากจะก้าวข้าม กับอีกพวกที่ยอมถูกกลืนอยู่ในกระบวนการอย่างนี้ต่อไป

เรื่องเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงจิตสำนึกทางชนชั้นของนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาเพื่อเปลี่ยนผ่านความเชื่อไปเป็นความรู้ แต่เรื่องศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้กลับอยู่กับการเปลี่ยนผ่านไปพร้อมกันได้อย่างไร

ต้องมองแยกเป็นสองส่วนว่าหากเรามองว่าปัญญาชนในที่นี้คือผู้ที่เรียนจบรับดีกรีปริญญาตรี โท เอก ในที่นี้มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ขาดตกบกพร่องอย่างไร เพราะสามารถผลิตบัณฑิตที่มีปริญญาได้ตามความต้องการหรือตามมาตรฐานที่ สกอ.กำหนด

แต่ถ้าเรามองผ่านแนวคิดปัญญาชนของกรัมชี่ ปัญญาชนไม่จำเป็นต้องมีปริญญาก็ได้ ปัญญาชนสำหรับกรัมชี่คือคนที่มีหน้าที่ผลักดันขับเคลื่อนสังคมที่เป็นอยู่ให้ดีกว่าเดิม ฉะนั้นปัญญาชนในที่นี้เป็นใครก็ได้ เป็นได้ทุกคน ถ้าเรามองปัญญาชนในแบบหลัง มหาวิทยาลัยก็อาจจะล้มเหลวในเรื่องนี้ เพราะไม่ได้ชี้ให้ผู้คนเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มันมีอยู่เพื่อทำอะไรกับเราบ้างแต่เรายอมรับมัน ถ้าเรามองว่าเอาแค่รับปริญญาก็เป็นปัญญาชนแล้ว มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด

ถ้าแม้แต่ปัญญาชนในที่นี้ซึ่งหมายถึง คนที่มีสถานะพิเศษในสังคม มีชื่อเสียง มีบทบาทสำคัญ ยังเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์งมงายอยู่ มันก็สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลว ในสถานะหนึ่งเขาเป็นนักวิชาการที่ตกอยู่ภายใต้กรอบแห่งความสัมพันธ์ ดังนั้นก็ไม่ได้แปลกและเข้าใจได้ว่าเขาก็อยู่ในกรอบที่สังคมสร้างกันมา พูดง่ายๆ ว่าปัญญาชนเหล่านี้ก็มองไม่ออกจากสิ่งที่มีอยู่

แล้วมองเรื่อง “ไม่ถูกกาลเทศะ” อย่างไร

เวลาเราพูดเรื่องของกาลเทศะเป็นเรื่องของ time and space แต่โดยหลักแล้วแนวคิดเรื่องนี้คือ เวลาคุณจะทำอะไรมันต้องเหมาะสมกับ time and space ด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทสังคมและประวัติศาสตร์ของที่นั้นๆ ถ้ามองในเรื่องนี้ ในพื้นที่อื่นๆ ก็จะไม่เป็นอะไร อาจจะ ตลก สนุก และเท่ห์ดี แต่ในประเทศของเราที่มีบริบทวัฒนธรรมอีกแบบ ชุดของคำอธิบายที่ได้คือ ไม่เหมาะสม แต่บางทีผมคิดว่าไม่ใช่ไม่เหมาะสมอะไร มีงานแปลของกรัมชี่ชิ้นหนึ่งที่ชื่อว่า ข้าพเจ้าเกลียดวันขึ้นปีใหม่ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1421226860) ซึ่งได้กล่าวว่าเวลาไม่ได้สำคัญมากในแง่ของการเฉลิมฉลอง กรัมชี่มองว่าเวลาตอนไหนก็สำคัญได้ ถ้าเราจะปฏิวัติหรือเปลี่ยนแปลงก็ไม่จำเป็นจะต้องรอเวลา ดังนั้นถ้ามองในมุมของกรัมชี่ เขาอาจจะชี้ชวนให้เรามองโลกอีกแบบ เราไม่รู้ด้วยว่ามันถูกหรือผิด ดีหรือเลว แต่เป็นการชวนเรามองโลกไปอีกแบบ

