Skip to main content

นักเรียนกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ออก 11 นโยบายปฏิวัติการศึกษาไทย (ปรับปรุงใหม่) ชูปรัชญาเรื่องการศึกษาเพื่อความเป็นไทให้นักเรียนแต่ละคนมีความหลากหลาย ลดวิชาในหลักสูตรแกนกลาง หนุนการเรียนภาษาอังกฤษและภาษาที่ 3 ลดความเหลื่อมล้ำ ทางด้านสิทธิและโอกาสการศึกษา ส่งเสริมการศึกษาสายอาชีพ เป็นต้น

8 ธ.ค.2557 กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนที่รวมตัวกัน ปัจจุบันมีสมาชิก 50 คน ที่ต้องการปฏิรูปการศึกษา ภายใต้ความคิดที่เชื่อว่าการศึกษาควรเน้นไปที่ตัวมนุษย์และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสำคัญ ได้เผยแพร่ 11 นโยบายปฏิวัติการศึกษาไทย ฉบับปรับปรุงใหม่ ประกอบด้วย การแก้ไขหลักสูตร ลดวิชาในหลักสูตรแกนกลางเหลือเพียง 5 วิชา นโยบายการเรียนภาษาอังกฤษและภาษาที่สาม การเรียนรู้ข่าวสาร การปรับตัว และการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ลดความเหลื่อมล้ำ ทางด้านสิทธิและโอกาสการศึกษา สนับสนุนการศึกษาสายอาชีพ การแก้ปัญหากลุ่มเด็กพิเศษ ส่งเสริมความหลากหลายในโรงเรียนและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน

พร้อมชูปรัชญาเรื่องการศึกษาเพื่อความเป็นไท โดยให้นักเรียนแต่ละคนมีความหลากหลาย มีความสามารถที่แตกต่างกันและต่างควรได้รับการสนับสนุน โรงเรียนเองยังควรเปิดกว้างแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากความหวาดกลัว ส่งเสริมให้มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ถูกครอบงำด้วยแนวคิดแบบอำนาจนิยม อาจเรียกอีกชื่อว่า การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ เน้นนักเรียนสำคัญกว่าสถาบัน เป็นการศึกษาเพื่อดึงศักยภาพของผู้เรียนมาสร้างสรรค์โลก

โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1. การแก้ไขหลักสูตร

ลดวิชาในหลักสูตรแกนกลางเหลือเพียง 5 วิชา คือ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ ซึ่งจะให้ความรู้แบบพื้นฐานสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ และวิชาเลือกให้นักเรียนเลือกว่าจะเรียนวิชาใด ประกอบด้วย หน่วยวิชาการ(เช่น ฟิสิกส์เพิ่มเติม1-2-3 ชีววิทยา1-2-3 ประวัติศาสตร์ไทย เศรษฐศาสตร์) หน่วยการงาน (เช่น เย็บปัก เกษตร ทำอาหาร คอมพิวเตอร์) หน่วยศิลปะ (เช่น วาดภาพ เล่นดนตรี) หน่วยกีฬา(เช่น ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล ฟุตบอล) โดยอัตราส่วนของวิชาหลักต่อวิชาเลือกคือ 1:1 ที่เหลือเป็นวิชาพัฒนาผู้เรียน เช่น ชมรม แนะแนว(แนะแนว จิตวิทยา และ สุขศึกษา รวมกัน)

โดยทุกวิชานั้นไม่ควรมีเนื้อหากลางที่บังคับจนเกินไป ควรเป็นเนื้อหายืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยได้ในแต่ละเวลา การเรียนการสอนในห้องเรียน ควรมีการเรียนการสอนที่ให้เด็กรู้จักการคิดวิเคราะห์ การแสดงความคิดเห็น เป็นการเรียนรู้แบบเข้าใจ ไม่ใช่ท่องจำ ให้การเรียนรู้ที่น่าสนใจมากขึ้น มีการทำงานเป็นโครงงาน

2. นโยบายภาษาต่างประเทศ เพื่อการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

