กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2558 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ออกแนวปฏิบัติให้มีการจัดการเรียนการสอนวิชาหน้าที่พลเมือง โดยระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ให้สถานศึกษาจัดรายวิชาหน้าที่พลเมืองเป็นรายวิชาเพิ่มเติม จำนวน 40 ชั่วโมงต่อปี ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 80 ชั่วโมงตลอด 3 ปี
เน้นในเรื่องของความเป็นไทย รักชาติ ยึดมั่นในศาสนาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ความเป็นพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ความปรองดอง สมานฉันท์ และความมีวินัยในตนเอง
พร้อมให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องกฎหมายใกล้ตัวในชีวิตประจำวันตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เริ่มตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ให้รู้จักปฏิบัติตนตามข้อตกลง กติกา กฎ ระเบียบและหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในชีวิตประจำวันโดยเคารพสิทธิเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น ส่งผลให้การอยู่ร่วมกันในสังคมมีความสุข
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ให้นักเรียนได้เรียนรู้ และเข้าใจ รู้จักการวิเคราะห์สิทธิพื้นฐานที่เด็กทุกคนพึงได้รับตามกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลให้ได้รับการปกป้อง คุ้มครอง โดยกฎหมาย และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นเรื่องของการเคารพและปฏิบัติตนตามกฎหมายที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของครอบครัวและชุมชน ที่จะส่งผลให้การอยู่ร่วมกันในสังคมมีความสงบสุข
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวด้วยว่า ส่วนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้ปฏิบัติตนตามกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิของบุคคล ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 สามารถอธิบาย และปฏิบัติตนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศ การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขต้องเคารพกฎหมายถึงจะทำให้สังคมเกิดความสงบสุข
ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ได้สอนให้เด็กศึกษาวิเคราะห์และปฏิบัติตนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติและสังคมโลก เป็นกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นๆ ที่สำคัญต่อประเทศชาติตลอดจนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสังคมโลก ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องตามบทบาทหน้าที่ของพลเมืองที่ดี
“สาระหน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม นอกจากจะเป็นสาระที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจการดำรงชีวิตของมนุษย์และการอยู่ร่วมกันในสังคม เข้าใจระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว ผู้เรียนยังจะมีลักษณะและความสำคัญของการ เป็นพลเมืองดี ความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ การปลูกฝังค่านิยม ด้านประชาธิปไตย ตลอดจนเข้าใจบทบาท สิทธิ หน้าที่และเสรีภาพเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างสันติสุขในสังคมไทยและสังคมโลกอีกด้วย”
ที่มา : มติชนออนไลน์