นาย หรือ นางสาว? คำถามที่คนหลากหลายทางเพศไม่อยากตอบ
"กว่าจะเป็นแบบนี้ได้คือพูดได้เลยว่าใช้ชีวิตแลกมา ถ้าจะให้ไปทำตัวเป็นผู้หญิง เงินเท่าไหร่ก็ซื้อ เราไม่ได้" นี่คือคำพูดอันหนักแน่นของ ก้าวหน้า เสาวกุล หรือ โตโต้ ประธานร่วมสมาคมอิลก้า เอเชีย และ คณะกรรมการสมาคมอิลก้า (International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Intersex Association - ILGA) ซึ่งนิยามตนเองเป็นผู้ชายข้ามเพศ เพราะมีความต้องการจะแปลงเพศเป็นผู้ชาย และอยู่ในขั้นตอน ของการใช้ฮอร์โมนเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนของแปลงเพศจากหญิงเป็นชายต่อไป
แต่กว่าจะมาทำงานกับอิลก้าอย่างทุกวันนี้ได้ เขาต้องเผชิญกับความยากลำบากในการหางาน แรงกดดันจากครอบครัว และเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยอย่างหนักจนเป็นโรคซึมเศร้า ต้องเข้าออกโรงพยาบาลและพบจิตแพทย์เป็นเวลานานหลายปี
โตโต้เล่าว่าเขาเคยโดนปฏิเสธหลังสัมภาษณ์งานเป็นสิบๆครั้ง "พอเห็นเราแล้ว เขาก็ขอดูบัตรประชาชน และบอกว่าวันมาสัมภาษณ์ใส่กระโปรงมาได้ไหม... เคยไปสมัครงานธนาคารใหญ่แห่งหนึ่ง เขาก็ถามว่าคุณจะไปเป็นที่ปรึกษาการลงทุน จะมีบุคลิกแบบนี้ได้อย่างไร" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาถูกกีดกันจากที่ทำงาน ไม่ใช่เพราะไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ แต่เพราะการแสดงออกทางเพศ
"..เรียนก็เรียนโรงเรียนเตรียมอุดมฯ จบก็จบธรรมศาสตร์ ชีวิตควรจะไปได้ดีในทางที่คนทั่วไปเป็น เข้าบริษัท ทำงานไป มีครอบครัว ถ้าเราเป็นผู้หญิงก็เลี้ยงลูก เลี้ยงผัวอะไรไป แต่ขณะที่เราเป็นแบบนี้ มันเหมือนมืดแปดด้าน ไม่รู้จะไปทางไหน" โตโต้กล่าว
การสมัครงานเป็นหนึ่งในหลายปัญหาที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เมื่อภาพที่คนทั่วไปเห็นไม่ตรงกับคำนำหน้าบนเอกสารทางราชการว่า "นาย" และ "นางสาว"
ศุภพร วาจาสัตย์ หรือ พีช ผู้หญิงข้ามเพศที่ผ่านการแปลงเพศจากชายเป็นหญิงแล้วเล่าว่า "ตอนนั้นไปทัวร์ต่างประเทศ พอไปถึงตม. หน้าตาเราเป็นผู้หญิง แต่พาสปอร์ตเราเป็น Mr. เขาไม่เชื่อว่าเราเป็นตัวเราจริงๆ ต้องเรียกเราไปห้องตรวจสอบ สั่งให้หยุดรอก่อน และมาสอบสวนว่าทำอะไรมาบ้าง"
นอกจากอุปสรรคในการเดินทางไปต่างประเทศแล้ว คนข้ามเพศยังต้องเจอปัญหาในการพบแพทย์, การระบุตัวในสถานศึกษา และการสวมเครื่องแบบ แต่สิ่งที่ทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศอึดอัดใจมากที่สุดคือความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจทุกครั้งที่ต้องแสดงคำนำหน้าตามเพศกำเนิด
“เวลาเขียนชื่อในห้องเรียนหรือเมื่ออาจารย์เช็คชื่อ เราไม่อยากถูกเรียกว่านางสาว ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากให้ต้องมีใครมาเรียกว่า นางสาว ทุกวันนี้เลยพยายามจะไม่เขียนคำนำหน้า" กัลยารวิศ พูลสวัสดิ์ หรือ
ยูยู่ หญิงรักหญิงที่มีบุคลิกแบบชาย กล่าว เขารู้สึกว่าการต้องใช้คำนำหน้าว่า "นางสาว” คล้ายกับเป็นตัวบีบบังคับและตอกย้ำความรู้สึกว่าจำเป็นต้องทำตัวให้เป็น "สาว" หรือเป็นผู้หญิง
