Skip to main content

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 เวลา16.30-18.30 โครงการศิลป์เสวนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “Writer โฉมหน้านักเขียนไทยในปัจจุบัน” โดยมี อุทิศ เหมะกุล นักเขียนรางวัลซีไรท์ปี 2552 วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียนและนักสัมภาษณ์ชื่อดังแห่งวงการหนังสือ ปรีดี หงษ์สต้น อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ร่วมพูดคุยพร้อมด้วย คงกฤช ไตรยวงค์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ศิลปากร ในฐานะนักอ่านและนักปรัชญา โดยมี ผศ.ดร.เสาวณิต จุลวงศ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ผศ.ดร.เสาวณิต เปิดการสนทนาด้วยคำถามว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเข้มงวดในเสรีภาพ มีความลำบากในการทำงานไหม และมีแนวทางในการสร้างงานอย่างไร?

วรพจน์ กล่าวว่า สถานการณ์แบบนี้ในทางกายภาพนักเขียนสบายดีไม่ต้องทำงาน ในทางจิตใจก็บอบช้ำนิดหน่อย อาชีพนักเขียนต้องการเสรีภาพเพราะต้องแสดงความคิดเห็น แต่ในสภาพที่ไม่มีเสรีภาพก็ดูขัดแย้งกับวิชาชีพ อาชีพนักเขียนคืออาชีพศึกษาประชาชน ตอนนี้ก็เก็บข้อมูลไปเรื่อยๆรอวันที่ฟ้าปลอดโปร่งกว่านี้จึงค่อยผลิตผลงานออกมา งานที่ทำไม่ได้เต็มที่คืองานที่เป็นความสนใจส่วนตัว แต่งานประจำอย่างคอลัมนิสต์ก็ยังทำอยู่

ขณะที่ ปรีดี กล่าวว่างานวิชาการก็ต้องทำต่อไปตามหน้าที่ แต่ที่แท้จริงแล้วงานวิชาการกับงานเขียนไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ ผมทำงานด้านประวัติศาสตร์เพื่อพยายามเล่าเรื่องดีๆ ในขณะที่การเป็นนักเขียนคือเล่าแต่เรื่องดีๆ เวลานี้เป็นเวลาสำคัญมากๆของการรวมตัวของนักเขียน ในวันนี้ผมคิดว่าผมอยู่กับนักบันทึกวรรณกรรมที่ดีที่สุดสองคน และผมคิดว่าไม่มีใครไปหยุดเขาได้ งานวรรณกรรมในเวลาแบบนี้แทนที่จะเป็นวิกฤตแต่นักเขียนเหล่านี้คิดว่างานในช่วงเวลานี้จำเป็นสำหรับผู้อ่าน วิธีการเล่าเรื่องที่นักเขียนมีเป็นคุณสมบัติบางอย่างที่นักวิชาการพยายามวิ่งเข้าหา ผมจะมีความสุขมากถ้าภาษาวรรณกรรมเข้ามาอยู่ในวิชาการ

ด้าน อุทิศ กล่าวว่า แม้ว่าจะไม่ได้เขียนงานของตัวเอง แต่ยังคงต้องเขียนตามหน้าที่ของบรรณาธิการคือเขียนบทบรรณาธิการ แม้ในสภาพแวดล้อมที่หายใจไม่ค่อยปลอดโปร่งแต่ก็ยังคงต้องหาทางทำเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญให้ประชาชนรับรู้ ยังพอมีช่องทางในการนำเสนอได้ การไม่มีเสรีภาพทำให้งานต่างๆต้อง Sensor ตัวเอง ยิ่งเราทำงานสร้างสรรค์ผมจึงไม่ค่อยพอใจเลยคิดว่าเวลาที่เราพูดถึงเสรีภาพในการสร้างสรรค์ มันต้องเผื่อพื้นที่ให้ทางศิลปะด้วย

ส่วน คงกฤช ในฐานะผู้อ่านกล่าวว่า ในทางวิชาการการไม่มีเสรีภาพก็ทำให้ลำบากบ้างแต่ในฐานะคนอ่านก็จะเขียนบันทึกของตัวเองไว้ว่าอ่านแล้วได้อะไร ช่วงเวลาแบบนี้ทำให้ได้เห็นว่าในช่วงเวลาลำบาก นักเขียนเขียนงานออกมาได้อย่างไร

ผศ.ดร.เสาวณิต กล่าวว่าชอบคำกล่าวที่พูดถึงวรพจน์ว่าเป็นนกเสรีและนักสัมภาษณ์โบราณ วรพจน์จึงอธิบายว่าการเป็นนกเสรีคงเหมือนอาชีพอิสระ ไปไหนก็ได้แต่กระนั้นอิสระของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะชอบอิสระในการได้อยู่บ้านก็ได้ อีกคำคือนักสัมภาษณ์โบราณ คนกล่าวคงมองว่าทำงานมานานแต่ไม่ได้เติบโตทางหน้าที่การงานแบบแนวตั้งเพราะผมไม่ได้อยากเป็นหัวหน้าใคร เช่น คนอื่นจ้างถอดเทป ให้ทีมงานถอดเทป ในขณะที่ผมยังคงถอดเทปเอง เขาจึงเรียกว่านักสัมภาษณ์โบราณ คือผมคิดว่าการจับประเด็นต่างๆจะดีขึ้นถ้าฟังเทปอีกรอบ ผมชอบทำและไม่อยากส่งมอบสิ่งที่รักให้คนอื่น

ผศ.ดร.เสาวณิต  ยังตั้งคำถามกับคงกฤชว่าทำไมนักปรัชญาถึงต้องอ่านวรรณกรรม มันสัมพันธ์กันอย่างไร ซึ่ง คงกฤช ตอบสั้นๆแต่ได้ใจความว่า วรรณกรรมคือห้องทดลองขนาดใหญ่ทางความคิด

ผศ.ดร.เสาวณิต จึงถามนักเขียนว่า เราเขียนวรรณกรรมโดยปล่อยให้ไหลตามความคิดหรือมีกรอบแนวคิดไว้ก่อน?

อุทิศ กล่าวว่าการสร้างวรรณกรรมก็เหมือนสร้างบ้านหลังหนึ่งที่ต้องมีโครงสร้างและค่อยๆสร้างไปตามที่ต้องการ แต่ภาพรวมของบ้านจะต้องไปด้วยกันได้ เช่น พื้นจะต้องรับกับเสากับคาน แต่พื้นจะเป็นปูนหรือไม้นั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง ในขณะที่วรพจน์บอกว่าผมทำตามความสนใจและเงื่อนไขทางชีวิตมากกว่า งานเขียนของผมไม่ได้เป็นห้องทดลองทางความคิดแต่เป็นการนำเสนอ คือผมเล่าชีวิตจริงๆของคน ซึ่งชีวิตจริงไม่ได้เป็นไปตามแผนอยู่แล้ว ฉะนั้นมันปรับมันเปลี่ยนตลอดเวลา อาชีพผมคือการเล่าเรื่องผมจึงปล่อยมันไปตามธรรมชาติของอาชีพและชีวิตผม ด้านปรีดีกล่าวว่ามักจะมีภาพความโรแมนติกของนักเขียนในมุมมองของคนทั่วไป แต่ความจริงงานเขียนคือการต่อโต๊ะขึ้นมาสักตัว 10% คือความโรแมนติก 90% คือความเหนื่อย คืออยากทำงานเขียนและยอมรับความเจ็บปวดความเหนื่อยที่มากับมัน ไม่ได้มีความโรแมนติกอยู่เสมอ

ขณะที่ช่วงซักถามแลกเปลี่ยน มีผู้ร่วมงานถามว่า เวลาที่ถูกมอบหมายให้เขียนงานที่ขัดกับอุดมการณ์จะทำอย่างไร?

อุทิศ ตอบว่า ผมปฏิเสธงานที่ขัดกับอุดมการณ์เสมอ ถ้าต้องทำงานที่อึดอัดใจในทุกชั่วโมง มันก็เสียสุขภาพจิตแล้วจะทำไปทำไม ผมคิดว่ามันอาจจะมีอย่างอื่นรอเราอยู่ข้างหน้าก็ได้

ขณะที่ วรพจน์ กล่าวว่า งานสื่อมวลชนมีหน้าที่คือทำงาน มืออาชีพไม่เอาความรู้สึกรักเกลียดเข้ามาเกี่ยวข้อง และต้องถามตัวเองว่าคุณให้คุณค่ากับอะไร อุดมการณ์หรือเงิน เราต้องตระหนักว่าเราทำสิ่งที่รักแต่ไม่ได้มีความสุขทุกวินาทีแต่ก็ต้องอยู่กับมัน เพราะมันเป็นสิ่งสามัญที่ต้องมีทั้งทุกข์และสุข

 

หมายเหตุ ที่มาของภาพประกอบ จากเพจ ศิลป์เสวนา