ทำความรู้จักแอพใหม่ให้ครูมีส่วนร่วมคัดกรองเด็กกลุ่มยากจนที่สุดเพื่อให้ทุน เพราะงบประมาณมีจำกัด ผู้สนับสนุนโครงการระบุ เทคโนโลยีจะมีส่วนช่วยให้การจัดสรรงบประมาณมรประสิทธิภาพขึ้น นำร่องแล้ว 10 จังหวัด ปีการศึกษา 2560 รู้ผล
=====
ศิลา แก้วศิลา รายงาน
แอพพลิเคชันในโทรศัพท์ของคนเรานั้นมีมากมาย และช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตได้หลายอย่าง เช่น mobile banking ที่ทำธุรกรรมทางการเงินได้โดยไม่ต้องไปถึงธนาคาร ฯลฯ ล่าสุด ในแวดวงการศึกษา เรามีแอพพลิเคชั่นตัวใหม่ ชื่อว่า “ปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน” ที่จะครูได้มีส่วนร่วมในการคัดกรองนักเรียนที่ยากจน โดยคุณครูสามารถบันทึกข้อมูลโดยการไปถ่ายรูปที่บ้านของนักเรียน และกรอกข้อมูลต่างๆ ออนไลน์ทำให้การประมวลผลเพื่อคัดแยกเด็กนักเรียนยากจนที่จะได้รับทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดร. ไกรยส ภัทราวาท (ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน)
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า ผู้สนับสนุนโครงการนี้คือ กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ สสค. มีวัตถุประสงค์หลักในการคัดกรองนักเรียนยากจนและยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพราะว่าเงินจะไปถึง “ถูกคน” มากกว่าที่เคยเป็น
ไกรยศเน้นย้ำว่า การแยกแยะเด็กที่จนจริงๆ ออกมานั้นมีความสำคัญหลายประการ เช่น
- งบประมาณจะไม่สูญเปล่าไปกับคนที่ไม่ควรจะได้ ด้วยงบประมาณเท่าเดิมการคัดแยกที่แม่นยำก็เพิ่มโอกาสที่รัฐจะให้ความช่วยเหลือกับนักเรียนที่จนจริงในจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย
- เมื่อรู้แล้วว่าใครที่เป็นเด็กยากจน การใช้แอพนี้ยังจะสามารถติดตามเขาได้ต่อเนื่อง ไม่ใช่ให้เงินแล้วจากกัน ครูจะสามารถ Monitor เด็กเป็นรายบุคคลได้จนกระทั่งจบการศึกษา หากเขาเริ่มขาดเรียน คะแนนไม่ดี เราจะได้รู้ทันเวลาว่าเขามีปัญหาอะไร ความยากจนอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เขามีผลกระทบต่อการเรียน ครูและสถานศึกษาก็จะได้มีโอกาสสนับสนุนได้ทันเวลาอีกด้วย
โครงการนำร่อง เก็บข้อมูลเด็ก 10 จังหวัด
ไกรยศอธิบายว่า คุณครูประจำชั้นและครูที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่จะมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของเด็กเหล่านี้ผ่านการใช้แอพพลิเคชัน โดยจะมี username และ password ของรายบุคคล กลุ่มเป้าหมายหลักคือ ช่วงชั้น ป.1-ม.3 และหากคัดกรองได้ดีอาจเหลือเงินไปช่วยในระดับอนุบาล หรือ ม.ปลาย ซึ่งต้องรอดูนโยบายในอนาคต เมื่อได้รับข้อมูลมาแล้วคุณครูจะไปเยี่ยมและเก็บข้อมูลบ้านของเด็ก ข้อมูลทั้งหมดจะส่งเข้าไปที่ส่วนกลาง ทางกระทรวงการศึกษาธิการก็จะประมวลข้อมูลของเด็กแต่ละคนว่าใครมีความยากจนสูงสุดและเรียงลำดับลงมา การจัดกลุ่มจะทำให้เห็นสภาพเด็กกลุ่มยากจนที่สุดได้ชัดเจนแล้วจะได้พิจารณาให้ได้รับทุนยากจนไปก่อน
เขากล่าวว่า ตอนนี้กำลังดูอยู่ว่าเมื่อกระทรวงเห็นข้อมูลจากการเก็บข้อมูลของทั้ง 10 จังหวัดนำร่องแล้ว เช่น นครปฐม, อุดรธานี, แม่ฮ่องสอน, เชียงราย, ตรัง, ภูเก็ต, กาญจนบุรี, จันทบุรี จะมีนโยบายอย่างไรหรือนักเรียนแต่ละคนจะได้รับทุนเพิ่มเติมหรือเปล่า เรื่องทุนในเบื้องต้นนั้น ระดับประถมศึกษาจะให้ทุนจำนวน 1,000 บาทต่อปี ระดับมัธยมศึกษาจำนวน 3,000 บาทต่อปี วิธีการให้เงินจะให้ทางโรงเรียนเป็นคนเบิกเงินให้เด็ก บางโรงเรียนมีสหกรณ์คุณครูก็จะเอาไปฝากในบัญชี บางโรงเรียนไม่มีสหกรณ์ของโรงเรียนก็จะให้ผู้ปกครองมารับเงิน
การจดทะเบียนรายชื่อจะมาจากส่วนกลางว่าเด็กคนไหนได้หรือไม่ได้ทุน ก่อนหน้านี้มีเกณฑ์แค่อย่างเดียวคือ ครอบครัว คำถามก็คือทั้งบ้านมีรายได้สูงกว่าหรือต่ำกว่า 40,000 โดยให้เด็กตอบว่า Yes หรือ No ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะตอบ Yes ทำให้ไม่สามารถแยกคนที่จนจริงๆ กับคนจนไม่จริงออกจากกันได้ บางโรงเรียนเด็ก 100% ติ๊กว่าจนหมดเลย ทำให้ไม่มีปัญญาหาเงินมาจ่ายให้กับนักเรียน งบประมาณก็จำกัด โดยใช้วิธีแบ่งเป็นโคต้าให้โรงเรียน ถ้าเป็นชั้นประถมจะได้ไม่เกิน 30 - 40% เด็กที่โชคร้ายไปเรียนโรงเรียนที่เด็กยากจนทั้งโรงเรียน ทุนก็จะถูกกำหนดเพดานให้ได้ที่ 30 - 40% ของจำนวนนักเรียนยากจน ขณะเดียวกันโรงเรียนที่ติ๊กมาเหมือนกันหมด แต่เด็กจนจริงๆ แค่ 10% ก็จะได้งบประมาณไป 30% เช่นเดียวกัน คนที่ไม่น่าจะได้ก็ได้ไป คนที่ควรต้องได้ก็ไม่ได้ นี่เป็นเหตุให้ต้องมีการจัดทำแอพพลิเคชันนี้
ในการใช้แอพพลิเคชัน คุณครูต้องไปถ่ายรูปที่บ้านของเด็กว่า สภาพบ้านนั้นเป็นอย่างไร ครอบครัวมีสมาชิกกี่คน มีการบันทึกเลขบัตรประจำตัวประชาชน มีรหัส GPS ระบุตำแหน่งของบ้าน ให้คนอื่นๆ ในระบบสามารถตรวจสอบตามกลับไปได้ และต้องมีผู้ใหญ่บ้านยืนยันว่าข้อมูลที่กรอกมานั้นเป็นความจริง ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ทำให้มีความมั่นใจในข้อมูลที่ได้มากขึ้น ทำให้กระทรวงวางแผนใช้งบประมาณได้ถูกคนไม่มีการรั่วไหล นอกจากนี้มันยังทำให้ครูได้รู้จักเด็ก รู้จักครอบครัวของเด็กมากขึ้น ปกติข้อมูลจะอยู่ในแฟ้มในลิ้นชัก แต่กรณีนี้ข้อมูลจะอยู่ในมือถืออยู่ตลอด สามารถเรียกขึ้นมาดูได้ว่ามีอะไรที่ครูสามารถช่วยเหลือเด็กได้
ส่วนข้อเสียของแอพพลิเคชันนั้น บางทีสมาร์ทโฟนของคุณครูอาจจะเป็นรุ่นเก่าเกินไป ไม่สามารถรองรับแอพพลิเคชันนี้ได้ ต่อไปทางกระทรวงหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องก็อาจจะต้องมีการสนับสนุนอุปกรณ์คุณครู เพื่อให้ตรวจเช็คได้ว่า ได้มีการลงไปบ้านของเด็กจริงไหม มีข้อมูลเชิงประจักษ์จริงไหม มีการรับรองจากผู้ใหญ่บ้าน มีบ้านเช็คพิกัด GPS หรือไม่ ทุกอย่างมีหลักฐานและสามารถตรวจสอบได้โดยจะไม่มีเด็กคนไหนออกจากการดูแลของครูอีก แต่เรื่องนี้ก็เรียกร้องกับครูสูงเช่นกัน ต้องเป็นครูที่ดีใส่ใจเด็ก นอกจากนี้ยังเคยมีคนเสนอให้ทำในส่วนของเด็กพิการด้วย มันก็จะเกิดความหลากหลายมากขึ้น
มีการทดลองมาแล้ว 1 ปีการศึกษาตอนนี้ข้อมูลทั้งหมดได้เข้ามาครบแล้วจาก 10 จังหวัด ช่วงปิดเทอมนี้จะมีการวิเคราะห์ข้อมูลและจะเสนอให้กระทรวงตัดสินใจตามนโยบายว่ามีจะเกณฑ์ออกมอย่างไรกับทั้ง 77 จังหวัดในปีการศึกษาหน้า คือ ปีการศึกษา 2560 ส่วนเรื่องของรายละเอียดต้องให้ทางกระทรวงตัดสินใจ
คุณครูเล่าเรื่องการใช้แอพพลิเคชันใหม่
คุณครูสุมาลี ผาสุก โรงเรียนบ้านตรอกสะเดา จังหวัดกาญจนบุรี หนึ่งในผู้ใช้แอพพลิเคชันดังกล่าว เปิดเผยว่า แรกเริ่มที่ได้ใช้แอพลิเคชัน ครั้งแรกจะดูทาง conference วิธีการใช้จากโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือก พอดูเสร็จจะมีเอกสารให้เข้าไปในระบบ จากนั้นจะเซฟข้อมูลลงคอมและเรียกประชุมครูในโรงเรียนเพื่อเป็นการถ่ายทอดเนื้อหาให้เข้าใจตรงกันรวมถึงให้โหลดเอกสารต่างๆ ของการอบรม พอเสร็จแล้วก็อธิบายเกี่ยวกับแอพที่อยู่ในโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์แล้วแต่ว่าครูส่วนใหญ่จะใช้แบบไหน แต่ส่วนมากจะใช้แบบโทรศัพท์มากกว่า จากนั้นก็ออกพื้นที่เพื่อดูว่าบ้านไหนมีปัญหา แล้วทำหนังสือรวบรวมข้อมูลให้ ผอ.กับครูฝ่ายวิชาการที่รับผิดชอบเด็กยากจน
ข้อมูลจากคู่มือการบันทึกข้อมูลการคัดกรองเด็กนักเรียนยากจน ระบุถึงการทำงานของแอพพลิเคชั่น ดังนี้
-ครูถือกระดาษแบบคัดกรอง นร.01 เพื่อไปคัดกรองนักเรียนยากจน
-นามาบันทึกเข้าสู่ระบบสารสนเทศผ่านเว็บแอปพลิเคชันในคอมพิวเตอร์
-แนบรูปสภาพบ้านของนักเรียนที่ถ่ายมาเข้าสู่ระบบ
-ปักหมุดตำแหน่งที่ตั้งบ้านของนักเรียนใน Google Map
การให้ความช่วยเหลือแบบเดิม ได้เพียงรายกรณี
