Skip to main content

เมื่อหลายวันก่อนมีข่าวเกี่ยวกับเสื้อประจำคณะของม.ดังแห่งหนึ่งที่มีข้อผิดพลาดจนนักศึกษาออกมาโวย จึงทำให้เกิดความคิดหลายคนก็กำลังหาคำตอบ เรียนมาตั้งแต่อนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษาแล้วเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมสังคมการศึกษาของไทยถึงมีชุดเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา ทั้งที่ประเทศอื่นๆที่พัฒนาแล้ว ไม่มีชุดเครื่องแบบแต่สามารถที่จะผลิตทรัพยากรบุคคลให้มีการศึกษาและมีงานทำได้ วันนี้ ‘คิดเล็ก คิดน้อย’ จะพาไปหาคำตอบของที่มาของชุดเครื่องแบบและฟังทัศนะของนักศึกษาสองหนุ่ม สองมุมที่มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน

เริ่มที่ประเด็นแรกทำไมสังคมการศึกษาของไทยต้องมีชุดเครื่องแบบสำหรับนักเรียน นักศึกษา

เครื่องหมายของอภิสิทธิ์ชนที่แสดงตนไม่เท่าเทียม

“เพราะเป็นสังคมไทยที่มีการปลูกฝังวัฒนธรรมและค่านิยมจากวัฒนธรรมชนชั้นสูงภายใต้อำนาจในรูปแบบของศักดินาด้านการมีความรู้ การใส่ชุดนักศึกษาจึงเหมือนการแสดงความเหนือชั้นในการมีความรู้ที่สูงกว่าบุคคลระดับทั่วไป” สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวไว้ ในบทความ ‘เครื่องแบบ’ คอลัมน์ สยามประเทศไทย มติชนออนไลน์

นศ.ฝ่ายหนุน ระบุ สร้างความภูมิใจ

“โดยส่วนตัวผมนะชุดนักศึกษาแม้จะเป็นชุดที่ถูกปลูกฝังมานานจากวัฒนธรรมแต่ในเมื่อมันเป็นสังคมไทยที่ไม่ใช่สังคมอื่นเราก็ควรที่จะพอใจในวัฒนธรรม เพราะคนไทยได้มองเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการศึกษาไปแล้วโดยเฉพาะคนชนบท พ่อแม่ ญาติพี่น้อง มีความคาดหวังและภูมิใจเพราะวันแรกมันแสดงถึงว่าเราทำให้พวกเขาภูมิใจในตัวเราได้ว่าเราจะเอาความรู้มาช่วยคนช่วยหมู่บ้าน ในหมู่บ้านกำลังมีคนรุ่นใหม่นำความรู้มาช่วยฟื้นฟูในสิ่งที่หายไป” นักศึกษาผู้สนับสนุนเครื่องแบบ กล่าว

คิดเล็ก คิดน้อย : แล้วถ้าชุดเครื่องแบบเหมือนเป็นชุดแห่งความหวังของคนมากมายแล้วรู้สึกอย่างไรกับความคิดของพวกเขา เช่น อึดอัดบ้างหรือเปล่า หรือ เป็นแรงผลักดันอะไรบ้างไหมแล้ว แล้วมีข้อคิดเห็นในเรื่องที่มีข้อบังคับหรือรณรงค์ให้ใส่ชุดนักศึกษาไปเรียน

นักศึกษาผู้สนับสนุนเครื่องแบบ ตอบ “ก็ไม่นะเพราะความคาดหวังจะอยู่ที่ตัวเราเองมากกว่าการใส่ชุดนะ ชุดก็แค่ส่วนที่อยู่ภายนอก บางคนใส่ชุดนักศึกษาแต่ช่วยทำประโยชน์ให้สังคมได้น้อย ส่วนในเรื่องของความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อบังคับหรือรณรงค์อันนี้ก็ให้อยู่ที่ความคิดและความสะดวกของแต่ละคนทุกคนมีมีวุฒิภาวะแล้ว ตัวผมเองก็ขึ้นอยู่กับกาลเทศะการให้เกียรติสถานที่”

ในเมื่อมีชุดนักศึกษาแล้ว ทำไมเราต้องมีเสื้อประจำคณะ ประจำเอก เสื้อเหล่านี้มันก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นหรือเปล่า ในคำถามส่วนนี้มีมุมมองอย่างไรบ้าง ?

ก็เป็นเรื่องปกตินะ มหาวิทยาลัยไหนเขาก็มีกันเหมือนเป็นค่านิยมในปัจจุบันไปแล้ว ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นผมมองว่าเป็นความสมัครใจที่จะจ่ายมากกว่าเพราะทางคณะหรือมหาวิทยาลัยจะเปิดให้สั่งซื้อแต่ไม่ได้บอกว่าบังคับต้องซื้อทุกคน ทำไมต้องมีตรงนี้เพราะอาจเป็นเรื่องของสัญลักษณ์ ความเป็นส่วนหนึ่ง การสร้างความภูมิใจในสถาบัน เช่นมีเรียนแล้วใส่ชุดนักศึกษาเหมือนกันหมดร้อยกว่าคนในห้องเรียนเดียวกันเราอาจจะแยกไม่ออกว่าใครเรียนคณะไหนบ้าง แต่พอเรามีสัญลักษณ์ก็ง่ายที่จะบ่งบอก สามารถสร้างเพื่อนหรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับคณะกับเพื่อนที่มีความสนใจในสาขาต่างของคณะตนเองได้

ในมุมมองของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่บอกว่าชุดนักศึกษาซึ่งอาจรวมถึงเสื้อประจำมหาวิทยาลัย คณะ และสาขาวิชาเป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมระหว่างคนที่เรียนในมหาวิทยาลัยกับคนธรรมดา มุมมองในประเด็นนี้อยากจะเสนออะไรเพิ่มเติมหรือเปล่า ?

