ฤดูเกณฑ์ทหารมาอีกแล้ว เครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ ขอสื่อเลิกนำเสนอข่าวเป็นตัวตลก นักวิชาการแนะเริ่มที่ระดับปัจเจกก่อนขยายทัศนคติให้ทั่วถึง ด้าน ผอ.กองการสัสดีแจงจัดห้องตรวจมิดชิด-เร่งทำความเข้าใจเรื่องสิทธิของสาวประเภทสอง
29 มี.ค. 2560 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยสำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ และ American Jewish World Service (AJWS) จัดงาน “จิบกาแฟ นั่งคุย “กะเทยเกณฑ์ทหารผ่านสื่อ” ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ โดยมีเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี เป็นพิธีกรดำเนินงาน
เจษฎา แต้สมบัติ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน พูดในหัวข้อ “เส้นทาง “กะเทยไทยในการเกณฑ์ทหาร” โดยเริ่มด้วยการขอให้สื่อมวลชนหรือแม้กระทั่งคนทั่วไปเรียกกลุ่ม LGBT โดยใช้คำที่ถนอมน้ำใจหรือถามพวกเขาก่อนว่าพวกเขาจะให้เรียกว่าอะไร ทั้งนี้ สามารถเลี่ยงโดยการเรียกชื่อของพวกเขาหรือใช้คำว่าคุณแทน
สำหรับความเป็นมาของการขับเคลื่อน สด.43 เธอกล่าวว่า เริ่มมาจากการที่สาวประเภทสองมาเกณฑ์ทหารแต่ละครั้ง ถึงพวกเขาจะได้ไม่ต้องไปรับใช้ชาติแต่พวกเขาจะถูกระบุว่าเป็นโรคจิต วิกลจริต นั่นจะเป็นผลทำให้เวลาไปสมัครงาน นายจ้างจะไม่รับ หรือแม้กระทั่งจะไปศึกษาต่อต่างประเทศก็เกิดปัญหาเช่นกัน โดยการต่อสู้เพื่อการขับเคลื่อนเริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ.2548 โดยคุณสามารถ มีเจริญ หรือน้ำหวาน คัดเลือกถ้อยคำที่ไม่เกิดการตีตราและความหมายไม่ผิดเพี้ยนจึงเกิดถ้อยคำมากมาย เช่น “หน้าอกผิดรูป” “การรับรู้เพศแตกต่างจากเพศกำเนิด” “ความผิดปกติในการรับรู้เพศ” เพราะในทางภาษาไทยมีความหลากหลาย การใช้คำต่างๆ จึงมีนัยยะ เลยต้องระมัดระวังในการใช้คำใน สด.43 จึงได้ถ้อยคำที่ว่า “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” และหลังจากนั้นเธอได้ลงพื้นที่กับคณะเพื่อตรวจดูตามสถานที่เกณฑ์ทหารว่ามีการปฏิบัติต่อสาวประเภทสองเป็นไปในทางที่ไม่ดูถูก เหยียดหยามความเป็นเพศ อีกทั้งพยายามที่จะผลิตสื่อให้กับสาวประเภทสองเพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร ทั้ง โปสเตอร์ คลิปวิดีโอ แต่ก็ยังมีสาวประเภทสองบางคนที่แม้จะผ่านการตรวจจากแพทย์ทหารแล้วยังต้องไปจับใบดำใบแดง เนื่องจากไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ เธอจึงอยากให้ทั้งกลุ่มทางการแพทย์ที่ทำงานตรวจร่างกายทำงานให้มีมาตรฐานไปในทางเดียวกันทุกโรงพยาบาลว่าควรแปลงเพศก่อนหรือเปล่า หรือให้กรมการแพทย์สุขภาพจิตมาตรวจสอบสภาพจิตใจว่าเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด โดยทุกสถานทางการแพทย์ที่ตรวจต้องมีมาตรฐานเดียวกัน
ช่วงต่อมาเป็นช่วง จับเข่าคุย กะเทยเกณฑ์ทหารผ่านสื่อ ซึ่งดำเนินรายการโดย นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร ในช่วงนี้มีผู้พูดด้วยกัน 5 คน ดังนี้
เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กสทช. กล่าวว่า แต่ละฝ่ายควรทำหน้าที่ของตัวเองแต่ก็ไม่ควรไปละเมิดกลุ่มคนบางกลุ่มและเข้าหากันเพื่อปรับให้เข้าใจกัน โดยแนะนำให้ทำวาระรายการบังคับดูแบบรายการของ คสช.ตอนหกโมงเย็น โดยเนื้อหารายการควรกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเกณฑ์ทหารแทนการนำเสนอความตลกของสาวประเภทสองที่มาเกณฑ์ทหาร เพราะสื่อสมัยนี้ชอบเบี่ยงเบนประเด็นให้เป็นเรื่องสนุก เฮฮา เอาความตลกของสาวประเภทสองมาเสนอ
“สื่อ ถ้าหากถูกติ เขาก็จะรู้ว่าควรที่จะปรับปรุง เราควรที่จะเสริมแรงทางบวกกัน” เอื้อจิต กล่าวและว่า ที่น่าเป็นห่วงคือสื่อท้องถิ่น ที่ทาง กสทช.ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะควบคุมได้เพียงสื่อส่วนกลาง อีกทั้งสมัยนี้มีการถ่ายรายการลงช่องยูทูบ ซึ่งส่วนนี้เราก็ไม่สามารถควบคุมได้เช่นกัน และโทรทัศน์ควรมีวาระแห่งชาตินำเสนอให้เห็นการเปลี่ยนแปลง เป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องไม่ใช่การสร้างภาพลักษณ์หรือการประชาสัมพันธ์ เพื่อปรับทัศนคติทางสังคมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้เข้ากัน
สุดท้าย เอื้อจิต กล่าวว่า อยากให้สาวประเภทสองลองเปลี่ยนการนำเสนอตัวเองขณะไปเกณฑ์ทหารว่าตัวเองไม่ใช่ผู้ชายแทนที่จะแต่งตัวไม่สุภาพ มาเป็นการแต่งตัวที่สุภาพ มิดชิดขึ้น แต่บนเสื้อผ้าอาจจะมีสัญลักษณ์อะไรเพื่อสื่อว่าตัวเองเป็นสาวประเภทสองให้เป็นที่สนใจ เขายังเสนอให้ไทยยึดแบบอย่างจากข้อบังคับของอังกฤษและอเมริกาที่ทำขึ้นต่อกลุ่ม LGBT ในการเข้ารับเกณฑ์ทหารโดยเนื้อหาในข้อบังคับเป็นคำแนะนำ อย่างละเอียดให้กับกองทัพในการดูแลกลุ่ม LGBT ที่เข้าไปเป็นทหาร เช่น เรื่องการแต่งกาย การใช้ชีวิตอยู่ในกองทัพ รวมไปถึงสิทธิเสรีภาพที่พวกเขาควรได้รับ
พันเอกสมพล ปะละไทย ผู้อำนวยการกองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน กระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเกณฑ์ทหารได้นัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการเคารพสิทธิของสาวประเภทสองที่มาเกณฑ์ทหาร ไม่ว่าจะเป็นการจัดที่นั่งให้เหมาะสม การใช้กิริยาวาจาของทหารหรือแม้กระทั่งเพื่อนที่มาร่วมเกณฑ์ต่อสาวประเภทสองที่มาเกณฑ์ทหารให้ใช้คำพูดที่สุภาพ ไม่พูดหยอกล้อ ปฏิบัติกับเขาให้เหมือนกับเป็นน้องสาวของเรา ส่วนเรื่องการตรวจร่างกาย จะมีการจัดห้องที่มิดชิดให้และผู้ที่สามารถเข้ามาตรวจได้นั้นมีเพียง 3 คน คือ กรรมการแพทย์ กรรมการสัสดีจังหวัด และประธานกรรมการโครงการตรวจเลือก ส่วนในเรื่องของสื่อ สื่อต้องได้รับการอนุมัติเพื่อที่จะเข้ามาทำข่าว
