24 เม.ย.2558 เมื่อเวลา 12.21 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต’ เผยแพร่ แถลงการณ์ร่วมองค์การนักศึกษาและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งออกเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2558 เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยระบุว่า ตามที่สภานักศึกษา และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยื่นแถลงการณ์ต่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2558 อันมีเนื้อหาเสนอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาดังต่อไปนี้
1. ขอให้ตัวแทนประชาคมธรรมศาสตร์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมรับฟังและเสนอแนะแนวความคิดเห็นต่อกรรมาธิการฯ
2. ขอให้แก้ไขเนื้อหาในมาตรา 20 ของร่างพระราชบัญญัติฯ ให้มีตัวแทนนักศึกษาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย จำนวน 2 คน คือนายกองค์การนักศึกษา และประธานสภานักศึกษา
3. ขอให้มีการแก้ไขเนื้อหาในมาตรา 21 ของร่างพระราชบัญญัติฯ ให้มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกิน ๓ ปี ติดต่อกันได้ไม่เกิน ๒ วาระ
ในวันที่ 10 เมษายน 2558 คณะกรรมาธิการได้มีหนังสือเชิญมาถึงให้อนุญาตเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการฯ โดยคณะกรรมาธิการได้พิจารณาเล็งเห็นว่าการมีส่วนร่วมของนักศึกษาต่อการพิจารณานั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งเพื่อประกอบการพิจารณา โดยให้ไปร่วมประชุมเพื่อชี้แจงแสดงความคิดเห็นตามที่ได้แถลงไว้ใน ข้อ 2 และ ข้อ 3 ในวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน 2558 (วันนี้) เวลา 14.00 นาฬิกา ซึ่งสภานักศึกษาและองค์การนักศึกษา ก็ได้เข้าไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการโดยสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. ในการที่ได้เสนอให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้มีผู้แทนจากนักศึกษาจำนวน 2 คน ด้วยสภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรที่บทบาทสำคัญในการบริหารมหาวิทยาลัยอันมีผลกระทบโดยตรงต่อตัวนักศึกษา และในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯเมื่อครั้งปี 2556 ที่นักศึกษาได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ในการประชุมครั้งที่ 3 จนถึงครั้งสุดท้าย คณะกรรมาธิการก็ได้มีมติให้แก้ไข โดยเพิ่มนายกองค์การนักศึกษาและประธานสภานักศึกษาเข้าไปในกรรมการมหาวิทยาลัย อีกทั้งในสภามหาวิทยาลัยต่างประเทศหลากหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือในประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจการพัฒนาพอกับเรา อาทิ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ บราซิล โปรตุเกส เดนมาร์ก อุรุกวัย ปารากวัย เปรู เวเนซุเอลา ต่างก็มีตัวแทนนักศึกษานั่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วยกันทั้งสิ้น
เหนือไปกว่านั้นแล้วในสภามหาวิทยาลัยต่างประเทศบางประเทศมีนักศึกษาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยถึงครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด ในเมื่อประเทศของเราที่ความต้องการจะปฏิรูปการศึกษาในหลายๆด้าน สภานักศึกษาและองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าการที่มีตัวแทนนักศึกษาอันเป็นประชาคมส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และได้รับผลกระทบโดยตรง เข้าเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ กำหนดบทบาทการบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัยไปพร้อมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ในร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าวนักศึกษากลับมิได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางการบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัยแต่อย่างใด
2. ในการที่ได้เสนอให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกิน 3 ปี ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ ด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 15 คน จากทั้งสิ้น 27 คนนั้น เป็นตำแหน่งที่มีส่วนสำคัญในการบริหารมหาวิทยาลัย ในการต่อไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ออกนอกระบบ) การบริหารมหาวิทยาลัยจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารให้ทันต่อสมัยสังคม โดยปัจจุบันสภาพสังคมของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแม้เวลาจะผ่านไปเพียง 5-6 ปีก็ตาม การบริหารจึงต้องอาศัยองค์ความรู้ใหม่ๆเข้ามาในการบริหาร อีกด้วยระบบการบริหารมหาวิทยาลัยในอนาคตมิใช่การบริหารในลักษณะของราชการอีกต่อไป แต่จะมีลักษณะที่แปลกใหม่ไปจากเดิมเป็นอย่างยิ่ง วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการมหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจึงควรมีการกำหนดวาระ เพื่อให้เกิดการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการบริหารมหาวิทยาลัย หาใช่กรรมการฯผู้คุณวุฒิจะดำรงตำแหน่งได้ยาวนานจนถึง 10 ปี 20 ปี 30 ปี หรือ 40 ปี
และเมื่อได้มีการอภิปรายให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการฯ ก็ปรากฏในภายหลังว่า การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจนเสร็จสิ้นลงแล้ว โดยไม่ได้รั้งรอเพื่อรับฟังการเสนอความคิดเห็นจากนักศึกษา ตามที่ประธานคณะกรรมาธิการได้ให้คำมั่นว่า หากมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษา ก็จะเชิญนักศึกษาเข้าร่วมเสนอความคิดเห็น ดังนั้น เมื่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ได้มีการพิจารณาครบถ้วนทุกรายมาตราแล้ว การเสนอความคิดเห็นของนักศึกษาก็ย่อมเปล่าประโยชน์ และเป็นเพียงแบบพิธีของการมีส่วนร่วมเท่านั้น หาได้ปรากฏความจริงใจที่ซื่อตรงต่อคำมั่นดังกล่าวแต่ประการใด
ถึงอย่างไรก็ตาม สภานักศึกษาและองค์การนักศึกษาขอยืนยันที่จะต่อสู้เรียกร้องตามเจตนารมณ์ที่ได้แถลงไว้ตามเดิมทุกประการ ในการนี้ สภานักศึกษาและองค์การนักศึกษาจึงขอเรียนเชิญนักศึกษา คณาจารย์ พนักงาน และประชาคมธรรมศาสตร์ทุกภาคส่วนเข้าประชุมหารือต่อกรณีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังออกนอกระบบ และร่วมลงชื่อสนับสนุนในวันอังคาร ที่ 28 เมษายน 2558 เวลา 17.00 นาฬิกา (โดยสถานที่จะแจ้งให้ทราบภายหลัง) เพราะเราเล็งเห็นว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยของเราชาวประชาคมธรรมศาสตร์ทุกๆคน แล้วนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
- 3 views