มหาวิทยาลัยควรจะปฏิบัติตัวต่อความเชื่อความศักดิ์สิทธิ์อย่างไร

โรงเรียนมีหน้าที่หลักในการผลิตคนเพื่อสู้/ต้านกับคติชาวบ้านหรือความเชื่อทั่วไป  รวมถึงวิธีการมองโลกในแบบที่เชื่อสืบต่อกันมา ในสังคมแบบที่ไม่วิพากษ์นั้นการมองโลกในแบบที่เชื่อสืบต่อกันมาจะทรงพลังและในท้ายที่สุดจนกลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยากเพราะวิธีการมองโลกหรือความเชื่อเช่นนั้นได้กลายมาเป็นเรื่องลี้ลับหรือพิเศษไป การดำรงอยู่และผลิตซ้ำของคติชาวบ้านในเรื่องต่างๆ เป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์บางประการของบาง (หรือหลาย) ชนชั้น กรัมชี่เสนอว่าเพื่อให้มนุษย์สามารถหลีกพ้นไปจากเรื่องลึกลับที่ฝังตัวในสังคม โรงเรียนในฐานะผู้ให้การศึกษาควรสร้างคนให้ยึดมั่นในเรื่องของการทำงาน กรัมชี่เสนอว่ามนุษย์นั้นเข้าถึงและเข้าใจการทำงานของตนได้ไม่ใช่แต่เพียงการแสวงหาอำนาจที่มากขึ้นและการทำการผลิตเท่านั้น แต่มนุษย์ยังต้องยึดมั่นและเคารพในกฎเกณฑ์ทั้งในเชิงสังคมและเชิงกฎหมายด้วย มนุษย์ต้องเคารพกฎเกณฑ์ต่างๆ จากภายในไม่ใช่เพียงเพราะถูกบังคับจากแรงกดดันภายนอก การรักษาความสัมพันธ์ระหว่างระเบียบทางสังคมและการทำงานทั้งกิจกรรมเชิงทฤษฎีและปฏิบัติของแต่ละคนนั้นกรัมชี่มองว่าเป็นการ “สร้าง” พื้นฐานขั้นต้นให้กับการเข้าใจโลกที่เป็นอิสระและปลอดจากความเชื่อในเรื่องวิเศษและเหนือธรรมชาติได้

ดังนั้นบทบาทของครูผู้สอนทั้งในการสอนบทเรียนต่างๆ และบทบาทด้านการให้การศึกษา ซึ่งไม่ใช่เพียงในเรื่องบทเรียนแต่เพื่อชีวิตทางสังคมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากบทบาทของผู้สอนได้มีส่วนสำคัญในการผลิตสร้างวิธีการมองโลก วัฒนธรรม ตลอดจนคติความเชื่อแบบใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมที่ดีกว่าเดิมได้

“ประเทศไทยก็มีลักษณะพิเศษ คือวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสูงมาก
เมื่อเทียบกับหลายๆ ชาติ แต่ประเทศไทยไม่เอากระบวนความคิดแบบวิทยาศาสตร์มาใช้
เราเสพเทคโนโลยีเหมือนกับว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกชิ้นหนึ่ง”

รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กับพื้นที่วิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ไทย

การเคารพนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของนักศึกษา สะท้อนอะไรในมหาวิทยาลัย

