Skip to main content

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560 มีการเสวนาวิชาการ "ระเบียบ การบังคับใช้ และภาพลักษณ์นิสิต: เครื่องแบบนิสิต" ณ ห้อง 208 อาคารมหามกุฏ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากกรณี การบังคับให้นิสิต สาขาวิศวะกรรม ใส่ชุดนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัย แม้จะไม่ได้มีการเรียนการสอนก็ตาม ทำให้เกิดความไม่พอใจจนทำให้นักศึกษารวมตัวกันล่ารายชื่อเพื่อยกเลิก ประกาศดังกล่าว 

วศิน บุญพัฒนาภรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ กล่าวว่า สามารถมองได้อยู่ 5 ประเด็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้ใส่ชุดนิสิต คือ. 1 ความเป็นเลิศทางวิชาการ 2.ประเพณี 3.ประโยชน์อื่นๆ ที่มากกว่าวิชาการ 4.ความเท่าเทียม 5.การแสดงสถานะของคนที่แต่ง วศิน กล่าวว่า มหาวิทยาลัยระดับโลกน้อยมากที่จะบังคับให้นิสิตนักศึกษาใส่เครื่องแบบ และที่ที่ไม่บังคับ มีหลายมหาวิทยาลัยที่มีความยอดเยี่ยมทางวิชาการ สูงกว่าจุฬาเยอะ และก็มีที่แย่กว่าจุฬาเยอะ ผมว่าอันนี้แสดงให้เห็นว่าการบังคับให้นิสิตนักศึกษาแต่งกายด้วยเครื่องแบบ น่าจะไม่ใช่อะไรที่เป็นสิ่งที่ค่อนข้างสากลที่คนเชื่อว่าส่งเสริมทางวิชาการได้ ความเป็นเลิศทางวิชาการจึงไม่น่าจะถูกใช้เป็นเหตุผลในการให้นิสิตนักศึกษาแต่งเครื่องแบบ

 

วศิน กล่าวว่า ประเพณีที่ยาวนานน่าจะเป็นเหตุผลที่จะรักษาธรรมเนียมปฏิบัติมา ก็คือว่าไม่น่าจะใช่เหตุผลแบบนั้น เพราะมหาวิทยาลัยที่มีประเพณีทางวิชาการมากกว่าจุฬา อย่างเช่นโรงเรียนหลายโรงเรียนที่เกิดมาก่อนจุฬา เดิมไม่เคยบังคับให้แต่งชุดเครื่องแบบ แล้วมาบังคับก็มี แล้วที่เคยแต่งเครื่องแบบแล้วยกเลิกก็มี ฉะนั้นการที่มีประเพณียาวนาน มันก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะบอกว่าควรแต่งเครื่องแบบต่อไป ผมพูดอย่างนี้ด้วยความเชื่อที่ว่า โรงเรียนทั้งสองรูปแบบดังกล่าวทั้งแต่งและไม่แต่ง เขาทำอย่างนั้นเพราะเขาคิดว่ามันดีกว่า บนฐานเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่อะไรที่ดีขึ้น

 

วศิน กล่าวว่า เราได้ยินบ่อยว่าการแต่งกายด้วยเครื่องแบบที่ทำให้เกิดความเท่าเทียม ถ้าคุณคิดเร็วๆ มันก็อาจจะช่วยได้ พอเป็นระดับมหาวิทยาลัยมันช่วยเพิ่มความเท่าเทียมจริงไหม การแต่งตัวด้วยเรื่องแบบนิสิตมันจะมีพื้นที่ประมาณหนึ่งที่นิสิตสามารถโชว์ความรวย คือโชว์สถานะที่ดูเหนือกว่าผ่านชุดนิสิต เช่นชุดที่สั่งตัด ว่าสั่งตัดจากที่ไหน หรือเครื่องแต่งกายอื่น เช่น กระเป๋า ผมว่ามันไม่ได้มีนัยสำคัญอะไร เพราะคนที่จะรู้จักกันมันอยู่ในสถานะที่ใกล้กันอยู่แล้ว ผมคิดว่าความเท่าเทียมกันในการแต่งกายมันถูกมองแค่ในมหาวิทยาลัย ว่าจะมีความเท่าเทียมกันดีขึ้นถ้าเราแต่งกายในชุดนิสิต แต่คุณก็จะเคยว่า เห็นนิสิตจุฬาเดินมาเป็นกลุ่ม นิสิตพวกนี้หยิ่ง หรือกระทู้ต่างๆ ว่านิสิตจุฬาหยิ่ง อันนี้น่าถามว่าเพื่อให้ได้ความเท่าเทียมกันในมหาวิทยาลัยเราแลกกับความไม่เท่าเทียมกันนอกมหาวิทยาลัยหรือเปล่า มันมีจังหวะที่คุณจะใส่ชุดนิสิตนอกมหาวิทยาลัยพอสมควรและมันพอที่จะทำให้เขาแยกคุณออกจากคนอื่นได้ ดูจะไม่คุ้มหรือเปล่าที่เราอาจจะได้ความเท่าเทียมในมหาวิทยาลัย มันอาจจะส่งผลกระทบกับผลอื่นที่ใหญ่กว่า

