เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 โครงการปริญญาโทสาขาสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในหัวข้อ“ปรากฏการณ์เควียร์: เมื่อกะเทยบวชพระ กะเทยเกณฑ์ทหาร” ร่วมพูดคุยโดย พันโท ปิยะชาติ ประสานนาม และ พระชาย วรธัมโม โดยมี ดร.สุกฤตยา จักรปิง เป็นผู้ดำเนินรายการ
พันโทปิยะชาติ ซึ่งเคยเป็นคณะกรรมการแก้ไขระเบียบว่าด้วยการเกณฑ์ทหารของเพศที่สามได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์และหลักปฏิบัติในการเกณฑ์ทหารของเพศที่สามว่า หลังจากมีกรณีของน้องน้ำหวาน (มีสภาพเป็นผู้หญิง) ที่ไปเกณฑ์ทหารแต่โดนระบุในใบรับรองแพทย์ที่ออกโดนกองเกณฑ์ทหารว่าเป็นโรคจิต ทำให้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของน้ำหวานมาก น้ำหวานไม่สามารถไปสมัครทำงานในที่ต่างๆ ได้ น้ำหวานจึงได้ดำเนินการร้องศาลปกครองเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงคำที่ระบุในใบเกณฑ์ทหาร จึงเป็นที่มาของการเข้าสู่กระบวนการหารือเพื่อแก้ข้อกฎหมายของทหารและหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงกลุ่มเพื่อนกะเทยไทย
แต่ทั้งนี้พันโทปิยะชาติยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าคำที่ระบุในใบเกณฑ์ทหารว่าป่วยเป็นโรคต่างๆ นั้นจะต้องเป็นโรคนั้นไปตลอดชีวิต ทั้งที่จริงแล้วคำที่ระบุในใบเกณฑ์ทหารนั้นมีผล ณ วันเกณฑ์ทหารเท่านั้น
หลังจากผ่านกระบวนการหารือเพื่อแก้ไขกฎหมายจึงมีการเปลี่ยนคำที่ระบุในใบเกณฑ์ทหารโดยใช้คำว่า ภาวะไม่ยอมรับเพศสภาพโดยกำเนิด หรือ GID (Gender Identity Disorder) แต่ก็มีการแย้งจากกลุ่มเพื่อนกะเทยไทย จึงบัญญัติใหม่ว่า “เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” หลังจากมีการแก้ไขกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยในปี 2555 เมื่อย้อนกลับไปในกรณีน้องน้ำหวานนั้นทำให้น้ำหวานไม่สามารถแก้ไขคำที่ระบุในใบเกณฑ์ทหารได้เนื่องจากกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2548 แต่ทั้งนี้พันโทปิยะชาติได้กล่าวว่าทางกองทัพได้ดำเนินการเยียวยาน้องน้ำหวานโดยให้มีการแก้ไขย้อนหลัง
พันโทปิยะชาติ ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารของเพศที่สามว่าควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อถึงเวลาเกณฑ์ทหาร อันดับแรกคือการสำรวจตนเองว่ามีสภาพจิตใจเป็นหญิงหรือเปล่า อยากเป็นทหารหรือเปล่า ซึ่งถ้ามีสภาพจิตใจเป็นหญิงและไม่อยากเกณฑ์ทหารจะต้องไปตรวจโรคที่โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบกเพื่อให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าเป็น GID หลังจากนั้นนำเอกสารที่ได้รับไปยื่นในวันเกณฑ์ทหาร จะทำให้เกิดความสะดวกและไม่มีปัญหาในวันเกณฑ์ทหาร
ด้านพระชาย วรธัมโม ได้กล่าวถึงเพศที่สามกับศาสนาว่า ผู้คนส่วนมากมักให้นิยามคำว่าบัณเฑาะก์ว่าหมายถึงกะเทยแต่แท้ที่จริงแล้ว บัณเฑาะก์ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงบัณเฑาะก์ 5 พวก ซึ่งประกอบไปด้วย
1) อาสิตตกปณท์ หมายถึงคนที่ใช้ปากสำเร็จความใคร่ให้บุคคลอื่น ชอบดื่มกินน้ำอสุจิ หรือกล่าวคือพวก Oral Sex
2) อุสสูยปณฑก หมายถึงคนที่ชอบแอบดูผู้อื่นร่วมเพศกัน หรือเรียกว่าพวกถ้ำมอง
3) โอปกกมิกปณฑก หมายถึงบุรุษที่ถูกตัดองคชาติ
4) ปกขปณฑก หมายถึงคนที่มีความต้องการทางเพศในทุกๆข้างขึ้นและข้างแรม
5) กลุ่มที่มีอวัยวะเพศไม่ชัดเจน มีแต่ช่องถ่ายหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นความหมายที่แท้จริงของบัณเฑาะก์
พระชายจึงสรุปว่า บัณเฑาะก์นั้นไม่ใช่กะเทย กะเทยจึงเป็นภาวะสุญญากาศทางพระธรรมวินัย ฉะนั้นจริงๆแล้วกะเทยจึงไม่ควรถูกห้ามบวช
พระชายจึง กล่าวว่า การตัดสินใจให้บวชน่าจะให้ความหมายโดยพระอุปัชฌาย์ซึ่งเป็นวิจารณญาณของแต่ละอุปัชฌาย์ว่าตีความความเป็นชายอย่างไร กรณีศึกษาที่กะเทยได้บวช เช่น พระภิกษุแจ๊ส(อดีตมิสทิฟฟานี่ปี52) ซึ่งก่อนบวชนั้นพระแจ็สมีการศึกษาพระธรรมอย่างลึกซึ้งจึงเป็นที่น่าชื่นชมอย่างมาก หรือในกรณีของนายกฤตภัคที่เป็นข่าวโด่งดังว่ามีอวัยวะเพศหญิงตอนเกิด แต่เมื่ออายุ 18 กลับมีอวัยวะเพศชายโผล่ออกมา จากนั้นจึงขอเปลี่ยนคำนำหน้าเป็นนายแต่ก็ยังมีอวัยวะเพศหญิงมีมดลูกและมีประจำเดือน ปรากฏว่าเมื่ออยากบวชพระ หลายๆวัดไม่อนุญาตให้บวชเพราะเห็นข่าวจากสื่อแต่สุดท้ายวัดแห่งหนึ่งในลำปางก็อนุญาตให้บวชเพราะเห็นว่ามีสภาพจิตใจเป็นชายและสภาพจิตใจนั้นสำคัญกว่าสภาพร่างกาย
สุดท้าย พระชาย จึงได้กล่าวสรุปว่า การมีอวัยวะเพศใดไม่สำคัญ แต่สภาพจิตใจที่ต้องการบรรลุธรรมนั้นสำคัญกว่า ฉะนั้นการบวชจึงไม่เกี่ยวกับเพศ เพียงแต่สังคมพุทธในไทยอยู่ภายใต้แนวคิดชายเป็นใหญ่ เมื่อแนวคิดดังกล่าวกระจายไปสู่ศาสนาจึงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง และกลายเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดชนชั้นทางเพศในศาสนาทั้งๆที่ศาสนาไม่เคยมีเพศ แต่พระชายยังได้ทิ้งคำถามไว้ว่า ถ้าในทางกลับกันโลกนี้มีแต่บัณเฑาะก์ ผู้ชายเป็นส่วนน้อยบนโลก ผู้ชายจะมีสิทธิ์บวชไหม
- 16 views