นโยบายการเรียนภาษาอังกฤษ

• การเรียนภาษาอังกฤษ ต้องเน้นการใช้งาน การพูด การเขียน การสนทนา ควบคู่กับไวยากรณ์และคำศัพท์ เพิ่มการเรียนในภาคปฏิบัติ เช่น การนำเสนองานเป็นภาษาอังกฤษ การเขียนรายงาน โครงงาน บทความเป็นภาษาอังกฤษ หรือการสนทนาเป็นภาษาอังกฤษในสถานการณ์ต่างๆ

• สื่อในด้านการเรียนการสอนควรจะเป็นสื่อที่สามารถประยุกต์กับชีวิตประจำวันได้ เช่น ภาพยนตร์ที่มีบรรยายหรือพากย์เป็นอังกฤษ ข่าวภาษาอังกฤษ หรือกิจกรรมเกม

• การสอบภาษาอังกฤษในโรงเรียน ควรมีการสอบสนทนาภาษาอังกฤษกับอาจารย์ด้วย

นโยบายการเรียนภาษาที่สาม

• โรงเรียนควรเปิดโครงการศูนย์ภาษาที่สามโดยมีภาษาให้เลือกอย่างน้อย 3 ภาษา ภาษาอะไรก็ได้ โดยหนึ่งภาษาควรจะเป็นภาษาในอาเซียน

• โครงการแลกเปลี่ยนอาจารย์ โดยให้อาจารย์ต่างชาติมาสอนภาษาและวัฒนธรรม เป็นเวลา 1 เทอม

• ในการเรียนวิชาภาษาที่สาม ควรสอดแทรกเรื่องของสังคมและวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ลงไปด้วย

3. นโยบายเข้าสู่ ASEAN การเรียนรู้ข่าวสาร การปรับตัว และการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับประเทศในกลุ่มอาเซียน

• ในวิชาสังคมศึกษา ควรส่งเสริมการให้ข้อมูล และการประยุกต์ใช้กับประชาคมอาเซียน ในเนื้อหาเศรษฐศาสตร์ ควรสอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจ และการบริหารธุรกิจในอาเซียน เช่น เรื่องเขตการค้าเสรี เรื่องกำแพงภาษี การบริหารธุรกิจในอาเซียน การท่องเที่ยว เศรษฐกิจในแต่ประเทศ ในเนื้อหาหน้าที่พลเมือง ควรมีการสอนเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและเดินทางในต่างประเทศ วัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันในประชาคมเซียน

• ในการเรียนวิชาสังคมศึกษา ควรสอนให้นักเรียนรู้จักติดตามข่าวสาร สถานการณ์ ทั้งในประเทศ ในอาเซียน และข่าวโลก ที่มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งนักเรียนต้องสามารถวิเคราะห์ข่าวสาร และนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้ เพื่อให้เกิดการปรับตัวและพัฒนาของนักเรียนในอนาคต

• การเรียนรู้เรื่องประชาคมอาเซียน ควรเรียนรู้ในเชิงการนำความรู้ไปใช้ มากกว่า ในเชิงสัญลักษณ์ เช่นการจำธงชาติ หรือการจำคำสวัสดีของแต่ละประเทศในประชาคมอาเซียน

• ควรส่งเสริมเรื่องระเบียบ จิตสาธารณะ และมารยาทสังคมให้มากขึ้น เช่นส่งเสริมให้เกิดการเข้าแถว การทิ้งขยะให้ลงถัง เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน

• หน่วยงานเอกชนต่างๆ ควรในความสำคัญต่อการศึกษาเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน เช่นการสร้างห้องสมุด แหล่งข้อมูล พิพิธภัณฑ์ หรืออื่นๆที่สามารถสร้างการศึกษาที่ดีกับนักเรียนในเรื่องประชาคมอาเซียนได้

4. การลดความเหลื่อมล้ำ ทางด้านสิทธิและโอกาส

ปัญหางบประมาณกระจุกอยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่

• กระจายงบประมาณไปยังโรงเรียนในชนบทเพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนเหล่านี้ เช่น เพิ่มงบประมาณให้แต่ละโรงเรียนในการพัฒนาห้องสมุดโรงเรียน อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีต่างๆที่จำเป็นต่อการเรียนการสอนและการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพด้วยตนเองของโรงเรียนรัฐ

