6 พ.ค.2558 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กลุ่มนักศึกษาในนามกลุ่ม Nadia ได้ร่วมกันทำกิจกรรมคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายออกนอกระบบ โดยอ่านแถลงการณ์ระบุการออกนอกระบบ เป็นการผลักภาระการลงทุนทางการศึกษาของรัฐให้ตกเป็นของประชาชน และได้เรียกร้องให้นักศึกษาประชาชน และให้มีตัวแทนนักศึกษาเข้าไปดำรงตำแหน่งในกรรมการสภามหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัยด้วย
กลุ่มนักศึกษาได้เริ่มทำกิจกรรมรณรงค์ตั้งแต่ในเวลา 11.00 น. โดยมีการติดป้ายผ้าคัดค้านการออกนอกระบบ การแจกใบปลิวเชิญชวนนักศึกษาทั่วไปในมหาวิทยาลัยให้เข้าร่วมกิจกรรมอ่านแถลงการณ์ และมีการตั้งโต๊ะเพื่อให้ผู้สนใจได้ร่วมลงชื่อคัดค้าน ซึ่งมีนักศึกษาให้ความสนใจร่วมลงชื่อพอสมควร
จนในเวลา 13.00 น. ตัวแทนนักศึกษาได้อ่านแถลงการณ์คัดค้านการออกนอกระบบ จากนั้นได้มีการชูป้ายที่มีข้อความเช่น “เราไม่เอา ม.นอกระบบ” “มหาวิทยาลัยจะก่อกำแพงด้วย ‘เงิน’ เช่นนั้นหรือ?” “ท่านมองเห็นเม็ดเงิน แต่เรามองเห็นหยาดเหงื่อของผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ” ตามด้วยการอ่านบทกวี พร้อมกับกิจกรรมประกอบการอ่านบทกวี โดยมีเทสีแดงลงบนตัวนักศึกษาสองคนที่ร่วมทำกิจกรรมด้วย ในลักษณะเป็นสัญลักษณ์ว่านักศึกษากำลังถูกขูดรีดจนเลือดท่วมตัว
กิจกรรมเสร็จสิ้นในเวลา 13.30 น. ตลอดงานมีผู้เข้าร่วมงานเป็นทั้งนักศึกษา อาจารย์ และพนักงานของมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจากสภ.บ้านดู่เข้ามาสังเกตการณ์และติดตามกิจกรรมอีกด้วย
000000
แถลงการณ์..ความหวัง
คัดค้านการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
46 ปี นับตั้งแต่การสถาปนาโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัดเชียงราย สู่การเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายในปัจจุบัน ด้วยความตั้งใจในการเป็น “สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนา ท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู” เจตนารมณ์ดังกล่าวได้ประกาศอย่างชัดเจนถึงการรับใช้อันใกล้ชิดของมหาวิทยาลัยราชภัฏต่อท้องถิ่นในภูมิภาค
ณ วันนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือที่เราเรียกโดยทั่วไปว่า “มหาวิทยาลัยนอกระบบ” การพยายามเปลี่ยนแปลงดังกล่าวของผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้สร้างคำถามและการคัดค้านโดยแพร่หลาย และเราก็ขอร่วมคัดค้านเช่นกัน
เรา ในฐานะนักศึกษาของสถาบัน ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ รวมถึงประชาชนในท้องถิ่นเชียงราย ที่ต้องการพัฒนาและปกป้องผลประโยชน์ทางการศึกษาของมหาวิทยาลัย เพื่อมุ่งสู่การรับใช้สังคม ขอประกาศ “คัดค้านการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย” โดยมีจุดยืนดังนี้
การศึกษา ต้องเป็นหน้าที่โดยพื้นฐานของรัฐ ในการจัดสรรให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นโยบายผลักดันการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย เป็นการผลักภาระการลงทุนทางการศึกษาของรัฐให้ตกเป็นของประชาชน จึงสวนทางต่อเจตจำนงของประชาชนอย่างสิ้นเชิง
จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ในการนำอนาคตทางการศึกษาไปผูกติดกับความเสี่ยงจากการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย เนื่องจากแนวคิดการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย ได้ถูกผลักดันอย่างเข้มข้นหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของไทยในปี 2540 รัฐบาลได้ยอมทำข้อตกลงเพื่อแปรรูปมหาวิทยาลัยรวมถึงการแปรรูปกิจการอื่น ๆของรัฐกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียหรือ ADB เพื่อแลกกับการกู้ยืมเงินจำนวนมากมาฟื้นฟูประเทศ โดยความมุ่งหมายของรัฐบาลเพื่อลดภาระงบประมาณรายจ่ายของรัฐ ด้วยเหตุนี้ตลอดเวลาที่ผ่านมา จึงไม่เคยมีมหาวิทยาลัยใดเลยที่ออกนอกระบบไปแล้ว จะหาญกล้าประกาศลดค่าเล่าเรียนลงอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของประชาชน ในทางตรงกันข้าม กลับมุ่งเน้นการแสวงหารายได้เข้ามหาวิทยาลัย ทั้งโดยตรงจากตัวนักศึกษาและการร่วมมือกับกลุ่มทุนนำการศึกษาเข้าสู่ระบบธุรกิจ เพื่อเพิ่มรายได้ในการเลี้ยงดูตนเองให้มากขึ้นเท่านั้น
และตราบที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทยยังมีอยู่สูง โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของครอบครัวที่เสียเปรียบทางเศรษฐกิจย่อมลดต่ำลง แล้วโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาในอนาคตจะเป็นเช่นไร “การลดเงื่อนไขเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา” จึงเป็นหนึ่งในหลักสำคัญที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายควรทุ่มเทให้เกิดผลอย่างจริงจัง ดั่งคติพจน์อันสวยหรู “มหาวิทยาลัยในหัวใจของประชาชน”
เราขอยืนยันว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเป็นสถาบันอุดมศึกษา ที่ต้องเปิดโอกาสทางการศึกษาในระดับท้องถิ่นอย่างทั่วถึง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพทางวิชาการที่มุ่งรับใช้ท้องถิ่น หยุดการกล่าวอ้างถึงการพัฒนามหาวิทยาลัยด้วยการออกนอกระบบ เพราะเราสามารถร่วมกันเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ในวันนี้
ด้วยจุดยืนดังกล่าว เราจึงมีข้อเสนอดังนี้
มีตัวแทนนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจากนักศึกษา ดำรงตำแหน่งอยู่ในกรรมการสภามหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
นักศึกษาและประชาชนโดยทั่วไปในท้องถิ่นเชียงราย สามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ คัดค้านและตรวจสอบการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นมหาวิทยาลัยที่รับใช้ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ด้วยการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางมากขึ้น เราจะสามารถร่วมกันเปิดโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายให้ดียิ่งขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องสร้างเงื่อนไขการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยขึ้นมาอีก
“โอกาสและคุณภาพการศึกษา ไม่ควรมีเงื่อนไข”
กลุ่มนักศึกษา Nadia
- 1 view