Skip to main content

ระบุระบบทุนนิยมชอบรัฐที่ใช้การปกครองแบบอำนาจนิยมมากกว่า เพราะรู้สึกว่าเสรีภาพทางการเมืองเป็นของฟุ่มเฟือย ชี้รูปแบบของชนชั้นทางสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว แนะรวมกลุ่มกันของคนทำงานอย่างมีคุณภาพสามารถต่อรองได้

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 20 กันยายนเวลา 2557เวลา 13.00 น. กลุ่มสหายสังคมนิยม ร่วมกับ Don Quixote books & coffee shop ร้านหนังสือและกาแฟ ฝั่งตรงข้ามม.บูรพา บางแสน จ.ชลบุรี จัดกิจกรรมเสวนา ในหัวข้อ “เศรษฐกิจ สังคม และอนาคตประเทศไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาดังนี้ รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา แบงค์ งามอรุณโชติ อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์

รศ.วิทยากร เชียงกูล

เนื้อหาสาระที่พูดนั้น กล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมหลังรัฐประหารว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดย รศ.วิทยากร เชียงกูล ได้พูดในเชิงสังคมเศรษฐกิจภาพรวมของเศรษฐกิจและปัญหาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ว่าทิศทางที่จะปฏิรูปนั้นเหมือนการปฏิสังขรมากกว่าการปฏิรูป เพราะการปฏิรูปคือการทำลายโครงสร้างเก่า ในขณะที่การปฏิสังขรเป็นเพียงการซ่อมโครงสร้างเก่าให้ใช้งานได้ ปัญหาหลักของสังคมไทยคือการไม่พัฒนาคนทำให้เศรษฐกิจในประเทศไม่ดีจนต้องพึ่งต่างชาติ และการแก้ปัญหาไม่สามารถมองในเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวได้

ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว

ดร.โอฬาร อธิบายในเรื่องของการรวมอำนาจและความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เปลี่ยนไปในระยะสั้น ความสัมพันธ์ของข้าราชการท้องถิ่นและนักการเมืองท้องถิ่นที่แน่นแฟ้นกันยิ่งขึ้น หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช. มีประกาศให้อำนาจข้าราชการในการบริหารแทนนักการเมืองท้องถิ่น โดย ดร.โอฬารกล่าวว่า ขณะนี้ได้เกิดความสัมพันธ์ดังกล่าวขึ้น และได้กีดกันคนทั่วไปไม่ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่คสช. มองปัญหาคอรัปชั่นเป็นหลัก จึงดึงอำนาจจากนักการเมืองท้องถิ่นไป สุดท้ายก็เป็นเพียงการย้ายกลุ่มผู้มีอำนาจเท่านั้น

แบงค์ งามอรุณโชติ 

ทางด้านแบงค์ ได้กล่าวในเชิงเศรษฐศาสตร์ให้เห็นภาพกว้างๆ ของความผันแปรทางเศรษฐกิจภายใต้การรัฐประหารของแต่ละประเทศว่ามีรูปแบบอย่างไร บางประเทศดีขึ้น บางประเทศแย่ลง บางประเทศดีขึ้นเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น แบงค์ ยังกล่าวอีกว่ารูปแบบการปรับตัวของเศรษฐกิจไทยหลังการรัฐประหารครั้งนี้ มีทิศทางรูปแบบที่ต่างจากการรัฐประหารทั้งสองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก

ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

และสุดท้าย ดร.ษัษฐรัมย์ ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ความจริงแล้วระบบทุนนิยมชอบรัฐที่ใช้การปกครองแบบอำนาจนิยมมากกว่า จึงเห็นว่าหลายครั้งเมื่อเกิดปัญหาทางด้านการจัดสรรทรัพยากรจะเกิดการรัฐประหารหรือการได้มาของนักการเมืองอำนาจนิยมเข้ามาบริหาร เพราะทุนนิยมรู้สึกว่าเสรีภาพทางการเมืองเป็นของฟุ่มเฟือย นอกจากนี้ ดร.ษัษฐรัมย์ยังกล่าวว่าในปัจจุบันรูปแบบของชนชั้นทางสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ได้เป็นเหมือนขนมชั้นแบบในสมัยก่อน แต่เป็นเหมือนสลิ่ม คือมีหลายสีรู้ว่ามีหลายอย่างแต่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนถึงสถานะภาพอีกต่อไป แสดงถึงความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นของระบบทุนนิยมในปัจจุบัน

ในตอนสุดท้ายวิทยากรเชียงกูลได้กล่าวว่าวิธีการแก้ปัญหาในระบบทุนนิยมนั้นคือการรวมกลุ่มกันของคนทำงาน แต่ต้องรวมตัวกันอย่างมีคุณภาพ จึงจะสามารถต่อรองได้ในที่สุด

ติดตามชมคลิปเสวนาได้ในเพจของร้าน Don Quixote coffee & Books Shop