ครูสุมาลีเล่าถึงกรณีช่วยเหลือเด็กยากจนที่ผ่านมา คือ กรณีของเด็ก ม.1 เด็กพึ่งเข้าเรียนปีแรกบ้านห่างจากโรงเรียนประมาณ 5-6 กิโลเมตร พ่อพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อยู่กับย่า ย่าเองก็อายุมากแล้ว อาศัยแค่เงินคนแก่ เขาต้องทำทุกอย่างก่อนจะได้มาโรงเรียน มาถึงโรงเรียนก็เวลา 8.30 น.ไม่ทันเข้าแถว สภาพบ้านถือว่าแย่จนครูประจำชั้นเขียนไปขอทุนโครงการของบริษัท AIS ทาง AIS ก็เลยให้เขียนเรียงความไปเพื่อขอทุน และครูประจำชั้นเองก็มีการถ่ายรูปบ้านขึ้น facebook ขอความช่วยเหลือ จึงได้รับความช่วยเหลือจำนวนมาก
อุปสรรคที่พบของแอพพลิเคชัน
ครูสุมาลียังกล่าวถึงอุปสรรคของผู้ปฏิบัติจริงในการใช้แอพพลิเคชันนี้ด้วยว่าคือ 1.การส่งข้อมูล ปัญหาเกิดจากสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่อาจจะไม่ค่อยสะดวกเท่าที่ควร ตัวอย่างบางคนส่งข้อมูลมาแล้ว แต่ตนเองที่เป็นแอดมินของโรงเรียนไม่ได้รับข้อมูล จึงต้องให้กลับไปทำข้อมูลใหม่ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมาก
2.การลากพิกัด GPS คุณครูหลายคนมีปัญหากับระบบ GPS เยอะมาก คุณครูบางคนลงพื้นที่แต่ไม่ได้ลาก ตำแหน่ง GPS และบางคนถ่ายรูปเสร็จอะไรเสร็จตรงนั้นแต่ไม่ได้กดส่งข้อมูล แต่กลับมาส่งที่โรงเรียน พอเป็นอย่างนั้นก็กลายเป็นว่าพิกัดบ้านของเด็กอยู่ที่โรงเรียนหมดเลย
3.เราไปที่บ้านเด็กแล้วผู้ปกครองเขาไม่อยู่เพราะต้องทำงานกลับเย็น อาจจะเป็นรับจ้างรายวัน หรือพอนัดแล้วก็มีภารกิจเร่งด่วน ส่วนครูเองก็ไปได้แค่ช่วงเย็น เนื่องจากต้องทำหน้าที่สอนหนังสือ บ้านเด็กบางคนก็อยู่ไกลมาก เช่น อยู่ในดงอ้อย ดงมัน ซึ่งขับรถลำบาก
หลังจากมาใช้แอพพลิเคชั่นนี้ คิดว่าประสบความสำเร็จดี ในภาพรวมนั้นถือว่าโอเค เพราะว่ามีครูที่เป็นวัยรุ่นเยอะ เวลาสั่งงานก็จะเป็นมืออาชีพ เป็นขั้นตอน เรื่องของเทคโนโลยีก็ถือว่าโอเค เหลือแต่เพียงอินเตอร์เน็ตที่อาจจะยังไม่พร้อมเท่าที่ควร ส่วนใหญ่ต้องเปิดอินเตอร์เน็ตของตัวเองใช้ บางคนใช้โทรศัพท์รุ่นที่ไม่สามารถรองรับตัวแอพพลิเคชันดังกล่าวได้ก็ต้องพยายามปรับตัว ในเรื่องของการประสานงาน ส่วนมากทางเขตพื้นที่กาญจนบุรีนั้น คนที่ดูแลระบบจะมี Line ถ้าคนไหนมีปัญหาก็จะมีการแชทคุยกัน1-1 และกลุ่มใน Facebook คอยประสานงานกัน
ครูสุมาลี กล่าวทิ้งท้ายว่า ระบบดังกล่าวถือว่าโอเคแม้ว่าเพิ่งเริ่มต้นและมีหลายอย่างต้องปรุงปรุง ปรับตัว อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ยกระดับไปถึงมหาวิทยาลัยด้วยตนก็เห็นด้วยเนื่องจากเด็กมหาวิทยาลัยบางส่วนมาจากต่างจังหวัด ต้องมีภาระและค่าใช้จ่าย และบางคนต้องทำงานหารายได้เสริม
- 3 views