 

วศิน กล่าวว่า การแสดงสถานะว่าเป็นนิสิต หรือจะมีคนบอกว่ามีคนอยากแต่งชุดนิสิตเยอะแยะ ถ้าคุณไม่อยากแต่งชุดนิสิตก็ออกไปเลย หรือเรื่องแค่นี้คุณอดทนไม่ได้กลับบ้านไปเลี้ยงควายดีกว่า ดังนั้นจึงน่าจะไม่ใช่การไร้เหตุผลที่ผมจะบอกว่าชุดนิสิตจุฬามากับ สถานะ ที่ดูเหมือนอาจจะไม่ได้เหนือกว่าทุกที่ แต่อาจจะถูกวางตำแหน่งไว้สูงเหมือนกัน ผมไม่เถียงเรื่องสถานะผ่านชุดนิสิต จากประสบการณ์ของผมมีการค่อนข้างยอมรับเกือบจะเป็นสากล ว่า การที่คุณใส่ชุดนิสิตจุฬาไปในพื้นที่ที่มีปัญหา คุณอาจจะรอด หรือ การใส่ชุดนิสิตจุฬา ผ่านหน้าอุเทนฯ คุณอาจไม่โดนยิง คุณใส่ชุดนิสิตจุฬาคนจะฟังคุณมากขึ้น แต่ผมปฏิเสธการให้เหตุผลนี้ คือมันใช่ในทางปฏิบัติ ในอีกทางมันเป็นการใช้ประโยชน์จากความลำเอียงของคน เวลาผมพูดว่าลำเอียงคือเวลาคุณมีคุณสมบัติ A คือการใส่ชุดนิสิตจุฬา ก็อาจคิดไปถึงคุณสมบัติอื่นด้วย เช่นการเป็นคนดี เป็นเด็กเรียน เด็กเรียบร้อย ทีนี้เมื่อไหร่ที่ลำเอียง มันมีโอกาสไม่น้อยที่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น

 

วศิน กล่าวว่า ทั้งหมดที่กล่าวมามันเพียงพอที่จะอธิบายเหตุผลทางจริยศาสตร์ของปรัชญาว่า เหตุผลหลักๆ มันเป็นไปตามเงื่อนไข เราทำเพื่อตอบสนองเงื่อนไข เช่น เราต้องการให้คนอื่นรู้สึกมองว่าเราเป็นคนดีเราก็ทำตามเงื่อนไขแบบนั้น มีนักปรัชญาบอกว่าการกระทำที่ดีไม่ได้เป็นการกระทำตามเงื่อนไข เช่นถ้าเราอยากจะเด่นดังเราก็ทำดีเพื่อให้เด่นดัง ซึ่งมันไม่ใช่การกระทำที่มันอยู่ยงคงกระพัน เช่นถ้าคนถูกรถชนเราอาจจะช่วยเพราะมีกล้อง ถ้าไม่มีกล้องเราก็อาจจะไม่ช่วย เราทำเพราะสงสาร วันหนึ่งถ้าเราไม่สงสารเราก็อาจจะไม่ช่วยแล้ว เพราะมองว่าการกระทำเป็นการกระทำด้วยเหตุผลที่อยู่ในหน้าที่ที่เราควรกระทำนี่คือเงื่อนไข ซึ่งผมมองว่าการบังคับให้แต่งกายด้วยเครื่องแบบนิสิต มันไม่มีเหตุผลไหน ที่มองว่าการแต่งกายด้วยชุดนิสิต เป็นการกระทำที่ไม่มีเงื่อนไข หลายอันมีเงื่อนไข และหลายๆ อันไม่น่าใช่เงื่อนไขที่ดี

 

วศิน กล่าวว่า ถ้าถามว่านิสิตควรใส่เครื่องแบบหรือไม่ คำตอบก็คือไม่ การแต่งตัวด้วยชุดนิสิตมันจำเป็นเพราะมันเป็นกฎ คุณรู้กฎนี้ตั้งแต่คุณเข้ามา มันมีผลตามมาซึ่งคุณอาจจะได้รับผลเหล่านั้นถ้าคุณไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ถ้าคุณรับผลที่ตามมาได้ ผมมองว่าคุณอาจจะเลือกที่จะไม่แต่งเครื่องแบบก็ได้ อีกอย่างหนึ่งคือไม่ใช่ทุกคนที่จะรับผลที่ตามมาได้ อาจมีคนที่ไม่อยากจะใส่เครื่องแบบ แต่ก็ไม่สามารถรับผลที่ตามมาได้ เราก็จะเห็นเกิดขึ้น เช่นคุณอาจถูกตัดคะแนน ตัดสิทธิ์เกียรตินิยม ถ้าคุณรับได้ก็รับไป แต่ผมเห็นว่าหลายคนก็ยังรับไม่ได้