 “ไม่ขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มนะ อาจเป็นความคิดของคนแต่ละคนไง เอาเป็นว่าจะใส่ชุดเครื่องแบบหรือเป็นเสื้อที่มีข้อความชื่อสถาบัน หรือใส่แค่เสื้อยืดรูปแบบเหล่านั้นให้อยู่ที่ความรู้สึกและจิตใจที่มีความคิดที่เป็นบวกเพื่อประโยชน์ของสังคมจะดีที่สุดครับ”

นศ.ฝ่ายค้านบังคับใส่เครื่องแบบ ชี้ต้องมีสิทธิ์ที่จะเลือก

และจากนี้เรามาฟังอีกหนึ่งมุมมองจากนักศึกษาดีกรีประธานชมรมหนึ่งแสดงทัศนะเกี่ยวกับประเด็นชุดนักศึกษารวมถึงเสื้อประจำคณะ เสื้อประจำเอก

คิดเล็ก คิดน้อย : ถ้าให้พูดถึงชุดนักศึกษา เสื้อประจำคณะและเสื้อประจำเอก ในมุมมองของคุณเป็นแบบไหน ?

นักศึกษาผู้คัดค้านการบังคับใส่เครื่องแบบ ตอบ “สำหรับผมแล้วอันดับแรกที่ผมจะวิพากษ์อะไรบางอย่างผมจะมองของคนที่การที่คนคนนั้นมีสิทธิ์เลือก ผมไม่เห็นด้วย ชุดนักศึกษา เสื้อคณะ เสื้อประจำเอกหรืออะไรก็ตาม ถ้าหากมันสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ผมว่าก็แล้วแต่ละคน ใครอยากซื้อก็ซื้ออยากใส่ก็ใส่ ไม่อยากใส่ก็ไม่ต้องซื้อ ถ้ามีสิทธิ์ที่จะเลือกแบบนี้ชุดนักอะไรก็แล้วแต่ก็ไม่มีปัญหา แต่หากว่าต้องบังคับต้องใส่ต้องซื้ออันนี้ผมไม่เห็นด้วย เพราะทำให้มนุษย์ไม่มีสิทธิ์เลือกที่จะกระทำและอาจจะกล่าวถึงว่าการตีค่าของชุดนั้นๆด้วยเช่น ถ้าคุณไม่ใส่ชุดนักศึกษาหรือไม่ใส่ชุดนักศึกษาหรือไม่ซื้อชุดอะไรก็แล้วแต่ ถูกมองว่าเป็นนักศึกษาไม่ดี ไม่เรียบร้อย ไม่มีระเบียบ ผมมองไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะเราไปตีค่าของคนคนหนึ่งโดยการมองเสื้อผ้าอาภรณ์ซึ่งแน่นอนว่าคนคนหนึ่งจะดีไม่ดี จะเรียบร้อยไม่เรียบร้อยมันอยู่ที่จิตใจ ไม่ใช่ดูจากชุดใดชุดหนึ่ง

คิดอย่างไรกับมุมองของ สุจิตร วงศ์เทศในคอลัมน์หนึ่งในสยามประเทศไทยที่พูดถึงเกี่ยวกับเรื่องชุดเครื่องแบบนักศึกษารวมไปถึงเสื้อประจำเอก ประจำคณะ ว่ามันเป็นการแบ่งชนชั้นทางปัญญาเมื่อเทียบกับคนธรรมดาทั่วไปในสังคม?

“อย่างที่ผมบอกชุดนักศึกษาหรือชุดอะไรก็แล้วแต่ที่บังคับต้องใส่แสดงว่ามันสื่อคุณค่าอะไรบางอย่าง แน่นอนคุณอาจจะบอกว่าชุดนักศึกษาอาจเป็นชุดที่ทำให้คนรวยคนจนใส่เหมือนกันเพื่อเท่าเทียมกันแต่ที่จริงมันไม่เกี่ยวหรอก มันเกี่ยวตรงที่เราให้คุณค่ากับมันยังไงต่างหาก คุณมองชุดนักศึกษาว่าเป็นชุดที่ดูแล้วสบายตา เรียบร้อยก็ดี แต่ถ้าตีค่าว่าคนที่ไม่ใส่ชุดนักศึกษาไม่ดี ไม่เรียบร้อย คุณก็แบ่งชนชั้นแล้ว เพราะคนที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย ไม่ได้ใส่ชุดนักศึกษาแสดงว่าเขาไม่ดีใช่ไหม อันนี้ก็ต้องถามสังคมดู เพราะหากเราให้คุณค่ากับชุดนักศึกษาหรือเสื้ออะไรก็แล้วแต่มากเกินไป มันก็อาจเป็นวาทกรรมและคุณค่าที่ไปตีความการแบ่งชนชั้นได้”

จากการพูดคุยกับสองนักศึกษาหนุ่มที่ได้สละเวลามาตอบคำถามและแสดงทัศนะในประเด็นที่หลายคนสงสัย อาจทำให้ผู้อ่านหลายๆคนลดความเคลือบแคลงในข้อสงสัยไปได้บ้าง แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นเกี่ยวกับการศึกษาในรูปแบบของสังคมไทยที่ยังคงมีผู้คนมากมายที่ตั้งคำถามและต้องการคำตอบโดยเฉพาะการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย