9 ก.พ.2558 ทางเด็กหลังห้องได้ไปสัมภาษณ์นิสิตนักศึกษาผู้แขวนป้ายผ้า Coup = Corruption และเผด็จการจงพินาศประชาธิปไตยจงเจริญ งานฟุตบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 70 อย่างลับๆ (อ่านรายละเอียดเหตุการณ์ดังกล่าว)
เด็กหลังห้อง: อยากให้เล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่เอาป้ายขึ้นไปชูในสนาม เจอเจ้าหน้าที่ห้ามจุดไหนยังไงบ้าง?
ใช้วิธีการแอบเข้าไป เพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบกระจายอยู่ทั่วงาน ซึ่งต้องใช้ความรวดเร็ว ทำให้เพื่อนบางคนได้รับบาดเจ็บระหว่างงาน คือโดนเหล็กเสียบและข้อเท้าแพลง
งานนี้มีการประสานงานหรือร่วมกันทำกี่กลุ่ม วางแผนนานหรือไม่ ?
ไม่ขอเปิดเผยผู้ร่วมงาน เป็นความร่วมมือกันของนิสิตนักศึกษาระหว่างจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ และกลุ่มอิสระ รวมประมาณ10 กว่าคน เป็นกลุ่มคนหน้าใหม่ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทและอยากแสดงออกความคิดทางการเมือง
มีการวางแผนไม่นาน เพราะออกแบบกิจกรรมใหม่เรื่อยๆให้ออกมาดีที่สุด โดยตั้งเป้าว่าจะนำเสนออย่างไรให้น่าสนใจและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากมีความตั้งใจที่จัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์เพราะหากต้องการให้เกิดความสามัคคีระหว่างสองมหาลัยอย่างที่ว่ากันจริงๆ ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และจะเห็นได้ว่ากลุ่มต่างๆออกมาแสดงออกทางการเมืองในทิศทางเดียวกัน โดยไม่ได้นัดหมาย
ป้าย บนแสตนงานบอล
ทำไมอยากจะสื่อข้อความตามนั้น?
"Coup = Corruption"
มองว่าคอรัปชันเชิงอำนาจเลวร้ายไม่ต่างจากการคอรัปชันทางการเงินเลย ตั้งแต่การรัฐประหารที่ถือว่าเป็นการยึดอำนาจโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน ห้ามคิดต่างและขาดการตรวจสอบที่เป็นระบบ
"เผด็จการจงพินาศประชาธิปไตยจงเจริญ"
เป็นวาทะอมตะของครูครอง จันดาวงศ์ "วีรบุรุษสว่างแดนดิน" นักสู้เพื่อความเท่าเทียมและเสมอภาค ก่อนโดนประหารด้วยลูกปืน90 นัด ตามมาตรา17 ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกับจอมพลสฤษดิ์ โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประเทศชาติ
มีความคล้ายคลึงกับการเมืองการปกครองในปัจจุบัน ซึ่งครูครอง จันดาวงศ์ เป็นผู้ที่ได้ต่อสู้กับอำนาจเผด็จการปกครองในการสมัยนั้น ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงและเขียนเรื่องราววิถีการต่อสู้ของเขามากนัก
มีการประเมินความเสี่ยงไว้หรือไม่ และกระแสตอบรับเป็นอย่างไร ?
มีการประเมินความเสี่ยงให้ผู้ร่วมงานทุกคนปลอดภัยและเลี่ยงการปะทะกับเจ้าหน้าที่ให้มากที่สุด ถือว่ากระแสตอบรับค่อนข้างดีจากผู้พบเห็น โดยเฉพาะจากประชาชนทั่วไปที่ไม่เลือกข้างแต่ต้องการสิทธิเสรีภาพ
วันต่อมาได้พบป้ายปริศนาโผล่หน้าสะพานลอยม.บูรพา รวมทั้งมีการชูป้ายต่อต้านเผด็จการไทยจากญี่ปุ่น ทั้งสองที่มีข้อความ Coup = Corruption และเผด็จการจงพินาศประชาธิปไตยจงเจริญ โดยที่ไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน
ป้ายหน้า ม.บูรพา (อ่านรายละเอียด)
ป้ายต่อต้านเผด็จการไทยจากญี่ปุ่น
จากเหตุการณ์นี้รู้สึกกลัวหรือจะหยุดการทำกิจกรรมไหม ?
เริ่มจากนิสิตที่อาสาถือป้ายเข้าไปในงานทั้งสองคน คนแรกได้กล่าวว่า รู้สึกกลัวในช่วงที่ต้องปฏิบัติการคนเดียว ถ้าถูกจับได้จะทำอย่างไร บางช่วงนี่นึกถึงคนที่อยู่ข้างหลัง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่คิดจะหยุด เพราะถ้าหยุด สิ่งที่ทุกคนพยายามทุ่มเทกันมาก็จะไม่ได้ส่งต่อไปยังคนอื่นๆ ซึ่งก็รู้สึกทั้งกลัว ตื่นเต้น และกดดัน ณ วินาทีนั้น ในหัวกลัวและกังวล แต่ร่างกายมันไปเอง
ในขณะที่นิสิตอีกคนอาสารับหน้าที่ต่อ เนื่องจากนิสิตคนแรกได้รับบาดเจ็บจากการโยนป้ายผ้าเข้าไปในแสตนจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล จึงได้มีการเปลี่ยนแผน โดยขณะถือป้ายเข้าประตูได้ห่างจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียง 1 เมตร พยายามตั้งสติและประเมินความเสี่ยงไปแล้วว่าถ้าเจ้าหน้าที่ค้นเจอก็ยอมโดนจับ ต้องเสี่ยงเพราะการเอาป้ายเข้าไปให้ได้สำคัญกว่า
ส่วนนิสิตที่ร่วมติดป้ายผ้าได้ให้ความเห็นว่า ถามว่ากลัวไหม ผมไม่นะ เพราะสิ่งที่เราทำมันไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพียงแค่รู้สึกกังวลถึงคนรอบข้างผมนิดหน่อย และผมก็มั่นใจว่า ประชาชนคนไทยในอนาคตเมื่อเขามองกลับมาเห็นในสิ่งที่พวกผมทำในวันนั้น เขาจะไม่บอกว่าพวกผมทำสิ่งที่ผิดเช่นกัน ตรงกันข้าม อาจจะชื่นชมด้วยซ้ำไป
อีกคนได้กล่าวว่า เผด็จการสร้างความกลัว และไม่มีมนุษย์คนไหนที่ไม่มีความกลัว ซึ่งหากเรากล้าที่จะเอาชนะความกลัวนั้นได้ก็เท่ากับได้รักษาอุดมการณ์ที่มี เสรีภาพทางวิชาการถูกกีดกันมามากพอแล้ว คิดว่าหากมีพื้นที่เล็กๆให้แสดงออกทางความคิดก็ยังทำต่อไป และต่อให้พวกเราหยุดการทำกิจกรรมก็เชื่อว่ามีคนกลุ่มใหม่เข้ามีบทบาทเรื่อยๆ ตราบใดที่รัฐบาลทหารไม่คืนอำนาจให้กับประชาชน
ภาพประกอบจากเพจ Chulalongkorn Community for the People (CCP)
- 21 views