Skip to main content

จากการกล่าวปิดท้าย กาญจนา ดีอุต “คนเราถ้าเอาเชื้อชาติ ศาสนา เพศ ออกไป และมีเวลาคุยกัน เล่าเรื่องราวต่างๆให้แก่กันก็สามารถเข้าใจกันได้” ในงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ค้ามนุษย์กับแรงงานต่างชาติ”  นำมาสู่ข้อสงสัยที่อดีตกาล คนมอญจำนวนมากเป็นผู้ที่อาศัยอยู่อย่างกลมกลืนกับสังคมไทยนานกว่า 258 ปี โดยคนมอญบางส่วนอพยพโยกย้ายเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในประเทศไทยหหลายต่อหหลายครั้ง  ปัจจุบัน คนมอญก็เข้ามาเป็นแรงงาน เพื่อเพิ่มความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย ขณะเดียวกัน ลูกหลานของคนมอญ ซึ่งเป็นกำลังทุนที่สำคัญของคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ปฏิเสธตามคุณพ่อคุณแม่มาที่ประเทศไทยด้วย เป็นที่น่าสงสัยว่า ลูกหลานคนมอญเหล่านี้ มีสิทธิการเข้าถึงการศึกษา และมีการวางแผนเส้นทางชีวิตตามคุณพ่อคุณแม่ เพื่อเป็นกำลังแรงงานสำคัญของประเทศไทยจากการสะสมทุนของตัวเอง หรือกลับบ้านเกิดเมืองนอนที่มอญเมื่อสะสมทุนตัวเองได้ตามเป้าหมายที่ตนวางไว้หรือไม่ อย่างไร 
 
เพื่อง่ายต่อความเข้าใจวิถีชีวิตของแรงงานมอญ ผู้เขียนมีโอกาสเรียนรู้  พูดคุย และฟังเรื่องเล่า จากเด็กหญิงมอญคนหนึ่ง  เพื่อไขความสงสัย และท้าทายคำกล่าวปิดท้าย บนความสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้องที่เล่าเรื่องให้กันฟัง 
 
ข้อจำกัดของทุนมนุษย์ จึงทำให้มอญ (เมียนมาร์) เข้ามาทำงานที่ไทย
 
เด็กหญิงจินตนา งัมแท้ หรือเรียกอีกชื่อมอญว่า “ซากมอญ” นักเรียนประจำโรงเรียนวัดศิริมงคล จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเด็กมาจากมอญ นับถือศาสนาพุทธ แต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย เธออายุ 13 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เธอเป็นลูกคนเดียว เธอมีความใฝ่ฝันอยากเป็น นักร้อง นักเต้น เธอมาอยู่ที่ไทยได้ 2 ปี เธอเล่าการเข้ามาทำงานของเพื่อนบ้านให้ผู้เขียนฟังว่า 
 
“หนูรู้จักพี่คนหนึ่ง พี่คนนั้นเขาอายุ 28 ปี เขาเคยเป็นนักเรียนที่โรงเรียนวัดศิริมงคลเหมือนหนู พี่เขาเรียนจบจากโรงเรียน ก็ไปเป็นหัวหน้าคิวซีที่โรงงาน พี่เขาบอกหนูว่า พี่เขาอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยแบบคนไทย แต่พี่เขาอายุมากเกิน พี่ก็เลยอาย ตัดสินใจทำงานช่วยคุณพ่อคุณแม่ดีกว่า” ซากมอญกล่าว
 
ภาพ: ท่าเทียบเรือสาธารณะ วัดบางหญ้าแพรก จังหวัดสมุทรสาคร หนึ่งในสถานที่สำคัญที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงาน จับปลา เพื่อประกอบอาชีพ
 
สิ่งที่ไม่แปลกใจ ในสถานการณ์ที่ประเทศไทย ถือได้ว่า เป็นประเทศที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก เพราะผู้ประกอบการในประเทศ ยินยอมจ่ายค่าจ้างแรงงานข้ามชาติ ด้วยเหตุผลที่ “จ้างถูกกว่า” แรงงานในประเทศไทย เป็นผลให้ การเข้ามาของแรงงานข้ามชาติ มีทั้งถูกและผิดกฎหมาย และส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานข้ามชาติจาก ลาว มอญ (เมียนมาร์) และกัมพูชา ในกรณีของหญิงสาว อายุ 28 ปี ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าเป็นเหตุผลเดียวกัน ที่หญิงสาวมีโอกาสรับตำแหน่งเป็น คิวซีประจำโรงงาน เพราะข้อจำกัดของอายุโดยความเห็นส่วนตัวบังเบียดโอกาสเข้าศึกษาต่อในระดับสูงกว่า และค่าจ้างที่ถูกกว่าแรงงานในประเทศไทย
 
