Skip to main content

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 เวลา15.00-17.00 ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “อาลัย ลี กวน ยู : ชำแหละมายาคติสิงคโปร์โมเดล” โดยมี อ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อ.ดร.กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ คณะศิลปะศาสตร์ ธรรมศาสตร์  คุณสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอิสระ เป็นผู้บรรยาย และ อ.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

เปรียบเหมือน China Town แห่งหนึ่งไม่ใช่เป็นประเทศ

สงวนกล่าวว่า ลี กวน ยู มักได้รับคำยกย่องจากคนทั่วไป แต่ได้รับคำวิจารณ์จากสื่อทั้งในอเมริกาและยุโรป หลังการเสียชีวิตของ ลี กวน ยู หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าลี กวน ยู ได้ทิ้งมรดกอะไรไว้ให้ประเทศบ้าง ลี กวน ยูนั้นเป็นเผด็จการตัวจริงแต่ไม่ใช่ทรราช เพราะไม่ได้มาจากการรัฐประหาร (50ปีของสิงคโปร์ไม่เคยมีรัฐประหาร) อีกทั้งสิงคโปร์ไม่เคยมีการฉีกรัฐธรรมนูญ แต่มีการแก้ไขอยู่บ่อยครั้ง เช่น การแก้ไขที่มาของคณะรัฐมนตรีจากการเสนอชื่อมาเป็นการเลือกตั้ง แก้ไขกฎหมายสัญชาติ ยาเสพติด อาวุธสงคราม การแก้ไขทุกครั้งนั้นจะต้องดูสภาพสังคมและปรับรุงคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีมากขึ้น

ภาพพจน์ของสิงคโปร์ไม่ได้เลวร้ายและเปรียบเหมือน China Town แห่งหนึ่งไม่ใช่เป็นประเทศ แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะบอกว่าสิงคโปร์เป็น Garden City ข้าราชการมือใสสะอาด ร่มรื่น เป็นระเบียบ แต่ผมไม่เห็นด้วยเพราะครั้งหนึ่งรัฐมนตรีคนหนึ่งฆ่าตัวตายเพราะถูกจับได้ว่าทุจริต (corruption) หลัง 30 ปีของการปกครอง ลี กวน ยู ก็ให้ลูกชายขึ้นมาบริการแทน บางคนบอกว่าลักษณะการสืบทอดอำนาจแบบนี้คล้ายเกาหลีเหนือ แต่ผมกลับไม่เห็นด้วยเพราะเขาไม่ได้ใช้งบประมาณในการติดป้ายเชิดชูหรือป้ายหาเสียง

ลี กวน ยู บอกเสมอว่าสื่อมีเสรีภาพแต่เขาใช้วิธีรวมสื่อเข้าด้วยกัน (ในการกำกับสื่อ) เช่น มีหนังสือพิมพ์สองฉบับไม่ถูกกันจึงรวมเข้าด้วยกัน และหลังเวลา 20.00 ของทุกวันจะต้องส่งข่าวให้รัฐบาลตรวจสอบก่อนนำเสนอ ฝ่ายข่าวการเมืองจะต้องเอาเทปบันทึกและข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเมืองไปเก็บไว้ในห้องสมุดเพื่อรัฐบาลจะนำไปใช้โจมตีฝ่ายค้านได้ ลี กวน ยู ไม่เคยเลือกปฏิบัติในการจัดการสื่อ (รวมถึงสื่อต่างประเทศ) เช่น Time Magazine ได้เขียนสนับสนุนการต่อสู้ของพรรคแรงงาน รัฐบาลสิงคโปร์จึงตั้งข้อหาปลอมแปลงเอกสาร ในที่สุดยอดขายของ Time Magazine ก็ลดลงและสื่อหลายๆฉบับก็ถูกทำเช่นเดียวกัน

ปี 1990 The Times ของอังกฤษได้มีคอลัมนิสต์คนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ ลี กวน ยู อยู่เป็นประจำ ลี กวน ยูจึงเขียนจดหมายท้าดีเบตผ่านทาง BBC หลังจากนั้นก็ซื้อพื้นที่ทาง The Independent ในการเขียนตอบโต้ ทำให้คอลัมนิสต์คนดังกล่าวหยุดการวิจารณ์ในที่สุด ลี กวน ยู มักจะบอกสื่อในประเทศเสมอว่าสื่อต้องเป็นยามเฝ้าสังคม แต่ก็มีข้อห้ามของสื่อในสิงคโปร์ เช่น ไม่พูดถึงปัญหาละเอียดอ่อนเช่นทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ไม่ปลุกระดมความขัดแย้งทางเชื้อชาติ การรายงานข่าวเกี่ยวกับทหารต้องคำนึงถึงความมั่นคงเป็นหลัก สรุปง่ายๆได้ว่า ลี กวน ยู เป็นพ่อทุกสถาบัน

ความมีระเบียบเรียบร้อยที่ต้องแลกด้วยอะไรบางอย่าง

ด้าน กรพนัช กล่าวว่า ในแง่การศึกษาประวัติศาสตร์เมื่อมีผู้นำเสียชีวิต นักประวัติศาสตร์จะต้องประเมินความดีความชอบทางประวัติศาสตร์ ซึ่งในแง่ของการเป็นผู้นำชาติคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ลี กวน ยู ทำประโยชน์ให้ประเทศเพราะคนในชาติรัก ลี กวน ยูมากแต่ฝ่ายเสรีนิยมก็วิพากษ์วิจารณ์ ลี กวน ยู

ความสำเร็จในแง่เศรษฐกิจของสิงคโปร์เน้นด้านการเงินของประเทศ วางแผนนโยบายโดยช้าราชการ ลี กวน ยูอาศัยรายงานวิชาการและข้อมูลจำนวนมากในการตัดสินใจออกนโยบาย (ไม่ได้คิดเองตามใจชอบ) ลี กวน ยูใช้ความรู้ความสามารถจากปัญญาชนซึ่งตรงจุดนี้ถือเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค จุดเด่นอย่างหนึ่งของลี กวน ยู ซึ่งเป็นคนที่มีคุณสมบัติที่ผู้นำอำนาจนิยมปรารถนาคือ อายุยืน พูดจารู้เรื่อง พูดจาฉลาด ทำให้ลี กวน ยู ได้รับการยกย่องว่าเป็นโฆษกแห่งเอเชีย และไม่ว่าจะมีเสียงวิจารณ์แง่ลบหรือบวก ลี กวน ยู ก็ยังได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าความมีระเบียบเรียบร้อยของสิงคโปร์ต้องแลกด้วยอะไรบางอย่าง จะเห็นได้ว่า ลี กวน ยู ใช้การจัดการอำนาจแบบรวมศูนย์ ตัวระเบียบที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจาดจิตสำนึกของคนที่อยากมีสังคมที่มีอารยะแต่เกิดจากความหวาดกลัว กลัวที่จะไม่ร่ำรวย เมื่อคนเราอยู่กับความหวาดกลัวมากๆจะผลักดันให้คนยอมแลกเสรีภาพกับความกลัว เช่น การไม่ทิ้งขยะเพราะกลัวการถูกลงโทษ คนสิงคโปร์ที่ดูมีระเบียบเกิดจากกการบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วแบบโมเดลสิงคโปร์คือการบอกว่าเศรษฐกิจเจริญเติบโตได้โดยไม่ต้องอาศัยประชาธิปไตย ชนชั้นนำในสิงคโปร์คิดว่าการรวบอำนาจไว้มันมีประโยชน์ในการสร้างพลังทางเศรษฐกิจ แต่จะเห็นได้ว่าภาคสังคมจะถูกกดทับ โมเดลแบบนี้ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นมีพื้นที่การต่อรองทางการเมือง เช่น ไม่มีสหภาพแรงงาน

เมื่อตัวผู้นำมองที่ผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ก่อให้เกิดผลเสียหายทางการเมืองต่อพรรคอย่างมาก นโยบายที่ทำให้เกิดปัญหามากคือ นโยบายเพิ่มจำนวนประชากรแต่คนสิงคโปร์ไม่อยากมีลูก ทำให้ต้องใช้วิธีการอพยพแรงงาน (ซึ่งส่วนมากมาจากจีนแผ่นดินใหญ่) ซึ่งเมื่อคนอพยพเพิ่มสูงทำให้เกิดความขัดแย้ง แย่งงานและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น  พรรคลี กวน ยู ย้ำเสมอว่าพรรคตัวเองเป็นคนสร้างเศรษฐกิจ แต่พรรคฝ่ายค้านบอกว่าจะต่อสู้เพื่อเสรีภาพของประชาชน  มีการเปรียบเปรยในการหาเสียงว่า การขับรถกำลังไปได้ดีถ้าเปลี่ยนคนขับรถตอนนี้อาจหลงทาง แต่พรรคฝ่ายค้านบอกว่าการใช้คนขับรถคนเดิมตลอดจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคนขับจะไม่หลับ ดังนั้นจึงควรมีคนนั่งข้างๆเพื่อคอยตบหน้าคนขับ

