รู้จัก “นักศึกษาฝึกงาน” กันแค่ไหน เปิดปัญหาสารพัดการเอาเปรียบและประสบการณ์ “เสียว” ของนักศึกษาฝึกงานที่คุณ (น่าจะ) ไม่เคยรู้
ปี 2556 ปรากฏข่าวว่ามีกลุ่มนักศึกษาฝึกงานรวมกลุ่มกันในนาม “แฟร์ เพลย์” รณรงค์ให้มีการจ่ายค่าตอบแทนนักศึกษาฝึกงาน เพื่อปรับทัศนคติการฝึกงานแลกประสบการณ์แบบเดิมๆ รวมถึงมีแผนร่วมมือกับเครือข่ายแรงงานต่างๆ เหตุการณ์ที่ช่วยขับเคลื่อนพลังของกลุ่มนี้ก็คือ คำตัดสินของศาลในนิวยอร์กที่ตัดสินว่า บริษัท ฟ็อกซ์ เสิร์ชไลต์ พิกเจอร์ ผิดจริงตามกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำและล่วงเวลา ฐานไม่จ่ายค่าแรงนักศึกษาฝึกงานที่ช่วยทำหนังเรื่องแบล็ก สวอน ในปี 2010
ในประเทศไทย ประเด็นเรื่องนักศึกษา/นักเรียนฝึกงาน ยังไม่ถูกพูดถึงในวงกว้างนัก ทั้งเรื่องค่าแรง สิทธิประโยชน์ต่างๆ ทำให้นักศึกษาไม่รู้ถึงสิทธิที่พึงจะได้รับ ไปจนถึงการเผชิญกับปัญหามากมายที่นักศึกษาจะต้องพบเจออย่างยากลำบากระหว่างฝึกงาน
ที่มาของการฝึกงาน “สหกิจศึกษา” ตามแบบ สกอ.
จากคู่มือการขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสถานประกอบการ จากการดำเนินงานสหกิจศึกษา หน้า 11 ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาสหกิจศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาโดยนำร่องจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในปี 2545
หลังจากนั้น สกอ. ได้เริ่มโครงการ "สหกิจศึกษา" ดำเนินการในลักษณะเดียวกันในปี 2547 มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วม 60 แห่ง สถานประกอบการเข้าร่วม 2,000 แห่ง มีนักศึกษากระจายไปฝึกงานทั้งหมด 10,444 คน
มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อพัฒนาบัณฑิตในด้านต่างๆ และเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาได้สัมพันธ์กับองค์กรผู้ใช้บัณฑิต เพื่อให้องค์กรผู้ใช้บัณฑิตได้รับประโยชน์จากโครงงานหรืองานที่นักศึกษาปฏิบัติ ไปจนถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นักศึกษาฝึกงานในโรงงาน ทำงานเหมือนลูกจ้าง บาดเจ็บ-ตายไร้สวัสดิการ
สำหรับประเภทของนักศึกษาฝึกงานนั้น บุญยืน สุขใหม่ นักสิทธิแรงงานผู้คร่ำหวอดกับการให้คำปรึกษาเรื่องสิทธิแรงานกับคนงานในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย กล่าวว่า อันที่จริงแล้วการฝึกงานมีหลายประเภทกว่าที่เราเข้าใจ แบบแรกคือ แบบทวิภาคี มหาวิทยาลัยร่วมมือกับสถานประกอบการดังที่เราจะเห็นได้ทั่วไป แบบที่สองคือ แบบที่นักศึกษามาแสดงความจำนงขอฝึกงานด้วยตัวเอง