ปัจจุบัน กล่าวเฉพาะคนมอญในพื้นที่ จังหวัดสมุทรสาคร ที่ได้ทำความเข้าใจวิถีชีวิตผ่านเด็กหญิง อายุ 13 ปี คือ คนมอญบางส่วน เข้ามาประเทศไทยในช่วงปี 2530 การเข้ามาของคนมอญ เมื่อ 28 ปีที่ผ่านมา เนื่องจาก การไม่มีพื้นที่ทำมาหากิน มีแต่การรับจ้างทำไร่ ทำนา เก็บผักขาย ไม่มีโรงงานให้ทำ เป็นผลให้คนมอญบางส่วนเข้ามาทำงานที่โรงงานประเทศไทย เพื่อหวังมีเงินเก็บส่งให้ครอบครัวที่มอญ และดำรงชีพอยู่ในประเทศไทยอย่างไม่ลำบากใคร
 
“ตอนที่หนูอยู่ในท้องแม่ที่มอญ แม่เล่าให้หนูฟังว่า ตัวแม่อยู่ที่มอญ แต่ตัวพ่อหนูทำงานเป็นหัวหน้าชั่งปลาที่ไทย แล้วงานไม่ติดต่อ พ่อเลยออกจากโรงงานปลามาทำก่อสร้างเป็นคนดูแลก่อสร้าง ได้ครั้งละ 800-900 บาท แต่ตอนนี้หนูเห็นพ่อเปลี่ยนงาน จากก่อสร้างเป็นคิวซีโรงงาน พ่อบอกหนูว่าได้เงินดีกว่าและเหนื่อยน้อยกว่า แต่ก็ดีกว่าไปรับจ้างทำนา ทำไร่ ขายผักที่มอญ เพราะที่มอญไม่มีโรงงานเหมือนที่ไทย พ่อกับแม่เค้าเป็นคนขยัน อยู่นิ่งไม่ได้เลย หาเงินตลอด ตอนนี้แม่หนูก็เป็นแม่บ้านที่ไทยช่วยพ่อหาเงิน จากแต่ก่อนแม่เป็นคนหุงข้าวไปขายบึงคลองมอญ แม่บอกกับหนูว่า พ่อกับแม่ทำทุกอย่างเพื่ออนาคตหนู” ซากมอญกล่าว
 
การสะสมทุนของเด็กหญิงซากมอญเพื่อความหวังให้กับครอบครัว
 
ความคาดหวังในตัวลูกของหัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่ย่อมไม่แตกต่างกัน เหตุผลหนึ่งที่สำคัญต่อความคาดหวังในตัวลูก คือ อนาคตที่ดี และความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของลูก ครอบครัวเด็กหญิงซากมอญ เป็นครอบครัวหนึ่งที่มีการวางแผนเส้นทางการศึกษาของลูกตนเอง เพื่อหวังว่า จะเป็นมือเป็นเท้าให้คุณพ่อคุณแม่ยามมีเหตุจำเป็น 
 
โรงเรียนวัดศิริมงคล จังหวัดสมุทรสาคร เป็นโรงเรียนที่แรงงานข้ามชาติมอญรู้จักดี เพราะคือสัญลักษณ์ของการศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติมอญ เด็กนักเรียนจึงมีความหลากหลายของเชื้อชาติไทย มอญ พม่า กะเหรี่ยง  โดยโรงเรียนดำรงอยู่ได้ เพราะการสนับสนุนงบประมาณโดยรัฐ ทั้งค่าเล่าเรียน ค่าอาหาร ค่านม ค่าอุปกรณ์เครื่องเขียน หากเด็กนักเรียนประกอบพฤติกรรมดี จะได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษาอีกส่วนหนึ่ง ตลอดจนแนวทางการศึกษาต่อของเด็กโรงเรียนวัดศิริมงคล สามารถต่อที่ประเทศไทยได้เลย เพราะเป็นหลักสูตรเดียวกัน
 
เด็กหญิงซากมอญ มีโอกาสได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดศิริมงคล โดยทุนเดิม เธอมีพื้นฐานภาษาไทยตั้งแต่เธออายุ 2 ปี เพราะเธอเข้าเยี่ยมพ่อที่ประเทศไทยบ่อย ดั่งที่เธอเล่าการเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยของพ่อตอนต้น เธอเล่าต่อว่า 
 
“หนูรู้ภาษาไทยมาตั้งแต่เล็กๆ จากดูทีวี และคุณแม่พามาไทยบ่อย หนูจำได้ว่า ประมาณ 1-2 ขวบ ตั้งแต่เด็กหนูก็พูดภาษาไทยแล้วชิน”
 
ด้วยความตัวเธอมีทุนมนุษย์จากอดีต ด้านทักษะการสื่อสารภาษาไทย เป็นผลให้ขณะที่เธอศึกษาเล่าเรียน เธอขยันมุ่งหาความรู้เพื่อเพิ่มทุนมนุษย์ให้ตัวเธอเอง เช่น  เธอเป็นพิธีกรประจำห้องเรียน เพราะโดยอุปนิสัยส่วนตัวของเธอ เธอเป็นคนกล้าแสดงออก มนุษยสัมพันธ์เข้ากับคนง่าย พูดจาฉะฉาน ครูประจำชั้นเรียนเห็นพรสวรรค์เธอ จึงมอบหมายให้เธอ ออกไปพูด ไปรายงาน โดยตัวเธอจะเป็นตัวแทนกลุ่มที่ 1 นำเสนองานตลอด เพราะเพื่อนกลุ่มอื่นขี้อาย อีกทั้งระหว่าง 2 ปีที่เธอได้เข้ามาเรียน เธอส่งภาพวาด ระบายสีเข้าประกวด เกี่ยวกับวันแม่ได้รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 และเธอมีความสามารถในการรำอาเซียน ด้วยความที่เธอมุ่งหาทุนมนุษย์ เธอจึงได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนในชั้นเรียน เสนอชื่อเธอ เป็นรองหัวหน้าชั้นเรียน เธอเล่าประสบการณ์ที่เธอเห็นสมควรต่อการแสดงศักยภาพความเป็นรองหัวหน้าห้องให้ผู้เขียนฟังว่า
 
“หนูเป็นคนเอาใจใส่ในการเรียน ครูเลยบอกหนูว่า จินตนาเป็นรองหัวหน้าห้องนะ ให้ผู้ชายเป็นหัวหน้าห้อง และหนูมีความสามารถที่โดดเด่นคือ หนูเป็นคนร่าเริง เวลาเพื่อนอยู่กับหนู เพื่อนจะยิ้ม หนูเป็นรองหัวหน้าห้องต้องดูแลเพื่อนๆ ลำบากแทนเพื่อน เช่น เวลาในห้องอะไรหาย หัวหน้ารองต้องรับผิดชอบโดยการเป็นนักสืบ มีครั้งหนึ่งเงินเพื่อนหาย 20 บาท หนูก็สืบรู้ตัวคนขโมย โดยดูจากท่าทาง ตอนแรกหนูบอกเพื่อนว่า ต่ายเป็นคนขโมย เพื่อนไม่เชื่อว่าคนนี้ หนูก็บอกว่า ต่ายไม่ปกติ สั่นทุกครั้งที่หนูเข้าไปใกล้ เพื่อนก็ไม่เชื่อ พอสุดท้ายหนูก็ค้นในตัวต่าย ต่ายก็ไม่ให้ค้น พอได้ที ต่ายจะเอาตังค์ที่ขโมยทิ้งลงช่องโหว่ใต้ถุนห้องเรียน หนูก็เลยรีบไปบอกให้เพื่อนมาดู เพื่อนถึงเชื่อหนู” ซากมอญกล่าว
 
ภาพ: ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ โรงเรียนวัดศิริมงคล เข้าแถวต้อนรับนิสิตจากมหาวิทยาลัยนเรศวร
ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า เธอเป็นเด็กผู้หญิงที่มีบุคลิกน่าสนใจต่อการเรียนรู้ชีวิตของเธอ เป็นผลให้ผู้เขียนตั้งคำถามเพื่อวิเคราะห์การนำทุนมนุษย์ในตัวเธอตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้ จึงสงสัยต่อว่า ซากมอญ เป็นคนที่มีความสามารถอยู่ในตัวตั้งแต่อดีต กระทั่งขยันสะสมทุนมาจนถึงปัจจุบัน แล้วอย่างนี้ ซากมอญมีการนำทุนของตัวเองเพื่อวางเป้าหมายชีวิตอย่างไร ต่อการดำรงชีพอยู่ได้ในประเทศไทย และเป็นอนาคตของคุณพ่อคุณแม่
 