เป็นนักกฎหมายที่ชอบบังคับ - เป็นวิศวกรผู้สร้างประเทศ

ด้าน มรกตวงศ์ กล่าวว่า คนไทยสนใจการเสียชีวิตของ ลี กวน ยู มากเพราะคนไทยอยากเจริญแบบสิงคโปร์ และคิดว่าการเสียชีวิตของ ลี กวน ยูจะทำให้สิงคโปร์ล่มสลายหรือไม่ แล้วทำไมเราถึงมองว่าสิงคโปร์เป็นสิงคโปร์ได้เพราะลี กวน ยู อาจจะเพราะนานาชาติมองว่าความสำเร็จทางเศรษฐกิจว่าเป็นความสำเร็จของประเทศ มองความเจริญทางวัตถุเป็นความเจริญของประเทศ ในยุคทุนนิยมทำให้เงินเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าความสุข หลังการตายของ ลี กวน ยู ก็มีความเห็น ออกมามากมาย คนสิงคโปร์พูดถึง ลี กวน ยู ว่าเป็นนักกฎหมายที่ชอบบังคับ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นวิศวกรผู้สร้างประเทศ แท้ที่จริงแล้วสิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศที่ไม่มีอะไรเลยมาตั้งแต่แรก เพราะสิงคโปร์เป็นเมืองท่า ถูกสร้างขึ้นในฐานะที่เป็นจุดยุทธศาสตร์การค้าทางเรือ สิงคโปร์เป็นอะไรบางอย่างมากก่อน ลี กวน ยู แต่เรามักจะเริ่มต้นประวัติศาสตร์สิงคโปร์ที่ ลี กวน ยู

สิงคโปร์ภายใต้การนำของ ลี กวน ยู เหมือนพ่อปกครองลูก เหมือนครูกับนักเรียน คือการควบคุมและลงโทษ เราพูดถึงดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจแต่ไม่เคยพูดถึงความล้มเหลวและความทุกข์ของประชาชน เราลืมพูดถึงการแลกมาด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐบาลบอกว่าให้ที่อยู่แก่ประชาชนทุกคนแต่การมีบ้านอยู่ไม่ได้หมายถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี หลายคนถูกจับ หลายคนถูกตัดสิน มีความเครียด เพราะถูกตัดสินตั้งแต่เด็กว่ามีความถนัดหรือทักษะด้านไหน แต่น่าแปลกที่ว่านักศึกษาที่จบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ไม่ได้กลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย สะท้อนให้เห็นว่าผลิตคนแต่ไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์

ลี กวน ยู มองเห็นว่าผู้นำทั้งหลายล่มสลายเพราะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชนไม่ได้ ลี กวน ยูจึงใช้เศรษฐกิจชี้นำและกดดันผู้คนได้ สิทธิมนุษยชนและความสุขของคนสิงคโปร์จึงสวนทางกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ สื่อต่างประเทศบอกว่า ลี กวน ยู จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่ง ลี กวน ยูบอกว่าจัดพื้นที่ให้วิพากษ์วิจารณ์แล้ว เรียกว่าบริเวณ Speaker Corner แต่การวิพากษ์มีกฎระเบียบมากมายและบริเวณที่เปิดให้ไปวิพากษ์นั้นก็อยู่ใกล้กับสถานีตำรวจ  รัฐบาลสิงคโปร์คัดคนจากความสามารถ (ข้าราชการเงินเดือนสูงจนไม่ต้อง Corruption แต่ชนชั้นล่างไม่ได้มีสวัสดิการทางสังคมด้วยซ้ำ ทำให้เกิดกลุ่มประท้วงให้รัฐบาลให้ความเป็นธรรมแก่คนชนชั้นล่าง แต่สุดท้ายถูกจับข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง

การไหลข้าวของแรงงานต่างชาติ อาจทำให้เกิดวิกฤตของรัฐบาล เช่น รถไฟฟ้าใต้ดินที่สิงคโปร์วันอาทิตย์จะเป็นของแรงงานเป็นผู้ใช้ วันทำงานเป็นของคนสิงคโปร์ แต่คนสิงคโปร์ตั้งคำถามว่าในเมื่อจ่ายภาษีให้รัฐสร้างสิ่งสาธารณูปโภคแต่ทำไมต้องแบ่งให้แรงงานต่างชาติใช้ ซึ่งเราอาจตั้งคำถามกลับว่า แล้วน้ำพักน้ำแรงที่ใช้สร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆเป็นของใคร สะท้อนให้เห็นถึงการมองคนไม่เท่ากัน หนึ่งคนไม่เท่ากับหนึ่งสิทธิ์

สุดท้ายปองขวัญได้สรุปว่า การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้แปรผันตามความสุขของคนเสมอไปซึ่งจากการบรรยายของวิทยากรทั้งสามท่าน เราจะเห็นว่า ลี กวน ยู ใช้การบังคับให้ประชาชนกลัวซึ่ง ลี กวน ยู เคยกล่าวว่าการจะเป็นผู้นำมีสองอย่างให้เลือกคือ ทำให้ประชาชนรัก หรือ ทำให้ประชาชนเกลียด เขาเลือกวิธีที่ทำให้ประชาชนเกลียดเพราะคนจะได้อยู่ในระเบียบและเขาเชื่อว่าเขาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน