กลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชนออกแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบ 6 เดือนการรัฐประหาร เรียกร้องให้ คสช. ยุติการใช้กฎอัยการศึก หยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน คืนอำนาจอธิปไตยสู่ประชาชน วอนสโมสรและองค์การนิสิตนักศึกษา ทั่วประเทศปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของนิสิตนักศึกษา ไม่ยอมรับและไม่สนับสนุนอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย
นิสิตกลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน หรือ Chulalongkorn Community for the People (CCP) ออกแถลงการณ์ เนื่องในโอกาสครบ 6 เดือนการรัฐประหาร โดยระบุว่า ตลอดระยะเวลาหกเดือนที่ผ่านมาหลังกลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่า "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)" เข้ายึดอำนาจการปกครองจากประชาชน ปรากฏชัดว่ามีการใช้อำนาจกฎอัยการศึกละเมิดสิทธิประชาชนอย่างป่าเถื่อนแบบ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบหลายสิบปี การละเมิดสิทธินั้นเริ่มตั้งแต่ด้านพื้นฐานที่สุดอย่างการแสดงความคิดเห็น มีการประกาศเรียกประชาชนที่คิดต่างจากตนมากกว่า 500 คน และมีผู้ถูกจับกุมเกิน 200 คน ขณะนี้ยังคงมีการไล่ล่าผู้เห็นต่างที่ยังไม่ยอมสยบยอมต่ออำนาจคสช. อย่างต่อเนื่องและยังคงมีการใช้อำนาจอย่างป่าเถื่อนเช่น การบีบบังคับองค์กรที่มีอำนาจเหนือกว่าให้ลงโทษผู้คิดต่าง การเข้าไปข่มขู่ครอบครัวและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ที่ประกาศตนต่อต้าน คสช. เป็นต้น
การแสดงความคิดเห็นที่ถูกปิดกั้นอย่างเข้มงวดนี้เองทำให้คำโฆษณาของ คสช.ที่กล่าวว่าตนจะ"คืนความสุข" โดยการตรวจสอบและลงโทษการทุจริตอย่างเข้มข้นเป็นไปอย่างน่าเคลือบแคลงใจยิ่ง ประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติงบประมาณ การจัดตั้งองค์กรที่อ้างว่าเป็นคนกลางเข้ามาปฏิรูปประเทศให้พ้นจากวิกฤติการเมือง หรือการบริหารงานซึ่งปรากฏชัดว่าล้วนแต่เป็นการเติมเชื้อเพลิงความขัดแย้งเพราะผู้ได้รับประโยชน์ล้วนแต่เป็นคู่ขัดแย้งของรัฐบาลที่ถูกโค่นล้มด้วยการรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ทั้งสิ้น
สำหรับเวทีปฏิรูปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงานหรือกรณีเขื่อนแม่วงก์ก็เป็นที่แน่ชัดว่าไม่มีทางดำเนินการไปได้อย่างเสรี ดังปรากฏเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจเข้าควบคุมพื้นที่บันทึกข้อมูลและวิดีโอตลอดกิจกรรมต่างๆ ของประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องเวทีการเมืองระดับชาติอย่างสภาปฏิรูปที่แต่งตั้งขึ้นมาใหม่ก็ไม่มีอำนาจยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด หากแต่ยังรับเงินจากภาษีประชาชนโดยที่สมาชิกสภาไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินเพื่อการตรวจสอบอีกด้วย
รัฐบาลคสช. ไม่ให้ความสำคัญและเพิกเฉยต่อหลักเสรีภาพของประชาชน เห็นได้จากการปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชนไปจนถึงการออกคำสั่งห้ามกิจกรรมสาธารณะที่ถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเพียงเพราะการกระทำเหล่านั้นถูกหยิบมาใช้เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านอำนาจรัฐประหาร เช่น การรับประทานแซนด์วิชก็กลับกลายเป็น “ภัยต่อความมั่นคง” การรับประทานอาหารเป็นกลุ่ม การอ่านวรรณกรรมอย่างหนังสือเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออเวลล์ และการแสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้วจากภาพยนตร์ในที่สาธารณะ
นอกจากนี้ ประเด็นที่เกี่ยวพันกับนักศึกษาโดยตรงอย่างเรื่องเสรีภาพทางวิชาการนั้น ก็ถูกปิดกั้นด้วยการสั่งยกเลิกงานเสวนาวิชาการจำนวนมาก ออกคำสั่งให้ส่งเอกสารขออนุญาตก่อนจัดการเสวนาที่ คสช. มองว่าเกี่ยวข้องกับความไม่สงบเรียบร้อย นักวิชาการไม่สามารถแสดงความคิดเห็นแม้ในวงเสวนาวิชาการ รวมถึงการให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปสอดแนมการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาและงานเสวนาวิชาการต่างๆทั่วประเทศ ทั้งนี้ยังไม่นับเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษาที่ถูกคุกคามอย่างหนัก ดังเช่นกรณีการควบคุมตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นกลุ่มดาวดินเพียงเพราะพวกเขา “ชูสามนิ้ว”มีการตามข่มขู่ย้อนหลัง หรือกรณีการปรับค่าเสียหายนิสิตกลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชนซึ่งทำการแขวนป้ายรำลึก 8 ปีรัฐประหาร 19 กันยา โดยอ้างถึงพรบ. ความสะอาด
กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (CCP) ในฐานะกลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่รักประชาธิปไตย จึงประกาศแสดงจุดยืนไม่ยอมรับการรัฐประหาร และมีข้อเรียกร้องดังนี้
1. ขอให้คณะคสช. ยุติการใช้กฎอัยการศึก หยุดการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการในสถานศึกษา ที่ซึ่งควรจะเป็นสถานที่ที่นำปัญญามาสู่สังคม
2. ขอให้สโมสรและองค์การนิสิตนักศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำหน้าที่ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของนิสิตนักศึกษา ในฐานะที่พื้นฐานขององค์กรนั้นมาจากการเลือกตั้งและหน้าที่หลักคือปกป้องสิทธิประโยชน์ของนิสิตนักศึกษาผู้เลือกตัวแทนเข้าไป
3. ขอให้สโมสรและองค์การนิสิตนักศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ ร่วมกันแสดงออกว่าไม่ยอมรับและไม่สนับสนุนอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตยทั้งในมหาวิทยาลัยและในสังคม รวมถึงร่วมกันประณามคณะคสช. ซึ่งยึดอำนาจด้วยวิธีการอันมิชอบ เพราะว่าเหนือสิ่งอื่นใด องค์การนักศึกษาทั้งหลายที่ขึ้นสู่อำนาจโดยการเลือกตั้ง ควรจะเคารพหลักการอันเป็นที่มาของอำนาจของตน อย่างน้อยที่สุด องค์การนักศึกษาทั้งหลายต้องไม่เข้าไปมีส่วนร่วมใด ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับคณะคสช.
4. ขอให้คณะคสช. คืนอำนาจอธิปไตยสู่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง เพื่อให้ได้รัฐบาลของประชาชนเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศอย่างถูกต้องตามหลักการสากล เพื่อป้องกันการถูกคว่ำบาตรจากต่างประเทศทั่วโลกที่มีกระแสหลักยอมรับการปกครองแบบประชาธิปไตย และที่สำคัญที่สุดคือเพื่อความเท่าเทียมกันของคนทุกเสียง อันเป็นหัวใจในการบริหารประเทศแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
- 6 views