Skip to main content

ในสถานการณ์ปัจจุบันทำให้ความมีเสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นและเผด็จการเบ็ดเสร็จเป็นเหตุแห่งการต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางวิชาการ

เมื่อวันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม 2557 เวลา 13.00 - 16.00 น. ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันจัดงานเสวนา เรื่อง "เสรีภาพทางวิชาการกับความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัย"  โดยมีวิทยากรได้แก่ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ รศ.ดร.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ รศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา และ ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ แห่งวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่าเสรีภาพทางวิชาการ คือเสรีภาพในการสอน การเรียน การค้นคว้าวิจัย สิ่งใหม่ๆ โดยปราศจากการขัดขวางที่ไร้เหตุผลของสถาบัน และกฎหมาย เช่นมีการอ้างเรื่องการมั่นคง การค้นคว้าวิจัยเป็นบ่อเกิดของการเรียนรู้ที่สำคัญไม่น้อยกว่าการสอน เพราะหากอาจารย์ไม่สามารถค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติม เช่น การเขียนหลักสูตรโดยไม่เปลี่ยนเลยตลอด 20 ปี ก็ถือว่าเป็นการคอรัปชั่นวิชาการ โดยประตูแรกของการเรียนรู้ คือการคิด การตั้งคำถาม ไม่เชื่อในสิ่งที่สอนทั้งหมด

เผด็จการเบ็ดเสร็จเป็นต้นเหตุให้ต้องต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางวิชาการ การจมอยู่กับเผด็จการทางความคิดที่ภาวะต่างๆหยุดนิ่งถือว่าเป็นความล้าหลังทางภูมิปัญญา เสรีภาพทางวิชาการไม่ใช่การเรียกร้อง แต่องค์ความรู้ของสังคมจะรวมถึงผู้เรียน ผู้สอน วิธีการเรียนการสอนเป็น ทำให้รู้ จุดด้อยของการพัฒนา และสถานการณ์พิเศษในไทยขณะนี้มีส่วนผลักดันให้ความมีเสรีภาพทางวิชาการกลายเป็นสิ่งน่าตื่นเต้น  

รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่าเสรีภาพทางวิชาการได้มาโดยอัตโนมัติในการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ในความเป็นจริงมหาวิทยาลัยในไทยไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ และเป็นมาตั้งแต่ก่อนยุคคสช.  แล้ว จะเห็นได้จากการจัดสัมมนาหรือวิจัยที่จะต้องตอบคำถามว่างานดังกล่าวตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศหรือของมหาวิทยาลัยหรือไม่ การมีเสรีภาพทางวิชาการเป็นการปกป้องนักวิชาการ ที่จะศึกษาอะไรก็ได้โดยไม่ถูกคุกคาม โดยองค์ประกอบของการมีเสรีภาพทางวิชาการเกิดจากชุดความรู้ต่างๆไม่อาจหยุดนิ่ง  และสอง ความรู้มีคุณค่าด้วยตัวเอง ไม่มีสังกัด ฝักใฝ่ฝ่ายใด และปราศจากการแทรกแซง มีการสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้ยึดโยงกับหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ รัฐกับวัดไม่สามารถครอบงำความรู้ได้เหมือนแต่ก่อน ในฐานะที่สอนวรรณคดี ก็มองศิลปะเป็นกลางโดยเน้นย้ำคุณค่าทางสุนทรีศาสตร์ เพื่อให้หลุดจากศาสนาและการเมือง  ซึ่งในยุคจอมพลสฤษดิ์นักวิชาการไทยเริ่มมีความสำคัญเป็นต้นมา

ด้าน ผศ.ดร.จันจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า เสรีภาพทางวิชาการไม่ได้ผูกขาดเฉพาะในมหาวิทยาลัย และต้องคิดและตั้งคำถามพิสูจน์ความเชื่อและสมมติฐานได้อย่างเสรี คนทั่วไปควรมีเสรีภาพทางวิชาการเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ของเขา  ทั้งยังได้กล่าวถึง การคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการเคยมีอยู่และหายไปจากรัฐธรรมนูญและนำกลับมาบัญญัติไว้ครอบคลุมขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ.2550 ขณะที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ใช้ในปัจจุบันการคุ้มครองก็เป็นไปตามธรรมเนียมของรัฐธรรมนูญชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.จันทจิรา ชี้ว่าในประเทศไทยการมีหรือไม่มีกฎหมายไม่สำคัญเท่ากับวิธีบังคับใช้ โดยกล่าวถึงกรณี สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยวิจารณ์กฎหมายอาญามาตรา 112 ว่ายังมีสถานะเป็นนักวิชาการอยู่หรือไม่ รวมถึงสถานะการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหลังจากไม่ปรากฏตัวหลังได้รับผลกระทบทางการเมือง ทราบมาว่ามหาวิทยาลัยมีท่าทีว่าจะตั้งกรรมการสอบสวน และตั้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี จะมีศาลใดให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองในแง่เสรีภาพทางวิชาการของเขาได้บ้าง   

ทั้งยังกล่าวถึงการแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการรูปแบบใหม่ที่แนบเนียน โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากภายนอกแต่กลายเป็นบุคลากรในมหาวิทยาลัยที่ออกคำสั่งจำกัดเสรีภาพกันเอง ทั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น การอนุมัติงบประมาณวิจัย การให้รางวัล และการอนุมัติตำแหน่งวิชาการ  รวมทั้งที่ไม่ได้เป็นตามกฎหมาย หรือไม่มีความชอบธรรม  เห็นได้ตั้งแต่มีการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่มีการตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐไปเป็นสมาชิกสนช. เป็นธรรมเนียมมาถึงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ครั้งล่าสุดที่มีการตั้งอธิการบดีที่คิดสอดคล้องกับผู้มีอำนาจ ไปนั่งในสภาปฏิรูป ในสภานิติบัญญัติ หรือมีตำแหน่งทางการเมือง องค์กรอิสระต่างๆ

ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งคำถามว่าเสรีภาพทางวิชาการมีอยู่จริงหรือไม่ และไม่ใช่เรื่องที่ปิดแต่ควรเปิดให้มากขึ้น ทั้งยังได้กล่าวถึงการเอาวิชาการไปสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจรัฐ ปัญหาคือจะมีอะไรมากำกับการทำงานในวิชาชีพนี้ 

ในช่วงถามตอบคำถามของผู้ร่วมเสวนา มีผู้ตั้งคำถามว่ายิ่งมหาวิทยาลัยให้เสรีภาพทางวิชาการยิ่งบ่งบอกถึงความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยนั้นๆใช่หรือไม่ วิทยากรได้ให้คำตอบว่า เบื้องต้นต้องมีอิสระในการแสวงหาความรู้ทั้งเสรีภาพทางการวิจัย และการเรียนการสอน อยู่ที่ความกล้าหาญของแต่มหาวิทยาลัยว่าจะไม่ถูกควบคุมในรัฐหรืออำนาจใดๆ และหากดำเนินไปตามวิถีประชาธิปไตยได้ ผลผลิตมหาวิทยาลัยจะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม ตั้งแต่การแก้ปัญหาคนเฒ่าคนแก่ตามข้างถนน แต่บางทีคำว่าประชาธิปไตยก็ทำให้เกิดปัญหา ควรหาวิชาการที่มีความเป็นเลิศในตัวมันเอง รวมถึงมหาวิทยาลัยควรหลุดออกจากระบบราชการและการเมือง โดยได้ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ไม่เคยเป็นเลิศทางวิชาการ แต่สร้างกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการมากกว่า