editor
1 April 2015
ม.นอกระบบ สู้กันมานานนับสิบปี ทุกครั้งที่เป็นกระแสสนใจในสังคมก็มักมีคำถามมากมายว่ามันคืออะไร ยังไง ทำไม จึงต้องขอตอบเป็นตอนๆ เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจและเรียนรู้ร่วมกัน เริ่มตอนด้วยคำถามท้าทายสถานการณ์ปัจจุบันคือทำไม ทำไมต้องเร่งรีบผลักดันกันหนักหนาในยุคที่เผด็จการครองอำนาจ(ท่านผู้นำบอกว่าเป็นประชาธิปไตย 99.99 %)
ยังจำได้มั้ย พวกเรายังจำได้มั้ย 19 กย. 2549 รัฐประหารครั้งนั้น ได้มีการตั้งรัฐบาลนำโดย พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการชื่อ วิจิตร ศรีสอ้าน (คนนี้นี่ร้ายการนัก) ได้มีการผลักดัน (คือเร่งรีบมากเลยทีเดียวเชียวแหละ) ให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ จนนำไปสู่การแปรรูปมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้ง ม.จุฬาฯ ม.บูรพา ม.เชียงใหม่ ม.พระจอมเกล้าฯพระนครเหนือ และม.ทักษิณ ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ(ม.นอกระบบ) โดยไม่มีการฟังเสียงนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาคัดค้านกันเป็นจำนวนมาก นักศึกษานับพันคนออกมาเรียกร้องหน้ารัฐสภาแต่ สนช. ในขณะนั้นก็หาได้สนใจ คงนั่งในห้องแอร์ยกมือโหวตให้ผ่านไปอย่างง่ายดาย
เมื่อเข้าสู่ภาวะการเมืองปกติ ก็ไม่มีการนำมหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบได้อีก แม้ทุกพรรคการเมืองจะเห็นดีเห็นงามกับการออกนอกระบบ แต่ทว่าทุกครั้งที่จะมีการผลักดันเรื่องนี้ กระแสค้านก็ดังขึ้นมาโดยตลอด นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งบางครั้งก็ยังคงเกรงใจฐานเสียงของตนเอง หรือบางครั้งก็มีการยุบสภาเนื่องจากปัญหาทางการเมืองจนทำให้ร่าง พรบ. ม.นอกระบบเป็นอันต้องตกไป แต่หากหวังว่าจะมีการยุบสภาในรัฐบาลนี้หรือ คงไม่ต้องพูดถึง
ดังนั้นคำตอบต่อคำถามที่ว่า ทำไมต้องเร่งรัดผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในยุคเผด็จการ มีดังนี้
1. ขั้นตอนการผ่านร่างที่ง่ายและรวดเร็วขึ้น
รัฐบาลปกติ – เมื่อร่างพรบ. ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว จะถูกส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ซึ่งแบ่งเป็น 3 วาระ ดังนี้
วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ มีการอภิปรายชี้แจงหลักการและเหตุผลจากนั้นก็ลงมติว่ารับหรือไม่รับ
วาระที่ 2 ขั้นการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการและการพิจารณารายมาตรา จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา เมื่อเสร็จสิ้นก็จะนำเข้าสู่วาระต่อไป
วาระที่ 3 ขั้นลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมาย จะไม่มีการอภิปรายใดๆอีก เพียงลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ
ลำดับถัดมา สภาผู้แทนราษฎรจะเสนอร่างกฎหมายนั้นต่อวุฒิสภา ซึ่งจะพิจารณา 3 วาระเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร
เมื่อผ่านขั้นตอนตามกระบวนการทั้ง 2 สภา นายกรัฐมนตรีจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้
รัฐบาลเผด็จการ – ขั้นตอนการพิจารณาจะเหมือนกับรัฐบาลปกติ ต่างกันที่ขั้นตอนจะรวดเร็วขึ้นเนื่องจากมีเพียง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เพียงสภาเดียวเท่านั้น ไม่มีวุฒิสภา ดังนั้น สนช. จึงทำหน้าที่เสมือนเป็นสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในคราวเดียวกัน
2. อธิการบดีและอดีตอธิการบดีหลายคนได้สิทธิ์ไปนั่งโหวตร่างกฎหมายนี้โดยไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง คงไม่ต้องขยายความมากนัก กลุ่มคนเหล่านี้คือผู้ผลักดันให้มหาวิทยาลัยของตัวเองออกนอกระบบมาโดยตลอด เมื่อมานั่งเป็น สนช. โดยการแต่งตั้งที่ไม่ผ่านประชาชน จะมีสิทธิ์โหวตร่างกฎหมายนี้ ทำให้เกิดข้อครหาว่า ร่างเอง เสนอเอง โหวตเอง เพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง
3. กฎอัยการศึกคอยควบคุมผู้เห็นต่าง กฎอัยการศึกห้ามมีการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ไม่ว่าเรื่องนั้นจะมีผลกระทบต่อประชาชนมากเพียงใดก็ตาม กลับถูกปิดกั้น ข่มขู่ คุกคาม ดังเช่นวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่นิสิตกำลังรณรงค์ให้ข้อมูลและแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับการออกนอกระบบ กลับถูกตำรวจมาขัดขวางและพูดจาคุกคาม รวมทั้งสั่งให้ลบคลิปที่ถ่ายไว้เพื่อเป็นหลักฐาน ตำรวจสั่งห้ามแสดงออกและกล่าวว่า ถ้ามหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบก็ต้องปล่อยให้ออก ห้ามนิสิตแสดงออก
4. รัฐบาลเผด็จการไม่ต้องกังวลถึงฐานเสียงตัวเอง ดังเช่นที่ นางสุมณฑา พรหมบุญ อดีตอธิการบดี มศว. ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าว(มติชนออนไลน์ 26 มีค. 2558 )โดยระบุว่า “ ขอบคุณรัฐบาลที่กล้าหาญในการเสนอร่างพ.ร.บ.ทั้ง 4 แห่งเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.หากเป็นภาวะปกติ นักการเมืองก็จะห่วงฐานเสียงตนเอง จึงไม่ได้ลำดับความสำคัญในเรื่องนี้เป็นลำดับต้นๆ ” ก็เป็นที่ชัดเจนว่า การเข้ามายึดอำนาจโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งก็ไม่จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชน จึงเกิดการผลักดันร่างกฎหมายนี้อย่างเร่งด่วน
ดังนั้นสรุปได้ว่าในรัฐบาลเผด็จการที่มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นับว่าเป็นโอกาสอันดีของเหล่าผู้รอคอยการสถาปนาอำนาจตัวเองในมหาวิทยาลัย หากไม่เร่งรีบผลักดันก็คงกลัวจะเสียของ เลยขอนิยามสถานการณ์ปัจจุบันว่า ฝนตกขี้หมูไหล คนอะไรนะมาพบกัน ซึ่งแน่นอนที่สุดผลเสียหายร้ายแรงย่อมตกอยู่แก่ประชาชน ... อนิจจา