“คุณพ่อคุณแม่หนู อยากให้หนูมีอนาคตที่ดี จะได้ไม่ต้องลำบาก หนูเลยตั้งใจเรียนภาษาไทยให้เยอะ ๆ เวลาคุณพ่อคุณแม่ ซื้อยามาทานยามเจ็บป่วย คุณพ่อคุณแม่หนูอ่านไม่ออก หนูรู้ภาษาอังกฤษและภาษาไทย หนูก็อ่านและแปลเป็นภาษามอญ หรือก็ภาษาไทยให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง หรือตอนที่คุณพ่อคุณแม่ได้รับเงินตอนสิ้นเดือน มีใบเสร็จมา หนูก็อ่านใบเสร็จและแปลให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง  อีกอย่างหนูอยากเป็นแรงงานไทย เพราะแรงงานมอญต้องไปทำงานที่โรงงานพม่ามันไกล ค่าใช้จ่ายมันเยอะ การพูด วาจาของพม่า เขาพูดแบบไม่ดี หนูก็ไม่ชอบวิธีการพูดเขา” ซากมอญกล่าว
 
นอกจากตัวเธอสะสมทุนด้านการศึกษาและทักษะความสามารถเฉพาะตัวแล้ว ขณะเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่ของเธอ ก็สะสมทุนด้านการถือครองทรัพย์สิน โดยคุณพ่อคุณแม่ของเธอ มีรถยนต์ 1 คัน จักรยาน 1 คัน มีทองคำเก็บ มีเงินเก็บเป็นก้อน เธอเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า
 
“ที่บ้านหนู เป็นบ้านปูนเช่า มีรถยนต์ 1 คัน จักรยาน 1 คัน ทองหลายเส้น เงินเก็บหลายก้อน หนูเห็นคุณพ่อคุณแม่เก็บไว้ที่#%$$#แต่หนูก็ไม่ได้ไปยุ่งกับของที่คุณพ่อคุณแม่เก็บ”
 
ความเหลื่อมล้ำ มีผลต่อโอกาสทางการศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติ
 
ในเวลาเดียวกัน เด็กมอญหลายคน ต้องประสบปัญหา ด้านสิทธิต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็ก  ซึ่งเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญของการพัฒนาทักษะความสามารถของมนุษย์ อาทิ โรงเรียนวัดศรีบูรณาวาส หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โรงเรียนวัดโคก จังหวัดสมุทรสาคร เด็กที่มาเรียนโรงเรียนนี้ เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่เกิดในไทย 50%  และมาจากมอญ 50%  เป็นโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนอาหารการกินจากหลวงพ่อวัดโคก และเป็นโรงเรียนที่ดำรงอยู่ได้เพราะเก็บค่าศึกษาเล่าเรียนจากผู้ปกครองเด็กเดือนละ 300 บาท จากเด็กประมาณ 90 คน ต่อครูผู้สอน 6 คน เพื่อประคองโรงเรียนให้ดำรงอยู่สำหรับการศึกษาเพื่อภาษา เพื่อประกอบอาชีพล่าม ผู้ช่วยผู้จัดการ คิวซีประจำโรงงาน เพราะโรงเรียนนี้มีการเรียนการสอนถึง 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษามอญ ภาษาพม่า ภาษาอังกฤษ และมีการสอนประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์เพิ่มเติม ตลอดจนแนวทางการศึกษาต่อสำหรับเด็กเรียนจบโรงเรียนนี้ สามารถไปเรียนต่อที่โรงเรียนรัฐมอญได้ แต่เรียนต่อที่โรงเรียนพม่าไม่ได้ และเรียนต่อ กศน.ที่ไทยได้ แต่ต้องมีอายุ 15 ปีเป็นต้นไป และต้องขึ้นทะเบียนแรงงาน
 
เมื่อเปรียบเทียบโรงเรียนวัดศิริมงคล และโรงเรียนวัดศรีบูรณาวาส พบว่า สวัสดิการและแนวทางการศึกษาต่อ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะปูทางให้เด็กแรงงานข้ามชาติได้ประกอบอาชีพในประเทศไทยแตกต่างกัน คือ โรงเรียนวัดศิริมงคล มีรัฐบาลสนับสนุนสวัสดิการด้านเล่าเรียน ค่าอาหาร ค่านม ค่าอุปกรณ์เครื่องเขียน ขณะที่โรงเรียนวัดศรีบูรณาวาส มีวัดประจำจังหวัดสนับสนุนสวัสดิการด้านอาหารการกินเพียงอย่างเดียว
 