พันเอกสมพลกล่าวต่ออีกว่า ผู้ที่สามารถเข้าไปตรวจร่างกายได้ต้องมีใบอนุญาต ทางเรามีการตรวจเลือก ไม่ใช่ว่าทหารคนไหนก็ได้สามารถเข้าไป สื่อมวลชนที่จะเข้าไปก็ต้องได้รับการคัดเลือกเหมือนกันและถ้าไม่จำเป็นประธานโครงการตรวจเลือกก็จะไม่เข้าไปในห้อง ส่วนเรื่องความไม่เสมอภาคของการตรวจเลือกทหาร เขาได้พูดคุยกับกองทัพภาคทุกที่และทางการแพทย์ที่สามารถตรวจเพื่อขอใบรับรองแพทย์ ทั้งนี้มีคู่มือให้สำหรับศึกษาเพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานเดียวกัน ย้ำว่าจะทำอะไรก็ต้อง เอาใจเขามาใส่ใจเรา
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการและพิธีกรช่อง Voice TV กล่าวว่า เราอยู่ในสถานการณ์ที่ความเข้าใจเกี่ยวกับกะเทยกำลังเปลี่ยน แต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนนั้นเป็นไปได้ง่ายบ้างยากบ้างแล้วแต่กรณี ซึ่งการกระจายตัวของการเปลี่ยนยังไปได้ไม่ทุกจุด การนำเสนอสิ่งต่างๆ ออกไปเพื่อให้ผู้คนรับรู้และยอมรับสิ่งนั้นจึงต้องระมัดระวัง เพราะไม่ใช่แค่สื่ออย่างเดียว มีตัวเราด้วยที่เป็นสื่อ คนส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องคนอื่นในสิ่งที่อยากเล่า เช่น กะเทยสวย กะเทยตลก เป็นสิ่งที่เราใส่กรอบให้เขา เราควรที่จะ “เล่าเรื่องเขาอย่างที่เขาเป็น” เรื่องนี้ควรเริ่มที่สื่อมวลชนก่อนที่ต้องยกเลิกการนำเสนอข่าวสาวประเภทสองที่ไปเกณฑ์ทหารแล้วเอามาทำเป็นเรื่องตลก แต่ทั้งหมดนี้ก็ควบคุมยากเมื่ออยู่ในสถานที่เกณฑ์ทหารที่เต็มไปด้วยผู้ชาย เหล่าสาวประเภทสองก็ย่อมถูกหยอกล้อเป็นธรรมดาเพราะผู้ชายไทยมีนิสัยด้านมืดในการเหยียดเพศอื่นๆ ไม่ว่าจะเหยียดเพศหญิง กะเทย เกย์ หรือเพศชายด้วยกันเอง
เขากล่าวว่า เห็นได้ว่าสังคมไทยในช่วงหลังมานี้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายเกี่ยวกับการนิยามเกี่ยวกับสาวประเภทสอง สิ่งนี้ก็ส่งผลต่อมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเพื่อรองรับสาวประเภทสอง และขั้นตอนสุดท้ายคือทำให้สังคมเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยยังมีบรรทัดฐานแบบเก่าๆ ตกค้างอยู่ เช่น ยังมีคนบางกลุ่มล้อกะเทยว่าเป็นตัวตลก แต่คนส่วนใหญ่ก็ยอมรับกลุ่มคนที่เป็นสาวประเภทสองเป็นเหมือนคนธรรมดามากขึ้น จึงอยากจะวอนสื่อในการนำเสนอเรื่องราวของสาวประเภทสองในมุมมองที่ไม่ใช่กลุ่มคนที่แปลกหรือตลก เฮฮา
รณภูมิ สามัคคีคารมย์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ในช่วงมกราคมถึงมีนาคม ทางมูลนิธิได้รับโทรศัพท์หรือข้อความทางแฟนเพจเพื่อสอบถาม 200-300 ข้อความต่อเดือนเกี่ยวกับการเตรียมตัวเกณฑ์ทหาร บางรายเครียดมากจนถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย ทางมูลนิธิจึงต้องให้คำปรึกษา และจากการที่เราได้เก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2557-2559 มีข่าวที่กล่าวเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารทั้งหมด 72 ข่าว มี 69 ข่าวที่มุ่งเน้นไปที่สาวประเภทสอง โดยใช้คำพูด “ชายสวย” “สองกะเทยสวยเข้าเกณฑ์ทหาร” “สาวนะยะ” หรือใช้ให้โชว์บัตรประชาชนบ้าง หรือในเชิงเปรียบเทียบกับผู้หญิง เช่น “ผู้หญิงต้องอาย” “ผู้หญิงต้องยอมมอบมดลูกให้” มากกว่าเนื้อหาข่าวที่กล่าวถึงกระบวนการเกณฑ์ทหาร ซึ่งสิ่งหลักๆ ในเนื้อข่าวมีอยู่ 3 อย่างคือ 1.กะเทยคือสีสัน กระตุ้นความสนุก กระตุ้นบรรยากาศในการเกณฑ์ทหาร สร้างความชื่นใจให้กับพี่ทหาร 2.กะเทยมาเกณฑ์ทหารคือเรื่องฮือฮา เรื่องแปลก 3.สิ่งสำคัญของกะเทยที่มาเกณฑ์ทหารอยู่ที่รูปลักษณ์และร่างกาย สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้อัตลักษณ์ของสาวประเภทสองเป็นตัวตลกของทหารและเพื่อนที่มาร่วมเกณฑ์ทหาร
สุดท้าย รณภูมิ บอกว่าเมื่อเราไม่พอใจหรือโดนอะไรที่ละเมิดเราก็ควรต้องแสดงออกมา ส่วนในเรื่องคู่มือแนวการปฏิบัติของสาวประเภทสองในการเกณฑ์ทหารตอนนี้ก็ได้ปรับปรุงแล้วและวอนให้ กสทช.ช่วยเป็นสื่อในการเผยแพร่ให้ทั่วถึง
รมิดา จรินทิพย์พิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการแข่งขันและการกำกับดูแลกันเอง กล่าวว่า ตนเองมีหน้าที่ดูแลผู้รับใบอนุญาตและกำกับในด้านเนื้อหาของสื่อที่จะเผยแพร่ออกไปโดยใช้ มาตรา 37 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และในด้านจรรยาบรรณสื่อ สำนักฯ มีหน้าที่ส่งเสริมทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกันในสังคมเพื่อให้กลุ่มองค์กรสื่อแต่ละแห่งนำไปปรับใช้ในองค์กร สำหรับเรื่องการเกณฑ์ทหารนี้มีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดูแล สื่อเป็นผู้สื่อสาร และกลุ่มคนเฉพาะที่เรียกร้องสิทธิคือ สาวประเภทสอง อย่างไรก็ตาม เธอมองว่าไม่ใช่เพียงกลุ่มสาวประเภทสองเท่านั้น แต่ผู้ชายเองก็เหมือนกัน ตัวอย่างจากที่มาริโอ้ เมาเร่อ นักแสดงซึ่งเข้าเกณฑ์ทหาร ก็มีสื่อนำเสนอข่าวขณะถอดเสื้อตรวจร่างกายว่า ผิวขาว หัวนมชมพู สิ่งนี้ก็ควรคำนึงเหมือนกันเพราะเรื่องนี้เป็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่ง กสทช.ในฐานะคนกลาง จะเชิญสื่อต่างๆ เข้ามารับฟังและเรียนรู้ร่วมกัน
อนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 1-12 เมษายน 2560 เครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและคณะจะทำการลงพื้นที่ตามเขตต่างๆ ที่มีการเกณฑ์ทหารและตรวจสอบการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอย่างใกล้ชิดให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง
- 11 views