วิทยาลัยประชาชนเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนประชาธิปไตย หวังการมีส่วนร่วมนโยบายภาครัฐของเยาวชนชายแดนใต้ สร้างสังคมสันติภาพได้ ชี้สันติภาพไม่เพียงแค่การปฏิเสธเสียงปืน-ระเบิด แต่คือการมีชีวิตที่เป็นปกติสุข ประชาชนมองเห็นปัญหาในชุมชนและสามารถเรียกร้องสิทธิที่ควรจะได้รับอย่างเสรีและเท่าเทียมกัน
ระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา วิทยาลัยประชาชน(People’s college) ซึ่งเป็น องค์กรภาคประชาสังคมประเภทสถาบันวิชาการภาคประชาชนเพื่อให้การศึกษา อบรม และเผยแพร่ความรู้ในประเด็นสันติภาพ สิทธิมนุษยชนและการเมืองการปกครองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดกิจกรรมอบรม “เยาวชนกับการมีส่วนร่วมในนโยบายภาครัฐ” ณ ห้องประชุมเฟื้องฟ้า โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท จังหวัดสงขลา โดยมีผู้นำเยาวชนในสถาบันการศึกษาหรือผู้นำกลุ่มเยาวชนที่ทำกิจกรรมในพื้นที่จำนวนกว่า30คน เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้
นายแวอิสมาแอล์ แนแซ ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการไว้ว่า ต้องการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนพูดคุย แลกเปลี่ยนในประเด็นประชาธิปไตยเพื่อนำไปสู่การเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการนโยบายภาครัฐ เนื่องด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นพื้นที่หรือแม้แต่ประเทศอยู่ในสภาวะเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เยาวชนจำเป็นต้องมีความรู้และสามารถมีพื้นที่แลกเปลี่ยนเพื่อหาแนวทางออกร่วมกัน นอกจากนั้นวิทยาลัยชุมชนยังหวังให้เยาวชนสร้างเครือข่ายนักเสริมสร้างธรรมมาภิบาลและสร้างสันติภาพในพื้นที่
การอบรมในครั้งนี้เยาวชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาในชุมชนหรือสังคมของตัวเอง และยังสามารถเสนอวิธีการแก้ปัญหาแตกต่างกันออกไป ลองฟัง(อ่าน)เสียงของพวกเขาเล่าถึงปัญหา ในชุมชน
“ปัญหาของบ้านผมคือปัญหาวัยรุ่นในชุมชนไปทำงานประเทศมาเลเซีย ปัญหาที่ตามมาคือบ้านเราขาดเยาวชนผู้เป็นความหวังของชาติทำให้กิจกรรมต่างๆก็ขาดไปด้วย เมื่อเยาวชนมีงานแล้วก็ไม่สนใจที่จะศึกษา”
“ที่บ้านฉันมีปัญหาไร คงเป็นเรื่องผู้นำในหมูบ้านที่แบ่งเป็น2ฝ่าย แต่ละคนต้องการแย้งอำนาจกัน และก็คิดไม่เหมือนกัน สิ่งที่ฝันอยากจะทำเพื่อแก้ปัญหาอยากให้ผู้นำหันหน้าคุยกันเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนแก่ลูกหลานต่อไป”
“ปัญหาอาชีพเกษตรกรในพื้นที่ เมื่อฝนตกชาวบ้านกรีดยางไม่ได้ ทำงานไม่ได้ ก็ไม่มีงานอื่นทำ จริงอยู่ที่ มอ.ปัตตานีเรามีนักศึกษาที่เรียนเอกยาง หรือนักศึกษาที่สามารถเข้าไปให้ความรู้กับพี่น้องเกษตรกรได้ผมอยากเชิญชวนนักศึกษาที่มีความสารถเข้าไปช่วยแก่ปัญหา ผมคิดว่าอยากให้มีคนเข้าไปจัดการเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าเมื่อวันนั้นมาถึง ทุกอย่างจะพร้อมแล้วปัตตานีจะไปข้างหน้า”
“ปัญหาที่ผมเห็นคือปัญหาเยาวชนติดยาเสพติด ผมว่ายาเสพติดเป็นปัญหาหลักของสังคม เยาวชนเป็นแกนนำสำคัญไม่อยากให้เสียอนาคต การแก้ปัญหาผมคิดว่าอยากให้คนที่มีการศึกษากลับมาให้ความรู้เรื่องปัญหายาเสพติด และพ่อแม่ควรเข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆของเยาวชน”
ปัญหาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของอีกหลายปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนของพวกเขา ถูกสะท้อนผ่านพื้นที่เสรี พื้นที่หนึ่งที่วิทยาลัยชุมชนจัดขึ้น เห็นได้ว่าพวกเขามองปัญหาทุกแง่มุม เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดี เพราะพวกเขาคือคนในพื้นที่ เมื่อมองเห็นปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาแล้ว ก้าวต่อไปคือนำเครื่องมือจากการเรียนรู้เพื่อไปต่อยอดสร้างสังคมที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคน สันติภาพไม่เพียงแค่การไม่มีความรุนแรง สันติภาพไม่เพียงแค่การปฏิเสธเสียงปืนเสียงระเบิด เท่านั้น แต่สันติภาพคือการมีชีวิตที่เป็นปกติสุขประชาชนมองเห็นปัญหาในชุมชนและสามารถเรียกร้องสิทธิที่ควรจะได้รับอย่างเสรีและเท่าเทียมกัน
นาซูฮา มามุ คณะกรรมการฝ่ายสตรีกลุ่ม Permas กล่าวถึงพลังของเยาวชนต่อความหวังในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมชายแดนใต้ไว้ว่า ตัวเราเองมีสิทธิพื้นฐานคือการเป็นนักศึกษาเราสามารถเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับภาครัฐเพื่อการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในนโยบายของรัฐที่ประชาชนมีส่วนได้ส่วนเสียเราสามารถเป็นตัวกลางเรียกร้องความเป็นธรรมเมื่อนโยบายไม่ตอบสนองประชาชนจริงๆ
นาซูฮา กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำคัญของการจัดกิจกรรมของเยาวชนว่า การจัดค่ายค่ายหนึ่ง มันอาจจะเป็นการจุดประกายให้กับเยาวชนมีแรงบันดาลใจและเพิ่มองค์ความรู้ เยาวชน เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมและ กิจกรรมยังสามารถทำให้เขารู้จักความสามัคคีอีกด้วย
รอมลี สาซู นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า เยาวชนต้องรู้จักตั้งคำถามต่อสิ่งรอบตัว เราไม่จำเป็นต้องชวนกันให้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาสังคม เพราะมันคือหน้าที่ของเยาวชน หลังกลับค่ายนี้จะนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช่กับพื้นที่ หมู่บ้าน ชุมชน สังคม และอยากกลับไปจัดกิจกรรมดีๆเพิ่มศักยภาพให้แก่เยาวชน คิดว่ากิจกรรมสามารถผลิตเยาวชนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิพลเพื่อเขาสามารถพัฒนาสังคม ร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นๆ และคิดว่าสังคมที่สงบสุข ก็จะเกิดขึ้น
- 4 views