พริษฐ์ ชิวารักษ์ เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทอัดคลิปชวนร่วมลงชื่อในแคมเปญเปลี่ยนวิชา "หน้าที่พลเมือง" เป็น "ปรัชญาและจริยศาสตร์" แทน
10 ก.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักเรียนชั้น ม.5 และเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท โพสต์วิดีโอคลิปผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัว ‘Parit Chiwarak’ ในลักษณะสาธารณะเชิญชวนร่วมลงชื่อในแคมเปญขอเปลี่ยนวิชา "หน้าที่พลเมือง" เป็น "ปรัชญาและจริยศาสตร์" แทน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า แคมเปญดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเรียกร้องและคำถามที่ พริษฐ์ ถือและพยายามตั้งคำถาม ช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดโอกาสให้ตั้งคำถาม โดยถามกับผู้ฟังว่า "มีใครจะถามอะไรไหม" ในงานกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ผลงานความก้าวหน้าของรัฐบาลในการปฏิรูปการแก้ทุจริตคอร์รัปชัน" เนื่องในงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 2558 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในงานควบคุมตัวและส่ง สน.ปทุมวันเพื่อสอบประวัติ (อ่านรายละเอียด)
สวัสดีครับ ผมเริ่มแคมเปญล่ารายชื่อขอเปลี่ยนวิชา "หน้าที่พลเมือง" เป็น "ปรัชญาและจริยศาสตร์" แทนแล้วนะครับ ขอแรงจากทุกๆท...
Posted by Parit Chiwarak on 10 กันยายน 2015
โดยแคมเปญดังกล่าวกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทได้เชิญชวนให้ผู้สนับสนุนลงชื่อใน change.org เพื่อร้องเรียนต่อกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้เหตุผลประกอบแคมเปญไว้ดังนี้
"การศึกษาคือยาสร้างภูมิคุ้มกันต่อการทุจริตที่ดีที่สุด เพราะการศึกษาสามารถปลูกฝังเยาวชนให้เห็นความสำคัญและยึดมั่นในจริยธรรม นอกจากนี้ยังสร้างความกล้าหาญที่จะเผชิญหน้าต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้แก่เยาวชนซึ่งจะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคต การปลูกฝังจริยธรรมในหลักสูตรการศึกษาจึงไม่อาจถูกละเลยไปได้ ในหลักสูตรปัจจุบันมีความพยายามปลุกฝังจริยธรรมด้วยการเพิ่มเติมเนื้อหาวิชา "หน้าที่พลเมือง" ซึ่งกำหนดหัวข้อคุณธรรมที่พึงประสงค์ให้นักเรียนจดจำและนำไปปฏิบัติตามที่ได้กำหนดไว้ แต่การศึกษาที่กำหนดแม้กระทั่งความคิดของนักเรียนจะสร้างจริยธรรมอย่างยั่งยืนได้จริงหรือ ?
ทว่า การกำหนดชุดความคิดเพื่อถ่ายทอดให้นักเรียนเชื่อฟัง ยึดถือและปฏิบัติตามนั้นไม่สามารถปลูกฝังจริยธรรมให้แก่นักเรียนได้อย่างยั่งยืน การปลูกฝังจริยธรรมที่ดีนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนักเรียนได้คิด วิเคราะห์และอภิปรายสถานการณ์รวมถึงแนวคิดเรื่องความดีในรุปแบบต่าง ๆ จนสามารถสังเคราะห์ค่านิยมและความดีในรุปแบบของตน และเกิดจริยธรรมประจำใจในที่สุด ซึ่งกระบวนการปลูกฝังดังกล่าว จำเป็นต้องผ่านกระบวนการให้เหตุผล วิพากษ์คุณค่าจริยธรรมในแง่มุมต่าง ๆ และเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติของวิชาจริยศาสตร์หรือปรัชญา
ดังนั้น หลักสูตรการศึกษาไทยจึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยปรับ “วิชาหน้าที่พลเมือง” เป็น “วิชาจริยศาสตร์” หรือ “วิชาปรัชญา” แทน ทั้งนี้ เพื่อการวางรากฐานทางจริยธรรมอันดีงามที่ยั่งยืนของสังคมไทย"
- 5 views