ความพยายามในอดีต
เมื่อปีพ.ศ. 2550 เคยมีความพยายามแก้ไขกฏหมายให้คนข้ามเพศสามารถเปลี่ยนแปลงคำนำหน้านามได้ โดยมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติคำนำหน้านามบุคคล[1] (พ.ศ. ...) โดยนางจุรี วิจิตรวาทการ ในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่สุดท้ายถูกอภิปรายต่อต้านอย่างหนักและตัดทอนเหลือเพียงพระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ. 2551[2] เนื่องจากมีข้อกังวลว่าจะมีการใช้ช่องว่างทางกฏหมายในทางทุจริต เช่น ก่ออาชญากรรมแล้วไปเปลี่ยนแปลงเพศ เปลี่ยนคำนำหน้า และการหลบหนีการเกณฑ์ทหาร
แต่อย่างไรก็ตาม โตโต้เห็นว่าร่างพรบ.เมื่อพ.ศ. 2550 ยังคงมีช่องโหว่อยู่มาก เพราะจะทำให้เกิดการกดทับทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการแปลงเพศมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปลงเพศจากหญิงเป็นชายซึ่งมีค่าใช้จ่ายเกือบหนึ่งล้านบาท ส่งผลให้คนที่จะสามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ก็คือคนมีฐานะเท่านั้น กลายเป็นว่ากฏหมายจะออกมาเพื่อให้อภิสิทธิ์กับคนบางกลุ่มเท่านั้น "กะเทยชั้นแรงงาน หรือคนรากหญ้า ที่เรามองไม่เห็นว่าเขามีตัวตนอยู่ และพวกเขาเข้าไม่ถึงข้อมูลทางการแพทย์หรือ ข่าวสารต่างๆ ก็จะไม่สามารถได้รับสิทธินี้เลย" โตโต้กล่าว
ความก้าวหน้าของคำนำหน้าคนเพศกำกวม (Intersex)
อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการอนุญาตให้คนเพศกำกวม (Intersex) สามารถ เปลี่ยนคำนำหน้าของตนเองได้ โดยต้องมีการผ่าตัดอวัยวะเพศออก เพื่อเลือกเพศใดเพศหนึ่ง เช่น ในกรณีของ น.ส.กฤตภัค ดวงไชย หรือ วิว ได้ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนคำนำหน้านามจาก "นางสาว" เป็น "นาย" หรือ กรณีของ นายสิริลดา โคตรพัฒน์ หรือ ดา สามารถขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อจาก “นาย” เป็น “นางสาว” ได้สำเร็จ เพราะมีอวัยวะสืบพันธุ์กำกวม แต่ถูกเลือกให้เป็นชายตามความต้องการของพ่อ ซึ่งดาได้เข้ารับการผ่าตัดตกแต่งอวัยวะเพศแล้วเช่นกัน
แต่ถึงแม้รัฐจะรับรองบุคคลเพศกำกวม แต่ฐานคิดในการแก้ไขคำนำหน้าก็ยังอยู่บนแนวคิดการแบ่งเพศสองขั้ว คือแบ่งเป็นเพศหญิง (นางสาว) และเพศชาย (นาย) เท่านั้น โดยยังใช้ลักษณะทางกายภาพเป็นตัวกำหนดคำนำหน้าของบุคคล ในขณะที่ประเทศมัลต้ามีการออกกฏหมายให้คนเพศกำกวม สามารถใช้เพศ Intersex ได้เลย โดยไม่จำเป็นจะต้องทำการตกแต่งอวัยวะเพศหรือเลือกเพศใดเพศหนึ่ง
ทลายกรอบกฏหมายสองเพศ
อาร์เจนติน่าคือประเทศต้นแบบของกฏหมายรับรองความหลากหลายทางเพศที่สามารถทลายกำแพงเพศสองขั้วลงได้อย่างราบคาบ โดยใช้หลักการสิทธิในการกำหนดตัวตนของตนเอง (rights to self-determination) อนุญาตให้ประชากรสามารถเปลี่ยนเพศและคำนำหน้าได้ โดยไม่ต้องได้รับการอนุมัติจากแพทย์หรือผู้พิพากษา เท่ากับว่าไม่ว่าจะเกิดมาเป็นเพศอะไร จะแปลงเพศแล้วหรือไม่แปลง ก็สามารถเปลี่ยนเพศ เลือกคำนำหน้า หรือจะไม่ระบุเลยก็ได้