เชื่อไหมว่า การห้ามถ่ายรูปกับบันไดนาค (บันไดหน้าตึกคณะอักษรศาสตร์) หรือการใส่ชุดครุยก่อนเรียนจบจะทำให้เรียนไม่จบ สมัยผมเรียนยังไม่มี นั่นแปลว่าเรื่องต่างๆ มันถูกสร้างขึ้นมาเองเรื่อยๆ ผ่านมุมมองความเชื่อและเวลาในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่เข้าศึกษาในปีที่ 1 ก็จะโดนปลูกฝังโดยรุ่นพี่ถึงความเชื่อในแต่ละพื้นที่แต่ละคณะ ความเชื่อบางอย่างเคร่งเครียดมาก ห้ามทำนั่น ห้ามทำนี่ ความเชื่อบางอย่างก็เป็นความเชื่อแบบเล่นๆ แต่ก็มีที่มาที่ไป อย่างคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จะมีข้อห้ามสำหรับน้องใหม่ เช่น ที่บันไดตึกชีววิทยา 1 ห้ามปี1 ขึ้น ใครเดินบันไดทางขึ้นกลางจะทำให้ถูกรีไทร์ พอเขาทักมาก็ไม่มีใครกล้าทำ แต่ถ้ามันเป็นวิทยาศาสตร์มันก็ต้องทดลองทำสิว่าจะรีไทร์ไหม ความตลกก็คือเพื่อนรุ่นผมเคยขึ้นบันไดนั้นแล้วปรากฏว่าเขารีไทร์จริงๆ แต่มันก็ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ต้องทำบ่อยๆ แล้วต้องอธิบายได้ด้วยว่าทำไมถึงรีไทร์ สุดท้ายมันอธิบายไม่ได้ว่าเขาตั้งกฎเกณฑ์แบบนี้เพื่ออะไร  

ฉะนั้นกฎเกณฑ์พวกนี้มันจะมีคำอธิบายภายหลัง ถ้าเมื่อไรไม่มีคำอธิบายจะกลายเป็นความเชื่อหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่างวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายว่าสมัยก่อนตึกไม่ได้มากขนาดนี้ ใครจะเรียนก็จะต้องเดินผ่านหน้าบันไดนี้อยู่แล้ว ฉะนั้นพวกพี่ๆ สมัยก่อนก็จะไปนั่งอารมณ์แบบ SOTUS  เต็มบันไดไปหมดเลย เพื่อดูว่าน้องๆ แต่งตัวผิดระเบียบหรือไม่ อันนี้อธิบายในทาง SOTUS ถ้าลึกกว่านั้นก็คือที่จริงแล้วบันไดตรงนี้ สมัยก่อนคณะวิทยาศาสตร์เคยเรียนรวมกันคณะแพทย์ด้วย เวลามีอาจารย์ใหญ่หรือศพที่มาดองก็จะดองตรงนั้น ฉะนั้นจึงเป็นการให้เกียรติ ไม่ควรเดินข้าม แต่ก็ไม่ตอบโจทย์นะว่าทำไมรุ่นพี่ถึงยังเดินได้

พอได้คณะอื่นคุณก็จะเห็นว่ามีกฎเกณฑ์คล้ายๆ กัน สถาปัตย์ก็จะมีตัวหนังสือ ถ.ป. อยู่กับพื้นห้ามน้องเดินผ่านหรือบันไดหน้าของครุศาสตร์เหมือนกัน ห้ามขึ้นตรงๆ ต้องขึ้นข้างๆ  ซึ่งทั้งหมดที่อธิบายอาจไม่ใช่ความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดแต่เป็นเรื่องของคำสั่งทั้งนั้น เรื่องกฎเกณฑ์พวกนี้มันมีความเป็นวิทยาศาสตร์ คือ มันมีที่มาและเหตุผล แต่เหตุผลนั้นจะน่าเชื่อถือน่ายอมรับหรือไม่ มันเป็นเรื่องของยุคสมัย