อีกทั้งแนวทางการศึกษาต่อของโรงเรียนมีเป้าหมายต่างกัน คือ โรงเรียนวัดศิริมงคล ศึกษาเพื่อศึกษาต่อการศึกษานอกระบบที่ประเทศไทยได้ แต่มุ่งศึกษาเพื่อภาษา เพื่อประกอบอาชีพล่าม เพื่อประกอบอาชีพผู้ช่วยผู้จัดการ เพื่อประกอบอาชีพคิวซีประจำโรงงาน ขณะที่โรงเรียนวัดศรีบูรณาวาส เพื่อศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาที่ประเทศไทย 
 
แนวทางการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติ
 
สวัสดิการที่รัฐเข้าถึงการศึกษาของเด็กแรงงานข้ามชาติ เท่ากับว่า เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาสของเด็ก บางโรงเรียนรัฐสนับสนุนการศึกษา ขณะที่บางโรงเรียนรัฐไม่ได้เข้ามาสนับสนุน ทำให้โรงเรียนนั้นต้องพึ่งพาวัดประจำจังหวัด หรือก็ผู้ใจบุญ ทั้งที่ตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคี “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” ซึ่งในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อที่ 28 ระบุ
 
“รัฐมีหน้าที่จัดให้การศึกษาระดับประถมซึ่งเป็นการศึกษาแบบให้เปล่า และเป็นภาคบังคับแก่เด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ในเขตแดนประเทศ ไม่ว่าเด็กจะมีสถานะทางกฎหมายแบบใด”
 
แล้วอย่างนี้ ตั้งข้อสงสัยต่อว่า มีแนวทางสำหรับการแก้ไขความเหลื่อมล้ำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครนี้อย่างไร เพราะเด็กแรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีผลต่อเศรษฐกิจของไทย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นกำลังแรงงานที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ในส่วนภาระงานที่แรงงานไทยไม่อยากทำ นั่นคือ แรงงานที่คลุกคลีกับความสกปรก แรงงานที่เสี่ยงต่อความอันตราย แรงงานที่เผชิญต่อความยากลำบาก แน่นอนว่าภาระงานที่กล่าวถึง เห็นได้ชัดจาก โรงงานอุตสาหกรรม งานก่อสร้าง และงานบริการ ที่แรงงานไทย ไม่ชอบประกอบอาชีพ 
 
นายธนาธร ทนานนท์ ทนายความจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า “ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ปัญหาส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก เด็กแรงงานข้ามชาติบางคนต้องโยกย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ ทำให้การเรียนไม่ต่อเนื่อง แม้เข้าได้เรียน แต่สักพักอาจต้องออก เพราะครอบครัวย้ายไปทำงานที่อื่น อีกเรื่องคือ เรื่องภาษา กับเอกสารสิทธิ ซึ่งเป็นข้อจำกัดไม่สามารถเข้าเรียนได้ ทำให้ต้องมีโครงการอย่างครูในขนาดงานก่อสร้าง ซึ่งไม่ถือเป็นสวัสดิการของรัฐ สำหรับแนวทางแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มองว่า ต้องไม่เลือกปฏิบัติ หรืออาจจะมีการแก้ปัญหา เช่น การให้สถานะหรือเอกสารรับรอง เพื่อให้สามารถเข้าเรียนได้ สถานะในที่นี้ เช่น การให้สัญชาติไทย หรือเอกสารรับรองว่าเกิดในไทย ไม่ก็แบบบัตรแรงงานต่างด้าว”
 
สรุป
ถึงแม้การเข้ามาทำงานเป็นแรงงานของคนมอญที่ประเทศไทย เข้ามาเพราะข้อจำกัดชีวิตที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับประเทศไทย นั่นคือ ผลผลิตซึ่งเป็นดอกผลในตัวลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ที่สามารถนำทุนทางการศึกษาจากการสะสมของตัวเองผสมกับทุนเดิมที่มีอยู่ ตอบสนองการดำรงชีพ เพื่ออยู่รอด และไม่บังเบียดใคร ในยุคของระบบทุนนิยม ของตนและครอบครัวได้ ดั่งเห็นได้จาก เคสสตัสดี้ครอบครัวน้องซากมอญ แต่ในขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติก็เป็นข้อจำกัดส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อปากท้อง เพื่อการดำรงชีพ อยู่รอด ดั่งเห็นได้จาก เคสสตัสดี้โอกาสทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนวัดศรีบูรณาวาสและโรงเรียนวัดศิริมงคล