ทางเลือกกฏหมายแบบนี้ตรงกับความคิดของ ยูยู่ที่ว่าเขาอยากเลือกใช้คำนำหน้า "นาย” ทั้งที่ไม่ได้อยากแปลงเพศเป็นผู้ชาย และอยากให้กฏหมายเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ไม่ได้แปลงเพศ แต่อยากเปลี่ยนคำนำหน้าด้วย ไม่ใช่จำกัดแค่ นาย นางสาว หรือแค่เพศชาย เพศหญิง
ขณะที่โตโต้ก็คิดว่าควรให้มีตัวเลือกระบุเพศ x สำหรับที่ไม่อยากบอกเพศด้วย ดังตัวอย่างจากประเทศออสเตรเลีย และเยอรมันนี "เราไม่ได้คิดไปไกลเกินกว่าสังคมจะรับได้นะ แต่ว่าสังคมเองจะต้อง เรียนรู้รับความเปลี่ยนแแปลง จริงๆแล้วสภาพแบบนี้มันมีอยู่ในสังคม เพียงแต่ว่าคุณไม่เคยตระหนัก ... เราควรมีพื้นที่ให้ทุกคน คนที่สบายใจกับการอยู่ในกรอบ (กรอบเพศแบ่งชายหญิง) ก็อยู่ไป คนอยากออกก็ควรจะมีทางเลือกที่จะเลือก"
กระแสสังคมไทยส่วนมากต่อต้านการเรียกร้องการเปลี่ยนคำนำหน้านาม เพราะเห็นว่าจะเป็นการทำให้เกิดความสับสนและไม่ยุติธรรมกับคนที่มีเพศวิถีตรงกับเพศกำเนิด แต่พีชมองว่าคนในสังคมไม่ควรใช้ตนเองเป็นเครื่องตัดสินหรือคิดแทนคนที่มีความหลากหลายทางเพศ "คนชอบพูดว่า เราชอบมาเรียกร้อง อะไรมากมาย แต่เขาไม่เข้าใจหรอกว่ากว่าเราจะผ่านจุดที่ข้ามเพศมาอย่างนี้ได้ เราลำบากแค่ไหน ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง ตอนนี้เราไม่ใช่ผู้ชายแล้ว เราไม่สามารถทำให้ผู้หญิงท้อง ดังนั้นกฏหมายจึงคุ้มครองสิทธิเราและรับรองเราในฐานะผู้หญิง"
ในที่สุดแล้วความหลากหลายแตกต่างล้วนมีอยู่ในสังคมทุกสังคม เสียงของพีช โตโต้ และยูยู่ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าคนในสังคมทุกคนไม่ได้มีความต้องการแบบเดียวกันหมด เพศไม่ได้ถูกแบ่งตามลักษณะทางกายภาพเพียงอย่างเดียว ดังนั้นเวลาออกกฏหมาย รัฐจึงไม่สามารถขีดเส้นนิยามชีวิตทุกคนได้ว่าคุณต้องมีอวัยวะเพศแบบใดจึงจะถูกเรียกว่าอะไร แต่รัฐต้องเปิดกว้างและเคารพในความเป็นมนุษย์ของคนในสังคม เพื่อให้คนที่มีความหลากหลายสามารถยืนได้อย่างเต็มภาคภูมิ
[1] มาตรา 7 ชายที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิง โดยผ่านการรับรองจากคณะกรรมการทางแพทย์ และมีอายุ 15 ปีขึ้นไป จะใช้คำนำหน้านามตามมาตรา 4 ก็ได้ (หญิงที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และยังไม่ได้สมรสให้ใช้คำนำหน้านางว่า นางสาว)
มาตรา 8 หญิงที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นชาย โดยผ่านการรับรองจากคณะกรรมการทางแพทย์ และมีอายุ 15 ปีขึ้นไป จะใช้คำนำหน้าว่า "นาย” ก็ได้
[2] อนุญาตให้หญิงที่สมรสแล้วสามารถเลือกใช้ นางสาว และเปลี่ยนจาก นาง เป็น นางสาว หลังจากจดทะเบียนหย่าแล้วได้
หมายเหตุ : ธนภรณ์ สาลีผล ผู้เขียนเป็นนักศึกษานำผลงานปลายภาค JR Writing ส่งเข้าร่วมกิจกรรม 'ปล่อยของหลังห้อง' กับเว็บเด็กหลังห้อง โดยนักเรียนนักศึกษาท่านใดสนใจร่วมกิจกรรมอ่านรายละเอียดได้ที่นี่
- 53 views