ถ้าถามว่ามหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ความหวังของสังคมไหมก็อาจจะยังเป็น แต่ว่าไม่มาก เพราะเป็นส่วนประกอบเล็กๆ ของคนทั้งสังคม โรงเรียนหรือเอกชนบางอย่างใหญ่กว่าเรา มหาวิทยาลัยจึงอาจจะยังเชื่อได้บ้างถ้าศรัทธายังมี ซึ่งกลายเป็นเรื่องขำที่เราต้องมาพึ่งศรัทธา คนในสังคมเชื่อคนในมหาวิทยาลัยพูดเพราะศรัทธา ไม่ได้เชื่อเพราะว่าวิชาการ เชื่อเพราะเป็นจุฬาฯ เป็นมหิดล เป็นมหาวิทยาลัยต่างๆ ฉะนั้นมหาวิทยาลัยยังพอพูดอะไรที่ค้านกระแสสังคมได้ แต่ถ้าไม่รู้จักค้านกระแสสังคม ไม่รู้จักอะไรที่มันแปลกแยกออกไป คนก็จะไม่ศรัทธามหาวิทยาลัย ก็จะไม่มีสถานะที่พึ่งได้

กระบวนการการแบบคิดวิทยาศาสตร์มีตำแหน่งแห่งที่อย่างไรในสังคมไทย

ผมคิดว่าวิทยาศาสตร์ไทยโดยภาพรวม มันอ่อนแอมาตั้งแต่แรกแล้ว คนไทยโดยพื้นฐานไม่ได้มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ว่าเรื่องนี้แย้งได้ไหม เถียงได้ไหม เรื่องนี้หาทางพิสูจน์ได้ไหม ถ้าเป็นผม จะตั้งคำถามว่าเรื่องจริงหรือไม่ ต้องพิสูจน์ไหม ทุกคนก็จะบอกว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ตั้งแต่แรก  ทุกคนจึงคิดแต่จะเล่าต่อๆ กัน สนุกไปเรื่อยโดยไม่คิดที่จะโต้แย้ง มันสะท้อนสิ่งน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ เมื่อเทคโนโลยีมันไปไกลมาก ประเทศไทยก็มีลักษณะพิเศษ คือวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสูงมาก เมื่อเทียบกับหลายๆ ชาติ แต่ประเทศไทยไม่เอากระบวนความคิดแบบวิทยาศาสตร์มาใช้ เราเสพเทคโนโลยีเหมือนกับว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกชิ้นหนึ่ง

ผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยหนึ่งซึ่งก็มีศาลพระภูมิเหมือนกัน แล้วก็ไม่แปลกที่คนจะกราบไหว้ หรือจุฬาฯ ก็มีพระรูปสองรัชกาลคนก็กราบไหว้ ผมเคยบอกเรื่องบั้งไฟ ถ้าคุณเชื่อว่าพญานาคมีจริงก็สามารถเชื่อได้ไม่เป็นอะไร แต่ถ้าวันใดที่คุณบอกว่าลูกไฟนั้นเกิดจากแก๊สธรรมชาติลอยออกมาจากน้ำ ผมก็จะบอกว่ามันไม่จริง วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ว่าไม่จริง ฉะนั้นการกราบไหว้ที่อยู่ในกรอบของการเรียกขวัญกำลังใจ ผมว่าไม่เสียหาย

วันนี้คำศัพท์อย่ากะลาแลนด์มันแรงขึ้นเพราะว่าคนออกไปเห็นอะไรข้างนอกเยอะมากขึ้นแล้ว และเริ่มรู้ว่าโลกของไทยไม่เหมือนข้างนอก เพราะโลกแคบลงมี โซเชียลเน็ตเวิร์คมากขึ้น มีการถกเถียงมากขึ้น การที่คนใช้คำว่ากาลเทศะมาหยุดคุณก็จะโดนแย้งมาขึ้นในอนาคตว่ามันไม่จำเป็น และเป็นกาลเทศะของคุณ จะมาครอบเราตลอดเวลาไม่ได้ เพราะเราก็มีกาลเทศะของเราเองเช่นกัน ทุกคนมีพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น

ที่ผ่านมาเราเรียนวิทยาศาสตร์ปลอม?