“คือเขาอายุไม่ถึงถ้าจะมาสมัครเป็นลูกจ้างมันก็จะเข้าข่ายการใช้แรงงานเด็ก ต้องแจ้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เขาก็เลี่ยงมาใช้ช่องว่างตรงนี้แล้วเรีกว่า นักศึกษาฝึกงานแทน ซึ่งจะมีทั้ง ปวช. และ ปวส.” บุญยืนกล่าว
บุญยืน เล่าว่า ปัญหาสำคัญที่นักศึกษาฝึกงานต้องเผชิญนั้นเผลอๆ จะหนักกว่าแรงงานโดยทั่วไป นั่นก็คือ การไม่ได้รับสิทธิในการลาป่วย การรักษาพยาบาล และเงินชดเชยกรณีอุบัติเหตุ
โรงงานเอานักศึกษามาใส่กระบวนการผลิตแทนพนักงาน หากนักศึกษาหยุด หัวหน้างานก็ต้องลงมาทำงานแทน และมักเกิดการโต้เถียงกัน เมื่อเกิดปัญหาเขาก็ส่งตัวนักศึกษากลับ ทำให้ต้องดร็อปหรือหยุดเรียนไป 1 เทอม ทำให้นักศึกษาไม่สู้จะอยากลาป่วยกัน
บุญยืน กล่าวว่า ยังมีเรื่องของการทำงานล่วงเวลา อย่างนักเรียนนักศึกษาในช่วงอายุ 15-18 ปีอันที่จริงแล้วเป็นการใช้แรงงานเด็ก ตามกฎหมายโรงงานจะต้องแจ้งถึงกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แต่ในส่วนของนักศึกษาฝึกงานจะไม่มีหลักเกณฑ์นี้ พวก ปวช. โดยปกติเขาจะห้ามทำงานล่วงเวลา แต่บริษัทก็บังคับให้ทำงานล่วงเวลาทุกวัน โดยปกติต้องห้ามเข้ากะ แต่ก็ต้อง เข้ากะทุกวันเหมือนพนักงานปกติ ขณะเดียวกันพวกนี้กลับไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ เลย
“คนพวกนี้จะใช้สิทธิลาป่วยตามปกติของพนักงานไม่ได้ เพราะไม่ได้ครอบคลุมประกันสังคม และเวลาเกิดอุบัติเหตุ เช่น แขนขาดกองทุนเงินทดแทนก็จะไม่เข้ามาดูแล เพราะไม่เข้านิยามคำว่า “ลูกจ้าง” กรณีตายก็มี ยกตัวอย่าง เครนยกน๊อตที่โรงงานหนัก 12 ตัน พอยกมันก็เกิดแรงเหวี่ยง นักศึกษาไม่เคยเข้าโรงงานก็ไม่รู้ว่าแรงเหวี่ยงมันช้าแต่มันกระแทกแรง กระทบหน้าอกยุบเสียชีวิต ถ้าเป็นพนักงานปกติกองทุนเงินทดแทนต้องให้ค่าจ้างทดแทน 8 ปี แต่สิทธินี้จะหายไปถ้าเขาเป็นนักศึกษาฝึกงาน” บุญยืน กล่าว
แจ๊ค อดีตนักศึกษา ปวส.ที่ฝึกงานในบริษัทแห่งหนึ่งแล้วประสบอุบัติเหตุแขนขาด เนื่องจากโดนเครื่องทับแผ่นเหล็กทับแขนขณะปฎิบัติงาน “เครื่องปั้มเหล็กพัง เขาเลยปิดซ่อม เสร็จแล้วเขาก็ไม่ทดสอบ แล้วให้เด็กเข้าไปทำงาน จังหวะที่เราเข้าไปใส่งานสายไฮโดรลิคแตก เครื่องเลยร่วงลงมาทับแขนขาด” เขากล่าวด้วยว่า รักษาตัวในรพ.ราว 1 ปี ตอนแรกบริษัทจ่ายค่ารักษาที่เกินกว่าประกันสังคมจะสำรองจ่ายเท่านั้น แต่ไม่ได้ให้ค่าแรงหรือค่าสูญเสียรายได้ จนต้องไปฟ้องร้องจนกระทั่งได้ค่าแรง 50% ได้รับเงินทดแทน 1 แสนบาทแล้วรับกลับเข้าทำงานด้วย คดีจบที่ชั้นไกล่เกลี่ยในศาล เมื่อปี 2552 มีกรณีคล้ายกัน มีคนนิ้วขาดทั้งมือแต่รับเงิน 4 แสน โดยไม่ขอกลับมาทำงานอีก
นักศึกษาฝึกงานสายโปรดักชั่น ทำงานล่วงเวลา ไร้ค่าตอบแทน
เรียนดีไซน์ จงไปเชื่อมเหล็ก
ค่าแรง - ได้บ้าง ไม่ได้เพียบ
ค่ากินอยู่ ค่ามัดจำห้อง ค่าเดินทาง ค่า....