ปัญหาการขาดแคลนครูและปัญหาด้านคุณภาพของครู

ควรมีมาตรฐานที่ชัดเจนในการจัดสรรครูเข้าสู่ระบบ

สร้างแรงจูงใจด้วยการเพิ่มเงินเดือน

พัฒนาการศึกษาครุศาสตร์ และส่งเสริมทัศนคติที่ดีของสังคมต่ออาชีพครู

กระจายครูเข้าสู่ชนบทให้เพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอต่อความจำเป็นด้วยการส่งเสริมโครงการครูชนบท

ปัญหาฐานะทางเศรษฐกิจสร้างความเหลื่อมล้ำในอนาคต

• ควรมีนโยบายที่ลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ครอบครัวมีฐานะยากจน เช่น ทุนการศึกษา ทุนอาหารกลางวัน หรือ นโยบายเรียนฟรีอย่างแท้จริง อย่างมีคุณภาพและเสมอภาค

• ควรกระจายศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนเตรียมเด็กอนุบาลให้เข้าถึงในทุกๆพื้นที่ในชนบท เพื่อให้เด็กมีความพร้อมและเท่าเทียมกับเด็กในเมือง

• การศึกษาควรเป็นรัฐสวัสดิการ การศึกษาต้องเป็นหนึ่งในสวัสดิการพื้นฐานสำคัญที่รัฐต้องให้การสนับสนุน เพื่อสิทธิทางการศึกษาที่เท่าเทียมของคนทุกชนชั้นและหลักประกันด้านการศึกษา ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษา การศึกษาอย่างเท่าเทียม

5.การสนับสนุนสายอาชีพ

• เพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้เรียนสายอาชีพ

• จัดกิจกรรมให้ความรู้และสร้างค่านิยมใหม่ๆเกี่ยวกับการศึกษาในสายอาชีพ

6. การจัดตั้งสถาบันหนังสือ

จัดตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติและเพิ่มแหล่งการเรียนรู้ที่ทันสมัยแก่ประชาชนทั่วไปให้เข้าถึงได้อย่างแท้จริง เป็นสถาบันอิสระในสังกัดรัฐบาลที่ส่งเสริม ดูแลเรื่องการอ่าน ระบบหนังสือสาธารณะของชาติ และวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ โดยให้สถาบันหนังสือแห่งชาติเป็นศูนย์กลางการบริหารและบริการประชาชนในเรื่องหนังสือ และข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องทันสมัย มีการวางแผนนโยบายจากความคิดเห็นของนักเรียนนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าใจเรื่องปัญหาการอ่านของคนไทย เพื่อแก้ไขปัญหา รวมทั้งเพิ่มแหล่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย และมีชีวิตชีวาให้แก่ประชาชนในแต่ละจังหวัดได้มีโอกาสเข้าถึงและใช้บริการเพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ผู้คนในแต่ละท้องที่ได้มาร่วมกันทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ ในสถานที่ที่มีความพร้อมเอื้อแก่บรรยากาศการเรียนรู้แก่ประชาชน เพราะเรื่องการอ่านสามารถสร้างนิสัยการรักที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะมีการบริหารจัดการเรื่องการอ่านอย่างจริงจัง

7. การแก้ปัญหากลุ่มเด็กพิเศษ

7.1. กลุ่มเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญาและการเรียนรู้

ปัจจุบันสถานศึกษาของภาครัฐมีความพร้อมในระดับต่ำในการดูแลเด็กพิเศษเหล่านี้ อีกทั้งค่านิยมในสังคมไทยยังให้การยอมรับคนกลุ่มนี้ในระดับต่ำ รัฐจึงควรให้การสนับสนุนทั้งด้านทรัพยากรในสถานศึกษา และด้านสังคมโดยการส่งเสริมทัศนคติที่ดีของสังคมต่อคนเหล่านี้

7.2. กลุ่มเด็กที่มีปัญหากับการเข้าสังคม มีปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรง

ถ้าไม่เกิดการแก้ปัญหากับกลุ่มเด็กเหล่านี้ จะเป็นปัญหาต่อสังคมอย่างมาก เด็กที่ไม่สามารถเข้าสังคมได้ ต้องมีการแก้ปัญหาที่ตัวเด็ก และสภาพครอบครัว ทางรัฐต้องจัดหน่วยงานที่สามารถไปสานสัมพันธ์และปรับความเข้าใจในตัวเด็กได้ ส่วนปัญหาเด็กที่ชอบใช้ความรุนแรงเป็นทางออก ต้องแก้ไขทั้งสภาพแวดล้อมในโรงเรียน เพราะเด็กประเภทนี้มักจะมารวมตัวกัน ต้องมีการแก้ไขมาตั้งแต่สภาพครอบครัวที่แตกแยกมีปัญหา จนถึงการมองนักเรียนกลุ่มนี้ของครูบาอาจารย์ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการแก้ไขพฤติกรรมด้วยความรัก ความเข้าใจ การตักเตือน ไม่ใช่ใช้ความรุนแรงกลับ

7.3. เด็กที่มีการตั้งครรภ์ในวัยเรียน

ปัญหาของเด็กกลุ่มนี้ ถือว่าสำคัญและร้ายแรงมาก การตั้งครรภ์ในวัยเรียนมีปัญหามาจากการไม่เข้าใจเรื่องเพศศึกษาอย่างแท้จริง มาจากสภาพแวดล้อมทั้งหมด การมีความสัมพันธ์ในชู้สาว และการถูกหลอกลวง ปัญหาเรื่องการท้องในวัยเรียนถือว่ามีปัญหามาก ส่วนใหญ่เทื่อตั้งครรภ์แล้วมักเรียนไม่จบการศึกษา อาจมีปัญหามาถึงการทำแท้งเถื่อน การฆ่าตัวตายหนีปัญหา และอื่นๆอีกมากมาย การแก้ปัญหาต้องเกิดจากการให้ความสำคัญด้านการศึกษาเรื่องเพศ ต้องมีการเรียนรู้แต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ป.4 ไม่ใช่ในชั้น ป.6

8.การประเมินสถานศึกษา ครู และนักเรียน

1. การประเมินสถานศึกษา

1.1.การประเมินโรงเรียนจากหน่วยงานภายนอก ควรทำการประเมินอย่างลับ หรือไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เพื่อให้ได้ผลมาเป็นจริงที่สุด

1.2.การประเมินโรงเรียน ควรให้สิทธ์นักเรียนในการแสดงความคิดเห็น ว่าโรงเรียนควรแก้ไขและพัฒนาในเรื่องใด

2. การประเมินอาจารย์

1.1.การประเมินคุณภาพอาจารย์ก่อนเข้าทำงาน

• การประเมินอาจารย์ มีหลักในการประเมินคือ มีความรู้ในรายวิชา มีความสามารถในการสอน และมีจิตวิทยาที่ดี

• การทดสอบอาจารย์จะแบ่งเป็น 1. การสอบข้อเขียน เพื่อทดสอบความรู้ในวิชานั้นๆ 2.การสอบสัมภาษณ์ เพื่อทดสอบคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของอาจารย์ 3.การสอบการทำการเรียนการสอน เพื่อสอบความสามารถในการสอน และจิตวิทยาในการสอน

• การประเมินอาจารย์ ต้องทำอย่างเคร่งครัด เข้มงวด ไม่ให้มีจุดรั่ว

1.2.ให้สิทธินักเรียนประเมินการทำงานและคุณลักษณะของอาจารย์

• การประเมินอาจารย์ ควรทำเทอมละครั้ง ขั้นตอนการประเมิน ต้องจัดในคาบที่มีเวลาว่าง ให้เด็กนักเรียนเขียนว่าอาจารย์ผู้ใดมีลักษณะที่ควรปรับปรุง ทั้งด้านการทำงาน มารยาท และอื่นๆ แล้วส่งให้ผู้อำนวยการโรงเรียนพิจารณา เมื่อผู้อำนวยการณ์พิจารณาแล้ว ก็มีสิทธิ์ที่จะพูดคุยปรึกษากับอาจารย์ ตักเตือน ทำทัณฑ์บน หรือไล่ออกตามแต่สมควร

• อาจารย์ไม่มีสิทธิ์ยุ่งเกี่ยวกับผลการประเมิน และผลการประเมินนี้ต้องเป็นความลับ มีแค่ผู้อำนวยการเท่านั้นที่รู้

3. การประเมินนักเรียน

• ลดการสอบประเมินผล เช่น O-net LAS ให้น้อยลง เพิ่มคุณภาพข้อสอบให้ดีขึ้น ควรจัดข้อสอบให้เหมาะสมกับเด็ก

ยกเลิกบันทึกความดี เนื่องจากไร้ประสิทธิภาพในการสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองและส่งเสริมค่านิยมทำความดีเอาหน้า

9. ส่งเสริมความหลากหลายในโรงเรียน

สังคมมนุษย์มีความหลากหลาย การศึกษาจึงควรปลูกฝังให้ผู้เรียนมีทรรศนะเปิดกว้างต่อความแตกต่างในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ศาสนา วัฒนธรรม ความคิดและความเชื่อต่างๆ การเรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่างตั้งแต่ในระดับโรงเรียนเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่สังคมที่มีสันติภาพซึ่งเริ่มต้นจากการอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างและเปิดใจรับฟังความคิดของผู้อื่นอย่างมีเหตุผล

โรงเรียนไม่ควรกีดกันคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้เป็นชายขอบของสังคม ปัญหาที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือปัญหาการกีดกันกลุ่มความหลากหลายทางเพศในโรงเรียน นักเรียนกลุ่มนี้ถูกเหมารวมว่าเป็นนักเรียนที่ผิดปกติและได้รับการปฏิบัติที่ด้อยกว่านักเรียนทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด นอกจากการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานจากทางโรงเรียนแล้ว นักเรียนกลุ่มนี้ยังถูกเพื่อนในชั้นเรียนกลั่นแกล้ง สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างซึ่งควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

10. ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน

กระทรวงศึกษาธิการควรกำหนดมาตรการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนอย่างจริงจัง อาทิเช่น ยกเลิกการให้อำนาจโรงเรียนในการกำหนดระเบียบทรงผม เปิดช่องทางร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน ฯลฯ

ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่พบได้บ่อยในโรงเรียนมีดังนี้ :

1. ทรงผมนักเรียน

โรงเรียนจำนวนมากในประเทศไทยเวลานี้ยังมีการบังคับกฎเกณฑ์เรื่องทรงผม โดยบังคับให้นักเรียนชายต้องตัดผมทรงเกรียนและนักเรียนหญิงต้องไว้ผมสั้นเสมอติ่งหู ในบางสถาบันมีการลงโทษนักเรียนที่ทำผิดกฎโดยการกล้อนผมและประจานให้อับอายซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษย์ชน ทรงผมนักเรียนปลูกฝังจิตสำนึกแบบอำนาจนิยมที่ปราศจากการตั้งคำถาม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความงอกงามทางความคิดของนักเรียน และบั่นทอนทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ซึ่งต้องอาศัยการตกผลึกของความคิดที่แตกต่าง

2. การใช้ความรุนแรงต่อนักเรียน

แม้ว่าจะได้มีการยกเลิกการลงโทษนักเรียนด้วยการเฆี่ยนตีไปแล้ว แต่การใช้ความรุนแรงต่อนักเรียนก็ยังปรากฏอยู่ในระบบการศึกษาไทย การใช้ความรุนแรงไม่ได้จำกัดเฉพาะการทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการลงโทษประเภทอื่นๆเช่น การบังคับวิ่งรอบสนาม การพูดประจาน ดูถูกความเป็นมนุษย์ทำให้เกิดความอับอาย สิ่งเหล่านี้ได้บั่นทอนจิตใจของนักเรียนมาอย่างยาวนาน แต่เนื่องด้วยสถานะที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในโรงเรียน นักเรียนจึงต้องยอมทนกับความรุนแรงเหล่านี้

11. ปรัชญาเรื่องการศึกษาเพื่อความเป็นไท

นักเรียนแต่ละคนมีความหลากหลาย มีความสามารถที่แตกต่างกันและต่างควรได้รับการสนับสนุน โรงเรียนเองยังควรเปิดกว้างแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากความหวาดกลัว ส่งเสริมให้มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ถูกครอบงำด้วยแนวคิดแบบอำนาจนิยม อาจเรียกอีกชื่อว่า การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ เน้นนักเรียนสำคัญกว่าสถาบัน เป็นการศึกษาเพื่อดึงศักยภาพของผู้เรียนมาสร้างสรรค์โลก