เมื่อก่อนเราคิดว่าสิ่งต่างๆ มันทำงานได้ด้วยพลังของมัน มีความศักดิ์สิทธิ์ มีพลังที่เรามองไม่เห็น แต่เรามาสู่ยุคสมัยที่จะบอกว่าเราไม่แตะตรงนั้นเพราะมันดูโบราณและอ้างวิทยาศาสตร์แทน วิทยาศาสตร์ถูกเอามาอ้างเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ว่า GT 200 ตรวจระเบิดได้ เพราะมันเป็นวิทยาศาสตร์ขั้นสูง จากฟิสิกส์ ควอนตัม และศัพท์ต่างๆ ที่เราฟังแล้วดูเหมือนไม่เข้าใจแต่ดูแล้วเริ่มศรัทธาเพราะมันเป็นวิทยาศาสตร์  อันนี้ไม่ใช่วิทยาศาสตร์จริงๆ เป็นวิทยาศาสตร์เทียมที่ไม่ได้เกิดจากการอธิบายปรากฏการณ์ได้ ทดลองได้ ฉะนั้นถ้าคุณเชื่อว่าทำงานได้ คุณโดนวิทยาศาสตร์เทียมหลอกแน่นอน

โดยภาพรวมของการศึกษาไทยค่อยข้างล้มเหลวและวิทยาศาสตร์ไทยก็ล้มเหลวค่อนข้างมาก เราสอนวิทยาศาสตร์เป็นคัมภีร์ เรามีตำรา ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เป็นรูปแบบนี้ ใครตอบผิดก็คือผิด แต่ไม่มีการบอกว่ามันมีข้อยกเว้นหรือมีการทดลองใหม่ๆ หรือไม่ เราไม่เคยเจอบรรยากาศที่เด็กเถียงอาจารย์ตั้งแต่แรก และอาจารย์ก็ไม่ค่อยถามว่าเห็นด้วยไหม เราเรียนวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่พื้นฐานว่ากินข้าวกันยังไง 5 หมู่หรือไม่ ก็เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ก็ไม่เคยสอนว่ามีอะไรที่นอกกรอบจากนี้ วิทยาศาสตร์จริงๆ จะเริ่มจากการตั้งคำถาม เราไม่เริ่มจากตรงนั้น เราเริ่มจากเนื้อหา มันก็เลยหลงทางจนวันนี้ ใช้ความเชื่อ ความศรัทธา เชื่อตามตำรา เชื่อตามที่ครูบอก ซึ่งความรู้ของครูเองก็อาจเป็นความรู้ย้อนหลังไปเมื่อสมัยยังเรียนอยู่ก็ได้    

ในตัววิทยาศาสตร์เอง ยิ่งคุณเรียนสูงยิ่งถกเถียงน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะความรู้มันเยอะ วิทยาศาสตร์ยิ่งเรียนสูงจะยิ่งโง่เพราะจะยิ่งแคบ คุณจะรู้เรื่องนี้ดีมากๆ แต่คุณจะไม่รู้เรื่องอย่างอื่น คุณจะไม่เจอบรรยากาศที่ถกเถียงว่าจริงหรือเปล่าไม่จริงหรือเปล่าอย่างสายสังคมศาสตร์ แต่ถ้าคุณเรียนวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็กๆ คุณจะไม่เจอว่าใครผิดเลย ทุกคนจะถูกหมด ครูบาอาจารย์เองที่จะหลุดพ้นวิทยาศาสตร์แบบเดิมๆ ก็ยังน้อย เป็นขบวนการแม่พิมพ์ ไม่เหมือนกับต่างประเทศที่ครูบาอาจารย์เป็นแค่ไกด์นำทางในการสอน

งานชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ประชาไท : http://prachatai.com/journal/2017/02/69898