Skip to main content

กลุ่มเสรีนนทรี ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์ ข้อกังวลของนิสิต หากมีการนำ ม.ออกนอกระบบ ขาดการมีส่วนร่วมของนิสิต และประชาคม เป็นการผลักภาระให้นิสิตนักศึกษา ขาดเสรีภาพทางวิชาการและหลักสูตรที่สร้างกำไร ถูกก่อตั้งได้ง่ายโดยที่ยังไม่ผ่านการรับรอง

1.ขาดการมีส่วนร่วมของนิสิต และประชาคมของมหาวิทยาลัย ในการเข้าไปกำหนด พรบ.เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยไม่ได้ทำประชาพิจารณ์หรือสำรวจความคิดเห็นของนิสิตก่อน ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหารมหาวิทยาลัยอ้างว่าได้ทำประชาพิจารณ์ ให้ข้อมูลกับนิสิตแล้ว แต่ความเป็นจริง นั่นเป็นเพียงเวทีชี้แจง อธิบายว่าขั้นตอนไปถึงไหนแล้ว มีการตั้งธงไว้อยู่แล้ว ถือว่านี่ไม่ใช่เวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น ไม่มีการหาข้อตกลง หาทางออกร่วมกัน อีกทั้งเมื่อมีกลุ่มนิสิตออกมาคัดค้าน ติดแผ่นป้ายตั้งคำถาม ไม่เห็นด้วย ก็ถูกฉีก ถูกดึงออก แสดงให้เห็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้บริหาร

.

.

2 เป็นการผลักภาระให้นิสิตนักศึกษา การที่ผู้บริหารมีอำนาจควบคุมมหาวิทยาลัย สามารถพิจารณาขึ้นค่าเทอมได้ ซึ่งไม่สามารถรู้ได้ว่านำเกณฑ์อะไรมาพิจารณา ขึ้นค่าเทอมจากหลักการอะไร จากเดิมที่เคยขึ้น 3-4 ปีครั้ง อาจขึ้นถี่มากขึ้น และขึ้นในอัตราที่สูงเกินกว่าปกติ เช่น มหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้วบางมหาวิทยาลัย ครั้งหนึ่งเคยมีการขึ้นค่าเทอมในบางคณะ ปีต่อปี และขึ้นค่าเทอมเป็น2เท่า ด้วยเหตุผลว่า คณะต้องดูแลตัวเอง จำเป็นต้องขึ้นค่าเทอม แล้วผู้เรียนละ?

.

.

3.มหาวิทยาลัยจะมีอิสระด้านการบริหารงานบุคคลและการเงินของตนเองอย่างเต็มที่ โดยมีพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐรับรองเป็นการเฉพาะ อาจจะเอื้อต่อการทุจริต และการตรวจสอบอำนาจของผู้บริหารก็เป็นไปได้ยาก อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารมีอำนาจเต็มในการจัดการมหาวิทยาลัย สามารถจัดการทรัพย์สิน ที่ดิน ได้อย่างเต็มที่ เช่น ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบแห่งหนึ่งไล่รื้อที่สถานศึกษา พื้นที่การกีฬา เพื่อนำไปลงทุน จัดการด้วยตนเอง เพราะตัวเองมีอำนาจสามารถทำได้เต็มที่ หรือ สถาบันเทคโนโลยีแห่งหนึ่งที่มีการทุจริตการเงินอย่างมหาศาลเรื่องราวก็เกิดหลังจากที่นำสถาบันออกนอกระบบ

.

.

4.ขาดเสรีภาพทางวิชาการ ตั้งข้อสังเกตในเรื่องเสรีภาพในงานวิจัยของมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยได้รับทุนจากบรรษัททางการเกษตร งานวิจัยของบุคลากร หรือผู้วิจัยที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางของบรรษัทนั้นจะสามารถวิจัยได้หรือไม่

.

.

5. หลักสูตรที่สร้างกำไร ถูกก่อตั้งได้ง่ายโดยที่ยังไม่ผ่านการรับรอง หรืออาจยุบหรือควบรวมหลักสูตรที่ไม่สร้างกำไรหรือไม่ได้รับความนิยม เช่น มหาวิทยาลัยออกนอกระบบในภาคตะวันออก มีกรณีของคณะเภสัชศาสตร์ ที่เปิดรับนิสิตรุ่นแรก ตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งต่อมาเมื่อปี 2554 ไม่ผ่านการรับรองจากสภาวิชาชีพ อีกทั้งยังมีการเก็บค่าเทอมแพงแต่การศึกษาไม่มีคุณภาพ รวมถึงมีการที่มหาวิทยาลัยตัดสินใจปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรให้ เช่น สาขาการสอนสังคมศึกษาที่สังกัดอยู่ในคณะศึกษาศาสตร์

.

.

อีกทั้งร่าง พรบ ม.เกษตร พ.ศ. .... ยังมีข้อชวนสังเกต คือ

มาตรา 8 ปรับปรุงใหม่ล่าสุด 2557

ข้อ 2 ตัดคำว่า เสรีภาพ ออกไป

ข้อ 5 ตัดคำว่า โปร่งใสตรวจสอบได้

และ ในการมีส่วนร่วม ยังคงไม่มีคำว่านิสิต ผู้เรียน บรรจุอยู่ในนั้น