บริษัทตั้งขึ้นเพื่อจ้างนักศึกษาฝึกงานโดยเฉพาะ
ปัญหาชู้สาว ท้องส่งกลับวิทยาลัย
กฎหมายรับรองสิทธินักศึกษาฝึกงาน...ยังไม่มี
บุญยืน ย้ำด้วยว่า จริงๆ แล้วควรแก้บทนิยาม คำว่า “ลูกจ้าง” ในกฎหมายแรงงานทุกฉบับ ไม่อย่างนั้นเรื่องนี้ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข เพราะสิทธิแรงงานขึ้นอยู่กับคำว่าลูกจ้างนี้เอง ลูกจ้างคือผู้ที่นายจ้างตกลงว่าจ้างที่จะทำงานให้นายจ้าง แต่นักศึกษาฝึกงานไม่ได้ใช้คำว่า ค่าจ้าง เวลาไปร้องประกันสังคม เขาก็บอกว่าไม่ใช่ลูกจ้าง ไม่ได้รับการคุ้มครอง ไปร้องกองทุนเงินทดแทนหากเสียชีวิตให้จ่ายเงินทดแทน 15 ปีของค่าจ้าง เขาก็ไม่บอกว่าเข้าบทนิยาม
ในส่วนของ ประกาศกระทรวงแรงงาน บุญยืนกล่าวว่า มันเป็นการทำประกันภัยกลุ่มทั่วไป ในทางปฏิบัติบริษัทประกันภัยจะปฏิเสธสิทธิ และทำวงเงินคุ้มครองน้อยมาก เพราะนักศึกษากระจายกันออกทำงาน การประเมินความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยทำได้ยากจึงทำแค่วงเงินจำกัดหรือเฉพาะกรณีเสียชีวิตเท่านั้นและนักศึกษาก็ไม่ได้ทราบระเบียบหรือข้อกำหนดการประกันเลยว่าเขามีสิทธิอะไรบ้าง
ประกาศกระทรวงแรงงาน กรณีการให้ค่าตอบแทนที่มีลักษณะเป็นเบี้ยเลี้ยง ไม่ใช่ค่าจ้าง ซึ่งกำหนดว่าบริษัทต้องให้ค่าเบี้ยเลี้ยงแก่ผู้ฝึกงาน
หมวด 3 ข้อที่17 ระบุว่า บริษัทดำเนินการจัดทำประกันอุบัติเหตุจากการฝึก
อาจารย์มุฑิตากล่าวว่า การฝึกสหกิจศึกษาเป็นการฝึกในระยะเวลา 4 เดือน ถ้ามหาวิทยาลัยทำ MOU ความร่วมมือกับองค์กรก็จะสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ถ้าไม่ได้ให้รายได้แก่นักศึกษาก็จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีนี้ไม่ได้ แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีหน่วยงานสหกิจอยู่ มหาวิทยาลัยต้องให้ความรู้กับทางบริษัท และนักศึกษาจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานอยู่แล้ว
ในหนังสือคู่มือขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสถานประกอบการจากการดำเนินงานสหกิจศึกษา ระบุว่า สำหรับสถานประกอบการที่รับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้าปฏิบัติงานในลักษณะที่เป็นการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work Intergrated Learning :WIL) ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ได้แก่ ระบบฝึกงาน Apprentice หรือระบบทวิภาคี (Dual Training) หรือระบบสหกิจศึกษา (Cooperative Education) หรือระบบฝึกหัด (Internship) สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และสิทธิประโยชน์จากการนับจำนวนผู้รับการฝึกตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ได้ทั้งหมด โดยต้องมีระยะเวลาการฝึกในแต่ละหลักสูตรต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง
มหาวิทยาลัยต่อรองสิทธิ-สวัสดิการให้นักศึกษา...ลำบาก?!
เพ็ญนภา (นามสมมุติ) อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคเหนือ กล่าวว่า ในสถานประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้เซ็น MOU ตามที่ สกอ.ที่กำหนด และหลายๆ มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ทำ แต่ความจริงแล้วต้องทำ การละเลยอาจเป็นความผิดพลาดของหน่วยงานสหกิจ หรือเป็นความต้องการของตลาดด้วย เพราะการที่องค์กรจะมาเซ็นสัญญาด้วยจะต้องเห็นผลประโยชน์ ไม่อย่างนั้นจะเป็นการเพิ่มภาระให้เขา มหาวิทยาลัยต้องชี้ให้เห็นว่าเขาได้ได้รับผลประโยชน์ ฉะนั้นสถานประกอบการส่วนใหญ่เขาจะไม่ค่อยเซ็นกับมหาวิทยาลัยที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียง
เพ็ญนภา กล่าวอีกว่า การเรียกร้องค่าสวัสดิการต่างๆ ตามที่คุ้มครองลูกจ้างตามกฎหมายเป็นเรื่องลำบาก เพราะมันจะบีบให้ตลาดของการฝึกงานปิดตัวทันที
“ตรงนี้บอกในฐานะของคนที่ส่งเด็กออกไป เพราะไม่มีหน่วยงานไหนที่จะมารัดคอตัวเองให้เสียผลประโยชน์ เพราะทั้งหมดขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ไม่ใช่การกุศล ถ้าจะทำอย่างนั้นได้ นักศึกษาฝึกงานทุกคนต้องมีคุณภาพสูงสุด มหาลัยทำได้ไหม ไม่ได้ และบอกได้เลยว่าเขารับลูกจ้างชั่วคราวดีกว่า รับรองว่าไม่มีใครรับนักศึกษาฝึกงาน และการจะทำตามเกณฑ์สหกิจตามที่ สกอ.กำหนดจะต้องนัดพบองค์กร ให้พบกันเพื่อสัมภาษณ์ ยื่นใบสมัคร หรือหน่วยงานจะต้องมาหาถึงที่ หรือจัดประชุมต่างๆ รายสถานที่ประกอบการ และอาจารย์นิเทศน์งานก็จะต้องนิเทศถึงสองครั้ง ซึ่งทั้งหมดใช้งบประมาณมหาศาล ที่เป็นข้อจำกัดของมหาวิทยาลัย” อาจารย์เพ็ญนภา กล่าว
เพ็ญนภา กล่าวถึงประเด็นการฝึกงานไม่ตรงกับที่เรียนว่า อันที่จริงแล้วการฝึกงานมีหน้าที่หลักและหน้าที่รอง ตอนเข้าไปเราก็ต้องให้นักศึกษาระบุว่าตัวเองเข้าไปทำงานในตำแหน่งอะไรก่อน และงานถ่ายเอกสาร งานประสานงานเป็นหน้าที่รอง ซึ่งสถานประกอบการหลายที่ไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่ได้สนใจ อาจารย์ก็ทำอะไรไม่ได้ ทำได้แค่เลิกส่งเด็กรุ่นหลังไป หรือทำได้เพียงเข้าไปอธิบายหลักเกณฑ์หรือขอให้ช่วยปรับการทำงาน
“ถ้าเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่เขาเลือกไม่ฟังแล้วปฏิเสธก็ได้ มันก็ว่าด้วยข้อตกลง ถ้ามหาลัยต้องง้อก็ต้องง้อต่อ เราจะเรียกร้องอะไรเขาได้ เขาก็ไปสนใจคนที่ไม่เรียกร้อง มหาวิทยาลัยก็เสียผลประโยชน์ ในวัฒนธรรมบางวัฒนธรรมความสัมพันธ์สำคัญกว่ากฎเกณฑ์ เพื่อให้งานมันดำเนินไปได้” เพ็ญนภา กล่าว
- 224 views